มติ ป.ป.ช.อุ้มเสี่ยป้อม ลามถึงอดีตหน้าห้องประวิตร "บิ๊กกุ้ย-วัชรพล" เจอ "ศรีสุวรรณ" แกนนำตั้งโต๊ะล่า 2 หมื่นชื่อถอดถอน กระทุ้งแสดงสปิริตเป็นผู้นำองค์กร แต่ทำองค์กรเสื่อมหนัก จะลอยตัว นอนกอดเก้าอี้ไม่ได้ แม้ต่อให้ไม่ร่วมประชุมชี้ขาด ผช.รมต. "ไพศาล" โดดอุ้มเสียงข้างมาก นักวิชาการจวกมติน่าอับอาย
เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ที่ร้าน CHA-SRISUWAN หน้าตลาดยิ่งเจริญ (ประตู 3) สะพานใหม่ ดอนเมือง นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อเพื่อถอดถอนกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 5 คน ที่เป็นเสียงข้างมาก 5 ต่อ 3 ในการพิจารณากรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ครอบครองนาฬิกาหรูและแหวนเพชรโดยที่ไม่ได้แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.
นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ป.ป.ช.วินิจฉัยไม่ถูกต้องและทำให้บรรทัดฐานในการเอาผิดนักการเมืองที่เข้าข่ายทุจริตคอร์รัปชันไม่เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมาย ทั้งนี้ เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจ ก็ต้องอาศัยช่องของกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 236, 237 ที่กำหนดไว้ ให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 20,000 รายชื่อ สามารถเข้าชื่อเพื่อนำเสนอไปยังประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ตั้งผู้ไต่สวนอิสระขึ้นมาเพื่อเสาะแสวงหาพยานหลักฐาน เอาผิดคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 5 คน ว่าเข้าข่ายใช้อำนาจซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หรือเข้าข่ายประมวลจริยธรรมหรือไม่อย่างไร ดังนั้นวันนี้ทางสมาคมจึงถือเป็นวันแรกที่จะตั้งโต๊ะให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้มีสิทธิ์และมีส่วนในการกำหนดมาตรฐานของสังคมไทย และนอกจากจะใช้จุดนี้เป็นจุดให้ประชาชนได้ลงชื่อถาวรกว่าจะครบ 20,000 รายชื่อแล้ว ตนก็จะเดินทางไปยังต่างจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในต่างจังหวัดได้มีส่วนร่วมเข้าชื่อในการเอาผิด 5 ป.ป.ช. และคาดว่าประมาณสองสัปดาห์จะได้รายชื่อครบ 20,000 รายชื่อ
เมื่อถามว่า ประธาน ป.ป.ช.จะต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบขององค์กรหรือไม่ นายศรีสุวรรณกล่าวว่า คิดว่าอาจจะก้าวไปตรงนั้น ไม่ถึงในเรื่องความผิดทางกฎหมาย แต่ในเรื่องความรับผิดชอบนั้น คงไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายมาบังคับ
นายศรีสุวรรณกล่าวว่า มันเป็นสปิริตของประธานป.ป.ช.อยู่แล้วว่าจะต้องพิจารณาตัวเอง ในเมื่อสาธารณชนหรือสังคมวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างมาก และการทำโพลของหลายสำนักก็สะท้อนชัดเจนว่าประชาชนร้อยละ 95-96 ที่ไม่เห็นด้วยต่อมติของ ป.ป.ช.เสียงข้างมาก ดังนั้นการเป็นประธาน ป.ป.ช. ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เข้าร่วมประชุม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไม่รับผิดชอบใดๆ
"จึงเป็นสปิริตของนายตำรวจคนหนึ่งที่เข้ามาทำหน้าที่ประธาน ป.ป.ช. จึงควรแสดงสปิริตอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้สังคมรับรู้และเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และเรียกศรัทธากลับคืนมาสู่องค์กร ป.ป.ช.ต่อไปนั้น ผมขอเรียกร้องให้ประธาน ป.ป.ช. ในฐานะที่จะต้องดูแลองค์กร สร้างภาพลักษณ์องค์กร และสร้างความเชื่อมั่นศรัทธากลับมาให้กับองค์กรนี้ ควรจะแสดงสปิริตอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาให้สังคมไทยได้มีความรู้สึกว่ามีความเชื่อมั่น ว่าองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นที่น่าเชื่อถือต่อไป แต่ถ้าประธาน ป.ป.ช.นั่งกอดเก้าอี้แน่น กลัวจะหลุดตำแหน่ง ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า สังคมไทยอาจต้องสูญเสียองค์กรอิสระองค์กรหนึ่งที่จะไม่ได้รับความเชื่อมั่น เชื่อถือศรัทธาจากประชาชน ไม่ใช่ว่าท่านเป็นองค์กรอิสระแล้วใครจะแตะต้องไม่ได้ การได้รับการตรวจสอบจากประชาชนทั้งประเทศจะเป็นนิมิตหมายทำให้องค์กรอิสระอื่นๆ จะได้ถูกจับตามองโดยประชาชน เพื่อเรียกศรัทธาจากประชาชนและความเชื่อถือที่มีต่อองค์กรอิสระนั้นๆ" นายศรีสุวรรณกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการล่าชื่อถอดถอนดังกล่าวเป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีประชาชนมาร่วมลงชื่ออย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการสังเกตการณ์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ
นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กในหัวข้อ “ประเทศกูมี!” ว่า "ป.ป.ช.ตัดสินเรื่องนาฬิกาลุงป้อมว่า ลุงป้อมไม่ผิด คนพวกหนึ่งก็รุมด่า ป.ป.ช.เสียงข้างมาก ถ้าหากหวยออกตรงกันข้ามคือ ป.ป.ช.ตัดสินว่าลุงป้อมผิด อีกพวกหนึ่งก็จะรุมด่า ป.ป.ช.เสียงข้างมากเหมือนกัน รวมความว่า ป.ป.ช.ตัดสินอย่างไรก็จะถูกรุมด่าทั้งนั้น ส่วน ป.ป.ช.เสียงข้างน้อย ที่พวกหนึ่งสรรเสริญนั้น ถ้าไม่ขี้ลืมก็คงจำได้ว่าสมัยรัฐบาลก่อนก็ถูกรุมด่ามาหนักหนาว่าเป็นคนของคุณทักษิณ นี่คือสิ่งที่ประเทศกูมี"
ด้านสำนักข่าวอิศรา ได้เผยแพร่บทความของอานนท์ มาเม้า อาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายทรัพย์สิน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในบทความชื่อ "มติ ป.ป.ช. เรื่องนาฬิกา ที่น่าอับอาย"
โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า ได้อ่านเอกสารข่าวสำนักงาน ป.ป.ช. และติดตามข้อมูลจากสื่อมวลชน ตลอดจากการตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตลอดแล้ว พบว่า มติ ป.ป.ช.ดังกล่าวมีปัญหาใหญ่ 3 ประการ ได้แก่ 1.ปัญหาการไม่ตั้งประเด็นชี้มูลให้ถูกต้อง 2. ปัญหาการอ้างหลักกฎหมายทรัพย์สินที่ผิดอย่างร้ายแรง และ 3.ปัญหาการกล่าวอ้างเรื่องที่ไม่เป็นประเด็น
1.ปัญหาการไม่ตั้งประเด็นชี้มูลให้ถูกต้อง หากว่ากันอย่างตรงไปตรงมา กรณีนี้คือการพิจารณาว่าพลเอกประวิตรจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็รู้อยู่ ถึงขนาดตัดสินดังปรากฏในท่อนท้ายการแถลงข่าวว่า “ไม่มีมูลเพียงพอ” ว่าพลเอกประวิตรมีพฤติการณ์ดังกล่าว
แต่ทว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ตั้งประเด็นและวินิจฉัยตามประเด็นดังกล่าวเลยหาก แต่พร่ำพรรณนาในข้อเท็จจริงว่า พลเอกประวิตรยืมนาฬิกาจากเพื่อนจริงหรือไม่ แล้วก็สรุปว่ายืมจริง เมื่อสรุปว่ายืมจริง ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของพลเอกประวิตร จากนั้นก็ลงท้ายตัดสินว่า ไม่มีมูลเพียงพอว่าจงใจยื่นบัญชีฯ เท็จ นั่นแสดงให้เห็นถึงการไม่ตั้งประเด็นให้ถูกต้อง
เมื่อหลักกฎหมายที่เป็นประเด็นต้องชี้มูลมีอยู่ว่า พลเอกประวิตรจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือไม่ เพราะฉะนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีหน้าที่กำหนดประเด็นในข้อกล่าวหาเรื่องนาฬิกาไปตามลำดับ ดังนี้ว่า (1) นาฬิกาที่อยู่ในการครอบครองของพลเอกประวิตรเป็นสิ่งที่ต้องระบุในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่ ถ้านาฬิกาใช่สิ่งที่พลเอกประวิตรมีหน้าที่ต้องแสดงในบัญชี ดังนั้น ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไป คือ (2) พลเอกประวิตรจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือไม่ แต่เราก็ไม่พบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ตั้งประเด็นตามลำดับในหลักกฎหมายเลย
สำหรับประเด็นแรกที่ว่า นาฬิกาที่อยู่ในการครอบครองของพลเอกประวิตรเป็นสิ่งที่ต้องระบุในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก้าวข้ามประเด็นนี้ แล้วไปวินิจฉัยว่า เมื่อยืมก็ไม่มีมูล ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการชี้มูลที่ตื้นเขินมาก เพราะแม้คณะกรรมการ ป.ป.ช. “เชื่อว่าพลเอกประวิตรยืมจริง” ก็ยังไม่ทำให้พลเอกประวิตรพ้นหน้าที่ที่จะต้องระบุนาฬิกาดังกล่าวในบัญชี กล่าวคือ นาฬิกาในกรณีนี้ แม้ “ยืม” มา ก็ยังคงเป็น “สิ่งที่ต้องแสดงในบัญชี”
บทความดังกล่าวระบุอีกว่า ที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ต้องแสดง “ทรัพย์สิน” และ “หนี้สิน” และนาฬิกาที่แม้ยืมมา ก็ยังคงเป็น “ทรัพย์สิน” ของพลเอกประวิตร และ “หนี้สิน” ของพลเอกประวิตรไปพร้อมกัน ในมุมของการที่นาฬิกาซึ่งยืมมาเป็น “ทรัพย์สิน” นั้น อธิบายในทางกฎหมายได้ดังนี้ว่า ทรัพย์สินมีนิยามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 ซึ่ง “สิทธิครอบครอง” จัดอยู่ในนิยามของการเป็นทรัพย์สินด้วย ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงการเป็น “ทรัพย์สินของพลเอกประวิตร” จึงไม่ใช่แค่สิ่งที่เป็น “กรรมสิทธิ์” ของพลเอกประวิตรเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงสิทธิอื่นๆ ที่มีสถานะเป็นทรัพย์สินด้วย ซึ่งรวมทั้ง “สิทธิครอบครอง”
"เมื่อนาฬิกาอยู่ในการครอบครองของพลเอกประวิตรจากการที่ยืมมา พลเอกประวิตรจึงมีสิทธิครอบครองในนาฬิกาซึ่งถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของพลเอกประวิตร ที่ต้องระบุในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วยโดยไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะฉะนั้น ต่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เชื่อว่านาฬิกาไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของพลเอกประวิตร แต่ก็หนีไม่พ้นในฐานะเป็นสิทธิครอบครอง ซึ่งก็ยังเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่ยังอยู่กับพลเอกประวิตรหรือหากจะมองในมุมเรื่อง “หนี้สิน” ก็ยังไม่หลุดอีก เนื่องจากแม้คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะเชื่อว่า พลเอกประวิตรยืมนาฬิกาจากเพื่อนมาจริง แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็คงจะลืมไปเสียแล้วว่านาฬิกาดังกล่าวเป็นสิ่งที่เป็น “หนี้สิน” ของพลเอกประวิตรอยู่เสมอ เพราะ “การยืม” ทำให้เกิด “หนี้สิน” โดยเป็นหนี้สินของผู้ยืมซึ่งเป็นหนี้ดังปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ หนี้ที่บุคคลซึ่งเป็นผู้ยืมต้องคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ให้ยืม"
บทความดังกล่าวระบุไว้ว่า ด้วยเหตุดังกล่าว นาฬิกาที่ยืมมาจึงเป็น “หนี้สิน” ด้วยอยู่ในตัว อันเป็น “สิ่งที่ต้องแสดงในบัญชี”
"ทั้งหมดดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ตั้งประเด็นไว้เลยสักนิด ได้แต่พร่ำพรรณนาหมกมุ่นอยู่กับการเป็นของยืมเพื่อน แล้วก็พาออกทะเล ไปลงมติสรุปประเด็นโดยไม่ได้ตั้งประเด็นอย่างที่พึงต้องกระทำ
จากที่ได้อธิบายมา สรุปว่า แท้จริงแล้วนาฬิกาที่ยืมมาเป็นสิ่งที่ต้องแสดงในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่แสดง ย่อมเป็นการไม่ยื่นบัญชีฯ ที่ถูกต้อง ซึ่งย่อมต้องพิจารณาในประเด็นถัดไปว่า พลเอกประวิตรจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือไม่ ต่อประเด็นนี้ ผมเห็นว่าพลเอกประวิตรใช้นาฬิกาดังกล่าวอยู่ในความเป็นจริง ทั้งเป็นของมีมูลค่าสูงมากสะดุดตาสะดุดใจ จะไม่รู้ว่ามีสิ่งดังกล่าวเป็นทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องแสดงได้อย่างไร หากจะอ้างว่าลืม ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยโดยสำนึกแบบมาตรฐานวิญญูชนหรือคนทั่วไปที่มีเหตุมีผล แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่พบว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้จัดเรียงประเด็นตามลำดับดังที่กล่าวมาทั้งหมดแต่อย่างใดเลย ซึ่งทำให้หลักกฎหมายที่เป็นประเด็นต้องชี้มูล ถูกละเลยไป"
ในตอนท้ายของบทความดังกล่าวย้ำไว้ว่า ปัญหาใหญ่ทั้ง 3 สะท้อนศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะชื่อว่า “องค์กรอิสระ” เพราะทำให้เห็นว่า 1.ไม่มีศักยภาพในการตั้งประเด็นชี้มูลให้ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การไต่สวนข้อเท็จจริงและปรับบทกฎหมายที่ถูกต้องกับเรื่องที่ต้องชี้มูลด้วย จึงทำให้ยากที่จะฝากความหวังในการทำหน้าที่ และทำให้ประชาชนอาจไม่เชื่อว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจะสำเร็จผลได้อย่างถูกต้องเป็นธรรมได้ภายใต้การทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้ 2.ไม่มีแม้กระทั่งความรู้พื้นฐานทางกฎหมายในเรื่องที่ตนพยายามแสดงให้ปรากฏ เป็นเรื่องที่น่าอดสูในภูมิความรู้ที่มี 3.ไม่มีความสามารถที่จะอยู่ในประเด็นที่เป็นหัวใจของเรื่อง แต่กล่าวนอกเรื่องนอกราว ทั้งที่การจับประเด็นเป็นเรื่องพื้นฐานที่คนทำงานเกี่ยวกับกฎหมายต้องมีโดยปฏิเสธไม่ได้ การไร้ศักยภาพซึ่งสะท้อนให้เห็นจากมติ ป.ป.ช.ครั้งนี้ ทำให้รู้สึกเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเสียดายภาษีอากรจากประชาชนทั้งหลายที่ต้องเสียไปเป็นเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทน เสียดายที่ประเทศเรามีรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ป.ป.ช. ที่ถูกร่างอย่างเข้มข้นและโฆษณาสาธยายในคุณสมบัติเสียเหลือเกิน แต่ก็มาตกม้าตายที่คนใช้กฎหมายที่มีอำนาจกฎหมายอยู่ในมือ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |