การเดินทางของความสุข รายงานประจำปี ๒๕๖๐ สารผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


เพิ่มเพื่อน    

    ๑๖ ปีการเดินทางของความสุข เป็นเวลาที่ สสส.มุ่งมั่นทำหน้าที่เพื่อสร้างสุขภาวะทางกาย จิต ปัญญา สังคม ให้แก่คนไทย

                เหตุผลสำคัญประการหนึ่งของการก่อเกิด สสส.มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำทรัพยากรจากภาษีของสินค้าที่มีส่วนทำลายสุขภาพ ไปเสริมการสร้างสุขภาพอย่างต่อเนื่องยั่งยืน ด้วยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของภาครัฐถึงกว่าร้อยละ ๙๐ ถูกนำไปใช้เพื่อรักษาพยาบาลผู้ที่เจ็บป่วยแล้ว งบประมาณของ สสส.ซึ่งเป็นเพียงร้อยละ ๐.๗ ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของภาครัฐที่เพิ่มมานี้ จึงนำมาใช้เพื่อทำงานสร้างเสริมสุขภาพอย่างจริงจัง เพื่อส่งผลสร้างสุขภาวะและศักยภาพประชากร อันเป็นการป้องกันและลดการเจ็บป่วยของประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย

                “การสร้างเสริมสุขภาพแนวใหม่” ไม่เพียงอยู่ที่การให้ข้อมูล ความรู้และพัฒนาทักษะ ส่วนบุคคลและกลุ่มเท่านั้น แต่รวมถึงการสนับสนุนและสร้างสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและสังคม รวมถึงนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีของประชาชนด้วย เพราะปัญหาสุขภาพสำคัญของคนไทยยุคปัจจุบันเกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นหลัก อาทิ โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ซึ่งล้วนมีปัจจัยเกิดจากพฤติกรรม วิถีชีวิต และสังคมสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

                การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ พฤติกรรม วิถีชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม และนโยบายของผู้คนในสังคมไปสู่ทิศทางที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เรื่องที่กลุ่มบุคคล วิชาชีพ หรือหน่วยงานใดจะทำให้บังเกิดผลได้ตามลำพัง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วนในสังคมอย่างจริงจัง

                ตลอด ๑๖ ปีที่ผ่านมา สสส.และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพมากกว่า ๑๕,๐๐๐ องค์กร และผู้ร่วมงานมากกว่า ๑ ล้านคน ได้ร่วมสร้างกลไกและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลส่งเสริมปัจจัยบวก และแก้ไขยังต้นตอของปัญหา โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน และชุมชน

                ที่สำคัญคือ การทำงานของ สสส.ก่อให้เกิดแรงกระตุ้น จุดประกาย สร้างสรรค์ให้แก่ผู้คนอีกจำนวนมากสนใจเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น และกลายเป็นต้นแบบการสร้างเสริมสุขภาพให้แก่คนอื่นๆ ใช้เป็นแรงบันดาลใจ เชื่อมร้อยต่อเป็นลูกโซ่ไม่จบสิ้น

                ในด้านของการขับเคลื่อนงานตามตัวชี้วัด สสส.มีการวางแผนระยะยาวในการทำงานระยะ ๑๐ ปีอย่างต่อเนื่อง พบว่า ผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดที่ประเมินโดยคณะกรรมการประเมินผลที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๐ ได้คะแนนเฉลี่ยรวมทั้ง ๕ ด้าน ๔.๖๕ คะแนน ภาพรวมเฉลี่ยแล้วดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีงบประมาณก่อนหน้า

                ด้านการประเมินผลการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาลของ สสส. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๐ ได้คะแนนเฉลี่ย ๙.๒๙ คะแนน จากคะแนนเต็ม ๑๐ คะแนน โดยมีการดำเนินตามนโยบายการบริหารกิจการตามหลักธรรมาภิบาล ๖ ประการ คือ หลักการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน หลักการแสดงความรับผิดชอบต่อผลงาน หลักการมีส่วนร่วม หลักความโปร่งใส หลักนิติธรรม และหลักความถูกต้องชอบธรรม โดยดำเนินการครอบคลุม ๓ กระบวนการที่สำคัญ ได้แก่ กระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ กระบวนการสนับสนุนทุน และกระบวนการประเมินผล และทำให้ สสส.ได้รับการประเมินจากคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ให้เป็นหน่วยงานที่ได้รับผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐระดับสูงมากเป็นปีที่สองต่อเนื่องกันด้วยระดับคะแนนที่สูงขึ้น

                ความเข้มข้นในการทำงานหลังจากเดินทางมาถึงปีที่ ๑๖ สสส.ได้ประสานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน สามารถขับเคลื่อนให้เกิดสังคมปลอดบุหรี่ที่เด่นชัดขึ้น ประชาชนเข้าใจกฎหมายและรู้จักการไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น จนเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมทำให้อัตราการสูบบุหรี่ในไทยต่ำลงกว่าร้อยละ ๒๐ เป็นครั้งแรก

                ในส่วนอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมอย่างเข้มแข็งทำให้สามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่เคยชิน ตัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกจากงานบุญประเพณีและเทศกาลสำคัญได้ และอีกหลายๆ มาตรการร่วมกันของทุกภาคส่วน ทำให้ปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อหัวประชากรลดลงจาก ๘.๑๖ ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อคนใน พ.ศ.๒๕๔๙ มาอยู่ที่ ๖.๙๕ ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อคน ใน พ.ศ.๒๕๕๘ หรือลดลงร้อยละ ๑๔.๘

                ในด้านความเข้มแข็งของภาคีเครือข่าย ร่วมผลักดันในประเด็นต่างๆ ทั้งยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อุบัติเหตุ ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ฯลฯ เกิดการสร้างเครือข่ายจำนวนมาก อาทิ คณะทำงานพัฒนาการบูรณาการป้องกันและลดอุบัติภัยทางถนน ๗๖ จังหวัด มีเครือข่ายบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดการสุขภาวะชุมชน ๑๐,๔๖๔ คน แกนนำขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะ ๑,๔๘๗ คน แกนนำสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่ ๑๑,๐๗๐ คน โดยบุคคลเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญเพื่อนำทางไปสู่สังคมแห่งความสุข

                ในด้านการยอมรับจากองค์กรต่างๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา สสส.ได้รับรางวัลมากกว่า ๒๕๐ รางวัล โดยเฉพาะการสื่อสารรณรงค์ จากการตีโจทย์ทางวิชาการที่ซับซ้อนและเข้าใจยาก ให้สามารถสื่อสารเพื่อกระตุกความคิด ความเชื่อ ค่านิยมของสังคมได้ รวมทั้งยังได้รับการยอมรับจากระดับนานาชาติ โดยองค์การอนามัยโลกได้ยกให้ สสส.เป็นต้นแบบองค์กรสร้างเสริมสุขภาพในภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก

                สสส.จะยังคงเดินทางท่ามกลางความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สร้างการยอมรับและไว้วางใจให้ สสส. ร่วมประสานขับเคลื่อนงานด้านสร้างเสริมสุขภาพ ในฐานะการเป็นองค์กรมืออาชีพซึ่งมีความเข้มแข็งด้านความคิดเชิงกลยุทธ์ มีงานวิจัยแนวทางความรู้ใหม่ๆ ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อสุขภาวะที่ดีของทุกคนบนแผ่นดินไทยต่อไป

                                                                สุปรีดา อดุลยานนท์

                                                ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

 

                สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย

                คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสัดส่วนที่คงที่ ขณะที่สัดส่วนการดื่มในระดับอันตรายลดลง

                สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผ่านมา จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในช่วง พ.ศ.๒๕๔๗–๒๕๕๘ ประชากรอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป ที่เป็นเคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรอบ ๑๒ เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ค่อนข้างคงที่ จากร้อยละ ๓๒.๗๐ ใน พ.ศ.๒๕๔๗ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ ๓๔.๐๐ ใน พ.ศ. ๒๕๕๘

                เมื่อพิจารณากลุ่มคนที่ดื่มประจำ (อย่างน้อย ๑ ครั้งต่อสัปดาห์) ในกลุ่มคนที่ดื่มในรอบ ๑๒ เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ มีการดื่มลดลงจากร้อยละ ๔๔.๓๘ ใน พ.ศ.๒๕๕๒ เหลือร้อยละ ๓๙.๙๑ ใน พ.ศ.๒๕๕๘ แปลความได้ว่า กลุ่มคนที่ดื่มประจำมีความถี่ในการดื่มลดลงเล็กน้อย เฉลี่ยร้อยละ ๑.๑ ต่อปี ข้อมูลสะท้อนว่า ภาพรวมมาตรการการดำเนินงานในช่วงอดีตที่ผ่านมามีผลในการลดความถี่ในการดื่มของนักดื่มประจำลงได้

                เมื่อพิจารณาข้อมูลจากการสำรวจภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทย พบว่า สัดส่วนของผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับอันตรายมีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอด จากร้อยละ ๙.๑๐ ใน พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นร้อยละ ๗.๓๐ ใน พ.ศ.๒๕๕๒ และลดเหลือร้อยละ ๓.๔๐ ใน พ.ศ.๒๕๕๗ ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมการดื่มอย่างหนักของประชากรไทยมีแนวโน้มลดลง

                ประชากรไทยมีปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในภาพรวมของทั้งประเทศคงที่ในช่วง ๑๕ ปีหลัง และค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงในช่วง ๘ ปีหลัง

                ข้อมูลจากการคำนวณปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อหัวประชากร (ลิตรต่อคนต่อปี) พบว่า ปริมาณการบริโภคเฉลี่ย มีแนวโน้มลดลงจาก ๘.๐๙ ลิตรต่อคนต่อปี ใน พ.ศ.๒๕๔๐ เป็น ๖.๙๕ ลิตรต่อคนต่อปี ใน พ.ศ.๒๕๕๘ โดยการบริโภคสุรากลั่นมีสัดส่วนสูงที่สุดตลอดช่วง ๑๗ ปีที่ผ่านมา รองลงมาคือ เบียร์ และไวน์ ตามลำดับ อย่างไรก็ตามสัดส่วนการบริโภคสุรากลั่นมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่สัดส่วนการบริโภคเบียร์และไวน์เพิ่มขึ้น (หมายเหตุ-ใน พ.ศ.๒๕๔๐-๒๕๔๑ เป็นช่วงที่มีการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่สูงและลดลงอย่างฉับพลันใน พ.ศ.๒๕๔๒ ด้วยเหตุว่า พ.ศ.๒๕๔๒ เป็นปีที่มีการขายโรงงานผลิตสุราให้กับภาคเอกชน และขึ้นภาษีสุราครั้งสำคัญ ทำให้เป็นไปได้ที่มีการผลิตที่มากผิดปกติเพื่อที่จะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำ

                ข้อมูลของสำนักบัญชีประชาชาติชี้ว่า แนวโน้มคนไทยซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงในช่วงเวลา ๗ ปีที่ผ่านมา โดยลดลงจาก ๑๗๘,๘๑๐ ล้านบาท ใน พ.ศ.๒๕๕๑ เหลือ ๑๔๔,๔๓๙ ล้านบาท ใน พ.ศ.๒๕๕๙ โดยช่วงเวลาสามปี ระหว่าง พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๕๔ มีการใช้จ่ายเพื่อการดื่มลดลงมากเป็นพิเศษ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลปริมาณการดื่มลดลงในช่วงเวลาเดียวกัน อาจเกิดจากเป็นช่วงที่ประเทศไทยประสบวิกฤตการณ์ทางการเมือง ส่งผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจของประเทศเติบโตไม่มากนัก จึงทำให้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงมากกว่าปกติ

                ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๕๔ ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยรุนแรงกว้างขวางซ้ำอีก สถานการณ์นี้เป็นไปตามหลักสากลทั่วโลก คือ เมื่อประชาชนมีรายได้ดี การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอื่นๆ จะเพิ่มขึ้น และการดื่มจะลดลงเมื่อรายได้ประชาชนลดลง โดยสรุป ข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ อาจบ่งชี้ได้ว่ามาตรการต่างๆ ที่ประเทศไทยดำเนินการเพื่อควบคุมปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานั้น สามารถรักษาระดับการดื่มในภาพรวมของคนไทยให้ไม่เพิ่มขึ้นได้ ทั้งสัดส่วนร้อยละของประชากรที่ดื่ม ปริมาณการดื่มต่อหัวประชากร และสามารถลดสัดส่วนการดื่มแบบอันตรายลงได้ และทำให้ประชากรใช้จ่ายในการดื่มลดลง ทั้งๆ ที่รายได้มวลรวมประชาชาติของคนไทย (GDP) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๒๙ จาก พ.ศ.๒๕๔๐-๒๕๕๗ ซึ่งการศึกษาขององค์การอนามัยโลกได้ชี้ว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ประชากรเพิ่มขึ้นจะมีแนวโน้มการดื่มที่มากขึ้น

                สถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย

                ผู้เสียชีวิตบนท้องถนนลดลงอย่างต่อเนื่อง

                ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิต ๒๒,๘๘๖ ราย ใน พ.ศ.๒๕๕๔ ลดลงเป็น ๒๒,๓๕๖ ราย ใน พ.ศ.๒๕๕๙ จากสถิติย้อนหลังช่วงหลายปีที่ผ่านมาระบุว่า กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ได้แก่ กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ กลุ่มผู้ชาย และกลุ่มแรงงาน

                ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยมีหลายฐานข้อมูลและมีหลายหน่วยงานที่เป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บ ซึ่งการเก็บข้อมูลก็ขึ้นกับนิยามของแต่ละหน่วยงานและการนำไปใช้ประโยชน์ คณะอนุกรรมการด้านการบริหารจัดการข้อมูล และการติดตามประเมินผล ภายใต้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้บูรณาการข้อมูลการตายจากอุบัติเหตุทางถนน ใน พ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๕๘ จาก ๓ ฐานข้อมูลสำคัญของประเทศ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และฐานข้อมูลมรณะบัตรและหนังสือรับรองการตาย เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลหลักในการรายงาน และพบว่าข้อมูลนี้มีความใกล้เคียงกับข้อมูลที่องค์การอนามัยโลกได้รายงานเอาไว้ใน Global Status Report on Road Safety ใน พ.ศ.๒๕๕๖ และ พ.ศ.๒๕๕๘ จากการคาดประมาณโดยสูตรคำนวณซึ่งใช้หลายตัวแปรข้างเคียง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้อมูลจากการบูรณาการเชื่อมข้อมูล ๓ ฐาน และข้อมูลจากการรายงานขององค์การอนามัยโลก ต่างก็มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน คือ “จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลง”

                คนใช้รถจักรยานยนต์ไทยยังสวมหมวกนิรภัยไม่ถึงครึ่ง

                อัตราการสวมหมวกนิรภัยของคนไทยทั้งประเทศใน พ.ศ.๒๕๕๙ มีผู้ขับขี่และผู้โดยสารสวมหมวกนิรภัยร้อยละ ๔๓ ซึ่งเท่ากับปีก่อน โดยในพื้นที่เขตเมืองมีอัตราการสวมหมวกนิรภัยค่อนข้างสูง แบ่งออกเป็น ชุมชนเมืองหลัก ร้อยละ ๗๐ ชุมชนเมืองรอง ร้อยละ ๔๕ แต่ในเขตพื้นที่ชุมชนชนบทมีอัตราการสวมหมวกนิรภัยค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ร้อยละ ๓๑ ขณะที่ผลการสำรวจการสวมหมวกนิรภัยของกลุ่มวัยรุ่นในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๕๘ พบว่า ผู้ขับขี่และผู้โดยสารสวมหมวกนิรภัยอยู่ที่ ร้อยละ ๔๘ เฉพาะผู้ขับขี่สวมหมวก ร้อยละ ๕๙ ซึ่งสูงกว่าผู้โดยสารอยู่ที่ ร้อยละ ๓๔

                เหตุผลสำคัญของการไม่สวมหมวกนิรภัย คือ ผู้ขับขี่คิดว่าเดินทางระยะใกล้ หากผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง แม้จะเดินทางระยะใกล้จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตเนื่องจากการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ถึง ร้อยละ ๕๘ สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยจำนวนมากยังมีความประมาทและขาดวัฒนธรรมความปลอดภัย

                ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๕๘ โดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ร่วมกับ มูลนิธิไทยโรดส์ พบว่า จำนวนและสัดส่วนของคดีอุบัติเหตุจราจรที่มีสาเหตุจากดื่มแล้วขับ พ.ศ.๒๕๔๒-๒๕๕๘ มีแนวโน้มลดลง และสอดคล้องกับข้อมูลของระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า สัดส่วนการดื่มแล้วขับในผู้บาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุจราจร พ.ศ.๒๕๔๘-๒๕๕๘ ก็มีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกับสถิติจำนวนคดีอุบัติเหตุจราจรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีสาเหตุมาจากการใช้ความเร็ว มีแนวโน้มลดลง จาก ๑๘,๐๑๒ คดี ใน พ.ศ.๒๕๔๙ เป็น ๗,๐๓๔ คดี ใน พ.ศ.๒๕๕๘

                สถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายในประเทศไทย

                จากผลการสำรวจข้อมูลการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทยอายุ ๖ ปีขึ้นไประดับประเทศ โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สสส. พบว่า คนไทยมีกิจกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะ ๖ ปีที่ผ่านมา โดยใน พ.ศ.๒๕๕๕ คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ร้อยละ ๖๖.๓๐ ของประชากรไทยทั้งประเทศ และเพิ่มขึ้นเป็น ๗๒.๙๐ ใน พ.ศ.๒๕๖๐

                เมื่อพิจารณาอัตราการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอจำแนกตามกลุ่มวัย พบว่า เกือบทุกกลุ่มวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มสูงขึ้น มีเพียงกลุ่มวัยสูงอายุที่มีกิจกรรมทางกายลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย โดยกลุ่มวัยทำงานเป็นกลุ่มเดียวที่มีกิจกรรมทางกายเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตลอดระยะ ๖ ปีที่ผ่านมา โดยใน พ.ศ.๒๕๖๐ กลุ่มวัยทำงานมีอัตราการมีกิจกรรมทางกายอยู่ที่ร้อยละ ๗๕.๒๐ รองลงมาคือ กลุ่มวัยเด็ก ร้อยละ ๗๓.๑๐ กลุ่มวัยสูงอายุ ร้อยละ ๖๘.๘๐ และกลุ่มวัยรุ่น เป็นกลุ่มที่มีกิจกรรมทางกายน้อยที่สุดคือ ร้อยละ ๖๗.๙๐

                สสส.มุ่งมั่นส่งเสริมให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ โดยได้ปลุกกระแสประชากรไทยให้มีกิจกรรมทางกายผ่านกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพต่างๆ ทั้งกิจกรรมระดับประเทศไปจนถึงกิจกรรมในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการเดิน วิ่ง ปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ และการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน การส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายที่หลากหลายรูปแบบ และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน รวมไปถึงกระแสความนิยมของการวิ่งเพื่อสุขภาพที่มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชากรในประเทศมีกิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้น

                ปกป้องเยาวชนไทยไม่ตกเป็นเหยื่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

                สถานการณ์และความสำคัญ

                อัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัยรุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง “วัยรุ่น” เป็นวัยอยากรู้อยากลอง จึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มุ่งทำกิจกรรม ส่งเสริมการตลาด กระตุ้นความรู้สึกอยากลอง อยากบริโภค ส่งผลให้มีเยาวชนจำนวนมากกลายเป็น “นักดื่มหน้าใหม่”

                มีงานวิจัยจำนวนมากระบุว่า การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดื่ม โดยผลการศึกษาเรื่องความหนาแน่นของจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับการบริโภค และผลกระทบของประเทศไทย ใน พ.ศ.๒๕๕๒ พบว่า คนกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย เฉลี่ยเพียง ๔.๕ นาที หรือสามารถเข้าถึงร้านที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในระยะทางเฉลี่ยเพียง ๓๒๔ เมตรเท่านั้น และร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะผับ บาร์ ร้านนั่งดื่ม มักอยู่ใกล้สถานศึกษา จึงทำให้เยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายและมากขึ้น

                สอดคล้องกับรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๘ เรื่อง ความชุกของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชนอายุ ๑๕-๑๙ ปีที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยร้อยละ ๑.๗ ต่อปี เยาวชนกลุ่มอายุ ๑๕-๒๔ ปี หรือคิดเป็นร้อยละ ๖๘.๑ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นานๆ ครั้ง และวัยรุ่นไทยจะเริ่มดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อายุเฉลี่ย ๒๐.๘ ปี โดยวัยรุ่นชายเริ่มดื่มเร็วกว่าวัยรุ่นหญิง สาเหตุหลักที่วัยรุ่นเริ่มต้นการดื่มเหมือนกันทั้งวัยรุ่นชายและหญิงคือ เพื่อเข้าสังคมและสังสรรค์ ร้อยละ ๔๑.๙ เลียนแบบเพื่อน หรือเพื่อนชวนดื่ม ร้อยละ ๒๗.๓ และอยากทดลองดื่ม ร้อยละ ๒๔.๔

                บทบาทการดำเนินงานของ สสส.

                แผนควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด สสส.ได้ขับเคลื่อน “มาตรการควบคุมร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา” เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าสู่วงจรนักดื่มหน้าใหม่ โดยการสำรวจเรื่อง การกระจายตัวของจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ใน พ.ศ.๒๕๕๒ ยังพบว่าร้านค้ารอบสถานศึกษา จำนวน ๕๔ แห่ง ใน ๑๐ พื้นที่ มีร้านค้าถึง ๔๕ แห่ง หรือร้อยละ ๘๓.๓ ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เยาวชนอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีในชุดนักเรียนทั้งเพศชายและเพศหญิง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรการและการบังคับใช้กฎหมายในการป้องกันที่เข้มข้นมากขึ้นด้วย

                สสส.และภาคีเครือข่ายมุ่งให้ความสำคัญในการป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าสู่วงจรการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของเยาวชนไทยให้ห่างไกลจากปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยใช้ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ในการสานงานเสริมพลังให้แก่ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ สสส.ในการลดอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนไทยใน พ.ศ.๒๕๖๓ ให้น้อยกว่า ร้อยละ ๒๗ โดยดำเนินการตามแนวทางยุทธศาสตร์โลก ในการจัดการปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Global Strategy to Reduce the Harmful Use of Alcohol) และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติของประเทศไทย

                การขับเคลื่อนมาตรการควบคุมร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษาได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดย สสส.ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พัฒนานโยบายสาธารณะ มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนผลักดันให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สนับสนุนศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร การสร้างองค์ความรู้ เพื่อผลักดันนโยบาย และสร้างความตระหนักแก่สังคม และพัฒนาเครือข่ายภาคประชาสังคม อาทิ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เพื่อรณรงค์ให้สังคมเกิด ความตระหนักรู้ถึงพิษภัย ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และความหนาแน่นของร้านเหล้ารอบสถานศึกษาที่มีผลต่อการเข้าถึงและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชน ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ และเฝ้าระวังการกระทำผิดตามกฎหมายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยภาคประชาสังคม เพื่อสนับสนุนและส่งเสริม การดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย

                ผลการดำเนินงาน

                ๑.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ผลักดันให้เกิดการพัฒนากฎหมาย มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนเกิดการพัฒนาระบบเฝ้าระวัง และการบังคับใช้กฎหมาย โดยใช้องค์ความรู้เป็นฐานที่ชี้ชัดถึงโทษของการมีร้านค้า สถานบริการจำหน่าย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษาอย่างเสรี เพื่อให้สังคมรับรู้และเข้าใจปัญหาที่เกิดจากการมีร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา และการละเมิดการจำกัดอายุบุคคลในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

                ๒.ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ดำเนินการเฝ้าระวังการทำตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ติดตามร้านค้า สถานบริการที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา พ.ศ.๒๕๕๘ และตีแผ่การกระทำผิดกฎหมาย เพื่อให้สังคมตระหนักถึง ความหนาแน่นของร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รอบสถานศึกษาและการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเด็กและเยาวชน

                ๓.ร่วมกับศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้ หลักฐานทางวิชาการติดตามเฝ้าระวัง และประเมินผลมาตรการ การควบคุมร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา และผลักดันให้เกิดการบังคับใช้มาตรการให้เกิดประสิทธิผล เพื่อให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยปกป้องเยาวชนให้ห่างไกลจากจุดเสี่ยง ลดปริมาณการดื่มและผลกระทบที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

                ๔.สนับสนุนกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เพิกถอนใบอนุญาตจำหน่ายสุราในเขตรอบสถานศึกษา จำนวน ๒๕๖ ราย (เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙-เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๐) ส่งผลให้การออกใบอนุญาตจำหน่ายสุราทั่วประเทศลดลง ๑๓๔,๒๒๙ ฉบับ จาก พ.ศ.๒๕๕๘ จำนวน ๖๓๐,๑๓๙ ฉบับ ลดเหลือ ๔๙๕,๙๑๐ ฉบับ ใน พ.ศ.๒๕๖๐ ทำให้มีจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อยลง เยาวชนเข้าถึงได้ยากขึ้น

                จากการดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วน สามารถป้องกันเยาวชนให้ห่างไกลจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยผลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพในนักเรียนมัธยมศึกษาของประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๙ พบว่า เยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ยากขึ้น พิจารณาจากความชุกของการดื่มในรอบ ๓๐ วัน เปรียบเทียบระหว่าง พ.ศ.๒๕๕๒ และ พ.ศ.๒๕๕๙ โดยเพศชายดื่มลดลง จากร้อยละ ๓๑.๘ เป็น ร้อยละ ๑๙.๓ และเพศหญิงดื่มลดลง จากร้อยละ ๑๘.๒ เป็น ร้อยละ ๑๖.๒ นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันเหตุทะเลาะวิวาท ก่อความเดือดร้อนรำคาญ โดยเฉพาะพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย ประชาชนในชุมชน รอบมหาวิทยาลัย และนักศึกษารับรู้ถึงการลดลงของเหตุทะเลาะวิวาทได้

                การบังคับใช้กฎหมายควบคุมร้านเหล้ารอบสถานศึกษาอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ยังผลให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนมากขึ้น จากการลดจำนวนจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งร้านค้า สถานบันเทิง ผับ บาร์ ยังนำไปสู่การลดปัญหาการสร้างความเดือดร้อน ทะเลาะวิวาท เป็นผลดีต่อการปกป้องรักษาคุณภาพชีวิตของเยาวชน นักเรียน และนักศึกษาไทยอีกด้วย

                ร่วมสร้างกลไกป้องกันอุบัติเหตุระดับพื้นที่อย่างยั่งยืน

                สถานการณ์และความสำคัญ

                “อุบัติเหตุทางถนน” เป็นโศกนาฏกรรมของคนไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานมีผู้บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตทุกวัน ทั้งถนนสายหลัก สายรอง หรือแม้แต่ในชุมชนหมู่บ้านเกิดความสูญเสียในสังคมและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

                แม้ว่าประเทศไทยจะสามารถลดการตายจากอุบัติเหตุทางถนนของคนไทยลงได้ในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษความปลอดภัยทางถนน (พ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๖๓) ร้อยละ ๑๗ จาก ๒๓,๓๙๐ คนใน พ.ศ.๒๕๕๔ เหลือ ๑๙,๔๘๐ คน ใน พ.ศ.๒๕๕๘ แต่ใน พ.ศ.๒๕๕๙ มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น ๒๒,๓๕๖ คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต ๓๔.๔ รายต่อประชากรแสนคน (จากข้อมูล ๓ ฐาน คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ จำกัดและใบมรณบัตรของกระทรวงมหาดไทย)

                จากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของ สสส.และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน ได้วิเคราะห์หาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อหาจุดคานงัดที่จะแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น ด้วยการผลักดันและส่งเสริมให้ศูนย์ปฏิบัติการ ความปลอดภัยทางถนนระดับพื้นที่สามารถจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง จึงร่วมกันพัฒนาการทำงานเพื่อสร้าง “กลไกการจัดการอุบัติเหตุทางถนนในระดับอำเภอ” โดยมุ่งหวังที่จะให้อำเภอทั่วประเทศมีกลไกการจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ของตนเอง และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ภาพรวมอุบัติเหตุทางถนนของประเทศลดลง

                กลไกการจัดการระดับอำเภอเพื่อความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน

                บทบาทการดำเนินงานของ สสส.

                แผนการจัดการความปลอดภัย และปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน สนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนกลไกการจัดการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ เพื่อทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระดับอำเภอและพื้นที่ซึ่งมีความใกล้ชิดกับปัญหาและพฤติกรรมเสี่ยงซึ่งอยู่ในพื้นที่ถนนสายรอง กลไกการจัดการอุบัติเหตุทางถนนในระดับอำเภอจึงเป็นการพัฒนาให้เกิดกลไกการทำงานเพื่อจัดการอุบัติเหตุให้เกิดความเข้มแข็ง ทำงานอย่างต่อเนื่อง เกิดเครือข่ายในระดับอำเภอ และเกิดการบูรณาการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนร่วมกันของเครือข่ายในอำเภอและพื้นที่อย่างยั่งยืน รวมไปถึงสนับสนุน ให้เกิดการขับเคลื่อนการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ (ศปถ.อำเภอ) ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของหน่วยงานรัฐ

                ผลการดำเนินงาน

                สสส. และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน สามารถผลักดันให้เกิดกลไกการจัดการอุบัติเหตุทางถนนในระดับอำเภอ ๗๐ แห่ง ภายใต้การขับเคลื่อนของคณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) ด้วยการสร้างเครือข่ายสหสาขาวิชาชีพในระดับอำเภอ และประชุมเครือข่ายสหสาขาวิชาชีพร่วมกันแบบไม่เป็นทางการอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้เกิดการบูรณาการและการมีส่วนร่วมในการทำงาน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระดับอำเภอและพื้นที่ โดยหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ได้ร่วมกันทำงานและแก้ไขปัญหาของพื้นที่ตนเอง และทำให้เกิดความเป็นเจ้าของ และความภูมิใจร่วมกัน ซึ่งในอดีตหน่วยงานต่างๆ ในอำเภอหรือพื้นที่ก็ต่างทำงานกันแบบแยกส่วน โดยได้มีการสนับสนุนการดำเนินงาน ดังนี้

                ๑.สนับสนุนการสร้างเครือข่ายสหสาขาวิชาชีพในระดับอำเภอ อาทิ ปลัดอำเภอ (ทีมอำเภอ) เจ้าหน้าที่ตำรวจ สาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลประจำอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน

                ๒.จัดประชุมเครือข่ายสหสาขาวิชาชีพร่วมกันแบบไม่เป็นทางการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำเสนอปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของพื้นที่ และวางแผนแนวทางการแก้ไขร่วมกัน รวมถึงเตรียมข้อมูล และนำเสนอในที่ประชุมประจำเดือนของอำเภอ ให้ที่ประชุมเกิดการรับรู้ร่วมกัน และเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของอำเภอ/พื้นที่ รวมถึงผลักดันให้เกิดการสั่งการ/แก้ไขปัญหาโดยผู้บริหารของอำเภอ และทำให้ภาคส่วนต่างๆ ในอำเภอเห็นความสำคัญถึงการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

                ๓.สนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการ วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล จัดทำชุดความรู้ เพื่อพัฒนาต้นแบบพื้นที่ให้มีกลไกการจัดการความปลอดภัยทางถนนระดับอำเภอ ผ่านโครงสร้าง ศปถ.อำเภอ

                ๔.สนับสนุนการสร้างพื้นที่ ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาทางถนนในจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ อำเภอจอมพระ และอำเภอ ศรีณรงค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถดำเนินการ ได้อย่างเป็นรูปธรรมตามเงื่อนไขความสำเร็จที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ ๓ ข้อ ได้แก่ ๑) มีคณะกรรมการศูนย์หน่วยงานในพื้นที่ อ.นาโยง จ.ตรัง ร่วมกันทำสัญลักษณ์เตือนจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ โดยทาสีที่ต้นไม้ เพื่อให้เห็นแนวถนนและต้นไม้ในเวลากลางคืน ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) อำเภอ ทำงานอย่างสม่ำเสมอ ๒) มีคณะอนุกรรมการ ศปถ.อำเภอ เป็นกลุ่มสนับสนุนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนกลไก ศปถ.ระดับชาติ และ ๓) ศปถ.อำเภอ บูรณาการร่วมกับกลไกระบบสุขภาพ (District Health System : DHS) ของกระทรวงสาธารณสุข ผลักดันให้เกิด ศปถ. อปท. เพื่อเป็นกลไกการจัดการความปลอดภัยทางถนนของพื้นที่อย่างครบวงจร

                ศาสนาสร้างปัญญา:ขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุทางถนนในชุมชน

                บทบาทการดำเนินงานของ สสส.

                เทศกาลวันหยุดยาวโดยเฉพาะเทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่าของช่วงเวลาปกติ ซึ่งเกิดจากประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือท่องเที่ยว เมื่อรวมกับพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ที่คึกคะนอง ประมาท ใช้ความเร็ว หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ล้วนเป็นสาเหตุที่เอื้อต่อการเกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น

                แผนการจัดการความปลอดภัย และปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส.สนับสนุนเครือข่ายคนเห็นคนมูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม และเครือข่ายงดเหล้าจังหวัดตรัง เพื่อบูรณาการการทำงานประเด็นปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ในกลุ่มผู้นำศาสนาอิสลาม ดึงศักยภาพของคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน ซึ่งได้รับการยอมรับจากผู้นำศาสนาในการนำแนวคิดการลดปัจจัยเสี่ยงด้วยการใช้ศาสนาสร้างปัญญามาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของพื้นที่ จนเกิดกิจกรรม “ละหมาดสร้างปัญญา” เป็นการปรับใช้หลักการศาสนามาสร้างความรู้ ความเข้าใจ โดยมีผู้นำทางศาสนา หรือปราชญ์ทางสังคม มีส่วนร่วมในการลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ด้วยการนำหลักปฏิบัติของศาสนามาปรับใช้เป็นมาตรการของชุมชน เพื่อช่วยป้องกันและลดอุบัติเหตุในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการละหมาดเป็นกิจกรรมที่รวมคนจำนวนมากไว้ด้วยกันเพื่อประกอบศาสนกิจ ช่วยลดจำนวนผู้ใช้รถใช้ถนนได้ โดยเฉพาะเยาวชนที่เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มสูงในการเดินทางเพื่อไปเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์

                ผลการดำเนินงาน

                สสส.สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมละหมาดสร้างปัญญา และลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยมีเครือข่ายแกนนำผู้นำศาสนาอิสลามในมัสยิด ๓๑ แห่ง จาก ๗ จังหวัดในภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดตรัง พัทลุง สงขลา สตูล นราธิวาส ยะลา และปัตตานี และสามารถขยายผลประโยชน์ของโครงการไปสู่ผู้นำศาสนาอิสลาม ๕๐ แห่งทั่วประเทศ อาทิ กลุ่มเครือข่ายเยาวชน กลุ่มเครือข่ายผู้ปกครอง โดยมีการดำเนินงานสำคัญ ดังนี้

                ๑.สนับสนุนให้เกิดต้นแบบกิจกรรมละหมาดสร้างปัญญาในเครือข่ายมัสยิด โดยใช้กระบวนการระดมจิตใจ (Mind storming) ให้เด็กและเยาวชนตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยเฉพาะการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งดำเนินการในเครือข่ายมัสยิด ๖ แห่ง ใน ๖ อำเภอนำร่องของจังหวัดตรัง ได้แก่ ๑) มัสยิดบำรุงอิสลาม ตำบลบ้าหวี อำเภอหาดสำราญ ๒) มัสยิดนูรุลยากีนบ้านดุหุน ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา ๓) มัสยิดนูรุลอีหม่าน ตำบลบ้านนา อำเภอปะเหลียน

                ๔) มัสยิดนูรุลอิงซาน (ไซหนุนอิสลาม) ตำบลควนปริง อำเภอเมือง ๕) มัสยิดนูรุลดีน ตำบลในควนเหนือ อำเภอย่านตาขาว และ ๖) มัสยิดเกาะลิบง ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง ทั้งนี้ได้มีการติดตามเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกิจกรรมละหมาดสร้างปัญญาในช่วง ๗ วันรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ มีจำนวนอุบัติเหตุลดลง จาก ๒๑ ครั้งในช่วงวันส่งท้ายปีเก่า พ.ศ.๒๕๕๘ ลดเหลือ ๑๔ ครั้ง ใน พ.ศ.๒๕๕๙ ถือว่าประสบความสำเร็จ สามารถป้องกันและลดอุบัติเหตุลงได้

                ๒.ประชาชนในพื้นที่ให้ความสำคัญ และเข้าร่วมกิจกรรมละหมาดสร้างปัญญา โดยการสำรวจความเห็นของประชาชนที่ร่วมกิจกรรมจำนวน ๒,๒๖๘ คน เห็นด้วยว่ากิจกรรมมีผลต่อการลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาท อาการมึนเมา และอ่อนเพลียจากการร่วมงานสังสรรค์ต่างๆ ในพื้นที่ได้มากถึงร้อยละ ๙๑ นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างอยู่กับครอบครัว ลดปัญหาการพนันและยาเสพติดได้อีกด้วย

                ๓.สสส. และเครือข่ายมัสยิด ได้ขยายแนวทางการทำงานของกิจกรรมละหมาดสร้างปัญญาเป็นการรณรงค์ตลอดทั้งปี ส่งเสริมให้เกิดผู้นำความปลอดภัย โดยมีมาตรการทางสังคม มาตรการองค์กร และมาตรการชุมชนที่เอื้อต่อการส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน อาทิ ๑) มาตรการสวมหมวกนิรภัยของบุคลากร นักเรียน นักศึกษา ในองค์กร ๒) มาตรการขับขี่ยานพาหนะของบุคลากรหน่วยงาน ๓) มาตรการชุมชนปลอดอุบัติเหตุ

                แผนควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด

                ๑. พัฒนานโยบายและการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

                ๑.๑ สนับสนุนการดำเนินงานและพัฒนางานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน ๓ ประเด็น ได้แก่ ๑) องค์ความรู้ด้านผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ และเข้าพรรษา เพื่อใช้ผลักดันนโยบายห้ามขายในช่วงเทศกาล ๒) องค์ความรู้ด้านผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกกลุ่มเสี่ยง เพื่อใช้ผลักดันประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ข้อแนะนำสำหรับผู้ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ ๓) องค์ความรู้เรื่องการจำกัดการเข้าถึง และการออกใบอนุญาตจำหน่ายเพื่อใช้ผลักดันการออกกฎหมายลูกตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.๒๕๖๐

                ๑.๒ สนับสนุนภาคีเครือข่ายด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการพัฒนามาตรการและเฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมาย ดังนี้ ๑) คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใน ๕๐ จังหวัด นำแผนยุทธศาสตร์ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติไปปฏิบัติในพื้นที่อย่างเข้มข้น เพื่อลดอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย ส่งผลให้ลดอัตราการดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรไทย อายุ ๑๕ ปีขึ้นไป ใน พ.ศ.๒๕๖๐ ในรอบ ๑๒ เดือน เหลือร้อยละ ๒๗.๘๐ ซึ่งลดได้มากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ลดอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรไทยอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป ในรอบ ๓๐ วัน เหลือ ร้อยละ ๒๑.๒๘ และปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อหัวประชากรผู้ใหญ่ไทย เท่ากับ ๖.๙๕ ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อคนต่อปี

                ๒) มาตรการข้อแนะนำ สำหรับผู้ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสงกรานต์ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ๓) การเฝ้าระวัง และบังคับใช้กฎหมาย ห้ามจำหน่าย ห้ามโฆษณา ห้ามส่งเสริมการขายในช่วงเทศกาลปีใหม่สงกรานต์ เข้าพรรษา และ ๔) การเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย ห้ามจำหน่าย/โซนนิ่ง ห้ามโฆษณาห้ามส่งเสริมการขาย ในวันพระใหญ่ ได้แก่ มาฆบูชา เข้าพรรษา และอาสาฬหบูชา

                ๑.๓ ร่วมผลักดันนโยบายสาธารณะในการควบคุมเครื่องแอลกอฮอล์ รวม ๔๙ นโยบาย โดยเป็นนโยบายระดับชาติ ๓ ฉบับ ได้แก่ ๑) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ข้อแนะนำสำหรับผู้ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ๒) คำสั่งแผนบูรณาการสงกรานต์ปลอดภัย ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กระทรวงมหาดไทย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.๒๕๖๐ และ ๓) นโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม ส่งเสริมการสนับสนุนการจัดงานที่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และนโยบายสาธารณะฉบับพื้นที่ในเทศกาลสงกรานต์ ๓๒ แห่ง งานบุญบั้งไฟ ๑๐ พื้นที่ และงานเทศกาลอาหาร ๓ งาน

                ๒.ส่งเสริมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับพื้นที่

                ๒.๑ สนับสนุนการจัดอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบบำบัดรักษาผู้มีปัญหาการบริโภคสุรา สารเสพติด และปัญหาสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกว่า ๒๐ คน สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานด้านการดูแลผู้ที่ติดปัญหาสุรา ทั้งในระบบสุขภาพและนอกระบบสุขภาพ

                ๒.๒ สนับสนุนการบูรณาการงานรณรงค์งดเหล้าครบพรรษา โดยเชื่อมประสานการทำงานร่วมกับแผนงานอื่นๆ และภาคีเครือข่ายของแผนงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ๑) แผนสุขภาวะชุมชนในการประสานให้เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมรณรงค์งดเหล้าครบพรรษา ๒) แผนสุขภาวะชุมชน และแผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว ประสานเครือข่ายเยาวชนและโรงเรียนร่วมรณรงค์งดเหล้าครบพรรษา และ ๓) แผนสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร เชิญชวนภาคีเครือข่ายร่วมรณรงค์งดเหล้าครบพรรษา จนเกิดแนวทางการดำเนินงานงดเหล้าเข้าพรรษาของพื้นที่ต่างๆ ใน พ.ศ.๒๕๖๐

                ๒.๓ ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่เฝ้าระวังและกระตุ้นการบังคับใช้กฎหมาย ใน ๗๖ จังหวัดและกรุงเทพฯ ส่งผลให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด

                ๒.๔ สนับสนุนคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด ดำเนินงานให้เกิดจังหวัดยุทธศาสตร์ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปัจจัยเสี่ยง รวม ๒๕ จังหวัด รวมถึงการถอดบทเรียนจังหวัดที่ประสบผลสำเร็จ ๙ จังหวัด

                ๒.๕ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนให้เกิดพื้นที่รูปธรรมจัดงานบุญประเพณีและเทศกาลที่ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ๒๘๕ งาน ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่มาร่วมงาน โดยลดปัญหาทะเลาะวิวาท และลดอุบัติเหตุ ได้แก่ ๑) เทศกาลสงกรานต์ปลอดเหล้า ๑๕๑ งาน แบ่งเป็นถนนเล่นน้ำตระกูลข้าว ๕๐ แห่ง และพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า ๑๐๑ แห่ง ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการสร้างพื้นที่รูปธรรมในการเล่นน้ำปลอดเหล้าปลอดภัยออกไปอีก ๓,๕๖๙ แห่งทั่วประเทศ

                ๒) งานแข่งขันกีฬาปลอดเหล้าและงานกิจกรรมสร้างสรรค์ ๒๙ งาน ๓) งานกาชาดปลอดเหล้า ๒๖ งาน ๔) งานลอยกระทงปลอดเหล้า ๒๔ งาน ๕) งานบุญบั้งไฟ ๒๓ งาน ๖) งานเทศกาลอาหารปลอดภัย อร่อยได้ไร้แอลกอฮอล์ ๑๘ งาน ๗) งานแข่งเรือปลอดเหล้า ๖ งาน ๘) งานเทศกาลดนตรีปลอดเหล้า ๖ งาน และ ๙) งานปีใหม่ ๒ งาน คือ จังหวัดเชียงใหม่ และสงขลา

                ๒.๖ สนับสนุนให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีนโยบายเฝ้าระวังและรับแจ้งเหตุที่เกิดจากปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหตุการณ์คุกคามทางเพศและทะเลาะวิวาท โดยสนับสนุนการจัดเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด ทั้งตำรวจ และฝ่ายปกครอง และประสานขอความช่วยเหลือผ่านศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน ๑๓๐๐

                ๒.๗ สนับสนุนให้กรุงเทพมหานคร มีนโยบายมอบหมายให้สำนักงานเขต ๕๐ เขต เฝ้าระวัง ป้องกันการลวนลามทางเพศ การควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยสนับสนุนการจัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจ และประสานงานกับสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่

                ๓.พัฒนาองค์ความรู้ และนวัตกรรมลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

                สนับสนุนศูนย์วิชาการและภาคีเครือข่ายวิชาการด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบและการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนี้

                ๓.๑ พัฒนาองค์ความรู้สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายลากรทำงานในพื้นที่ ตลอดจนการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารเพื่อกำกับติดตามสถานการณ์และการประเมินผล ๕๑ เรื่อง และมีองค์ความรู้ ๒๒ เรื่องถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนนโยบายและการทำงานในพื้นที่

                ๓.๒ พัฒนาองค์ความรู้ งานวิชาการ คู่มือเพื่อสนับสนุนการพัฒนารูปแบบและขยายผลบริการเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือนวัตกรรมการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่แล้วเสร็จ ๑๒ เรื่อง และมีการนำองค์ความรู้ รูปแบบและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ๘ เรื่อง

                ๓.๓ การรวบรวมข้อมูลซึ่งเป็นต้นทุนในการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่ชุมชน ในการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมในการดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน

                ๔.สร้างความตระหนักและการรับรู้เพื่อลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

                ๔.๑ สนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เกิดการรับรู้และตระหนักถึงประเด็นการลด ละ เลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ๑๖ ประเด็น อาทิ ๑) งดเหล้าเข้าพรรษา ๒) วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ๓) ข้อแนะนำสำหรับผู้ไม่ควรดื่มสุรา ๔) ผลกระทบจากภัยเหล้ามือสอง ๕) สงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า และ ๖) ชมรมคนหัวใจเพชร (เลิกเหล้าตลอดชีวิต) โดยมีข่าวที่ได้รับการเผยแพร่ให้สื่อมวลชนและสาธารณชนได้รับรู้และตระหนักถึงอันตรายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ๕๐๐ ชิ้นข่าว

                ๕.พัฒนานโยบายและระบบดูแลผู้เสพสารเสพติด

                ๕.๑ สนับสนุนการพัฒนาชุดความรู้ด้านการป้องกัน บำบัดรักษา และฟื้นฟูสุขภาพผู้เสพยาเสพติด และการจัดการปัญหายาเสพติด ๑๒ เรื่อง โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ๓ เรื่อง ได้แก่ ๑) การวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบบูรณาการการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับอำเภอ ๒) การพัฒนารูปแบบการป้องกันยาเสพติดโดยใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลาง และ ๓) การวิจัยติดตามความเคลื่อนไหวด้านอุปสงค์อุปทาน สารเสพติดบนโลกออนไลน์

                ๕.๒ สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายนักวิชาการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดกว่า ๒๐ คน แลกเปลี่ยนข้อมูลงานวิจัยและงานวิชาการ เผยแพร่ความรู้ด้านยาเสพติด และมีข้อเสนอแนะต่อสังคมในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

                ๕.๓ ร่วมผลักดันให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อการแก้ไขปัญหาสถานะของพืชเสพติดสู่การจัดการปัญหากัญชา และพืชกระท่อม

                ๕.๔ ร่วมผลักดันการเปลี่ยนแปลงนโยบายยาเสพติดไปสู่การมุ่งเน้นเรื่องสุขภาพ การพัฒนา การสร้างสันติภาพ และสิทธิมนุษยชน เพื่อลดทอนความเป็นอาชญากรรมในคดีสารเสพติดสู่นโยบายยาเสพติดที่มีมนุษยธรรม และแก้ไขปัญหาความแออัดในเรือนจำ

                แผนการจัดการความปลอดภัยและปัจจัยเสี่ยงทางสังคม

                สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม

                สรุปเป้าหมายสำคัญ

                ๑.พัฒนานโยบายสาธารณะใหม่ที่ส่งผลต่อการลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนน อย่างน้อย ๑ นโยบาย

                ๒.สนับสนุนการสร้างกระแสสังคมและความตื่นตัวด้านความปลอดภัยจากอุบัติภัยจราจร อย่างน้อย ๒ ประเด็น

                ๓.พัฒนาโครงสร้างการทำงานและบูรณาการการป้องกันและลดอุบัติภัยทางถนนในระดับพื้นที่ อย่างน้อย ๗๐ จังหวัด และทำให้เกิดการยกระดับการพัฒนาจังหวัดและสร้างนวัตกรรมในจังหวัด อย่างน้อย ๑๐ จังหวัด

                ๔.พัฒนาระบบข้อมูลสถานการณ์อุบัติเหตุจราจรที่ถูกต้อง ทันเหตุการณ์ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ใช้รถใช้ถนนรายจังหวัดที่มีความน่าเชื่อถือ

                ๕.พัฒนาองค์ความรู้และการจัดการความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนน อย่างน้อย ๑๐ เรื่อง พร้อมจัดการประชุมวิชาการระดับชาติต่อเนื่องทุก ๒ ปี

                ๖.สนับสนุนการสื่อสารสาธารณะที่เน้นด้านการป้องกันและลดผลกระทบด้านการเตรียมความพร้อมอย่างเป็นรูปธรรม

                ๗.พัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคม ท้องถิ่น และหน่วยงานภาครัฐ ในการสร้างต้นแบบพื้นที่ชุมชนเข้มแข็งจัดการภัยพิบัติ อย่างน้อย ๑๐ พื้นที่

                ๘.พัฒนานโยบายสาธารณะ มาตรการ หรือกลไกที่มีประสิทธิภาพต่อการลดผลกระทบจากการพนัน และข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ๑ เรื่อง

                ๙.พัฒนาให้เกิดรูปธรรมในการทำงานร่วมกับกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคมอย่างน้อย ๒ กรณี

                การดำเนินงานตามแผนการจัดการความปลอดภัยและปัจจัยเสี่ยงทางสังคม

                แผนจัดการความปลอดภัยและปัจจัยเสี่ยงทางสังคม วางยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ๖ ด้านสำคัญ ได้แก่ ๑) พัฒนานโยบายสาธารณะและสร้างเป้าหมายร่วม ๒) พัฒนาภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ๓) พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศและการจัดการความรู้ ๔) พัฒนาโครงสร้างและบูรณาการการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ ๕) การจัดการภัยพิบัติ และ ๖) การลดปัญหาจากการพนัน

                ผลลัพธ์จากการดำเนินงานโดยสรุป มีดังนี้ ๑.พัฒนานโยบายสาธารณะเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนน ๑๑ เรื่อง ๒.รณรงค์สร้างกระแสสังคมและความตื่นตัวด้านความปลอดภัยทางถนน ๖ ประเด็น ๓.พัฒนานวัตกรรมป้องกันและลดอุบัติเหตุ ๑๔ จังหวัด ที่ครอบคลุมพื้นที่อำเภอ/ตำบล ๕๗ พื้นที่ ๔.สนับสนุนให้เกิดกลไกการจัดการอุบัติเหตุทางถนนในระดับอำเภอ ๗๐ อำเภอ ๕.สร้างพื้นที่ต้นแบบชุมชนเข้มแข็งจัดการภัยพิบัติ ๑๖ พื้นที่ และ ๖.พัฒนานโยบายควบคุมการพนัน ๖ นโยบาย และเกิดรูปธรรมการทำงานร่วมกับกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม ๒ กรณี

                ๑.พัฒนานโยบายความปลอดภัยทางถนน

                สนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน หน่วยงานหลักต่างๆ และภาคีเครือข่าย ผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะใหม่ที่ส่งผลต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน รวม ๑๑ เรื่อง โดยมีนโยบายและมาตรการสำคัญที่เกิดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ

                ๑.๑ ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำกลไกประชารัฐมาเป็นหลักในการบูรณาการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี

                ๑.๒ ข้อสั่งการของประธานคณะกรรมการนโยบายความปลอดภัยทางถนนแห่งชาติไปยังผู้ว่าราชการทุกจังหวัด เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ให้ใช้กลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด (ศปถ.จังหวัด) ในการดำเนินการวางแผนติดตามการดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในจังหวัด และให้รายงานผลการดำเนินงานแก่ ศปถ.ส่วนกลางทราบทุกเดือน

                ๑.๓ ข้อสั่งการของกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนการตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่กรณีเกิดอุบัติเหตุแล้วเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจร้องขอมายังโรงพยาบาล และจะรายงานผลกลับไปผ่านการบันทึกข้อมูลระบบอินเทอร์เน็ต โดยเริ่มดำเนินการช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.๒๕๖๐

                ๑.๔ ประกาศในกฎกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ ๒๑ พ.ศ.๒๕๖๐ ตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ กำหนดให้กลุ่มผู้ขัดขี่ที่มีอายไม่ถึง 20 ปี ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ และผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกิน ๒๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

                ๑.๕ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก กำหนดให้ผู้โดยสารทุกที่นั่งต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ครอบคลุมถึงผู้โดยสารที่นั่งด้านหลังของรถยนต์ส่วนบุคคล

                ๑.๖ คำสั่งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กำหนดให้กรณีที่ผู้ขับขี่เอาประกันภัยภาคสมัครใจมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า ๕๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์หากประสบอุบัติเหตุจะไม่ได้รับความคุ้มครองทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากกรมธรรม์

                ๒. สร้างความตื่นตัวและขยายพื้นที่ด้านความปลอดภัยทางถนน

                ๒.๑ สนับสนุนมูลนิธิเมาไม่ขับ ชมรมคนห่วงหัว สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ และภาคีเครือข่าย รณรงค์สร้างกระแสสังคมเพื่อสร้างความตระหนักเรื่องความปลอดภัยทางถนนใน ๖ ประเด็น ได้แก่ ๑) กลับบ้านปลอดภัย ปีใหม่ ๒๕๖๐ ๒) ลดเร็ว ลดเสี่ยง (วิสัยทัศน์ อุโมงค์) เน้นกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ ๓) มาตรการองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนน เน้นการดำเนินการในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ การสวมหมวกนิรภัย ๔) สงกรานต์ ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย เน้นกลุ่มเป้าหมายเยาวชนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ ๕) SAVE LIVES # SLOW DOWN รณรงค์สัปดาห์แห่งความปลอดภัยทางถนน ๒๐๑๗ ตามข้อเรียกร้องขององค์การสหประชาชาติ และ ๖) รณรงค์ติดกล้องหน้ารถ ช่วยคนดี ชี้คนผิด ทำให้เกิดการนำเสนอข่าวรวม ๓๔๓ ชิ้นข่าว

                ๒.๒ สนับสนุนเครือข่ายป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในระดับจังหวัดในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศทำงานร่วมกับเครือข่ายสื่อมวลชนทั้งในระดับส่วนกลาง จังหวัด และพื้นที่ และทำให้เกิดการสร้าง “มาตรการองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนน” ใน ๗๖ จังหวัด

                ๒.๓ จากการรณรงค์สร้างความตื่นตัว ส่งผลให้การตัดสินลงโทษผู้ที่เมาแล้วขับขั้นสูงสุดให้จำคุกหรือกักขังเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์หรือผู้ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงเกินกว่า ๒๐๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และศาลยุติธรรมมีแนวทางในการตัดสินคดีเมาแล้วขับ ที่มุ่งเน้นปกป้องชีวิตผู้บริสุทธิ์บนท้องถนนเพิ่มมากขึ้น มีการตัดสินลงโทษผู้ที่เมาแล้วขับโดยใช้โทษจำคุกและกักขังเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ขับขี่รถสาธารณะที่มีความรับผิดชอบชีวิตผู้โดยสารที่บริสุทธิ์และผู้ขับขี่รถส่วนบุคคลที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูง

                ๒.๔ สนับสนุนเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับทั่วประเทศ กว่า ๙๐ เครือข่าย รณรงค์สร้างกระแสและความตระหนักให้แก่สังคม ให้เห็นโทษของการดื่มแล้วขับ โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ด่านตรวจ เป็นวิทยากรให้ความรู้ตามสถานศึกษาและหน่วยงาน รวมถึงให้กำลังใจแก่ผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนนรายใหม่ที่มีสาเหตุจากการดื่มแล้วขับ ให้มีกำลังใจและสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้

                ๒.๕ สนับสนุนคณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจร ทีมวิชาการ และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน ทำให้เกิดการทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ดังนี้ ๑) พัฒนาเครือข่ายเพื่อบูรณาการการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในจังหวัด โดยมีจังหวัดที่มีการพัฒนายกระดับการสร้างนวัตกรรมในจังหวัดหรือพื้นที่ เพื่อเสริมการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในจังหวัดหรือพื้นที่ ๑๔ จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหรืออำเภอ ๕๗ พื้นที่ ได้แก่ ภูเก็ต อุตรดิตถ์ ขอนแก่น เชียงใหม่ บึงกาฬ นครศรีธรรมราช ตรัง สุรินทร์ ลพบุรี สมุทรสงคราม ปทุมธานี กาฬสินธุ์ ปัตตานี และนราธิวาส และ ๒) วางแผนการบูรณาการเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับอำเภอ ผ่านสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขา และภาคีเครือข่ายในระดับอำเภอ ๓๗ อำเภอ

                ๓.พัฒนาองค์ความรู้และระบบฐานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน

                ๓.๑ สนับสนุนศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน และภาคีเครือข่าย พัฒนาระบบข้อมูลและรายงานด้านความปลอดภัยทางถนน ดังนี้ ๑) พัฒนาข้อมูลของประเทศที่มีมาตรฐาน โดยการเชื่อมโยงข้อมูล ๓ ฐานสำคัญของประเทศ เกิดข้อมูลของ พ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๕๘, ๒) การสำรวจพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยทั่วประเทศ พ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๕๙, ๓) รายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๕๘ และ ๔) ระบบรายงานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนที่ระบุตำแหน่งในเชิงพิกัดภูมิศาสตร์ (ระบบ GEO-ITEMS) พร้อมพัฒนาแอปพลิเคชัน GEO-ITEMS โดยมีการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ อย่างน้อย ๓ ตัวอย่าง

                ๓.๒ สนับสนุนศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน พัฒนาองค์ความรู้และการจัดการความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนน ๑๓ เรื่อง พร้อมพัฒนาชุดความรู้ในประเด็นสำคัญ ๘ เรื่อง และมีการนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ๖ เรื่อง อาทิ ๑) สถานการณ์ปัญหารถโดยสารสาธารณะในประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๙ กลุ่มรถทัวร์ รถตู้ และรถรับจ้างรับส่งนักเรียน ๒) สถานการณ์ปัญหารถโดยสารทัศนศึกษาและรถรับจ้างรับส่งนักเรียน พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๕๙ ๓) ชุดความรู้สำหรับเจ้าหน้าที่จราจร นำไปอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร และพนักงานสอบสวน ในเดือนสิงหาคม-กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐ รวม ๓๒๖ นาย

                ๔.ขับเคลื่อนการจัดการภัยพิบัติ
                ๔.๑ สนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้เรื่องการเฝ้าระวังภัยพิบัติ โดยเกิดการสื่อสารสาธารณะที่เน้นด้านการป้องกันและลดผลกระทบ ด้านการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ ๑) การสื่อสารประเด็น ๕ ทักษะการเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำของเด็ก ๒) การรวบรวมองค์ความรู้ สรุปบทเรียนการทำงานในชุมชนและโรงเรียนเพื่อป้องกันการจมน้ำในเด็ก ๓) แบบทดสอบ Online ด้านทักษะความปลอดภัยทางน้ำของเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑–๖ และ ๔) แบบสำรวจสภาพแวดล้อมในโรงเรียน ตลอดจนสื่อรณรงค์เผยแพรผ่านเว็บไซต์ http://www.csip.org/ ของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก

                ๔.๒ จากการศึกษาสถานการณ์ในช่วงน้ำท่วมภาคใต้ เมื่อต้น พ.ศ.๒๕๖๐ นำมาสู่การจัดประชุมวิชาการ “น้ำท่วมภาคใต้ : ภัยพิบัติในความเสี่ยงใหม่” โดยความร่วมมือกับหน่วยงานหลัก ได้แก่ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิเพื่อการบริหารน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และเครือข่ายนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เกิดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงภัยพิบัติ ตลอดจนแนวทางการฟื้นฟูและการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติจากอุทกภัยพื้นที่ภาคใต้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพเดิมที่ชุมชนพื้นที่มีประสบการณ์

                ๔.๓ ร่วมกับมูลนิธิชุมชนไท พัฒนาคู่มือการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน ซึ่งได้รับการนำไปใช้ใน ๖ พื้นที่ดำเนินการ ได้แก่ ๑) เครือข่ายชุมชนจังหวัดพังงา ๒) เครือข่ายชุมชนจังหวัดภูเก็ต ๓) เครือข่ายชุมชนตำบลท่าหิน จังหวัดสงขลา ๔) เครือข่ายสิ่งแวดล้อมปทุมธานี ๕) เครือข่ายอุบลราชธานี และ ๖) เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน

                ๔.๔ เกิดตัวอย่างรูปธรรมการทำงานที่มีกลไกความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมและท้องถิ่นกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเกิดจากการสร้างต้นแบบพื้นที่ชุมชนเข้มแข็งจัดการภัยพิบัติ ๑๖ กรณีพื้นที่ จากการทำงานของมูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิเพื่อการบริหารน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และมูลนิธิสื่อสังคม โดยแบ่งเป็น

                ๔.๔.๑ ต้นแบบพื้นที่ชุมชนเข้มแข็ง ๑๒ พื้นที่ อาทิ ๑) ตำบลแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ๒) ตำบลหาดทนง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ๓) อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ๔) ตำบลเลยวังไสย์ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย ๕) ตำบลบ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ๔.๔.๒ ต้นแบบพื้นที่การป้องกันอัคคีภัยในชุมชนเมือง ๔ พื้นที่ ที่เน้นกลไก สภาองค์กรชุมชนเชื่อมประสานภาครัฐ ได้แก่ ๑) กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ที่ดำเนินงานผ่านสภาองค์กรชุมชนจังหวัด โดยดำเนินการในตำบลนำร่อง ประกอบด้วย ๒) ตำบลบางเตย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ๓) ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ๔) ตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ

                ๔.๕ พัฒนาต้นแบบพื้นที่ที่มีรูปธรรมการทำงาน โดยมีหน่วยงานนำแผนปฏิบัติการไปสู่การดำเนินการ รวม ๖ พื้นที่ ประกอบด้วย

                ๔.๕.๑ ต้นแบบพื้นที่ชุมชนเข้มแข็ง ๕ พื้นที่ที่มีการประสานความร่วมมือ ทั้งภาคประชาสังคม ท้องถิ่น และหน่วยงานภาครัฐ โดยมีการดำเนินการครบทุกขั้นตอนสำคัญตั้งแต่มีผังความเสี่ยง มีแผนจัดการ มีฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบาง มีการจัดทำแผน และมีการซ้อมแผนประจำปี แบ่งเป็น ๑) พื้นที่ทำงานทั้งระดับจังหวัด ได้แก่ บ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และอำเภอหาดทนง จังหวัดอุทัยธานี ๒) พื้นที่ทำงานในระดับชุมชนและอำเภอ ได้แก่ อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ และอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน และ ๓) พื้นที่ทำงานในระดับชุมชนและเชื่อมระดับจังหวัด ได้แก่ อำเภอถ้ำพรรณรา จังหวัดนครศรีธรรมราช

                ๔.๕.๒ ต้นแบบพื้นที่ชุมชนเมืองป้องกันอัคคีภัย ๑ พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ

                ๔.๖ ร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ พัฒนาพื้นที่ตัวอย่างฐาน ๔ พอ ได้แก่ “พอกินพออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น” เป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และการสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยให้มีเพียงพอสามารถพึ่งพาตนเองและชุมชนในยามเกิดภัยพิบัติ จากศาสตร์พระราชา เรื่องการจัดการดินน้ำป่าและภูมิปัญญาชาวบ้าน ตลอดจนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จนสามารถสร้างศูนย์ฝึกอบรมเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ในการพึ่งตนเอง และเป็นแหล่งสะสมและอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและสัตว์ไว้ใช้ในการฟื้นฟูตนเองหลังเกิดภัยพิบัติจำนวน ๒๔ พื้นที่ ใน ๑๔ จังหวัด

                ๔.๗ สนับสนุนความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการภัยพิบัติระหว่างองค์กรชุมชน เครือข่าย หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชนพื้นที่ โดยมีการจัดทำสื่อรณรงค์ “ยิ่งรู้ ยิ่งรอด ปลอดอัคคีภัย” ซึ่งมีสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร และสถานีวิทยุจราจรเพื่อสังคม คลื่นความถี่เอฟเอ็ม ๙๙.๕ เมกะเฮิรตซ์ นำไปใช้เผยแพร่

                ๔.๘ สนับสนุนมูลนิธิชุมชนไท สรุปบทเรียนประสบการณ์ของผู้ประสบภัยพิบัติที่เข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนเครือข่ายชุมชนสู่ข้อเสนอนโยบายจัดการภัยพิบัติ และจัดทำคู่มือการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน จากการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมภาคใต้ช่วงต้น พ.ศ.๒๕๖๐ โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อเตรียมความพร้อมและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยให้คนในพื้นที่บริหารจัดการตามความต้องการที่แท้จริง ซึ่งพัฒนาสู่ข้อเสนอการปฏิรูประบบการจัดการภัยพิบัติและปรับปรุงพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอตามกติการัฐธรรมนูญฉบับใหม่.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"