คนดีศรีกุสินารา


เพิ่มเพื่อน    

(มกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ)

    ภายหลังองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานในสาลวโนทยานได้ 7 วัน ก็ได้มีการอัญเชิญพระพุทธสรีระไปถวายพระเพลิงยังเชิงตะกอนไม้จันทร์หอม ห่างออกไปทางด้านทิศตะวันออก 1 กิโลเมตร อีกราว 3 ศตวรรษต่อมาพระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างพระสถูปขึ้นครอบจุดดังกล่าว คนอินเดียเรียกว่า “สถูปรามาภาร์” (Ramabhar Stupa) ตามชื่อสระน้ำในบริเวณนั้น แต่ก็มีชาวพุทธไม่น้อย โดยเฉพาะคนไทยเรียกว่า “มกุฏพันธนเจดีย์” (Makutambandhana Chaitya)   
    เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้วผมเล่าค้างไว้ว่าการเดินจากสาลวโนทยานไปยังมกุฏพันธนเจดีย์ตามแผนที่กูเกิลในโทรศัพท์มือถือได้ไปโผล่ผิดทิศผิดทางเพราะมีคนมือบอนปักหมุดในแผนที่หลอกเอาไว้ ท่ามกลางคนจำนวนหนึ่งที่นั่งๆ ยืนๆ อยู่ริมไร่อ้อยที่ผมหลงไปมีชายหนุ่มใส่เสื้อเชิ้ตสีเขียวอ่อนอาสาจะไปส่งโดยเชิญให้ขึ้นซ้อนบนตะแกรงท้ายจักรยานของเขา เมืองนี้ไม่มีวี่แววของคนหลอกลวง ผมจึงเชื่อฟังแต่โดยดี
    หนุ่มเชิ้ตเขียวปั่นออกมาถึง 3 แยก จุดที่ผมเลี้ยวผิดทางก่อนหน้านี้ ใกล้ๆ กันมีวัดเล็กๆ พร้อมเจดีย์อยู่ภายใน เขาจอดแล้วชี้ “นั่นไงสถูป”
    ผมทราบทีหลังว่าวัดขนาดเล็กนี้ชื่อ Matha Kunwar Mandir จึงบอกเขาว่า “ไม่ใช่สถูปนี้ ผมต้องการไปที่สถูปใหญ่”  แล้วให้ดูรูปมกุฏพันธเจดีย์จากโทรศัพท์มือถือ หนุ่มเชิ้ตเขียวพยักหน้า แล้วเชิญให้ขึ้นซ้อนท้ายอีกรอบ
    เขาปั่นไปตามถนน Buddha Marg ตรงไปทางทิศตะวันออก ผ่านวัดของประเทศต่างๆ ที่ตั้งอยู่ประปราย ในจำนวนนี้มีวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ด้วย โรงแรมที่พักมีไม่กี่แห่ง รวมทั้งร้านอาหารก็น้อยกว่าพุทธคยาอยู่มาก กระทั่งมาถึงหน้าสถานที่แห่งหนึ่งทางด้านซ้ายมือของถนน หนุ่มเชิ้ตเขียวจอดจักรยานแล้วชี้เข้าไปข้างในเหมือนเดิม คราวนี้ผมเองก็มั่นใจว่าถูกต้อง

(ขณะซ้อนท้ายจักรยานหนุ่มเชิ้ตเขียว)

    หนุ่มเชิ้ตเขียวเห็นว่าผมลงจากจักรยานแล้วก็ทำท่าจะปั่นออกไป ผมดึงตะแกรงท้ายไว้ ยื่นธนบัตร 100 รูปีให้ แต่เขาส่ายหน้าปฏิเสธ เล่นเอาผมประหลาดใจมาก แต่ก็ยังมีสติยกมือไหว้ขอบคุณและอวยพรให้เขาโชคดี
    บริเวณรั้วข้างประตูทางเข้ามีป้ายเขียนไว้ว่า “EXCAVATED REMAINS OF RAMABHAR STUPA” นอกจากไม่มีค่าเข้าแล้ว ก็ยังห้ามการให้ทานใดๆ อีกด้วย ภายในพื้นที่พระเจดีย์ที่ดูเหมือนสวนเล็กๆ มีคนไม่ถึง 10 คนอยู่ในนี้ ผมเดินเข้าไปกราบและเดินวนขวาพระเจดีย์ 3 รอบ ถ่ายรูปมุมที่ไม่ย้อนแสง นั่งลงบนสนามหญ้าใต้ต้นสาละต้นหนึ่งริมกำแพงรั้ว เพ่งมองไปยังสถานถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าในวันอัฏฐมีบูชา แรม 8 ค่ำ เดือนวิสาขะ เมื่อ 2,561 ปีก่อน
    กาลต่อมาที่พุทธศาสนาและกษัตริย์เจ้าเมืองผู้อุปถัมภ์ค้ำชูเสื่อมอำนาจลงมกุฏพันธนเจดีย์ก็ถูกทำลายโดยกองทัพต่างศาสนา กระทั่งใน พ.ศ.2453 นักโบราณคดีชาวอังกฤษชื่อ A.C.L. Carlleyle ได้ขุดพบซากกองอิฐ และอนุญาตให้คนทั่วไปเข้าชมได้ใน พ.ศ.2499
    มกุฏพันธเจดีย์เหลือเพียง 2 ชั้น วัดเส้นผ่านศูนย์กลางของฐานได้ 37.18 เมตร ทางรัฐบาลอินเดียได้สร้างทางเดินรอบพระเจดีย์ไว้ 2 วง วงหนึ่งติดกับฐานพระเจดีย์ อีกวงห่างออกมาห้า-หกเมตร ปลูกไม้ตระกูลปาล์มที่คล้ายๆ ต้นหมากรายรอบ ระบบน้ำฉีดอัตโนมัติคอยเลี้ยงดูสนามหญ้า สตรีชาวอินเดียถอนวัชพืชอยู่ด้วยกันสองคน มีนักบวชปูเสื่อนอนอยู่ที่มุมกำแพงรั้วด้านหนึ่งโดยไม่ใยดีม้านั่งที่ว่างสอง-สามตัว
    เวลาประมาณบ่าย 2 โมง เท่ากับอยู่ในนี้ประมาณ 1 ชั่วโมง ผมเดินไปยังประตูทางออก มีชายหนุ่มสี่-ห้าคนนั่งจับกลุ่มกันอยู่ พวกเขาถามว่าผมจะไปไหน พอตอบว่า “ถนนใหญ่ มีออโต้ให้บริการไหม” พวกเขาสั่นศีรษะ แต่เสริมว่า “เดี๋ยวจะไปส่ง” พวกเขามีมอเตอร์ไซค์
    ผมถามว่า “เท่าไหร่” ซึ่งหมายถึงราคาค่าโดยสาร พวกเขาพร้อมกันตอบว่า “ไม่คิดเงิน” ผมคะยั้นคะยอ “คิดหน่อยเถอะครับ อย่างน้อยก็เป็นค่าน้ำมัน”
    “งั้น 50 รูปี” คนหนึ่งตอบมา
    ผมตกลงแล้วบอกเขาว่าขอเข้าห้องน้ำก่อน ก็มีแต่คนชี้ไปยังชายป่าละเมาะของถนนฝั่งตรงข้าม “นั่นแหละห้องน้ำ” มีเสียงพูดขึ้น
    ริมถนนอีกฝั่ง สตรีคนหนึ่งเล่นแอคคอร์เดียนที่วางอยู่กับพื้นพร้อมเสียงร้องอันไพเราะ ผมออกมาจากป่าก็วางธนบัตร 20 รูปีลงบนผ้าที่ใช้หุ้มตัวเครื่องดนตรี แต่ขณะนี้คลี่ออกรับเงินบริจาค เธอยิ่งร้องเสียงดังขึ้นกว่าเดิม
    เมื่อข้ามถนนกลับไปยังหน้าประตูเข้ามกุฏพันธนเจดีย์กำลังจะขึ้นมอเตอร์ไซค์คันหนึ่ง ปรากฏว่าหันไปเห็นหนุ่มเชิ้ตเขียว เขาเดินเข้ามาหาผมแล้วบอกว่าให้ไปขึ้นซ้อนท้ายจักรยานของเขาที่จอดอยู่อีกด้านของประตู แก๊งมอเตอร์ไซค์ก็บอกให้ผมตามไป
    "คงเป็นโควตาใครโควตามัน" ผมคิด และคิดอีกว่าหนุ่มเชิ้ตเขียวรอผมอยู่ราว 1 ชั่วโมง เขาช่างอดทนดีแท้ คงต้องเพิ่มค่าบริการเป็น 200 รูปีเสียแล้ว
    แม้จะนั่งไม่สบายนักเพราะไม่มีที่วางเท้า แต่ก็ไม่ลำบากอะไร และถึงแดดจะร้อน แต่ลมที่พัดมาปะทะก็ช่วยลดอุณหภูมิลง
    หนุ่มเชิ้ตเขียวพูดภาษาอังกฤษได้ไม่มาก ผมก็เลยถามเขาเพียงเล็กน้อย จากบทสนทนากระท่อนกระแท่นได้ความว่าเขาไม่ได้เป็นคนกุสินารา แต่มาอยู่ที่นี่ด้วยเหตุผล “Temple” ซึ่งคงหมายถึงพุทธสังเวชียสถานและวัดวาอารามในละแวกนี้
    ปั่นมาได้ราวกิโลครึ่ง ผมหันไปเห็นกุนเธอร์-ชายชาวเยอรมันวัย 65 ปีเพื่อนร่วมทางของผมจากพาราณสี กำลังเดินอ้อมหลังตึกแถว ทำท่าทำทางเหมือนจะหาที่ฉี่ ผมจึงบอกหนุ่มเชิ้ตเขียวให้จอด
    ขณะที่ผมกำลังเปิดกระเป๋าตังค์ เท้าขวาของเขาถีบบันไดจักรยานเคลื่อนไปได้ราว 1 เมตร ผมก็ดึงตะแกรงท้ายกลับมา บอกเขาว่า “ผมอยากให้คุณรับเงินไว้” แต่เขาส่ายหน้าเหมือนเดิมแล้วปั่นออกไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่รับแม้แต่เครดิตคำขอบคุณ ทำให้ผมอึ้งและเหวอกว่าเดิม 
    ไม่ใช่คนกุสินารา แต่มาอยู่ที่กุสินารา และอยู่ที่กุสินาราเพราะ Temple
    เขาคงกำลังสร้างกุศลด้วยวิธีการรับส่งคนมาสักการะแสวงบุญในกุสินารามาได้สักพักแล้ว และที่ไปดักอยู่ตรงจุดที่ผมหลงไปก็คงเพราะเขาทราบดีว่ามีคนหลงไปบ่อย แต่แล้วทำไมในตอนแรกเขาจึงคิดว่า “สถูป” ที่ผมหมายถึงคือวัดเล็กๆ  แห่งนั้น (A.C.L. Carlleyle ตั้งแคมป์ที่วัดนี้ตอนเริ่มขุดค้นพุทธสังเวชนียสถาน)  
    ขณะที่ผมตั้งสมมติฐานการสร้างความดีงามโดยไม่หวังผลตอบแทนของหนุ่มเชิ้ตเขียวอยู่กุนเธอร์ก็เดินกลับมาจากหลังตึกแถว เอ่ยขึ้นว่า “ยังแลกเงินไม่สำเร็จ ยูช่วยไปคุยกับเจ้าของร้านที ไอคุยไม่รู้เรื่อง” 
    นอกจากยังไม่ได้แลกเงิน 50 ดอลลาร์ สำหรับเป็นค่าธรรมเนียมวีซ่าเนปาลคนละ 25 ดอลลาร์ที่เราต้องจ่ายตอนข้ามแดน (คาดว่า) เย็นวันนี้แล้ว กุนเธอร์ยังไม่ได้แลกเงินรูปีอันจำเป็นต่อปากท้องของเขาด้วย
    เขาอธิบายต่อหน้าคนในร้านแลกเงินว่าเขามีเงินดอลลาร์ 10 ดอลลาร์ และจะจ่ายให้ร้านเป็นเงินรูปี (ที่ตอนนี้ยังไม่ได้แลก) อีกเท่ากับ 40 ดอลลาร์ รวมมูลค่าเท่ากับ 50 ดอลลาร์พอดี จะได้ไม่ต้องพกดอลลาร์เกินความจำเป็น ทำไมร้านไม่จ่ายธนบัตร 50 ดอลลาร์ให้เขาล่ะ ซึ่งในร้านมีเฉพาะใบ 50 ดอลลาร์เท่านั้น  
    ผมเลยบอกว่าธนบัตร 10 ดอลลาร์ 5 ดอลลาร์ และ 1 ดอลลาร์ จะมีมูลค่าแลกเปลี่ยนเฉลี่ยต่อดอลลาร์น้อยกว่าธนบัตร 50 และ 100 ดอลลาร์ หากร้านได้ใบละ 10 ดอลลาร์ไปก็จะเสียเปรียบในการแลกครั้งนี้ นี่คือแนวทางของร้านแลกเงินทั่วไป
    คนในร้านพยักหน้าและยิ้มให้เพราะผมอธิบายได้ถูกต้อง กุนเธอร์ยังไม่เข้าใจ ผมจึงบอกว่าเมืองไทยก็เป็นอย่างนี่แหละ เขาจึงยอมเชื่อ แต่ยังลังเลอยู่ ผมจึงถามเรตแลกเปลี่ยนแล้วควักเงิน 3,750 รูปีเพื่อแลกกับเงิน 50 ดอลลาร์ แล้วบอกกุนเธอร์ว่า “รออะไรอยู่ล่ะ รีบแลกเสียสิ ที่นี่เรตดี ไอเช็กทางอินเทอร์เน็ตแล้ว” เขาจึงล้วงเงินยูโรออกมาแลกกับรูปี
    เมื่อเสร็จเรื่องธุรกิจ ชายที่น่าจะเป็นเจ้าของร้านบอกผมว่าเขาเคยทำงานอยู่ที่พัทยาหลายปีจึงถูกใจที่รู้ว่าผมเป็นคนไทย พยายามพูดไทยให้ฟังซึ่งก็พอฟังเข้าใจ เขายังแนะนำเกร็ดการเดินทางในอินเดียอีกหลายข้อ และลงท้ายด้วยการให้นามบัตร ผมพลิกดูชื่อ “อรุณ คุปตะ” ส่วนร้านของเขาชื่อ Galaxy Travelers นอกจากรับแลกเงินแล้วก็ยังให้บริการจองห้องพัก ตั๋วเครื่องบิน รถไฟ รถบัส แพ็กเกจทัวร์ และนำเที่ยว
    ออกจากร้านไปซื้อหอมใหญ่สับชุบแป้งทอดจากรถเข็นกินชุดหนึ่งแล้ว เราก็เดินไปรอรถบัสกลับเข้าเมืองโกรัคปูร์เพื่อมุ่งหน้าสู่ชายแดนอินเดีย-เนปาลหลังจากนั้น
    ถามลุงคนขับออโต้ที่จอดอยู่ริมถนนว่า “รถบัสที่กำลังวิ่งมาใช่รถไปโกรัคปูร์หรือเปล่า?” แกไม่ตอบแต่โบกรถคันนั้นให้แทน
    ในบรรดาพุทธสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่งที่ได้เคยไปกราบสักการะ (รวมถึงลุมพินีวันที่ยังไม่ได้กล่าวถึง) ซึ่งขอละที่จะพิจารณาความยิ่งใหญ่งดงามของตัวโบราณสถานและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ผมประทับใจกุสินารามากที่สุด  
    นอกจากสภาพแวดล้อมของเมืองที่สะอาดน่าอยู่ ไร้ขยะมูลฝอยและฝุ่นคละคลุ้ง นิสัยใจคอแบบชาวบ้านของผู้คนที่นี่ก็รู้สึกได้ว่าเปี่ยมด้วยมิตรไมตรี
    นอกจากไม่เจอพวก 18 มงกุฎแม้แต่คนเดียวแล้ว ยังพบแต่ผู้ที่หยิบยื่นให้ แม้ว่านี่คือข้อสรุปจากการมาเยือนเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง 
    หากยังมีวาสนาก็จะกลับมาอย่างแน่นอน และหวังลึกๆ ว่าจะพบหนุ่มเชิ้ตเขียวอีกครั้ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"