วันที่ 2 ธ.ค. นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเขม่าควันและกลิ่นจากการเผาศพมีอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะในเขตชุมชน มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นจากการเผาศพ ได้แก่ กลิ่น ฝุ่นละออง รวมถึงฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และขี้เถ้าจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ซึ่งมาจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์หรืออุณหภูมิไม่สูงพอ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญและมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชนด้วย สำหรับองค์ประกอบของกลิ่นเผาศพจะประกอบด้วยก๊าซหลายชนิด เช่น แอมโมเนีย ไฮโดเจนซัลไฟด์ เมอร์แคปแทน และฟอร์มาลดีไฮด์จากนํ้ายารักษาศพ เป็นต้น ก๊าซเหล่านี้จะถูกกำจัดได้โดยการเผาไหม้ที่อุณหภูมิสูงในห้องเผาไหม้
นายประลอง กล่าว่า จากปัญหาข้างต้น พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้ คพ. จัดทำระดับมาตรฐานเตาเผาศพเพื่อยกระดับเตาเผาศพในประเทศไทยให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่ส่งผลกระทบรบกวนกับชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับวัดหรือฌาปนสถาน รวมทั้งเพื่อพัฒนาและปรับปรุงเตาเผาศพที่ใช้ในประเทศให้มีประสิทธิภาพรควบคุมมลพิษในระดับที่สูงขึ้น คพ. กำหนดระดับมาตรฐานเตาเผาศพเป็น 4 ระดับ คือ เตาเผาศพ 1.0 เป็นเตาเผาศพชนิด 1 ห้องเผา ใช้ถ่านไม้หรือฟืนเป็นเชื้อเพลิง และไม่มีการควบคุมอุณหภูมิในการเผาศพ มีประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษต่ำ เหมาะสำหรับวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบทหรือพื้นที่ห่างไกล, เตาเผาศพ 2.0 เป็นเตาเผาศพชนิด 1 ห้องเผา ใช้น้ำมันเตาหรือน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง และมีการควบคุมอุณหภูมิในการเผาศพ มีระบบควบคุมและบันทึกข้อมูลการ ทำงานของเตาเผาศพ มีประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษในระดับพอใช้ เหมาะสำหรับวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชุมชนหรือมีการกระจายตัวของชุมชนไม่หนาแน่น ,เตาเผาศพ 3.0 เป็นเตาเผาศพชนิด 2 ห้องเผา โดยห้องเผาแรกเ ป็นห้องเผาศพ และห้องเผาที่สองเป็นห้องเผาก๊าซและควันที่เกิดจากห้องเผาแรกก่อนระบายอากาศเสียสู่บรรยากาศ ใช้น้ำมันดีเซลหรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง มีการควบคุมอุณหภูมิและระยะเวลาในการเผาควันและก๊าซตลอดจนการเผาศพ มีระบบควบคุมและบันทึกข้อมูลการทำงานของเตาเผาศพอัตโนมัติ มีประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษในระดับดีเหมาะสำหรับวัดที่ตั้งอยู่ ในพื้นที่ชุมชนเมือง ที่มีการอยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่น และเตาเผาศพ 4.0 มีห้องเผาอย่างน้อย 2 ห้องเผา โดยห้องเผาแรกเป็นห้องเผาศพ และห้องเผาสุดท้ายเป็นห้องเผาก๊าซและควันที่เกิดจากห้องเผาแรกก่อนระบายอากาศเสียสู่บรรยากาศ ใช้น้ำมันดีเซลหรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง หรือเป็นเตาที่ใช้ไฟฟ้าในการเผาไหม้ มีการควบคุมอุณหภูมิและระยะเวลาในการเผาควันและก๊าซตลอดจนการเผาศพ มีระบบควบคุมและบันทึกข้อมูลการทำงานของเตาเผาศพอัตโนมัติ มีระบบควบคุมมลพิษทางอากาศอื่นๆ มีประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษในระดับดีเยี่ยม เหมาะสำหรับวัดในพื้นที่ชุมชนเมืองอยู่อาศัยหนาแน่น
" ข้อมูลล่าสุดพบว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีวัด 456 วัด เป็นวัดที่มีเตาเผาศพจำนวน 310 วัด ทั้งหมดจัดเป็นเตาเผาศพระดับ 3.0 และภายในปี 2562 สามารถปรับให้เป็นเตาเผาศพระดับ 4.0 ได้จำนวน 20 วัด การยกระดับเตาเผาศพจะช่วยลดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนและก๊าซต่างๆ ทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น ซึ่ง คพ.จะได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานพระพุทธศาสนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป" นายประลอง กล่าว