สถานการณ์การบริโภคผักและผลไม้ในประเทศไทย คนไทยมีแนวโน้มการบริโภคผักและผลไม้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


เพิ่มเพื่อน    

    ประชากรไทยอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป มีอัตราการบริโภคผักและผลไม้ที่เพียงพอตามข้อแนะนำเพิ่มมากขึ้น โดยมีอัตราการบริโภครวมใน พ.ศ.๒๕๕๒ อยู่ที่ร้อยละ ๑๗.๗๐ และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๒๕.๙๐
    นอกจากนี้ยังพบว่าใน พ.ศ.๒๕๕๗ เพศหญิงมีอัตราการบริโภคผักและผลไม้ในปริมาณที่มากกว่าเพศชายเล็กน้อย คือ เพศหญิง ร้อยละ ๒๗.๖๐ และเพศชาย ร้อยละ ๒๔.๑๐ โดยประชากรไทยบริโภคผักและผลไม้รวมในปริมาณเฉลี่ย ๓.๗ ส่วนต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าข้อแนะนำมาตรฐานที่ให้บริโภค ๕ ส่วนต่อวัน โดยเกือบ ๑ ใน ๒ ของประชากรไทยบริโภคผักน้อยกว่า ๒ ส่วนมาตรฐานต่อวัน และบริโภคผลไม้น้อยกว่า ๑ ส่วนมาตรฐานต่อวัน และมีแนวโน้มการบริโภคผักและผลไม้ลดลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ ๗๐ ปีขึ้นไปบริโภคผักและผลไม้เพียงพอ มีเพียงร้อยละ ๒๙.๑๐
    จากผลการสำรวจสถานการณ์อัตราการชุกของผู้มีภาวะนำหนักตัวเกิน และโรคอ้วน ใน พ.ศ.๒๕๕๘ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยเรียน (เด็กที่มีอายุตั้งแต่ ๕-๑๔ ปี) ของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เด็กวัยเรียนร้อยละ ๑๒.๕๐ มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ซึ่งมีแนวโน้มอ้วนขึ้นกว่า พ.ศ.๒๕๕๗ และ พ.ศ.๒๕๕๖ ตามลำดับ ภาวะดังกล่าวล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยสำคัญทั้งในด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และการจัดการสภาพแวดล้อมด้านอาหารในโรงเรียน
    จากโครงการสำรวจสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อมโรงเรียนประถมศึกษา ใน พ.ศ.๒๕๕๗ พบว่า เด็กวัยเรียนดื่มน้ำหวาน ๑ แก้วต่อวัน สูงถึงร้อยละ ๔๘.๘๐ และซื้อขนมกรุบกรอบ/ขนมขบเคี้ยวนอกโรงเรียน อย่างน้อย ๑-๒ วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ ๔๒.๗๐ นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ ๔๓.๒๐ ของโรงเรียนที่สำรวจมีร้านค้าขนมกรุบกรอบและน้ำอัดลมที่จำหน่ายอยู่บริเวณรอบรั้วโรงเรียน จำนวน ๑-๒ ร้านค้า ซึ่งอาหารหน้าโรงเรียนที่เด็กวัยเรียนนิยมซื้อมาบริโภคส่วนใหญ่มักจะเป็นอาหารที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ได้แก่ ลูกชิ้นปิ้ง/ทอด ไอศกรีม ขนมหวานเนื้อสัตว์ทอด/ย่าง และไส้กรอก
    สถานการณ์ภาวะอ้วนของประชากรไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง และภาวะไตวายเรื้อรัง ซึ่งไม่เพียงจะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยและครอบครัวโดยตรงเท่านั้น แต่ยังคงเป็นปัญหาที่มีผลต่อเนื่องไปยังภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากภาครัฐต้องมีภาระค่าใช้จ่ายสุขภาพสูงถึงร้อยละ ๗๖.๔๐ ของค่าใช้จ่ายสุขภาพรวมใน พ.ศ.๒๕๕๕ ซึ่งยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
    ร่วมวางฐานรากพัฒนาทักษะและคุณภาพชีวิตเด็กไทยทุกช่วงวัย
    “การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ให้ผลตอบแทนแก่สังคมที่ดีที่สุดในระยะยาว โดยให้ผลตอบแทนกลับคืนมาในอนาคต ๗-๑๐ เท่า เพราะหน้าต่างแห่งโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ของมนุษย์จะเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ในช่วงปฐมวัยเท่านั้น” คำกล่าวของ ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ เจ. เอคแมน (James J. Hechman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล พ.ศ.๒๕๔๒ จากมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา
    “วัยเด็ก” เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ การปูพื้นฐาน การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งจากครอบครัว โรงเรียน สังคม นโยบายของประเทศ จะหล่อหลอมและสร้างเด็กให้มีคุณภาพ พร้อมที่จะเติบโตอย่างแข็งแรงและมั่นคง ดังนั้น การลงทุนสร้างสุขภาวะตั้งแต่วัยเด็กจึงเป็นสิ่งที่คุ้มค่าเพราะจะได้ประชากรที่มีสุขภาพกาย ใจแข็งแรง รู้จักลด ละ เลี่ยงปัจจัยเสี่ยง มีพัฒนาการทางสติปัญญาที่พร้อมเรียนรู้ และพัฒนาสิ่งใหม่ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
    สสส.ได้ขับเคลื่อนงานด้านสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชน ตั้งแต่เด็กแรกเกิด เด็กปฐมวัย ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต่อยอดไปยังสุขภาวะเด็กชายขอบให้เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งการผลักดันให้เกิดนโยบายระดับประเทศเพื่อประโยชน์แก่เด็กและเยาวชน
    สถานการณ์เด็กไทยน่าเป็นห่วง ข้อมูลจากกรมอนามัย ระบุว่า เด็กไทยมีอัตราการเกิดลดลง โดยใน พ.ศ.๒๕๕๙ มีเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า ๗๐๐,๐๐ คน และยังพบปัญหาด้อยคุณภาพ สะท้อนถึงการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมในวัยรุ่นที่มีจำนวนมากขึ้น ใน พ.ศ.๒๕๕๘ มีเพศหญิงอายุ ๑๐-๑๙ ปี คลอดบุตร จำนวน ๑๐๔,๒๘๙ คน หรือเฉลี่ยวันละ ๒๘๖ คน คือ เป็นอัตราการคลอดสูงถึงร้อยละ ๑๕ ของการคลอดทั้งหมด สวนทางกับโครงสร้างประชากรของประเทศไทย
    ขณะที่พัฒนาการของเด็กปฐมวัยต่ำกว่ามาตรฐาน ข้อมูลจากสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๖๐ ระบุว่า เด็กแรกเกิด อายุ ๐-๕ ปี กว่า ๑ ใน ๕ หรือประมาณร้อยละ ๒๗.๕ มีพัฒนาการที่ไม่สมวัยและล่าช้า เช่นเดียวกับเด็กวัยเรียนอายุ ๖-๑๔ ปี มีปัญหาด้านความสามารถ เชาวน์ปัญญา และความฉลาดทางอารมณ์ต่ำกว่ามาตรฐานสากล ส่วนเด็กวัยรุ่นและเยาวชน อายุ ๑๕-๒๔ ปี มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมเสี่ยงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นการพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพตั้งแต่แรกเกิดจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น
    พัฒนาทักษะสมองเด็กไทย ปูทางสู่ความสำเร็จในอนาคต
    บทบาทการดำเนินงานของ สสส.
    การพัฒนาเด็กไทยให้มีทักษะของคนในศตวรรษที่ ๒๑ (21th Century Skills) ซึ่งมีคุณสมบัติอันพึงประสงค์เพื่อให้เด็กไทยเติบโตเป็นพลเมืองคุณภาพที่เข้มแข็ง มีความพร้อมทั้งกาย ใจ ศีลธรรม สติปัญญา มีความมั่นคงในชีวิต และมีครอบครัวที่อบอุ่น มีความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งหมดล้วนเป็นศักยภาพจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
    แผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.ร่วมกับสถาบันรักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป (อาร์แอลจี) นำแนวคิด “ทักษะการคิดเพื่อชีวิตที่สำเร็จ” (Executive Function : EF) นำมาขับเคลื่อนและสื่อสารให้หน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับด้านพัฒนาการเด็ก ได้นำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็กไทยให้มีพัฒนาการสมวัย
    ทักษะการคิดเพื่อชีวิตที่สำเร็จ หรือ EF เป็นองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีทักษะชีวิตรอบด้าน โดยการสร้างชุดกระบวนการทางความคิด (Mental Process) ของสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับการคิด ความรู้สึก และการกระทำ เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ของสมองอย่างเป็นระบบ อาทิ การคิดไตร่ตรอง การควบคุมอารมณ์ การจดจำ การวางแผน การตั้งเป้าหมาย ความมุ่งมั่น การจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ ซึ่งเป็นทักษะที่มนุษย์ทุกคนต้องใช้ มีความสำคัญต่อความสำเร็จในการเรียน การงาน การสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น และการมีครอบครัว
    ทั้งนี้มีงานวิจัยระบุว่า เด็กปฐมวัย อายุ ๓-๖ ปี เป็นช่วงเวลาสำคัญในการพัฒนาทักษะ EF เพราะสมองจะมีการพัฒนาทักษะ EF ได้ดีที่สุดในช่วงเวลานี้ หากพ้นจากช่วงเวลานี้ไปถึงวัยเรียน วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น แม้จะยังพัฒนาได้ แต่ก็จะไม่ได้ดีเท่ากับช่วงปฐมวัย ในทางกลับกันถ้าเด็กขาดการพัฒนาทักษะ EF ในด้านใดด้านหนึ่ง จะกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก อาทิ เด็กที่ขาดทักษะสมองในด้านจดจ่อใส่ใจอย่างรุนแรง เด็กอาจมีสมาธิสั้น เด็กที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ อาจเป็นเด็กที่ก้าวร้าว ขาดวิจารณญาณ การขาดทักษะเหล่านี้ ส่งผลให้เด็กไม่เห็นคุณค่าในตนเอง อดกลั้นต่อสิ่งเร้ารอบตัวไม่ได้ นำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาวะต่างๆ ในอนาคต อาทิ ติดเกม ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ติดบุหรี่ และยาเสพติด กลายเป็นประชากรที่ไม่แข็งแรง เป็นภาระทางสุขภาพในอนาคต และไม่สามารถเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศได้
    ผลการดำเนินงาน
    สสส.สนับสนุนสถาบันอาร์แอลจี และศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาวิจัยและรวบรวมงานวิจัยจากต่างประเทศ เพื่อจัดการความรู้และพัฒนาความรู้ EF ให้เป็นที่รู้จักและเข้าใจง่าย โดยมุ่งหวังให้พ่อแม่และบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะปฐมวัยศึกษาสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาเด็กได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการดำเนินงานสำคัญ ดังนี้
    ๑.สนับสนุนสถาบันอาร์แอลจี จัดการและสังเคราะห์องค์ความรู้ EF เชื่อมโยงกับองค์ความรู้ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งแบ่งเด็กเป็น ๔ กลุ่ม ได้แก่ ๑) กลุ่มอายุ ๐-๒ ปี ๒) กลุ่มอายุ ๓-๖ ปี ๓) กลุ่มอายุ ๗-๑๔ ปี และ ๔) กลุ่มอายุ ๑๓-๑๘ ปี
    ๒.ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เชื่อมโยงคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (Developmental Surveillance and Promotion Manual : DSPM) ของกรมอนามัย กับชุดองค์ความรู้ EF เนื่องจากมีจุดเชื่อมโยงหลายแห่ง สำหรับเด็กวัยแรกเกิดอายุ ๐-๒ ปี ได้นำวิธีการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยของกรมอนามัย “กิน นอน กอด เล่น เล่า ช่วยเหลือตัวเอง งานบ้าน” นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และผู้ดูแลเด็กภายใต้แนวคิด “หนูน้อย โตได้โตดี”
    ๓.ร่วมกับศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาเครื่องมือแนวทางการทำงาน (EF Guideline) ในกลุ่มอายุ ๓-๖ ปี สำหรับผู้ดูแลเด็กเพื่อใช้ควบคู่กับแบบสังเกตพฤติกรรมของเด็กปฐมวัย เพื่อเสริมการเรียนการสอนของครูต่อการจัดการเรียนรู้ของเด็กรายบุคคลมากยิ่งขึ้น
    ๔.สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับการส่งเสริม EF ในเด็กปฐมวัยและบรรจุเนื้อหา EF ลงในรายวิชาที่เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัย ๖ แห่ง ได้แก่ ๑) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ทั้ง ๔ วิทยาเขต ได้ปรับปรุงหลักสูตรสาขาการปฐมวัย และบรรจุเป็นวิชาเอกบังคับรายวิชาสมองและการพัฒนาเด็ก ๒) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ๓) มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ๔) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ๕) มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และ ๖) มหาวิทยาลัยนครพนม ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพวิทยากรกระบวนการด้านส่งเสริมการพัฒนาทักษะสมองของเด็กปฐมวัยขยายความรู้สู่ผู้ดูแลเด็กด้วย
    ๕.สร้างเครือข่ายความร่วมมือในประเทศไทย เพื่อร่วมเป็นพันธมิตรทางวิชาการ ในการขับเคลื่อนงาน (Thailand EF Partnership) โดยมีหน่วยงานที่มีภารกิจในการพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ในมิติต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวม ๓๐ องค์กร เกิดการขยาย ขับเคลื่อน และสร้างความเข้าใจเรื่องการพัฒนาทักษะสมองของเด็กปฐมวัย อาทิ เครือข่ายสุขภาพ อำเภอพญาเม็ง ราย จังหวัดเชียงราย ร่วมพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาทักษะสมอง ของเด็กปฐมวัยทั้งอำเภอ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จัดตั้งคณะทำงานวิชาการ ด้านพัฒนาทักษะสมองของเด็กปฐมวัย เข้าร่วมพัฒนางานวิชาการอย่างต่อเนื่อง พัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย สร้างภูมิคุ้มกันสื่อยุคดิจิทัล
    “สื่อดิจิทัล” ได้กลายเป็นสื่อกระแสหลักที่มีอิทธิพลต่อสังคมอย่างมาก ทุกคนสามารถเชื่อมต่อกันได้เพียงแค่มีสมาร์ทโฟน แม้แต่เด็กเล็กก็สามารถเข้าถึงสื่อดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว แต่กลับใช้เพื่อความบันเทิงมากว่าใช้เพื่อพัฒนาความรู้ การศึกษา และยัง ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะ โดยพบว่าเด็กไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ๑๓.๓๙ ชั่วโมงต่อวัน
    หากเด็กเหล่านี้มีพฤติกรรมเนือยนิ่งติดต่อกันเกิน ๒ ชั่วโมง มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน เด็กไทย ๑ ใน ๕ จึงตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงเกิดภาวะอ้วน ซึ่งจะนำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ก่อนวัยอันควร การปล่อยให้เด็กใช้เวลากับสื่อมากขึ้นโดยลำพัง ส่งผลด้านลบต่อพฤติกรรมสุขภาพ อาทิ การมีกิจกรรมทางกายน้อยลง การบริโภคอาหารตามสื่อโฆษณา ขาดทักษะการเข้าสังคม และพัฒนาการทางด้านร่างกายล่าช้า ดังนั้นการส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้สื่ออย่างสร้างสรรค์เท่าทัน จึงเป็นการติดอาวุธทางปัญญาที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กไทย
    บทบาทการดำเนินงานของ สสส.
    แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา ร่วมกับภาคีเครือข่ายกลุ่มแผนงานสื่อสุขภาวะ สสส. ส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ด้วยการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก มุ่งเน้นการสร้างสุขภาวะที่ดี ๔ ด้าน ได้แก่ กาย ใจ ปัญญา และสังคม ด้วยยุทธศาสตร์ ๓ ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) ใช้กระบวนการสื่อสร้างสรรค์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก เพื่อพัฒนาทักษะชีวิต รู้เท่าทันสื่อ มีความฉลาดรู้ทางสุขภาพ มีความรับผิดชอบต่อสังคมทางปัญญา รู้จักการใช้สื่ออย่างพอดี อาทิ การจัดมุมการเล่น มุมเรียนรู้ มุมการอ่าน มุมภูมิปัญญาท้องถิ่น หล่อหลอมให้เด็กเป็นพลเมืองที่มีทักษะชีวิต รู้เท่าทันสื่อ มีความฉลาดรู้ทางสุขภาพ มีความรับผิดชอบต่อสังคม
    ผลการดำเนินงาน
    สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายกลุ่มแผนงานสื่อสุขภาวะ ดำเนินโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ด้วยการพัฒนาศักยภาพครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้เป็นนักสื่อสารสุขภาวะที่มีทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยสื่อ และพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะของเด็กปฐมวัย ผลการดำเนินงานตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๕๙ มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ ๓๕๕ แห่ง มีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ ได้แก่ เด็กปฐมวัย ๓๐,๗๘๑ คน และครู ๒,๐๗๑ คน โดยมีการดำเนินงาน ดังนี้
    ๑.ขยายแนวคิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศอีก ๑๗๓ แห่ง ใน พ.ศ.๒๕๖๐ สามารถขยายเครือข่ายการทำงานลงลึกไปถึงระดับอำเภอ และจังหวัดต่อไป มุ่งเน้นการเรียนรู้ที่มีชีวิตและส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ทั้งในและนอกอาคาร อาทิ พื้นที่ส่งเสริมการอ่าน พื้นที่เล่น พื้นที่ส่งเสริมกิจกรรมทางกายบนฐานการพัฒนาการเรียนรู้ (Brain base learning) ที่ประยุกต์วัสดุเหลือใช้รอบตัวเป็นสื่อเรียนรู้
    ๒.จากการประเมินผลการดำเนินโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใน พ.ศ.๒๕๖๐ เด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดีขึ้น ๔ ด้าน คือ ๑) ด้านความสัมพันธ์ เด็กสามารถแสดงออกถึงความสัมพันธ์ต่อครอบครัว ครู และบุคคลอื่นได้อย่างเหมาะสมตามช่วงวัย ๒) ด้านอารมณ์ เด็กสามารถควบคุมอารมณ์ แบ่งปันสิ่งของ เชื่อมั่นในตัวเอง แสดงออกอย่างเหมาะสม แสดงความชื่นชมผู้อื่นได้ ๓) ความฉลาดรู้ทางสุขภาพด้านกิจกรรมทางกาย เด็กสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว และ ๔) ความฉลาดรู้ทางสุขภาพ ด้านอาหารและโภชนาการ เด็กรู้จักเลือกอาหารที่มีโภชนาการคุณภาพ เครื่องดื่มลดหวาน และหลีกเลี่ยงขนมกรุบกรอบได้
    ๓.พัฒนาครูแกนนำที่มีความรู้ มีทักษะการเป็นนักสื่อสารสุขภาวะ ๑,๓๓๒ คน สามารถจัดการเรียนรู้ด้วยสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กอย่างเหมาะสม โดยมีรูปแบบที่หลากหลาย สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก อาทิ ๑) การจัดมุมสนามพื้นที่สร้างสรรค์ ด้วยการพัฒนาขึ้นมาจากล้อยาง และวัสดุในท้องถิ่น ๒) มุมแปลงผัก เกษตรกรน้อย เพื่อฝึกให้เด็กมีระเบียบวินัย และรับประทานผักสด ๓) มุมภูมิปัญญาท้องถิ่น การผลิตสื่อ ศิลปวัฒนธรรม และการละเล่นท้องถิ่น โดยมีเครือข่ายครูที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
    ๔.สร้างความสัมพันธ์ระหว่างครู ผู้ปกครองและชุมชน ทำให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นเจ้าของงานร่วมกัน สามารถนำรูปแบบพื้นที่สร้างสรรค์ไปขยายต่อในบ้าน และชุมชนได้ อาทิ การจัดมุมเล่นทราย มุมการอ่าน การปลูกผัก และยังมีการสนับสนุนปราชญ์ชาวบ้าน ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น และผู้สูงอายุในชุมชนกว่า ๑,๐๐๐ คนเข้ามามีส่วนร่วมในการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านกระบวนสื่อและกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็ก อาทิ การทำของเล่นจากวัสดุในท้องถิ่น
    ควบคุมการตลาดนมผง คุ้มครองเด็กไทยได้กินนมแม่
    สภาพเศรษฐกิจและสังคม ของครอบครัวไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้หญิงต้องทำงานนอกบ้านมากขึ้น มีผลให้คุณแม่จำนวนไม่น้อยไม่สามารถ “เลี้ยงลูกด้วยนมแม่” ได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับค่านิยมและพฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมผสมเพิ่มสูงขึ้น ทำให้อัตราการกินนมแม่เพียงอย่างเดียวของเด็กไทยมีน้อยมาก ทั้งที่นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดของทารก มีสารอาหารที่มีคุณค่ามากกว่า ๒๐๐ ชนิด ช่วยการเจริญเติบโต สร้างภูมิคุ้มกันโรค และการโอบกอดของแม่ขณะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ส่งผลดีต่อพัฒนาการทางสติปัญญา อารมณ์ รวมทั้งการสร้างสายใยผูกพันระหว่างแม่ลูกที่สำคัญยิ่ง
    จากผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๕๙ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า เด็กแรกเกิดอายุ ๐-๕ เดือนกินนมแม่อย่างเดียว มีเพียง ร้อยละ ๒๓ และมีเด็กที่ได้กินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดอายุ ๐-๒ ปี ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก มีเพียงร้อยละ ๑๕.๖ เท่านั้น
    สาเหตุสำคัญประการหนึ่งเกิดจาก “การตลาดของอาหารทารกและเด็กเล็ก” ที่มุ่งส่งเสริมการขายโดยเข้าถึงในโรงพยาบาล ใช้บุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้สื่อสารให้ข้อมูลอ้างอิงข้อมูลคุณประโยชน์และสารอาหารของนมผง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่านมผงดีกว่านมแม่ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมเพื่อไม่ให้เด็กทารกเสียโอกาสที่จะได้รับนมแม่อย่างเหมาะสม 
    องค์การอนามัยโลกแนะนำการกินนมแม่ “๑-๖-๒” คือ กินนมแม่ตั้งแต่ ๑ ชั่วโมงแรกหลังคลอด กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง ๖ เดือนแรก กินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัยจนถึงอายุ ๒ ปี หรือนานกว่านั้น ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกประเมินว่า หากแม่ได้รับการดูแลทั้งการส่งเสริม สนับสนุน และปกป้อง จะมีโอกาสที่แม่จะสามารถให้นมลูกตามคำแนะนำได้เพิ่มขึ้น ๒.๕ เท่า ซึ่งจะส่งผลบรรลุเป้าหมายที่กำหนดให้เด็กทั่วโลกอย่างน้อย ร้อยละ ๕๐ ได้รับนมแม่อย่างเหมาะสม ตามหลักที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ
    บทบาทการดำเนินงานของ สสส.
    แผนควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ และแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ร่วมกันกำหนดเป้าหมายให้ประชาชนมีพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสม โดยการผลักดันให้มีกฎหมายควบคุมการตลาดนมผงทารก เรียกว่า code นมแม่ จนเป็นมติในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓ เรื่อง การควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการส่งเสริมการขาย และการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก โดยได้ร่วมกันพัฒนาและผลักดันร่างพระราชบัญญัติการตลาดอาหารทารก และเด็กเล็ก พ.ศ. ... หรือพระราชบัญญัติฉบับประชาชนขึ้น เพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
    กระบวนการและขั้นตอนในการผลักดันให้มีการพัฒนากฎหมายฉบับดังกล่าวนั้น สสส. ร่วมกับมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย (UNICEF) แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาร่างกฎหมาย โดยนำสาระบางประการจากร่างกฎหมายฉบับประชาชน ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมร่วมกับร่างกฎหมายของฉบับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้มีความเหมาะสมและทันสถานการณ์
    ต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้เสนอร่างพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหาร สำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เห็นชอบให้เป็นกฎหมายและได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐
    ผลการดำเนินงาน
    การประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหาร สำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.๒๕๖๐ โดยมีผลบังคับใช้ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ซึ่งถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่ประกาศใช้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มทารกและเด็กเล็ก โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
    กฎหมายฉบับนี้จะเป็นการควบคุมการส่งเสริมการตลาด ผ่านสื่อโฆษณาและวิธีการลดแลก แจก แถมของผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก หรือผลิตภัณฑ์นมผงให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กไทยทุกคนได้กินนมแม่อย่างเต็มที่ มีภูมิต้านทาน ช่วยให้มีพัฒนาการที่สมวัย และสร้างสายใยผูกพันระหว่างแม่กับลูก
    ทั้งนี้ สสส.และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันรณรงค์และสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของนมแม่ สร้างและขยายเครือข่ายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อส่งเสริมการให้เด็กไทย มีโภชนาการและมีพัฒนาการที่สมวัย เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพในอนาคต
    เพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษาเพื่อเด็กไร้สัญชาติ
    “การศึกษา” ถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะลดช่องว่างความไม่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพด้วย จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ในปีการศึกษา พ.ศ.๒๕๕๙ พบว่า ประเทศไทยมีนักเรียนต่างชาติและนักเรียนไม่ปรากฏสัญชาติ ๑๓๕,๒๗๖ คน มีเด็กที่ไม่มีเอกสารแสดงตน คือ ไม่มีข้อมูลสัญชาติ ไม่มีเลขประจำตัวทางทะเบียนราษฎร์อีก ๖๘,๙๑๔ คน นอกจากนี้ยังมีเด็กที่เรียนอยู่ในศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติ (Migrant Learning Center) ขององค์กรชุมชน องค์กรเอกชน ประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน สถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีสาเหตุจากหลายปัจจัย ทั้งสถานศึกษาปฏิเสธการรับ เด็กเข้าเรียนก็ไม่มีผู้รับรอง เด็กไม่ผ่านการประเมินพื้นฐานความรู้ภาษาไทย ปัญหาด้านเศรษฐกิจของครอบครัว และการไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา
    ปัญหาที่พบในเด็กข้ามชาติที่สำคัญ คือ มีภาวะทุพโภชนาการ ทำให้ภูมิต้านทานโรคต่ำ เจ็บป่วยง่าย เจ็บป่วยบ่อย อันมีผลต่อสติปัญญา พัฒนาการทางสมอง และร่างกาย รวมทั้งยังมีปัญหาจากโรคติดต่อต่างๆ อาทิ โรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพ เด็กกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคระบาดได้
    บทบาทการดำเนินงานของ สสส.
    แผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ร่วมกับมูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท ภายใต้โครงการสร้างเสริมสุขภาวะประชากรข้ามชาติ โดยระบบการศึกษา ได้ดำเนินงานเพื่อพัฒนาสุขภาวะของเด็กข้ามชาติ เพื่อเอื้อต่อการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) ตามนโยบายของรัฐบาล ในการขยายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาของประชากรทุกคนในประเทศไทย โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้ ๑) การพัฒนานโยบายกลไก แนวปฏิบัติที่เอื้อต่อการเข้าถึงการศึกษาและการสร้างสุขภาวะ ๒) การเชื่อมประสานระดับนโยบาย นำไปสู่การปฏิบัติเพื่อการสร้างสุขภาวะ ๓) การสร้างและปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงการศึกษา ๔) การสร้างการมีส่วนร่วมของประชากรข้ามชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ๕) การพัฒนาความสามารถ ทักษะส่วนบุคคลของประชากรข้ามชาติให้สามารถช่วยเหลือตนเองและชุมชนได้
    การดำเนินงานมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาของเด็กนักเรียนข้ามชาติ ที่เรียนอยู่ในโรงเรียน หรือศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติในประเทศไทย เมื่อจบการศึกษาในระดับใดก็ตาม หากไม่ได้ลงทะเบียนการเรียน ที่เมืองเมียวดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จะส่งผลให้เด็กนักเรียนข้ามชาติกลุ่มนี้ไม่สามารถนำวุฒิการศึกษาจากประเทศไทยไปสมัครเรียนต่อที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาได้ ทำให้เด็กหลายคนต้องลงเรียนซ้ำ หรือไม่ได้รับการศึกษาต่ออีกเลย อันมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเด็กในอนาคตได้
    ผลการดำเนินงาน
    สสส. ร่วมกับมูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท และกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนากลไกเชื่อมโยงการศึกษาระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ผ่านหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับประถมศึกษาของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในศูนย์การเรียนของเด็กข้ามชาติ ในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เชื่อมโยงกับโรงเรียน ๒ แห่ง ในเมืองเมียวดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ.๒๕๕๗ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการเรียนของนักเรียนข้ามชาติ โดยมีการดำเนินงานดังนี้
    ๑.ในปีการศึกษา พ.ศ.๒๕๕๙ ได้ขยายพื้นที่การทำงาน ไปยังอำเภอพบพระ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก และเขตบางบอน กรุงเทพฯ และขยายระดับการศึกษาในระดับประถมศึกษาระดับกลาง ส่งผลให้มีศูนย์การเรียนใน ๓ พื้นที่ รวม ๑๗ แห่ง มีเด็กลงทะเบียนเรียน ๑,๓๔๗ คน ต่อมาในปีการศึกษา พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๑ มีนักเรียนระดับประถมศึกษา ๖๐๒ คน และระดับประถมศึกษาระดับกลาง ๒๑ คน โดยเด็กนักเรียนข้ามชาติทุกคนที่จบหลักสูตรได้รับรองหลักฐาน การศึกษาสามารถนำวุฒิการศึกษาไปสมัครเข้าเรียนต่อในสถานศึกษาอื่นๆ ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาได้
    ๒. ร่วมกับโรงพยาบาลแม่สอด คลินิกแม่ตาว จังหวัดตาก และเครือข่ายในพื้นที่ ส่งเสริมให้มีครูอนามัยโรงเรียนประจำในศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติ นำร่อง ๙ แห่ง เพื่อรับผิดชอบงานสร้างเสริมสุขภาพของเด็กนักเรียน โดยรับการพัฒนาความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพ พัฒนาการเด็กและการป้องกันโรค
    ๓.ร่วมกับเครือข่ายทางการศึกษาของประเทศไทย และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา พัฒนาระบบส่งเสริมสุขภาพของเด็กนักเรียนข้ามชาติ โดยพัฒนาสมุดบันทึกสุขภาพประจำตัวนักเรียน สำหรับใช้ในศูนย์การเรียนของทั้งสองประเทศ เพื่อเปรียบเทียบความเจ็บป่วยและปัญหาทางสุขภาพของเด็กทั้งสองประเทศ นำมาใช้เป็นเครื่องมือ ในการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ช่วยลดการเจ็บป่วยและการระบาดของโรคระบาดต่างๆ ตามแนวชายแดน
    ๔.องค์การยูนิเซฟ และกรมการศึกษาทางเลือกของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ได้นำข้อมูล แนวคิด และแผนการดำเนินงานของโครงการฯ นำเสนอต่อหน่วยงานระดับนโยบายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก โดยจะนำรูปแบบการพัฒนาสมุดบันทึกสุขภาพของเด็กในศูนย์การเรียนที่ สสส.พัฒนาขึ้นไปปรับใช้ในการพัฒนาสมุดบันทึกสุขภาพของเด็กนักเรียนในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในรัฐที่มีชายแดนติดกับประเทศไทยเป็นลำดับแรก
    สร้างภูมิคุ้มกัน ลดปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อรื้อรัง
    “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” (Non-Communicable Diseases : NCDs) ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาด้านสังคมและเศรษฐกิจ ที่นับเป็นวิกฤติที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนในทุกระดับ ทั้งระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ทุกปีมีประชากรมากถึง ๑๖ ล้านคนทั่วโลกที่ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจและปอด โรคหลอดเลือดในสมอง โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน ซึ่งกว่าร้อยละ ๘๐ เป็นประชากรในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง อาทิ ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก สถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นที่มาของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Social Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เป้าหมายที่ ๓.๔ ที่มุ่งลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังลงให้ได้ ๑ ใน ๓ ภายใน พ.ศ.๒๕๗๓
    กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ถือเป็นปัญหาสุขภาวะของโลกยุคใหม่ที่เกิดจากพฤติกรรมของประชากรในการกิน อยู่ หลับนอนที่เปลี่ยนไป รวมทั้งการมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง เมื่อประกอบกับการบริโภคที่เกินปริมาณความต้องการของร่างกาย การกินอาหารรสหวาน มัน เค็ม มากเกินไป สิ่งเหล่านี้คือพฤติกรรมทำลายสุขภาพ
    ปรากฏการณ์ “วิ่งสู่ชีวิตใหม่” สร้างนักวิ่งหน้าใหม่ ๑๒ ล้านคน
    บทบาทการดำเนินงานของ สสส.
    การกระตุ้นให้ประชาชนมีความตื่นตัวใส่ใจดูแลสุขภาพ ทั้งการมีกิจกรรมทางกาย การเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นทั้งวัคซีนและยารักษาโรคที่ไม่สามารถหาซื้อได้ แต่ต้องสร้างขึ้นด้วยตัวเอง โดยกิจกรรมทางกายที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก คือ “การวิ่ง” ถือเป็นการออกกำลังกายและกีฬาที่สามารถเริ่มต้นได้ง่าย ไม่สิ้นเปลือง ใช้สถานที่ได้หลากหลาย การวิ่งจึงกลายเป็นปรากฏการณ์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพใหม่ของประชาชนทุกเพศทุกวัย
    แผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สสส.มีเป้าหมายในการผลักดันให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ จากสถิติการมีกิจกรรมทางกายระดับประเทศ สำรวจโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และ สสส. ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๕ จนถึงปัจจุบันพบว่า คนไทยมีแนวโน้มการมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น จาก พ.ศ.๒๕๕๕ คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ร้อยละ ๖๖.๓ ซึ่งใน พ.ศ.๒๕๕๙ คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ร้อยละ ๗๐.๙ หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ ๔.๖ เมื่อจำแนกการมีกิจกรรมทางกาย เฉพาะกลุ่มที่เข้าร่วมกิจกรรมกับ สสส. พบว่าใน พ.ศ.๒๕๕๙ กลุ่มที่เข้าร่วมกิจกรรมกับ สสส.มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอที่ร้อยละ ๘๒.๓ ในขณะที่กลุ่มที่ไม่เคยร่วมกิจกรรมกับ สสส. มีกิจกรรมทางกายเพียงพอที่ร้อยละ ๖๘.๙
    สสส.มุ่งหวังให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ร้อยละ ๘๐ ใน พ.ศ.๒๕๖๔ โดยเชื่อว่า “การวิ่ง” จะเป็นหนึ่งในกิจกรรมทางกายที่อยู่ในวิถีชีวิตของมนุษย์ (Life style) ที่ทำได้ง่ายไม่ต้องลงทุนมาก สามารถช่วยเพิ่มความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย ลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย และการเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นปัญหาทางสุขภาพที่คุกคามผู้คนในยุคปัจจุบัน
    การทำงานส่งเสริม “การวิ่งเพื่อสุขภาพ” มุ่งหวังให้การวิ่งเป็นกิจกรรมมวลชน (Mass Participation) ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการร่วมกิจกรรมและจุดประกายไปสู่การเริ่มต้นการมีกิจกรรมทางกายในวิถีชีวิต (Life style) ได้เป็นอย่างดี โดยยึดหลักการทำงานตามยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ได้แก่ พลังความรู้ พลังสังคม และพลังนโยบาย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ฐานข้อมูล นำไปสู่แนวทางการเสริมสร้างความเข้าใจในเรื่องกิจกรรมทางกาย ให้คนไทยมีความเข้าใจ รับรู้ และนำไปสู่การปฏิบัติจริง ทั้งยังร่วมผลักดันในด้านนโยบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชากรไทยมีกิจกรรมทางกายเป็นวิถีชีวิต
    ผลการดำเนินงาน
    จากการสนับสนุน ส่งเสริม และรณรงค์การมีกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่อง ทำให้สังคมไทย เกิดความตื่นตัวอย่างสูง และมีกิจกรรมทางกายเพิ่มสูงขึ้น จากการสำรวจการมีกิจกรรมทางกาย โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและ สสส. พบว่า ใน พ.ศ.๒๕๖๐ คนไทยมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ ๗๒.๙ เพิ่มขึ้นจาก พ.ศ.๒๕๕๙ ร้อยละ ๒ ซึ่งประชากรกลุ่มที่มีการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางกายมากที่สุดคือ กลุ่มวัยทำงาน อายุ ๒๕-๕๙ ปี โดยมีการดำเนินงานสำคัญ ดังนี้
    ๑.เกิดกระแสการจัดกิจกรรมเดิน-วิ่งทั่วประเทศใน พ.ศ.๒๕๖๐ มากกว่า ๗๐๐ งาน ในจำนวนนี้เป็นงานที่ สสส.และภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการสนับสนุนถึง ๒๐๐ งาน ส่งผลให้เกิดนักวิ่งหน้าใหม่เพิ่มขึ้น จาก ๕ ล้านคนใน พ.ศ.๒๕๕๕ เพิ่มเป็น ๑๒ ล้านคนใน พ.ศ.๒๕๖๐ โดยเฉพาะงานวิ่งที่จัดขึ้นภายใต้โครงการวิ่งสู่ชีวิตใหม่ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากถึง ๔๔๗,๗๖๙ คน
    ๒.ส่งเสริมให้เกิด “นักวิ่งหน้าใหม่” จำนวนมากจากกิจกรรม “Thai Health Day Run 2016” ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาแล้ว ๔ ปี นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีผู้เข้าร่วมงานกว่า ๑๐,๐๐๐ คน โดยเป็นนักวิ่งหน้าใหม่ที่เริ่มวิ่งครั้งแรก มากถึงร้อยละ ๔๐ ของนักวิ่งที่เข้ามาร่วมงาน
    การพัฒนาฉลาก “ทางเลือกสุขภาพ” ตัวช่วยใหม่ของผู้บริโภค “ลดหวาน เลี่ยงมัน ไม่เค็ม”
    สถานการณ์ปัญหา “โรคอ้วน” ในเด็กและเยาวชนไทยอยู่ในภาวะ “น่าเป็นห่วง” จากข้อมูลกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขล่าสุดเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๘ พบว่า เด็กก่อนวัยเรียนในประเทศไทยเป็นเด็กอ้วนมากถึง ๑ ใน ๕ คน ขณะที่เด็กในวัยเรียนเป็นเด็กอ้วน ๒ ใน ๑๐ คน โดยพฤติกรรมเสี่ยงด้านการบริโภคของเด็กไทยคือ การดื่มน้ำอัดลม รับประทานขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ ซึ่งล้วนแต่เป็นอาหารที่ให้พลังงานสูงแต่กลับมีโภชนาการต่ำ หากยังปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไป เด็กเหล่านี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่อ้วนสูงถึงร้อยละ ๘๐
    พฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชาชนที่มีรสจัดทั้งหวาน มัน เค็ม ซึ่งประกอบไปด้วยน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในปริมาณที่สูง แต่กลับมีการบริโภคผักผลไม้น้อย เมื่อรวมกับพฤติกรรม การมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ จึงส่งผลต่อร่างกาย ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วย โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้
    การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งนอกจากการรณรงค์สื่อสารกับประชาชนให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ยังจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะสังคมปัจจุบันที่มีการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น “ฉลากอาหาร” ที่ติดอยู่บนบรรจุภัณฑ์ จึงเป็นเครื่องมือที่จำเป็นเพราะจะช่วยให้ประชาชนสามารถเลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพได้
    บทบาทการดำเนินงานของ สสส.
    แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส.ได้ดำเนินงานร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีทีมคณะวิชาการร่วมระหว่างสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินโครงการพัฒนาและส่งเสริมการใช้สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” โดยพัฒนาเกณฑ์ด้านโภชนาการของกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร (โดยมีการกำหนดปริมาณพลังงาน อาทิ น้ำตาล ไขมันโซเดียม) ซึ่งได้แก่ กลุ่มอาหารมื้อหลัก เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส ขนมขบเคี้ยว นม และผลิตภัณฑ์นม
    พร้อมทั้งพัฒนาสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือแสดงสัญลักษณ์อย่างง่าย บนฉลากของผลิตภัณฑ์อาหาร ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ที่เหมาะสมตามหลักโภชนาการ
    ผลการดำเนินงาน
    ๑.สนับสนุนข้อมูลวิชาการเพื่อการขับเคลื่อนการออกประกาศคณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมการใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย จำนวน ๒ เรื่อง ได้แก่
    ๑.๑ เรื่อง “เกณฑ์และสารอาหาร หรือคุณค่าทางโภชนาการที่ใช้ประกอบการพิจารณารับรอง การแสดงสัญลักษณ์โภชนาการในอาหารแต่ละกลุ่ม” ประกาศเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ประกอบด้วยเกณฑ์อาหารมื้อหลัก เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรสผลิตภัณฑ์นม อาหารกึ่งสำเร็จรูป (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป)
    ๑.๒ เรื่อง กำหนดรูปแบบสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” ประกาศเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙
    ๒.สื่อสารประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชนเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” และสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพมาบริโภคได้อย่างเหมาะสม เพียงสังเกตสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพที่ติดอยู่บนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะมีส่วนช่วย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสม รวมทั้งยังป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้
    ๓.สนับสนุนมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งหน่วยตรวจสอบรับรองผลิตภัณฑ์ ทำหน้าที่ตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารตามเกณฑ์โภชนาการที่กำหนดไว้ และให้การรับรองและอนุญาตให้ใช้สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพติดบนบรรจุภัณฑ์อาหาร โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองแล้ว จำนวน ๓๘๖ ผลิตภัณฑ์ โดยจะขยายให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอาหารในอนาคต
    ๔.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ติดตามสุ่มตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารที่วางจำหน่ายในตลาด รวมทั้งกำกับการใช้สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพเพื่อให้ผลิตภัณฑ์อาหารมีคุณภาพเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด
    พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ "สูงวัยอย่างมีคุณค่า"
    สถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๙ ขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่มีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ๑๐,๗๗๔,๗๐๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๖ ของประชากรทั้งหมด และในอีก ๓ ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์” (Complete aged society) โดยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุ ๑ ใน ๕ ของประชากร และหลังจากนั้นอีก ๑๐ ปี หรือภายใน พ.ศ.๒๕๗๔ ประเทศไทยจะเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (Super-aged society) ทำให้ประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ ๓๐ ของประชากรทั้งหมด การวางแผนพัฒนาประเทศในช่วง ๑๐ ปีต่อจากนี้ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป
    การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ จะประกอบด้วยการมีสุขภาพที่ดี มีความมั่นคงทางรายได้ และการทำงาน มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย และมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมตามอัตภาพ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยได้รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๗ พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่ดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น ร้อยละ ๘๗.๔ ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ ๖๐-๖๙ ปี มีผู้สูงอายุร้อยละ ๓๔.๓ ยังคงเป็นผู้สูงอายุที่ยากจน มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน และมีผู้สูงอายุ ร้อยละ ๓๓.๙ ยังคงทำงานเพื่อให้มีรายได้มาเลี้ยงชีพ โดยผู้สูงอายุในวัยต้น (อายุ ๖๐-๖๔) ร้อยละ ๕๙.๒ ยังคงทำงานอยู่ และรายได้จากการทำงานของผู้สูงอายุ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงความต้องการของผู้สูงอายุว่ายังคงต้องการทำงานเพื่อมีรายได้ดูแลตัวเองอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เป็นภาระครอบครัว จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบและแผนดำเนินการเพื่อรองรับประชากรผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม
    ส่งเสริมการจ้างงาน : สูงวัยมีงานทำ
    แผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกันดำเนินการส่งเสริมโอกาสการทำงานและการมีรายได้ของแรงงานผู้สูงอายุ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในด้านการสร้างความมั่นคงทางรายได้ ซึ่ง สสส.ได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม (E6) ในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้การส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ เป็นหนึ่งในประเด็นเร่งด่วน ที่ต้องเร่งดำเนินงานให้เห็นผล อย่างเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลา ๑ ปี
    ผลการดำเนินงาน
    สสส.มุ่งให้ความสำคัญ กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนครอบคลุมทุกช่วงวัย โดยเฉพาะวัยสูงอายุที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของการทำงาน ส่งเสริมและเข้าถึงการจ้างเพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้ นำไปสู่การจ้างงานแรงงานสูงอายุในโครงการประชารัฐเพื่อสังคม จำนวน ๓๖,๔๗๖ คนทั่วประเทศ ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีรายรับเพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพื่อสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ลดภาระของครอบครัว เสริมกำลังแรงงานในระบบการผลิต และช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตัวเองได้ยาวนานที่สุด มีการดำเนินงานดังนี้
    ๑.ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัย และพัฒนาผู้สูงอายุไทย วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกระทรวงแรงงาน พัฒนาแผนกลยุทธ์ด้านการทำงานของผู้สูงอายุ ระยะที่ ๑ พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๔ พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
    ๒.ส่งเสริมการขยายอายุการทำงานและจ้างงานแรงงานผู้สูงอายุ โดยผลักดันให้เกิดสถานประกอบการนำร่องต้นแบบ ๑๓ แห่งในการขยายโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุในระบบจากอายุ ๕๕ ปี เป็น ๖๐ ปี หรือมากกว่า ภายใต้แนวทางการดำเนินการขยายอายุและจ้างแรงงานผู้สูงอายุ ตลอดจนการให้คำปรึกษาสถานประกอบการ การวิเคราะห์ ถอดบทเรียนปัจจัยเกื้อหนุน ปัญหาอุปสรรค ความต้องการสนับสนุนที่เป็นไปได้ รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนให้เกิดการขยายผลการจ้างงานแรงงานผู้สูงอายุไปยังสถานประกอบการอื่นๆ
    ๓.จัดกระบวนการสนับสนุนทางวิชาการให้แก่สถานประกอบการ โดยเกิดผลลัพธ์สำคัญคือ เกิดเครือข่ายความร่วมมือจากสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ และภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการ ส่งเสริมการขยายอายุการทำงานและจ้างงานผู้สูงอายุในสถานประกอบการ สนับสนุนให้สถานประกอบการ ออกนโยบายและแนวทางในการจ้างงานแรงงานสูงอายุที่ชัดเจน นำไปสู่การจ้างงานแรงงานสูงอายุในโครงการประชารัฐเพื่อสังคม จำนวน ๓๖,๔๗๖ คน
    ๔.พัฒนาคู่มือ หลักสูตรการพัฒนาองค์ความรู้ การเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรค จากการทำงานของแรงงานสูงวัยนอกระบบ และแนวทางอาชีวอนามัยสำหรับแรงงานสูงวัยที่เป็นแรงงานนอกระบบ โดยมีชุดความรู้ คู่มือ และแนวทางปฏิบัติเพื่อการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรค และขยายผลให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเผยแพร่ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานได้ยาวนานขึ้นอย่างปลอดภัย
    พัฒนากลไกชุมชนน่าอยู่เพื่อผู้สูงวัย เปลี่ยน “ภาระ” เป็น “พลัง”
    ลักษณะประชากรที่เปลี่ยนแปลง ครอบครัวมีขนาดเล็กลง ทำให้เกิดอัตราการพึ่งพิงคนวัยทำงานสูงขึ้น โดยในอนาคตจะมีครอบครัวอีกจำนวนมาก ที่ “ผู้สูงวัยไร้ที่พึ่งพิง” เนื่องจากครองตัวโสด หรือไม่มีบุตร ประกอบกับปัจจัยเชิงโครงสร้างของประชากรในเขตเมือง และเขตชนบท ที่มีบริบททางสังคมที่แตกต่างกันในชนบท เริ่มมีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งให้อยู่กับเด็ก เพราะคนวัยทำงานเคลื่อนย้ายเข้าไปทำงานในเมืองมากขึ้น ทำให้ชุมชนกลายเป็นสถาบันที่ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ใช้เป็นที่พึ่งพิง ซึ่งลักษณะพิเศษของสังคมไทยที่มีความเอื้ออาทรช่วยเหลือดูแลกัน จึงกลายเป็นจุดเด่นสำคัญที่ชุมชนกลายเป็นเสาหลักในการช่วยเหลือดูแลผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพได้
    บทบาทการดำเนินงานของ สสส.
    แผนสุขภาวะชุมชน สสส. ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สนับสนุนการออกแบบและกำหนดแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในชุมชนท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนท้องถิ่นและความต้องการของผู้สูงอายุ เพื่อสร้างพื้นที่รูปธรรม ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ ๖๐ แห่งทั่วประเทศ พัฒนาเครือข่ายสูงวัยสร้างเมือง เปลี่ยน “ภาระ” ให้เป็น “พลัง” เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาขับเคลื่อนประเทศ หรือ “สูงวัยสร้างเมือง”
    ผลการดำเนินงาน
    สสส. ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พัฒนากลไกการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน โดยพัฒนาศูนย์เรียนรู้การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ ๖๐ แห่งทั่วประเทศ โดยสนับสนุนการจัดระบบการทำงานในพื้นที่ให้เกิดการจัดการที่ดี ออกแบบการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพบุคลากร อบรมทักษะ โดยอาศัยข้อมูลสุขภาพตำบลและงานวิจัยชุมชนเป็นฐานในการทำงาน เพื่อผลักดันให้เกิดการตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ ศูนย์กายอุปกรณ์ และเกิดกระบวนการดูแลผู้สูงอายุทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการทำงาน ดังนี้
    ๑.สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเครือข่าย ร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ดำเนินงานตามปฏิบัติการ ๕ อ. ๕ ก. ประกอบด้วย ๑) การส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ ๒) อาหาร สำหรับผู้สูงอายุ ๓) การส่งเสริมการออกกำลังกายผู้สูงอายุ ๔) การออมเพื่อผู้สูงอายุ ๕) การฝึกอบรมอาสาสมัครและอาสาสมัครเยี่ยมบ้าน ๖) การลดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ ๗) การตั้งและพัฒนาโรงเรียน ผู้สูงอายุ ๘) การพัฒนาชมรมผู้สูงอายุ ๙) การดูแลต่อเนื่องที่บ้าน และ ๑๐) การบริการศูนย์อุปกรณ์เหลือช่วยและฟื้นฟูของผู้สูงอายุ
    ๒.สนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการเป็นผู้นำ ร่วมช่วยเหลือดูแลชุมชน ร่วมแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะ อาทิ การเป็นผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญ เป็นคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการผู้สูงอายุ กรรมการกลุ่มช่วยเหลือผู้สูงอายุที่พิการ
    ๓.สนับสนุนให้กลุ่มองค์กรชุมชน หน่วยงาน จัดทำข้อบัญญัติ เทศบัญญัติ กำหนดกฎกติกา ที่เอื้อต่อผู้สูงอายุทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สภาวะแวดล้อม สุขภาพ และการเมืองการปกครอง เพื่อส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดี อาทิ ๑) กติกาการกู้-ยืมเงินสำหรับผู้สูงอายุ หรือครอบครัวที่มีผู้สูงอายุที่ต้องดูแล ผู้สูงอายุที่ต้องการประกอบอาชีพ ๒) จัดประชาคมพิจารณาการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีความทุกข์ยากที่ต้องการการช่วยเหลือเป็นรายกรณี ๓) จัดตั้งกลุ่มอาชีพสำหรับผู้สูงอายุ ๔) จัดพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อผู้สูงอายุ ลานกิจกรรมผู้สูงอายุ เครื่องออกกำลังกายเพื่อผู้สูงอายุ
    ๔.พัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ผลักดันให้มีการบรรจุโครงการที่ดำเนินกิจกรรมสอดคล้องกับงานประจำในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต สุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม ไว้ในเทศบัญญัติงบประมาณแผนพัฒนาท้องถิ่น ๔ ปี และแผน ๑๐ ปี
    ๕.สนับสนุนการจัดทำข้อมูลผู้สูงอายุของชุมชนที่สามารถนำใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ และสามารถเทียบเคียงงานและกิจกรรมของหน่วยงานอื่นเพื่อเติมเต็มให้ครอบคลุม 
    Balloon Model สร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน
    “คนไร้บ้าน” ในประเทศไทยยังประสบปัญหาและอุปสรรคการเข้าถึงบริการสุขภาพ และสวัสดิการสังคมที่พึงได้รับ ทั้งโอกาสทางการศึกษา โอกาสทางสัมมาอาชีพ และโอกาสทางด้านสาธารณสุข สะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีนโยบายมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการมีสุขภาวะที่ดีของคนทุกกลุ่ม แต่กลุ่มคนเหล่านี้ยังไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือที่เพียงพอ ทำให้ประสบปัญหาสุขภาวะทั้งกายจิต สังคม และปัญญา
    การสำรวจคนไร้บ้านของหลายหน่วยงาน โดยการสนับสนุนของ สสส.ในช่วง ๓ ปี คือ พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๐ ในพื้นที่เป้าหมาย ๓ เมืองหลักของไทย พบว่า มีประชากรคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ทั้งในพื้นที่สาธารณะและศูนย์พักพิงชั่วคราว ๑,๓๐๗ คน เทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ๑๓๖ คน และเทศบาลนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ๑๖๘ คน โดยสัดส่วนเพศชายอยู่ที่ร้อยละ ๘๕ และเพศหญิงร้อยละ ๑๕ โดยคนไร้บ้านกว่าร้อยละ ๒๘ มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้คนไร้บ้านเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพและสวัสดิการสังคมต่างๆ
    คนไร้บ้านกว่าร้อยละ ๕๐ มีอาชีพที่ไม่มั่นคง อาทิ รับจ้างรายวันขายของเก่า ส่งผลให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ หรือการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ทำให้ต้องใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะที่มีความเสี่ยงสูง ส่งผลให้คนไร้บ้านมีปัญหาสุขภาพหลายด้าน อาทิ ปัญหาสุขภาพทางผิวหนังร้อยละ ๓๐ ปัญหาสุขภาพช่องปาก ร้อยละ ๗๐ ภาวะความพิการ ร้อยละ ๓.๕๒ และมีปัญหาสุขภาวะทางจิต ร้อยละ ๗๐ นอกจากนี้ทัศนคติเชิงลบของคนในสังคมที่มีต่อคนไร้บ้าน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการมีสุขภาวะที่ดีของคนไร้บ้าน
    บทบาทการดำเนินงานของ สสส.
    แผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และเครือข่ายคนไร้บ้าน ได้พัฒนารูปแบบการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน จากการถอดบทเรียนการทำงาน และพัฒนาเป็น “Balloon Model : โมเดลการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน” เป็นการทำงานเชิงระบบ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นการป้องกันการเกิดคนไร้บ้าน การพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพ เพื่อลดจำนวนคนไร้บ้าน และส่งกลับคืนสู่สังคม และการหนุนเสริมเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นคนไร้บ้านซ้ำ
    Balloon Model เน้นการขับเคลื่อนด้วยฐานคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คือ การพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็น เพื่อนำไปขับเคลื่อนทางสังคม และเชื่อมโยงความรู้ การขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ โครงสร้างทางสังคมผ่านการขับเคลื่อน ผลักดันนโยบาย รวมทั้งการเชื่อมประสานหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคนไร้บ้าน
    ผลการดำเนินงาน
    ๑.ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน อาทิ การพัฒนาวิธีวิทยาและการสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้าน เพื่อการทำความเข้าใจ และออกแบบกระบวนการในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะ ที่เหมาะสมกับบริบทของคนไร้บ้าน
    ๒.ร่วมกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พัฒนากลไกการพิสูจน์สิทธิ สถานะทางทะเบียน เพื่อลดอุปสรรคการเข้าถึงบริการสุขภาพ และสวัสดิการพื้นฐานทางสังคมเพื่อการมีสุขภาวะที่ดี อาทิ การเข้าถึงเบี้ยยังชีพคนพิการและคนชรา การเข้าถึงที่อยู่อาศัย ศูนย์พัก/บ้านพัก
    ๓.ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยสมาคมคนไร้บ้าน และเครือข่ายภาคประชาชน ขับเคลื่อนและผลักดันนโยบาย “โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน ๒ ปี (พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๐)” ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ นำไปสู่ผลสำเร็จเป็นรูปธรรม สามารถจัดสรรที่อยู่อาศัยให้คนไร้บ้าน ๒๐๐ คนในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น และ เชียงใหม่ โดยคนไร้บ้านมีส่วนร่วมในการลงทุนก่อสร้าง ออกแบบ และบริหารจัดการชุมชนด้วยตนเอง
    ๔.ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และมูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย) พัฒนาทักษะด้านอาชีพ โดยหนุนเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มในลักษณะองค์กร “หจก.คนไร้บ้าน” เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาชีพ ๕ กลุ่ม คือ ๑) งานช่าง ๒) งานตัดแต่งต้นไม้ ๓) งานเบเกอรี่ ๔) งานเกษตร และ ๕) งานแม่บ้านและทำข้าวกล่อง ทำให้คนไร้บ้านสามารถประกอบอาชีพของตนเอง มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ นอกจากนี้ร่วมกับองค์กรเอกชนในจังหวัดขอนแก่นนำร่อง จัดหาอาชีพให้คนไร้บ้าน
    ๕.สนับสนุนเครือข่ายคนไร้บ้าน พัฒนากระบวนการสร้างเสริมสุขภาพที่เหมาะสมกับความเป็นคนไร้บ้าน มุ่งเน้นการลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ด้วยการใช้กิจกรรมเชิงสุขภาพมาทดแทน อาทิ การปลูกผักปลอดสารพิษ การเลี้ยงสัตว์สำหรับบริโภคและสร้างรายได้ ส่งผลให้คนไร้บ้านมีศักยภาพสามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมได้เท่าเทียมคนทั่วไป
    ๖.สร้างกระบวนการเตรียมความพร้อมให้คนไร้บ้านเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยพัฒนาศักยภาพเครือข่ายคนไร้บ้านผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน การสร้างความเข้มแข็งเครือข่าย สร้างการมีส่วนร่วมในขบวนการ เคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมให้กลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ พร้อมการสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อคนไร้บ้าน ลดอคติและการเลือกปฏิบัติ เปลี่ยนแปลงความคิดต่อการมีอยู่ของคนไร้บ้านเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา และการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมต่อไป
    ๗.ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสพัฒนากระบวนการสื่อสาร “Human of Street” เพื่อสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อคนไร้บ้าน ลดอคติและการเลือกปฏิบัติ เปลี่ยนแปลงความคิดต่อการมีอยู่ของคนไร้บ้าน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมต่อไป
    พัฒนา Model ส่งต่อ "การให้" สร้างสรรค์สังคมเพื่อทุกคน
    ในห้วงแห่งความอาลัยอันยิ่งใหญ่ ความโศกสลดยังคงไม่จางไป ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ เป็นที่ประจักษ์ชัด และยิ่งชัดขึ้นในห้วงเวลานี้ว่า พระองค์มิใช่เพียงผู้ทรงดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศ แต่ ธ ผู้ทรงเปรียบเสมือน “พ่อหลวง” เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของปวงชนชาวไทย
    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ที่ผ่านมา พระองค์ได้ทรงวางรากฐาน “สังคมสุขภาวะ” ให้ประเทศไทย ทรงมีพระราชกรณียกิจเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรในทุกด้าน ในด้านสุขภาพของประชาชนงานทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นพระราชกรณียกิจที่ทรงให้ความสำคัญตั้งแต่แรกที่พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ ทั้งการสนับสนุนสมาคมต่อต้านวัณโรคและการผลิตวัคซีนบีซีจี การก่อตั้งราชประชาสมาสัย เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อน การควบคุมและรักษาโรคโปลิโอ การแก้ไขปัญหาการขาดสารไอโอดีน ทั้งยังได้ทรงริเริ่มสร้างภาพยนตร์ส่วนพระองค์พระราชทานจัดฉายเพื่อหารายได้มาใช้สร้างอาคารและโรงพยาบาลหลายแห่ง ทรงจัดให้มีหน่วยแพทย์พระราชทาน งานทันตกรรมเคลื่อนที่ โครงการศัลยแพทย์อาสา รวมทั้งทรงรับผู้เจ็บป่วยที่ยากไร้ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ 
    ภาพที่พระองค์ทรงงานตลอดเจ็ดทศวรรษของรัชสมัย เป็น “สัญลักษณ์การทำความดี และทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นและส่วนรวม โดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ” การหวนรำลึกถึง ได้หลอมรวมจิตใจคนไทยเข้าหาความดีงาม และหลอมรวมเข้าหากัน เกิดปรากฏการณ์ที่ประชาชนลุกขึ้นแปรเปลี่ยนความเศร้าโศกเสียใจให้เป็นพลังในการ “ทำดีตามรอยพ่อ” ด้วยการกระทำต่างๆ ที่หลากหลาย รวมถึงการตั้งปณิธานน้อมนำพระบรมราโชวาท พระราชดำริ พระราชกรณียกิจ รวมถึงโครงการพระราชดำริถึง ๔,๐๐๐ โครงการที่ทรงทำไว้เป็นแบบอย่าง มาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต
    แม้ความสูญเสียครั้งนี้จะนำมาซึ่งความเศร้าเสียใจของคนไทยทั้งประเทศ แต่เป็นความเสียใจที่มาพร้อมกับความเข้มแข็ง ที่จะสืบสานพระราชปณิธานการทำดีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ให้คงอยู่สืบไป
    บทบาทการดำเนินงานของ สสส.
    แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สสส. ร่วมกับธนาคารจิตอาสา และภาคีเครือข่าย ดำเนิน “โครงการจิตอาสาพลังแผ่นดิน” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจของคนในสังคมให้ลงมือทำความดี และสร้างกลไกเครือข่ายงานอาสาเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้เติบโตและยั่งยืน ด้วยการต่อยอดจากงานด้านจิตอาสาที่ สสส.ได้ริเริ่มและทำต่อเนื่องมาหลายปี โดยยกระดับการทำงานให้เข้มข้นยิ่งขึ้น มุ่งพัฒนางานจิตอาสาและสร้างกิจกรรมทำความดี สร้างช่องทางการทำความดี ผ่านเว็บไซต์ www.palangpandin.com เป็นศูนย์กลางการเข้าถึงงานอาสา สร้างเสริมประสบการณ์ทำความดี และบอกเล่าแบ่งปันเรื่องราวกิจกรรมทำความดี ในกิจกรรม “ลงแรง” “จองวัน” “ปันของ” ทั้งนี้งานช่วยเหลือสังคมหรืองานจิตอาสา ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพที่มุ่งสร้างเสริมสุขภาวะในมิติกาย จิต ปัญญา และสังคม ที่ สสส.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศทำงานต่อเนื่องตลอด
    ผลการดำเนินงาน
    ๑.สร้างช่องทางรองรับงานจิตอาสาด้วยการพัฒนาเว็บไซต์ www.palangpandin.com เพื่อเป็นพื้นที่เชื่อมประสานให้ประชาชนที่สนใจงานจิตอาสาด้านต่างๆ เข้ามาค้นหาการทำงานจิตอาสา ผ่านกลไก ๓ ส่วนหลัก ได้แก่
    “ลงแรง” บริการที่เชื่อมต่อกับธนาคารจิตอาสา ให้ผู้ที่สนใจทำงานอาสาเลือกตามความถนัดใน ๙ เส้นทางทำดี ได้แก่ ด้านการเกษตร สัตว์เลี้ยง ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านบูรณะ ฟื้นฟูก่อสร้าง ด้านสุขภาพ สาธารณสุข ด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ด้านศาสนา ปฏิบัติธรรมด้านการศึกษา เรียนรู้ ฝึกอบรม ด้านเด็ก เยาวชน และสตรี และด้านธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม
    “จองวัน” บริการที่ให้บุคคล หรือองค์กรใช้วันสำคัญ อาทิ วันเกิด วันก่อตั้งองค์กรเป็นจุดเริ่มต้นของการทำความดี
    “ปันของ” นำองค์กรที่ต้องการรับบริจาค มาพบกับผู้ต้องการบริจาค ภายใต้แนวคิดถูกคน ถูกของ และถูกเวลา
    ๒.เกิดสมาชิกจิตอาสาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งเด็ก เยาวชน วัยทำงาน โดยข้อมูลล่าสุดเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐ มีประชาชนคนไทยร่วมเป็นสมาชิก ๕๘,๔๑๒ คน ร่วมกันทำงานจิตอาสาเป็นเวลา ๑,๙๐๕,๗๘๑ ชั่วโมง และมีหน่วยงาน องค์กรต่างๆ รวม ๒๐ แห่ง ทำการจองวันเพื่อทำงานจิตอาสาด้วยการให้พนักงานร่วมกันออกมาทำความดีที่หลากหลาย อาทิ
    ๒.๑ ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมโครงการ “กิจกรรมวันมหิดล : ทุกคนทำได้” โดยให้บุคลากร อาจารย์ นักศึกษา ร่วมถึงประชาชนทุกคน มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ทำความดีในบริบทต่างๆ และนำเสนอผลของกิจกรรมในรูปแบบแผนที่ความดีผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก Mahidol Day of Service ซึ่งมีผู้เข้าร่วม ๕,๘๐๐ คน ในกิจกรรมอาสา ๑๕๕ งาน อาทิ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทำจักรยานปั่นน้ำให้ชุมชน นักศึกษาคณะกายภาพบำบัด เดินทางลงชุมชนเพื่อทำกายภาพบำบัดให้คนไข้ นักศึกษาคณะสัตวแพทยศาสตร์ออกมาทำความสะอาดสถานที่รับเลี้ยงสุนัข โดยมีบุคลากรและศิษย์เก่าร่วมออกมาทำกิจกรรมตามความถนัด
    ๒.๒ ร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ จัดกิจกรรม “Big Cleaning & Zero Waste การจัดการขยะด้วยแนวคิด reuse reduce recycle และ zero waste” ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะ พัฒนาสถานีแยกขยะให้เป็นระบบ เกิดการกระทำที่เป็นรูปธรรมในสังคม เพื่อลดปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ เปลี่ยนความคิดในการนำขยะมาเป็นทรัพยากรที่จะไปทำประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ โดยทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเริ่มเปลี่ยนแปลงตนเองไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อผู้อื่น
    ๒.๓ ร่วมกับมูลนิธิหมู่บ้านพลัม ทำกิจกรรมเก็บขยะบริเวณรอบสวนโมกข์กรุงเทพและบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมใกล้ชิดกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้รู้จักตนเองจากการลงมือแก้ปัญหาในสังคม เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
    ๒.๔ สนับสนุนให้องค์กรเอกชนเข้าร่วมทำกิจกรรมจิตอาสา โดยบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน คอนซูเมอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้พนักงานกว่า ๙๐๐ คน ทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคม ๔๘ กิจกรรม โดยเน้นการสร้างแรงบันดาลใจและตอบแทนสังคม อาทิ การปรับแต่งภูมิทัศน์และปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อนำผลผลิตที่ได้ไปประกอบอาหารกลางวันให้แก่มูลนิธิ หรือศูนย์ดูแลเด็กในพื้นที่ใกล้เคียง การปลูกป่า การอ่านหนังสือเสียงเพื่อผู้พิการทางสายตา
    ๒.๕ ร่วมกับสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข จัดทำ “โครงการแรงบันดาลใจการสร้างสุขภาวะจากพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวการสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างเสริมสุขภาพ และสร้างพลังในการทำความดี ตามรอยพระบาท โดยรวบรวมภาพปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นประเทศไทยภายใน ๑๐๐ วันหลังการสวรรคต จัดทำเป็นหนังสือสมุดภาพประวัติศาสตร์ “๑๐๐ วัน เปลี่ยนความโทมนัส เป็นพลัง” พร้อมจัดแสดงเป็นนิทรรศการภาพถ่ายที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. การบันทึกประวัติศาสตร์นี้ไว้จะเป็นการบันทึกหลักฐานที่สามารถแสดงพระบารมีอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ท่านให้คนไทยทั้งรุ่นปัจจุบันและรุ่นหลัง รวมถึงคนทั่วโลกได้รับรู้รับทราบต่อไป.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"