คมนาคมเตรียมพร้อมรับมือพายุปาบึก ทย.ตั้งศูนย์ปฎิบัติการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ด้านบางกอกแอร์เวย์ประกาศยกเลิกทุกเที่ยวบินเข้า-ออกที่ทำการบินบนเกาะสมุยในวันที่ 4 ม.ค.นี้ ขณะที่กรมทางหลวงชนบทได้สั่งการหน่วยงานในพื้นที่ภาคใต้ประเมินสถานการณ์ทุก 2 ชั่วโมง
03 ม.ค.62 - นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน(ทย.)เปิดเผยว่าขณะนี้กรมท่าอากาศยานจัดตั้งศูนย์ปฎิบัติการกลางที่ชั้น 2 อาคารศูนย์เทคโนโลยี่และสารสนเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์พายุปาบึก เชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างกรมท่าอากาศยาน กรุงเทพ กับ ท่าอากาศยานในภาคใต้โดยแต่งตั้งนายวิทวัส ภักดีสันติสกุล รองอธิบดีฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ร่วมกับ ผู้บริหารส่วนกลางสนับสนุนข้อมูลและประสานงานกับท่าอากาศยานภาคใต้
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 3ม.ค. เวลา15.00น ทุกท่าอากาศยาน อากาศยานยังคงขึ้นลงได้ตามปกติ ในส่วยของท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี เที่ยวบินเต็มและสายการบินไลออนแอร์จะเปลี่ยนแบบอากาศยานให้ใหญ่ขึ้นเป็นA330 ความจุ390 ที่นั่งเพื่อรับขนผู้โดยสารที่เดินทางจากเกาะมารอขึ้นเครื่องจากท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานีออกไปให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตามในส่วนของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ได้แจ้งว่าตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศแจ้งเตือนถึงพายุโซนร้อน “ปาบึก” ที่เคลื่อนตัวเข้าปกคลุมภาคใต้ของประเทศไทย โดยในช่วงระหว่างวันที่ 4-5 มกราคม 2562 นั้นจะมีคลื่นลมแรงและฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณอ่าวไทย จากสถานการณ์ดังกล่าว ทางสายการบินบางกอกแอร์เวย์สได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นสำคัญ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องประกาศยกเลิกทุกเที่ยวบินของสายการบินฯ ที่เข้าและออกจากท่าอากาศยานเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ของวันที่ 4 มกราคม 2562
สำหรับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกเที่ยวบิน ของวันที่ 4 มกราคม 2562 สามารถติดต่อเพื่อขอเปลี่ยนแปลงการเดินทางได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถตรวจสอบสถานะเที่ยวบินได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่ศูนย์บริการลูกค้า โทร 1771 หรือศูนย์บริการให้ความช่วยเหลือ โทร 02-270-6698
ด้านนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท(ทช.) กล่าวว่า กรมทางหลวงชนบทได้สั่งการหน่วยงานในพื้นที่ภาคใต้ รองรับสถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึก โดยให้แขวงทางหลวงชนบทในพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประเมินสถานการณ์ทุก 2 ชั่วโมง พร้อมเตรียมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร ป้ายเตือน สะพานเบลีย์ และยานพาหนะ พร้อมเข้าดำเนินการช่วยเหลือได้ทันท่วงที รวมถึงบางพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังให้จัดรถโมบายช่วยเหลือเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นได้ชั่วคราวก่อนการเคลื่อนตัวของพายุ โดยแบ่งการเตรียมความพร้อมรับมือเป็น 3ระยะ ดังนี้
1. ก่อนเกิดเหตุ (Preparation) ดำเนินการทำความสะอาดช่องทางระบายน้ำ พร้อมทั้งจัดชุดลาดตระเวนเส้นทางที่มีความเสี่ยง กรณีเกิดเหตุการณ์พายุฝนฟ้าคะนอง และมีต้นไม้ล้มบนเส้นทางหลวงชนบท ให้เข้าดำเนินการเคลียร์เส้นทางโดยเร็ว
นอกจากนี้ได้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร และตรวจสอบพื้นที่เพื่อป้องกันทางหลวงชนบทในความรับผิดชอบ (Prevention) โดยเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง/พื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ หรือเคยได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติที่ผ่านมา รวมทั้งตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของถนนและสะพานเตรียมเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องมือ เครื่องจักรกล ป้ายเตือน ต่างๆ
อย่างไรก็ตามกรมฯได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าไว้ประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย และสนับสนุนเครื่องมือ เครื่องจักร ยานพาหนะ กรณีมีการร้องขอจากหน่วยงานในพื้นที่อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์
2. เมื่อเกิดเหตุ ให้หน่วยงานในพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อุทกภัยอย่างใกล้ชิด และรายงานข้อมูลสายทางที่ประสบอุทกภัยให้กับผู้บริหารจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเมื่อเกิดเหตุการณ์จะดำเนินการดังนี้ กรณีน้ำท่วมสูง ดำเนินการติดตั้งป้ายเตือนในบริเวณที่มีน้ำท่วม เพื่อให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทาง ติดตั้งหลักนำทางกำหนดขอบเขตการจราจร กรณีถนน/สะพานขาด เร่งดำเนินการติดตั้งสะพานเบลีย์เชื่อมทาง หรือดำเนินการถมวัสดุเชื่อมเส้นทางเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางในการสัญจรได้โดยเร็ว กรณีดินไหล่เขาข้างทาง Slide ปิดทับเส้นทาง ดำเนินการนำเครื่องจักรเข้าเกลี่ยดินออกจากเส้นทาง ให้สัญจรโดยเร็ว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการสัญจรกรณีประชาชนเข้าที่พักอาศัยไม่ได้ จะจัดรถบรรทุกไว้ให้บริการรับส่งประชาชนในพื้นที่ประสบภัย
3. หลังน้ำลดหากเส้นทางชำรุดเสียหายจะเข้าซ่อมแซมชั่วคราวให้ประชาชนสัญจรได้ภายใน 7 วัน และสำรวจ ออกแบบ เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณฟื้นฟูฯ ให้เข้าสู่สภาพปกติ ซึ่งจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นในการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร
ทั้งนี้ กรมทางหลวงชนบท ขอความร่วมมือประชาชน “ขับรถช้า เปิดไฟหน้า คาดเข็มขัดนิรภัย และมอเตอร์ไซค์เปิดไฟ ใส่หมวกกันน็อก” ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม โปรดระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนเป็นพิเศษโดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบกับอุทกภัย และโปรดสังเกตป้ายจราจรเตือนระดับน้ำหรือป้ายหลีกเลี่ยงเส้นทาง โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือแจ้งเหตุอุทกภัยได้ที่สายด่วนทางหลวงชนบท 1146 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสำนักงานทางหลวงชนบท แขวงทางหลวงชนบท ในพื้นที่ ในวันและเวลาราชการ