ความลักลั่นของศักราชในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ


เพิ่มเพื่อน    

 

หนังสือใหม่"การปรับแก้เทียบศักราช และการอธิบายความ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ"   

 

     ปี 2562  มีหนังสือใหม่ที่จะพิมพ์ออกเผยแพร่สู่สายตานักอ่านมากมาย หนังสือประวัติศาสตร์ที่เสนอเรื่องราวให้คนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ตระหนักถึงประวัติศาสตร์และให้ความรู้ปูพื้นเหตุการณ์ใดเกิดก่อนหรือหลังก็มีคุณค่า เหตุนี้ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(มหาชน) (ศมส.)  เตรียมเปิดตัวหนังสือใหม่เรื่อง การปรับแก้เทียบศักราช และการอธิบายความ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ  โดย ดร.ตรงใจ หุตางกูร  นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศมส.            ผลงานล่าสุดนี้เป็นผลผลิตจากการศึกษาเอกสารโบราณเหมาะสำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ไทยสมัยศรีอโยธ-ยา (รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ถึงเสียเมืองแก่พม่าครั้งแรก) กับรอยต่อเข้าสู่สมัยศรีอยุธยา (รัชกาลสมเด็จพระธรรมราชาถึงถึงเสียเมืองแก่พม่าใน พ.ศ.2310 )

                พีรพน  พิสณุพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร   กล่าวว่า พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ซึ่งรวบรวมขึ้นเมื่อ พ.ศ.2223 ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถือเป็นเอกสารสำคัญชิ้นหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทย เอกสารชิ้นนี้ยอมรับกว้างขวางในผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยว่า ให้ข้อมูลเลขศักราชของเหตุการณ์ต่างๆ แม่นยำ และคลาดเคลื่อนน้อยกว่าพงศาวดารไทยฉบับอื่น ที่เพิ่งรวบรวมและชำระในช่วงรัชกาลที่ 1 แต่วิธีการให้รายละเอียดเหตุการณ์ต่างๆ ของพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ มีความรวบรัด และสิ้นสุดเพียงปลายรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเท่านั้น  เป็นไปได้ว่า มีอีกฉบับที่สูญหายไป ซึ่งอาจลำดับเรื่องราวตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชสวรรคต  จนถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

                " แม้จะได้รับการยอมรับว่า เป็นเอกสารที่ให้ข้อมูลปีศักราชแม่นยำที่สุดในเอกสารประวัติศาสตร์ไทยทั้งหมด แต่เมื่อเทียบศักราชของเหตุการณ์ต่างๆ กับเอกสารประวัติศาสตร์อื่น โดยเฉพาะของจีนสมัยราชวงศ์หมิงแล้ว พบว่า มีข้อมูลความไม่สอดคล้องของลำดับรัชกาล โดยเฉพาะตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระราเมศวร จนถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  ศมส. เห็นความสำคัญในการสะสางลำดับเหตุการณ์เอกสารประวัติศาสตร์ฉบับต่าง ๆ โดยใช้พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสิรฐ เป็นหลักลำดับเหตุการณ์  จึงมอบหมายให้ ดร.ตรงใจ หุตางกูร เป็นผู้สะสางและชำระศักราชให้ใกล้เคียงประวัติศาสตร์มากที่สุด ปรับเทียบศักราชกับพงศาวดารหมิงและพื้นเมืองเชียงใหม่ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจศึกษา " พีรพน กล่าว

 

พีรพน  พิสณุพงศ์ ผอ.ศมส. หนุนผลิตหนังสือเครื่องมือศึกษาประวัติศาสตร์

                ดร.ตรงใจ หุตางกูร นักวิชาการประวัติศาสตร์ กล่าวถึงผลงานชิ้นนี้ว่า หนังสือจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าตนไม่ได้มีโอกาสร่วมทำงานกับบรมครูด้านประวัติศาสตร์อย่าง ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร บรมครูด้านภาษาบาลีอย่าง รศ.เสมอ บุญมา และนักวิชาการรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง ผศ.ณัฐพล อยู่รุ่งเรืองศักดิ์ ที่ร่วมกันตั้งกลุ่มศึกษางานด้านประวัติศาสตร์และวรรณกรรมโบราณ ทำให้ตนได้รู้จักเอกสารประวัติศาสตร์หลายชิ้น ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และเปิดกว้างรับฟังมุมมอง ทั้งสามจุดประกายความคิดให้กล้าคิดกล้าเขียน

                " ความจริงในประวัติศาสตร์มีเพียงหนึ่งเดียว แต่มักถูกถ่ายทอดด้วยมุมมองที่หลากหลาย กลายเป็นข้อเท็จและข้อจริง ซึ่งการวินิจฉัยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ จำเป็นต้องใช้เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่หลากหลายตามไปด้วย แต่ผลที่ได้ ก็สรุปไม่ได้ว่า เรื่องใดเท็จ เรื่องใดจริง หนังสือเล่มนี้เปรียบกับลายแทงเอกสารประวัติศาสตร์ ที่ตนได้รวมรวบเชื่อมโยงกับเหตุการณ์กับพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ เป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ในการตัดสินหรือไม่ตัดสิน ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ สมัยอยุธยา  " ดร.ตรงใจ กล่าว

 

ดร.ตรงใจ หุตางกูร   นักวิชาการประวัติศาสตร์-โบราณคดี ศมส.

                ขณะที่ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. เขียนคำนิยมให้แก่หนังสือใหม่เล่มนี้ มีความตอนหนึ่งว่า " พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ไทยที่ยกย่องว่ามีความแม่นยำสูง แต่น่าเสียดายที่เล่าเรื่องตั้งแต่สถาปนากรุงศรีอโยธยามาสิ้นสุดเพียงรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เคยตั้งข้อสังเกตว่า พระราชพงศาวดารฉบับนี้ให้ศักราชปีเหตุการณ์ที่แม่นยำมากตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เป็นต้นมา โดยเทียบกับเอกสารชาวตะวันตกที่เริ่มเข้ามาในสยาม แต่ข้อสมมติฐานนี้ใช้ไม่ได้กับเหตุการณ์สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถย้อนหลังกลับไป ต้องตรวจสอบเป็นกรณีไป โดยเทียบกับหลักฐานจารึกและจดหมายเหตุจีน  นอกจากนี้ การค้นพบเอกสารใหม่ เช่น จารึกวัดบูรพาราม (สุโขทัย) พระราชพงศาวดารฉบับไมเคิล วิกเกอรี และฉบับอุบลศรี อรรถพันธุ์ รวมทั้งการแปลเอกสารจีนหมิงสือลู่เป็นภาษาไทยเปิดโอกาสให้แก่การพิจารณาพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ใหม่  ซึ่ง ดร.ตรงใจ และคณะทำงาน ทำให้ได้ผลงานเล่มนี้เป็นทางเลือกของผู้สนใจ และผมพอใจที่จะอ้างอิงถึงฉบับชำระใหม่นี้ว่า "ฉบับชะเลยสัก" หรือฉบับชำระอิสระ  

                " อุปสรรคที่นักวิชาการประสบในการอ่านเอกสารโบราณ คือ ความสับสนเรื่องศักราช ไม่ว่าจะเป็นกลียุศักราช มหาศักราช แม้ศักราชเดียวกันยังมีทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ เช่น จุลศักราชในสมัยโบราณไทยใช้แบบลังกา พม่า และเขมร เร็วกว่าที่ใช้ในปัจจุบันหนึ่งปี  ดร.ตรงใจ ไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อปรับศักราชให้เป็นเกณฑ์เดียวกัน อ่านแล้วไม่สับสน " ดร.วินัย กล่าวไว้ในหนังสือนี้

                ผู้สนใจใคร่รู้ประวัติศาสตร์จับจองเป็นเจ้าของหนังสือได้ราคา 300 บาท ส่วนใครที่ต้องการรับฟังเรื่องราวการสะสางลำดับเหตุการณ์จนสำเร็จเป็นผลงานชิ้นนี้จากปากผู้เขียน ดร.ตรงใจ หุตางกูร   ศมส.จัดกิจกรรมเล่าสู่กันฟังเรื่องหนังสือ ครั้งที่ 29 เรื่อง ความลักลั่นของศักราชในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม 2562 เวลา 13.30-15.30 น. ที่ ศมส.  ตลิ่งชัน มาพบนักเขียนและนักวิชาการในแวดวงประวัติศาสตร์ได้  ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ  

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"