เริ่มต้นปี ก็เริ่มต้นพูดกันเรื่องเลื่อนการเลือกตั้งกันอีกครั้ง
เลื่อน ไม่เลื่อน สาระสำคัญอยู่ตรงไหน?
ควรเลือกตั้งก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือให้ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไปก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง
ความคิดที่หลากหลายในสังคมเกี่ยวกับวันเลือกตั้งนี้ จะหลอมรวมอย่างไร เพื่อไม่ให้กลายเป็นเงื่อนไข ที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองในภายหลัง
ก่อนอื่นต้องตั้งคำถามว่า เลื่อนหรือไม่เลื่อนอยู่บนพื้นฐานอะไร
อารมณ์ ชอบ ไม่ชอบ
กกต.พร้อม หรือไม่พร้อม
หรือเหตุผลเพราะวันสำคัญ
เท่าที่รับรู้และรับฟังมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว นายกฯ ลุงตู่ ให้ความชัดเจนในประเด็นนี้ จนไม่น่าจะมีประเด็นต้องมาถกเถียงกันอีก
นั่นคือ...เลือกตั้งวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ จากนั้นจึงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามมาทีหลัง
ขณะที่กรอบเวลาเลือกตั้งตามโรดแมปอย่างช้าสุดคือวันที่ ๙ พฤษภาคม
คือภายใน ๑๕๐ วันหลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศใช้ ซึ่งพ.ร.ป.ฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคมปลายปีที่ผ่านมา
ฉะนั้นตามเงื่อนเวลาของกฎหมาย มีความเป็นไปได้น้อย ที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหลัง พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
เพราะ สำนักพระราชวังมีประกาศชัดเจนแล้วว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น ระหว่างวันที่ ๔-๖ พฤษภาคม
การจะเลือกตั้งหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งจะมีระยะเวลาเหลือเพียง ๓ วันคงจะไม่เหมาะ
แล้วเวลาที่เหมาะสม ควรเป็นช่วงเวลาไหน?
โรดแมปที่ถูกล็อกเงื่อนเวลาโดยรัฐธรรมนูญ ควรจะเป็นตัวแปรที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญมากที่สุด
พระราชกฤษฎีกาประกาศเลือกตั้งจะต้องออกในไม่กี่วันนี้
หากช้าออกไปจะกระทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวันเลือกตั้ง วันประกาศผลเลือกตั้ง วันเลือกนายกรัฐมนตรี
ซึ่งทั้งหมดควรจะเกิดขึ้นก่อนวันที่ ๔ พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรกของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ขณะที่การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยเฉลี่ยแล้วใช้เวลานับแต่วันเลือกตั้งไปจนถึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ประมาณ ๑ เดือน
เช่นการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ทอดเวลาไปกระทั่งวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๔ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
ด้วยเงื่อนเวลาเช่นนั้น การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นอย่างช้าสุด ไม่ควรเกินต้นเดือนเมษายน
นี่แค่เงื่อนไขการมีนายกรัฐมนตรีใหม่ก่อน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ไม่นับรวมนายกรัฐมนตรีใหม่ต้องตระเตรียมงาน ซึ่งต้องเพิ่มเงื่อนเวลามากขึ้นอีก
กลับกันจะทำให้การเลือกตั้งต้องมีก่อนต้นเดือนเมษายน สักระยะหนึ่ง อาจจะเป็นครึ่งเดือน หรือ ๑ เดือน
ฉะนั้นการเลือกตั้งวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ จะได้รัฐบาลใหม่ถัดไปอีก ๑ เดือนนั่นคือ ปลายเดือนมีนาคมหรืออาจถึงต้นเดือนเมษายน
อยู่ที่พรรคการเมืองจะดีลกันจบเมื่อไหร่
ถ้าเลือกนายกรัฐมนตรีหลายขยักก็ต้องเพิ่มเวลามากขึ้นอีก
ส่วนแต่งตั้ง ส.ว.ตามโรดแมปที่ต้องจบภายในวันที่ ๒๗ เมษายน ก็ต้องร่นให้เร็วกว่านั้น เพราะ ส.ว.ต้องเข้าโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
นี่คือคำตอบว่า การเลือกตั้งควรจะมีขึ้นเมื่อไหร่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |