ใกล้สิ้นปี 2561 การมองไปปีใหม่มีคำพยากรณ์กันหลายด้าน
ข่าวดีมีน้อย ข่าวร้ายดูเหมือนจะได้รับการกล่าวขวัญมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อเกือบทุกวงการกำลังถูก “ป่วน” ด้วยนวัตกรรมที่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนอย่างรุนแรงในหลายๆ ด้าน
วันก่อนผมอ่านเจอข่าวที่มีนักเศรษฐศาสตร์ทำนายว่า ในปีใหม่นี้จะมีการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมประมาณ 10 แห่ง
เป็นข่าวร้ายที่ไม่เคยมาถี่และแรงขนาดนี้
เหตุเพราะ technological disruption หรือ “ความป่วนอันเกิดจากเทคโนโลยี” นั้นไม่ปรานีใคร ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่มีการต่อรองแม้จะมีผู้บาดเจ็บล้มตายมากขึ้นทุกทีก็ตาม
ข่าวชิ้นนี้อ้างว่า คุณอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ในปี 2562 จะมีธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตต่ำมาก มีความเสี่ยงสูง และจะมีการเลิกจ้างพนักงานเพิ่มเติมจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ได้แก่
1.ธุรกิจอุตสาหกรรมทีวี ทีวีดิจิทัล เคเบิลทีวี สื่อสิ่งพิมพ์และสำนักพิมพ์ต่างๆ
2.ธุรกิจผลิตและจำหน่าย หรือการให้เช่า CD DVD
3.ธุรกิจอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง และปาล์มน้ำมัน
4.สถานศึกษาเอกชน
5.ธุรกิจร้านค้าแบบดั้งเดิม
6.ธุรกิจให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน และธุรกิจร้านอินเทอร์เน็ต
7.ธุรกิจหัตถกรรม และเฟอร์นิเจอร์ไม้
8.อุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องหนัง
9.เครือข่ายสาขาสถาบันการเงิน
10.เครือข่ายห้างสรรพสินค้า
อาจารย์อนุสรณ์ชี้ว่า ขณะนี้กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ เพิ่มอัตราชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ใช้แรงงาน ช่วยบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจของผู้ถูกเลิกจ้างได้ระดับหนึ่ง ขณะที่กรณีย้ายสถานประกอบการไปที่อื่น หากลูกจ้างไม่ประสงค์ย้ายตามไป ก็สามารถบอกเลิกสัญญาจ้างและได้สิทธิชดเชยตามอัตราใหม่ เช่น ลูกจ้างทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชย 400 วัน
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์อ้างคำพูดของคุณอนุสรณ์ กล่าวถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทยว่า แม้แนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาสแรกปีหน้าจะปรับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลจากการปรับเพิ่มค่าโดยสารสาธารณะ ราคาพลังงาน และกิจกรรมการเลือกตั้ง แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้มีแรงกดดันหรือปัญหาทางด้านเสถียรภาพ จึงยังคงยืนยันความเห็นว่าเร็วเกินไปที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ส่วนกรณีหนี้เฉลี่ยครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จากการสำรวจของหอการค้าไทย โดยมูลค่าหนี้อยู่ที่ 3.16 แสนบาทต่อครัวเรือนนั้น จะมีความอ่อนไหวในเรื่องความสามารถในการผ่อนชำระมากยิ่งขึ้นจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น หากดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น การก่อหนี้เพื่อซื้อสินทรัพยถาวร (บ้าน รถยนต์) จะชะลอตัวลง การลงทุนเพื่อประกอบกิจการก็อาจชะลอตัวลงด้วยจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น
คุณอนุสรณ์บอกว่า "ยอดหนี้ครัวเรือนโดยรวมอยู่ที่มากกว่า 12 ล้านล้านบาท อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินในอนาคตได้ การทำให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น เพื่อลดการก่อหนี้เพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จะเป็นการแก้ปัญหาความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้มีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินนโยบายเข้มงวดทางการเงิน"
สำหรับประชาชนในระดับฐานรากนั้น ผู้ใช้แรงงานควรได้รับการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเติม นอกจากนี้ควรมีมาตรการพยุงราคาสินค้าเกษตรเพิ่มเติม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนี้เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต และป้องกันปัญหาฟองสบู่ น่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่เร็วเกินไป และอาจซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ แม้นหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะลดลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 77% จากระดับ 80% เมื่อ 3-4 ปีก่อนก็ตาม
หากมีคนใน 10 อุตสาหกรรมตกงานเพิ่มขึ้นในปีใหม่นี้จริงคงจะเป็นประเด็นร้อนของรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งหลังกุมภาพันธ์ปีใหม่นี้ เพราะประชาชนจะถูกกดดันมากขึ้น และประกอบกับความรู้สึกได้ถึง “ความเหลื่อมล้ำ” ระหว่างคนรวยกับคนทำงานมีสูงขึ้นตลอดเวลา ปัญหาความเปราะบางของสังคมจะเกิดขึ้นได้
ปัญหาใหญ่คือ เรารู้ว่าอุตสาหกรรมอะไรกำลังถูกกระชากโดยนวัตกรรม แต่เราไม่รู้ว่าจะมีอุตสาหกรรมอะไรมาทดแทนเพื่อเป็นกันชนรองรับคนที่จะตกงานจากโครงสร้างธุรกิจเดิมๆ
วิกฤติเศรษฐกิจยังร้ายแรงน้อยกว่าวิกฤติศรัทธาต่อความเป็นผู้นำของนักการเมือง!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |