ปฏิเสธไม่ได้ว่า เวลานี้มีความกังวลเรื่องของสุขภาพของข้าราชการและบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากป่วยโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มีน้ำหนักเกิน และเครียด เมื่อมีการตรวจสุขภาพ ซึ่งมาจากภาระงานที่มากเกินบุคคลากร จริงๆ แล้ว การสร้างคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีและมีความสุข ช่วยให้ข้าราชการท็อปฟอร์มในการทำงานและเป็นพลังนำองค์กรสู่ความสำเร็จได้เช่นกัน
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานรัฐที่กำลังเผชิญปัญหาข้างต้น หากไม่ทำอะไรเลย แนวโน้มสุขภาพทางกายของชาว สมอ. จะยิ่งอ่อนแอ เหตุนี้ สมอ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันวิจัยสังคม จุฬางกรณ์มหาวิทยาลัย ผนึกกำลังสร้างความพร้อมทุกคนในหน่วยงานเปิดโครงการ “สมอ.องค์กรแห่งความสุข” และมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ตามโครงการ/แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานขององค์กรภาครัฐ 3 หน่วยงาน เมื่อวันก่อน ที่อาคารสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยมีนายธนะ อัลภาชน์ ผู้อำนวยการกองตรวจมาตรฐาน 2 สมอ. เป็นประธาน
นายแพทย์ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส.
นายแพทย์ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า ในการที่ สมอ. ร่วมกับ สสส. สถาบันวิจัยจุฬาฯ ลงนาม MOU สมอ.องค์กรแห่งความสุข จะเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ในการรักษาสุขภาพทางกายและจิตใจ เพราะการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น ไม่ใช่มาจากการติดเชื้อ ทานยาแล้วหาย แต่เป็นโรคคนเมือง โรคทางพฤติกรรม โรคทางสังคมและการใช้ชีวิต ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทั้งที่ทำงานและที่บ้าน ซึ่งบุคลากรในภาครัฐที่มีความรู้ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จะตั้งรับและปรับตัวได้ รวมถึงปรับมุมมองต่อการดูแลสุขภาพ เช่น การใช้โซเชียลมีเดียหลังเลิกงานมากเกินไป 4-6 ชั่วโมง ทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน การสร้าง สมอ.องค์กรแห่งความสุข ได้ระดมนักสร้างสุ ผู้เชี่ยวชาญ มาทำงานกับชาว สมอ. อนาคตหวังว่า ความรู้ชุดใหม่นี้จะเป็นมาตรฐานสร้างสุขภาวะบุคลากรในภาครัฐให้ดีขึ้น
“ สสส.มีแผนงานสร้างสุขภาวะในองค์กร ชูแนวคิด Happy Workplace มีหน่วยงานรัฐและเอกชนนำไปเป็นนโยบายองค์กร ช่วยสร้างความตระหนักและลดปัญหาโรคจากการทำงาน ลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ เน้นวิธีคิดปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีความพร้อมจัดการคุณภาพชีวิตตนเองและครอบครัว การทำโครงการกับ สมอ. ไม่เพียงให้ ชาว สมอ.มีความสุข แต่หวังสร้างต้นแบบองค์กรแห่งความสุข ซึ่งหน่วยงานรัฐมีเป็นร้อยองค์กร “ นายแพทย์ชาญวิทย์ กล่าว
เปิดโครงการ “สมอ.องค์กรแห่งความสุข” และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 3 หน่วยงาน
การขับเคลื่อนโมเดล Happy Workplace ที่ สมอ. มีหัวเรือใหญ่ นงลักษณ์ โรจน์วีระ เลขานุการกรม สมอ. กล่าวว่า ปี 62 นี้ สมอ.จะย่างก้าวสู่ปีที่ 50 องค์กรเติบโตตามลำดับ บุคลากรเพิ่มขึ้น ภาระงานมากขึ้น บุคลากรเป็นปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จ เป็นที่มาของ สมอ.องค์กรแห่งความสุข เพราะจากผลสำรวจคุณภาพชีวิตการทำงานของบุคลากร สมอ. เดือน ก.ย.2561 พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60 มีดัชนีมวลกายอยู่ในช่วงภาวะน้ำหนักเกิน อ้วนหรืออ้วนมาก บุคลากร สมอ.มีโรคประจำตัว 1 ใน 3 ส่วนใหญ่ คือ ความดันโลหิต-ไขมันในเลือดสูง ถัดมาเบาหวาน หัวใจ และภูมิแพ้ เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสูง รวมทั้งไม่ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย ขณะที่สวัสดิการ และการดูแลคุณภาพชีวิตยังทำน้อยไป นอกจากนี้ พบทำงานเกินสัปดาห์ละ 40 ชม. บ่อยครั้ง ผู้บริหารต้องตระหนักและหาวิธีบริหารจัดการเพื่อลดความเครียด อีกทั้งร้อยละ 50 มีเงินเดือนและค่าตอบแทนไม่เพียงพอ 2ใน3 มีภาระหนี้สิน
“ ชาว สมอ. แนวโน้วเกิดโรคเพิ่มขึ้น น้ำหนักเกิน เครียด จากภาระงานเยอะ บุคลากรน้อย ผลตรวจสุขภาพบุคลากรมีภาวะโภชนาการผิดปกติ แล้วยังพบความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานในองค์กรไม่ดีนัก หน่วยงานของเราจึงมีนโยบายเสริมสร้างสุขภาวะ และผลักดันองค์กรสร้างสุข ได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. โดยมีสถาบันวิจัยจุฬาฯ เป็นที่ปรึกษา โครงการมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ระหว่าง มี.ค.2561 –มี.ค.2563 รวม 24 เดือน โดยมีกิจกรรมต่างๆ ในระยะแรก เช่น งดเหล้าเข้าพรรษา BigCleaning Day การตรวจสุขภาวะ ส่งเสริมการออกกำลังกายในพื้นที่ทำงาน เสริมด้วยการมีชมรมกีฬาที่จัดตั้งขึ้น ทั้งแอโรบิค โยคะ แบดมินตัน เทเบิลเทนนิส สมาชิกกว่า 200 คน ก็จะขยายชมรมเพิ่มเติม จ้างครูสอน แล้วยังมีการดูแลอาหารว่างสุขภาพในการจัดประชุม ลดเกิดโรค ก็เป็นการสร้างความพร้อมรองรับการปฏิรูปประเทศไทยขับเคลื่อนเป็นระบบราชการ 4.0 ซึ่งความสุขของบุคลากรในองค์กรสำคัญ “ นงลักษณ์ กล่าว และว่า พร้อมเปิดรับทุกไอเดียจากชาว สมอ. เพื่อขับเคลื่อนองค์กรแห่งความสุขให้สำเร็จ
ยอดขวัญ รจนกนกนาฏ นักบริหารแผนชำนาญการพิเศษ สสส. ร่วมเสนอแนะแนวทางแก่ สมอ. เพื่อพิชิตองค์กรแห่งความสุขว่า ในหน่วยงาน สมอ. บุคลากรไม่ได้มีเพียงข้าราชการ ยังมีพนักงานลูกจ้างประจำ ฉะนั้น การสำรวจสุขภาวะประจำปีขององค์กรต้องขยายให้ครอบคลุมทุกคนในหน่วยงาน เพื่อมอนิเตอร์และป้องกันปัญหาให้ถูกต้อง รวมถึงเน้นกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพดีด้วยโภชนาการ เพราะพบปัญหาโรคอ้วน บริโภคอาหารรสจัด ไขมันสูง เสี่ยงต่อสุขภาพ ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นโยบายรัฐไม่เพิ่มคน ฉะนั้น องค์กรรัฐต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตคนทำงานและชีวิตหลังเกษียณ เพราะผลสำรวจชัดเจน คนไทยอายุเฉลี่ย 75 ปี เดิม 58 ปี ฉะนั้น สุขภาพกายและใจที่แข็งแรงเป็นต้นทุนสำคัญ ปัจจุบันโมเดลองค์กรแห่งความสุข สสส.เป็นที่น่ายินดี มีเครือขายหน่วยงานรัฐสนใจมากขึ้น เพราะหนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน
โมเดล Happy Workplace เป็นอีกแนวทางสำคัญช่วยถมช่องว่างปัญหาสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนทำงาน ต้องติดตามการทำงานขับเคลื่อนของ 3 หน่วยงาน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างสุขบุคลากร 4.0 อย่างเหมาะสม