ปิดจ๊อบประมูลบงกช-เอราวัณ


เพิ่มเพื่อน    

    หลังจากยืดเยื้อเหมือนเป็นหนังมหากาพย์เรื่องยาวที่ใช้เวลานานเกือบ 3 ปีเต็ม สำหรับการเปิดประมูลยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แปลงสำรวจในอ่าวไทยที่ใกล้จะสิ้นอายุอย่างแปลงเอราวัณและบงกช ที่รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานได้ใช้เวลาบ่มเพาะด้วยการเปิดรับฟังทุกความเห็นจากสังคม รวมทั้งการเดินหน้าปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดสำหรับการเปิดประมูลครั้งนี้ 
    ล่าสุด มหากาพย์การเปิดประมูลสัมปทานเอราวัณ และบงกชครั้งนี้ ใกล้จะได้ฉากจบที่แฮบปี้เอนดิ้ง และควรจะเป็น โดยจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2561 ซึ่งเป็นการประชุม ครม. นอกสถานที่ ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้อนุมัติรายชื่อผู้ได้รับสิทธิ์การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในแปลง G1/61 (แปลงเอราวัณ) และแปลง G2/61 (แปลงบงกช) 
    โดยรายละเอียดของมติ ครม.ครั้งนี้ ถือว่ากระทรวงพลังงานได้ผลักดันการเปิดประมูลจนสัมฤทธิผล ซึ่ง บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับบริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแปลงสำรวจหมายเลข G1/61 หรือแปลงเอราวัณ และบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เช่นเดียวกัน จะเป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแปลงสำรวจหมายเลข G2/61 หรือแปลงบงกช  
    แต่ก็มีข้อสงสัยจากหลายฝ่ายและคำถามมากมายที่เกิดขึ้น พร้อมกับมติ ครม.ครั้งนี้  ว่าเหตุใด ปตท.สผ. จึงคว้าสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใน 2 แปลงสำคัญของประเทศ ซึ่งกระทรวงพลังงานในฐานะที่กำกับดูแลกิจการด้านการจัดหาพลังงานของประเทศ ได้เปิดข้อเสนอการพิจารณาจากคณะกรรมการปิโตรเลียม ที่มีรายละเอียดสำคัญดังนี้
    ข้อเสนอของ ปตท.สผ. ที่กำหนดราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ 116 บาท/ล้านบีทียู สำหรับทั้ง 2 แปลง เมื่อเทียบกับราคาปัจจุบันที่ 165 บาท/ล้านบีทียู สำหรับแปลงเอราวัณ และ 214.26 บาท/ล้านบีทียู สำหรับแปลงบงกชแล้วเทียบเท่าส่วนลดค่าใช้จ่ายราคาก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศ เท่ากับ 550,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี ตามเงื่อนไขการผลิตขั้นต่ำ หรือปีละ 55,000 ล้านบาท 
    และหากนำส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติที่ได้จากทั้ง 2 แปลง มาใช้ลดค่าใช้จ่ายผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จะสามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 29 สตางค์ต่อหน่วย ไปอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 10 ปี อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการใช้เพียง 58% ของก๊าซธรรมชาติทั้งหมดเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จึงประมาณการได้ว่า หากเฉลี่ยส่วนลดให้ผู้ใช้ก๊าซทุกรายตามสัดส่วนการใช้จะประหยัดไฟฟ้าได้ 17 สตางค์ต่อหน่วย
    นอกจากนี้ ในด้านข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ ผู้ชนะการประมูลยังได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนรัฐมากกว่า 50% โดยข้อเสนอดังกล่าวมากกว่าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารเชิญชวน ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐเพิ่มขึ้นอีก 100,000 ล้านบาท รวมถึงยังสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แปลงได้ต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี ซึ่งจะสามารถสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานให้กับประเทศ เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศได้อย่างยั่งยืน
    สำหรับความสำคัญของเดินหน้าเพื่อประมูลสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ก็ต้องขอย้ำว่า การพัฒนาทั้ง 2 แปลงนี้ให้เกิดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลา 10 ปีแรกของสัญญาแบ่งปันผลผลิต จะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้รัฐในรูปค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไร ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ตลอดจนก่อให้เกิดการจ้างงานพนักงานคนไทย ในสัดส่วน 98% และยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซแอลพีจีได้ประมาณ 22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ  4.6 แสนล้านบาท รวมทั้งยังก่อให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกประมาณ 1.1  ล้านล้านบาท
    ถ้าทั้ง 2 แปลงเอราวัณและแปลงบงกชครั้งนี้ ไม่ได้เดินหน้าต่อไปจากคนบางกลุ่มที่พยายามคัดค้านเตะถ่วงอีกครั้ง ก็เชื่อว่า ผลประโยชน์ของชาติที่ได้กล่าวมาทั้งหมด ก็จะสูญสลายไป ซึ่งนั่นคือเรื่องที่ไม่สมควรเกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง  
    ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ จนเกิดความเสียหายใคร....จะออกมารับผิดชอบกับการกระทำบ้าง. 

บุญช่วย ค้ายาดี 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"