จะตั้งรับวิกฤติเทคโนโลยี ระลอกสองอย่างไร?


เพิ่มเพื่อน    

    เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงคำเตือนว่า ความปั่นป่วนอันเกิดจากนวัตกรรมต่อทุกอาชีพกำลังรุนแรงขึ้นในปีใหม่นี้ โดยเฉพาะแวดวงด้านสื่อจะต้องตระหนักว่าในภาวะ "ปีก่อนๆ เผาหลอก ปีนี้เผาจริง" ให้จงหนัก  และเตรียมการปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกเสียด้วย
    ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณไปพูดให้บริษัทแห่งหนึ่งฟังเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่าปีนี้วงการสื่อสารมวลชนจะเจอกับแรงกระแทกที่หนักที่สุด
    เป็น disruption "ระลอกสอง" ที่จะมีผลกว้างไกลอย่างมาก จำเป็นที่ผู้คนในวงการนี้และแวดวงที่เกี่ยวข้องจะต้องปรับตัวขนานใหญ่
    ท่านแนะนำแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ ด้วยการทำงานในรูปแบบโฮมออฟฟิศและ co-working  space  
    นั่นแปลว่าไม่ต้องเสียต้นทุนในการเช่าสำนักงานมากเหมือนที่ผ่านมา
    อีกทั้งยังสามารถใช้ระบบสื่อสารความเร็วสูงด้วยการทำงานในอาชีพสื่อใหม่ในระบบโซเชียลมีเดีย,  โทรทัศน์สตรีมมิง และสื่อรูปแบบต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต ที่ตลาดยังมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีจำนวนมากกว่างานที่หายไปในอาชีพสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์แบบดั้งเดิมด้วยซ้ำไป 
    ดร.เศรษฐพงค์เตือนว่าสื่อมวลชนที่อยู่ในช่วงอายุ Gen X ควรเปิดใจรับน้องๆ Gen Z เข้ามาร่วมงานในรูปแบบบริษัทสตาร์ทอัพ
    เขาเสนอความเห็นด้วยว่าคนมีอาชีพสื่อมวลชนที่อยู่ในช่วงอายุ Gen X ต้องปรับตัวหาความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นหลักสูตรออนไลน์ที่มีให้เลือกมากมาย
    และแน่นอนว่าคนในวงการนี้หากจะอยู่รอดได้ ก็ต้องพยายามสร้างความคุ้นเคยกับเครื่องมือแอปพลิเคชันต่างๆ บนสมาร์ตโฟน เช่น การทำสื่อด้วยวิธีการ Live บนโซเชียลมีเดีย
    เพราะนั่นคือแนวโน้มหรือ trend ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ 
    อีกทั้งยังต้องมุ่งไปตลาดเฉพาะกลุ่มที่ตนเองถนัดเป็นหลัก
    กูรูด้านดิจิทัลบอกด้วยว่าควรที่จะมีทีมที่เป็นคนในรุ่น Gen Z เพื่อทำงานในด้านการปฏิบัติ เพราะจะเป็นกลุ่มคนที่เข้าใจและแนบแน่นกับวิถีแห่งดิจิทัล
    แนวทางเช่นนี้แหละจะทำให้คนที่ทำงานในสื่อรูปแบบเก่าที่ถูกออกจากงานสามารถปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ในรูปแบบ "สตาร์ทอัพ" ด้วยการลงทุนน้อยมาก
    นี่ดูเหมือนจะเป็นหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาการตกงานในภาพใหญ่ในอุตสาหกรรมสื่อได้
    ดร.เศรษฐพงค์สรุปว่า การเกิด "ดิสรัปชันระลอกแรก" เกิดจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุค 4G, Big data และปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว
    ส่วน "ดิสรัปชันระลอกที่สอง" คือการก้าวเข้าไปสู่ยุค 5G, data analytics และ machine learning  ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดการพลิกผัน หรือดิสรัปชันที่รุนแรงขยายวงไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ
    ไม่ว่าจะเป็นการเงินการธนาคาร, ประกันภัย, ค้าปลีก, การผลิตในโรงงานอุตสากรรมที่ใช้ระบบหุ่นยนต์, ยานยนต์ ไฟฟ้า และระบบการศึกษา เป็นต้น 
    คาดการณ์ว่าปีใหม่นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจภาคการเงินการธนาคาร โดยจะมีการลดสาขาจำนวนมาก และในที่สุดธนาคารจะกลายเป็นตู้อัตโนมัติที่ทำธุรกรรมได้เกือบทุกรูปแบบมาแทนที่สาขาเกือบทั้งหมดในระยะ 5-10 ปีที่จะถึง
     และเมื่อถึงจุดนั้น ธนาคารก็จะกลายเป็นระบบคลาวด์ (cloud) โดยสมบูรณ์แบบ
    เพราะมีคำกล่าวว่าในอนาคตอันใกล้นี้ Banking takes place everywhere except at the bank.
    หรือแปลว่ากิจกรรมเกี่ยวกับการเงินนั้นเกิดขึ้นทุกแห่งยกเว้น ณ ที่ธนาคารเอง
    และการเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้นทุกแห่งยกเว้นที่มหาวิทยาลัย!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"