จีนส่งยานสำรวจลงจอดด้านมืดดวงจันทร์สำเร็จ


เพิ่มเพื่อน    

ยานสำรวจดวงจันทร์ ฉางเอ๋อ-4 ของจีน ลงจอดบนพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์สำเร็จเมื่อวันที่ 3 มกราคม สร้างประวัติศาสตร์เป็นชาติแรกของโลกที่สามารถ "เลิกผ้าคลุมอันลี้ลับ" ด้วยการส่งยานลงสำรวจพื้นผิวด้านมืดของดวงจันทร์

ภาพด้านมืดของดวงจันทร์ที่ถ่ายโดยยานสำรวจฉางเอ๋อ-4 ที่เผยแพร่โดยสำนักงานอวกาศแห่งชาติจีน เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2562  / China National Space Administration / AFP

    สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานอ้างคำแถลงในเว็บไซต์ของสำนักงานอวกาศแห่งชาติของจีนว่า ยานสำรวจดวงจันทร์ "ฉางเอ๋อ-4" ของจีน ซึ่งถูกส่งขึ้นจากศูนย์ปล่อยจรวดซีชางในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเมื่อเดือนธันวาคม 2561 ลงแตะพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์อย่างนุ่มนวลเมื่อเวลา 09.26 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม 2562 ตามเวลาไทย และได้ส่งสัญญาณภาพถ่ายระยะใกล้จากพื้นผิวด้านมืดของดวงจันทร์จากจุดลงจอด ผ่านดาวเทียมเช่ว์เชียว ซึ่งถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรของดวงจันทร์เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว จากนั้นภาพที่ได้ก็ส่งต่อมายังหอควบคุมบนพื้นโลก

    คำแถลงกล่าวด้วยว่า การลงจอดบนด้านไกล หรือที่เรียกว่า "ด้านมืด" ของดวงจันทร์ เป็นการ "เลิกผ้าคลุมอันลึกลับ" ของด้านไกลของดวงจันทร์ และ "เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการสำรวจดวงจันทร์ของมนุษย์"

    เนื่องจากแรงไทดัลทำให้การหมุนรอบตัวเองของดวงจันทร์ถูกล็อกจนมีคาบเท่ากับคาบการโคจรของโลก (ไทดัลล็อก) จึงทำให้มีเพียงด้านหน้าของดวงจันทร์ที่หันหาโลก ส่วนด้านไกลนั้นไม่อาจมองเห็นได้จากโลก ที่ผ่านมาเคยมียานอวกาศหลายลำถ่ายภาพด้านไกลของดวงจันทร์ไว้ แต่ยังไม่เคยมียานลำใดลงจอดบนพื้นผิวด้านนั้นมาก่อน

    ยานฉางเอ๋อ-4 ซึ่งเป็นทั้งยานลงจอดและยานรถสำรวจ ลงแตะพื้นผิวของด้านมืดใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ในหลุมอุกกาบาตฟอ คาร์มัน หลังจากยานลำนี้เข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์เมื่อกลางเดือนธันวาคม พื้นผิวด้านนี้ของดวงจันทร์แตกต่างจากด้านที่หันหาโลกซึ่งมีพื้นที่ราบมากกว่า แต่พื้นผิวด้านมืดนั้นเต็มไปด้วยหลุมบ่อและขรุขระ

ภาพ China National Space Administration / AFP

    จีนทุ่มเทเงินหลายพันล้านดอลลาร์ไปกับโครงการด้านอวกาศที่บริหารโดยกองทัพ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสร้างสถานีอวกาศของจีนที่มีนักบินอวกาศประจำการ ภายในปี 2565 และส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์

    ยานฉางเอ๋อ-4 เป็นยานสำรวจดวงจันทร์ลำที่ 2 ของจีนที่ลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์ ต่อจากยานยวี่ถู่ (กระต่ายหยก) ที่ลงจอดบนดวงจันทร์เมื่อปี 2556 ภารกิจของฉางเอ๋อ-4 ครั้งนี้รวมถึงการทดลองหลายด้าน แบ่งเป็นการทดลองของจีน 6 ชิ้น และของต่างประเทศ 4 ชิ้น อาทิ การศึกษาดาราศาสตร์วิทยุความถี่ต่ำ ซึ่งต้องการอาศัยประโยชน์จากด้านมืดของดวงจันทร์ที่ไม่มีการรบกวน และการทดสอบด้านแร่ธาตุและรังสี

    รัฐบาลกำลังมีแผนจะส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์อีกลำชื่อ ฉางเอ๋อ-5 ไปยังดวงจันทร์ภายในปีนี้ เพื่อเก็บตัวอย่างกลับมายังโลก

    โครงการนี้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของเป้าหมายอันทะเยอทะยานของจีนเพื่อก้าวเป็นหนึ่งในมหาอำนาจด้านอวกาศของโลกต่อจากสหรัฐและรัสเซีย เป้าหมายนี้รวมถึงการใช้จรวดนำส่งแบบนำกลับมาใช้ใหม่ได้ภายในปี 2564, การสร้างจรวดซูเปอร์พาวเวอร์ที่สามารถบรรทุกได้มากกว่าจรวดของนาซาและจรวดสเปซเอ็กซ์ของบริษัทเอกชน, การสร้างฐานบนดวงจันทร์, การสร้างสถานีอวกาศถาวรที่มีมนุษย์ประจำอยู่ และการส่งยานรถสำรวจลงดาวอังคาร

    แม้ว่าจีนจะยืนกรานว่าความทะเยอทะยานด้านอวกาศของจีนเป็นไปอย่างสันติล้วนๆ แต่กระทรวงกลาโหมสหรัฐกล่าวหาการดำเนินกิจกรรมของจีนว่า มีวัตถุประสงค์ป้องกันประเทศอื่นไม่ให้ใช้ทรัพย์สินที่อยู่ในอวกาศได้ในช่วงยามวิกฤติ และนอกจากกิจการด้านพลเรือน จีนก็เคยทดสอบมิสไซล์ต่อต้านดาวเทียมมาแล้ว

    กระนั้นก็ดี ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐก็กระโจนเข้าสู่การช่วงชิงในอวกาศกับจีนด้วยการประกาศจะสถาปนากองทัพอวกาศ เป็นกองทัพที่ 6 ของสหรัฐภายในปี 2563.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"