"เลื่อน" ในความหมาย "ขยับวัน"


เพิ่มเพื่อน    

    เอาล่ะ...ผม "ฟันธง" เลย 
    เลือกตั้ง ๒๔ กุมภา.๖๒
    เลื่อนแน่ ๙๙.๙๙%!
    เพื่อตัดสับสน และตัดปัญหา "บางคน-บางฝ่าย" ฉวยโอกาสในการเลื่อนไปบิดเบือน-สร้างกระแส 
    ว่ารัฐบาลไม่อยากเลือกตั้งบ้าง...
    กลัวแพ้บ้าง 
    เลื่อนเพื่อเอื้อประโยชน์พรรครัฐบาลบ้าง
    ฉะนั้น วันนี้ เรามาทำความเข้าใจกันให้ชัด ถึงเหตุสมควรที่ต้องเลื่อน 
    ความจริง ท่านรองนายกฯ "วิษณุ เครืองาม" แจงไว้ชัดเมื่อวาน (๓ ม.ค.๖๒) หลังหารือ กตต.
    แต่ด้วย "กฎหมายโวหาร" ทำให้ชาวบ้านเหมือนผู้ใหญ่ลีสวมแว่นดำมองแดด
    ด้วยเหตุนั้น จึงจำเป็นต้อง "แปลไทย-เป็นไทย" ประเด็นแรก ที่ต้องทำความเข้าใจ เป็นอย่างนี้
    คือ กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ไปเมื่อ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๑
    กฎหมายระบุไว้เลย ต้องจัดให้มีเลือกตั้งภายใน ๑๕๐ วัน 
    นับจาก ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ ไป จะครบ ๑๕๐ วัน ตกวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒
    หมายความว่า จาก ๑๑ ธ.ค. ถึง ๙ พ.ค. จะวันไหนก็ได้ กกต.ต้องจัดให้มีเลือกตั้ง ส.ส.
    แล้ว กกต.ก็เลือก ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เป็นวันเลือกตั้ง
    เมื่อกำหนด ๒๔ กุมภา............
    ทุกอย่าง ตั้งแต่การเลือกตั้ง การพิจารณาคำร้องสู่การให้ใบเหลือง-ใบแดง และการประกาศรายชื่อ ส.ส.
    จะต้องทำให้เสร็จภายใน ๖๐ วัน นั่นคือภายในวันที่ ๒๔ เม.ย. ต้องเสร็จ
    และภายใน ๑๕ วัน.......
    หลังประกาศรายชื่อ ส.ส.แล้ว จะเสด็จฯ เปิดประชุมรัฐสภานัดแรก ๘ พ.ค. เป็นกำหนดสุดท้าย
    สภาฯ เปิดแล้ว จึงจะไปถึงขั้นตอนเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา 
    ต่อด้วย "เลือกนายกรัฐมนตรี"
    และกว่าจะโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ จัดตั้งรัฐบาล นำ ครม.ถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับหน้าที่
    ก็ตกเดือนมิถุนา.!
    สรุปแค่ขั้นตอนนี้ ถ้าเลือกตั้ง ๒๔ กุมภา. กระบวนการต่างๆ ตามขั้นตอนกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ เห็นชัดว่า
    ไปซ้อนเหลื่อมกับ "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" ระหว่าง ๔-๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ 
    ตามที่ "สำนักพระราชวัง" ประกาศ เมื่อ ๒ มกราคม ๒๕๖๒
    เมื่อความเป็นสวัสดิมงคลประเทศชาติและราชอาณาจักร ซึ่งในรอบร้อยปีจะมีสักครั้งเกิดขึ้นเช่นนี้ ท่ามกลางความดีใจของประชาชนที่ตั้งหวัง
    ๒๔ กุมภา.ที่กำหนดเป็นวันเลือกตั้งไว้ก่อน แต่ปลายปี ๖๑ ถึงแม้สำคัญเช่นกัน
    แต่ก็เป็นความสำคัญที่รัฐบาลและ กกต. รวมถึงประชาชนเข้าใจและพร้อมใจ 
    ที่จะจัดลำดับความสำคัญนั้นให้สอดคล้องเสริมสร้างสมบูรณ์
    บางคนอาจบอกว่า เลือกตั้ง ๒๔ กุมภา.........
    กกต.มีเวลาทดตั้ง ๒ เดือน ในขั้นตอนประกาศรายชื่อ ส.ส.
    ก็เร่งทำให้เสร็จภายในหนึ่งเดือนซี 
    "ประกาศก่อนแล้วไปสอยทีหลัง" ก็ได้ แบบนี้ จะไม่ทับซ้อนขั้นตอนตามพระราชพิธี
    ก็พูดได้ แต่ทางปฏิบัติ การรีบเร่งเช่นนั้น จะนำความบกพร่องมาสู่ทุกด้าน
    เพื่อความงามและสมบูรณ์พร้อมทุกด้าน ถึงแม้ กกต.ยังไม่ได้ประกาศเลื่อน ผมเชื่อว่า เมื่อ กกต.พิจารณารอบด้านแล้ว
    "น่าจะเลื่อน"
    แต่ไม่เลื่อนไปเลือกตั้งหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแน่นอน เพราะนั่น จะเลยเวลากฎหมายกำหนด "ต้องเลือกตั้งภายใน ๑๕๐ วัน"
    เมื่อดูขั้นตอนตามพระราชประเพณีที่ต้องกระทำ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ดังที่รองนายกฯ วิษณุอธิบาย
    คือมีขั้นตอนปฏิบัติ.......
    ล่วงหน้าก่อนพระราชพิธีฯ ๑๕ วัน และ
    หลังพระราชพิธีฯ อีก ๑๕ วัน    
    นั่นคือ ถ้าเลือกตั้ง ๒๔ กุมภา. มีขั้นตอนตามกฎหมายเลือกตั้งไปทับซ้อนขั้นตอนตามพระราชประเพณี ทั้งก่อนและหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๔-๖ พฤษภา.
    ซึ่งไม่งาม ไม่เหมาะสม ด้วยประการทั้งปวง อีกทั้งประชาชนก็ไม่ปรารถนาให้เป็นเช่นนั้น
    ถ้าเช่นนั้น จัดให้มีเลือกตั้งช่วงไหนจึงเหมาะ และงามพร้อมด้วยประการทั้งปวง?
    ก่อนถึงวันพระราชพิธี ๑๕ วัน และหลังพระราชพิธี ๑๕ วัน พิจารณาแล้ว ช่วงเหมาะสมที่ "เหลื่อมเวลา" ได้ลงตัว ไม่ทับซ้อนกัน
    เลือกตั้ง อาทิตย์ที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ เหมาะสุด!
    คือ เลือกตั้งวันนี้.......
    เป็นการเลือกตั้ง "ไม่ทับซ้อน" ขั้นตอนตามพระราชประเพณี ทั้งก่อน ๑๕ วัน และหลัง ๑๕ วัน ที่ลงตัว!
    อีกทั้ง เลือกตั้ง ๒๔ มีนา.........
    ภายใน ๖๐ วัน ที่ต้องประกาศรายชื่อ ส.ส. ก็ตก ๒๔ พฤษภา.
    หมายความว่า "ทุกขั้นตอน" เหลื่อมเวลากับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
    รวมถึงขั้นตอนที่ต้องกระทำก่อนและหลังพระราชพิธีฯ ๑๕ วัน ด้วย
    นี่แค่ความเห็นผม.........
    แต่จะเป็นเช่นไรนั้น กกต.เร่งหาช่วงเวลาที่ลงตัวอยู่แล้ว แน่ชัดอยู่ว่า ไม่เลือกตั้งหลังพระราชพิธีฯ เท่านั้น
    ก็อาจมีคนสงสัย ทำไม กกต.ไม่กำหนดวันให้ชัดสักที?
    เรื่องนี้ ต้องเข้าใจว่า.........
    การออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งนั้น เป็นพระราชอำนาจ
    รัฐบาล-กกต.ไม่มีสิทธิ์ก้าวล่วง 
    ต่อเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาลงมาแล้วนั่นแหละ กกต.จึงจะต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายใน ๕ วัน ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ทราบทั่วกัน
    เมื่อทราบดังนี้ ก็คงเข้าใจ ขั้นตอนการทำงานของ กกต.แล้วกระมัง?
    บางคนอีกนั่นแหละ ที่จะสงสัย ถ้าเลือกตั้ง ๒๔ มีนา. รัฐบาล คสช.ก็จะเป็น "รัฐบาลรักษาการ" น่ะซี
    แล้วเหมาะสมหรือ........
    ที่รัฐบาลรักษาการ จะปฏิบัติหน้าที่ในส่วนรัฐบาลต่อ "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก"?
    คำตอบ คือ แม้มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลนี้ ก็ยังคงเป็น "รัฐบาลถาวร" เหมือนเดิม
    ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ ที่....
    ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ 
    จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ได้ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่
    เข้าใจกันแล้วกระมัง?.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"