นำร่องจุฬาฯใช้แก้วไบโอคัพ ลดขยะพลาสติกยกระดับคุณภาพชีวิต (อีโคโฟกัส)
วันนี้...ผู้บริโภคทั่วโลกต่างตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากหลายปัจจัยที่เป็นสิ่งบ่งชี้ที่เป็นสาเหตุสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาขยะที่กำลังล้นโลก และการผลิตที่ตอบสนองเพื่อการบริโภคให้เพียงพอ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรทั่วโลก และมีแนวโน้มสูงขึ้นในแต่ละปี นำมาซึ่งความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการดำรงชีวิต
ทำให้หลายองค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เริ่มปฏิบัติการที่เข้มข้นในมิติการทำงานที่จะนำมาสู่กระบวนการรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติด้วยความยั่งยืนด้วยรูปแบบต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมโครงการ จุฬาฯ ซีโร่-เวสต์(Chula Zero Waste) ของไทยเป็นอีกหนึ่งโครงการต้นแบบที่ดีของสังคมไทยในการสร้างการตระหนักรู้ และส่งเสริมการคัดแยกบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อสร้างจิตสำนึกตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดปริมาณการเกิดขยะที่จะเกิดขึ้นภายในสถานศึกษาและรอบรั้วมหาวิทยาลัย ในรูปแบบการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร สอดคล้องกับนโยบายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย
นำร่องจุฬาฯ ลดขยะพลาสติก
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผ่านโครงการ จุฬาฯ ซีโร่-เวสต์ (Chula Zero Waste) ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการลดปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทย และเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่บริษัทให้ความสำคัญและตระหนักในการดำเนินธุรกิจ โดยยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จากการพัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ โดยนำพืช เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอพีบีเอส (BioPBS) ใช้ทดแทนพลาสติกทั่วไปในบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
การใช้ไบโอพีบีเอส (BioPBS) มาเคลือบกระดาษและผลิตเป็นแก้ว จะทำให้แก้วกระดาษทั้งใบสามารถย่อยสลายได้ทุกส่วน และยังคงคุณสมบัติการใช้งานกับเครื่องดื่ม ร้อนหรือเย็นได้ตามปกติ และมีแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติกหูหิ้ว ฝาแก้ว เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทำให้เกิดปัญหาปริมาณขยะในปัจจุบัน และมีผลต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นทาง GC พร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ เพื่อการใช้งานของผู้บริโภคได้อย่างมีคุณค่าและเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี
ทั้งนี้ ได้เริ่มใช้แก้วซีโร่-เวสต์ คัพ (Zero-Waste Cup) ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายได้ 100% มาใช้ในโรงอาหารจุฬาฯ โดยใน 2561 ตั้งเป้าจะนำมาใช้ในโรงอาหารทั้งหมด 17 แห่ง และเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สามารถดำเนินการได้ประสบความสำเร็จแล้ว ในโรงอาหาร 11 แห่ง ส่วนที่เหลือเป็นการบริหารจัดการของหน่วยงานอื่นๆ ที่อาจต้องใช้เวลาในการดำเนินการ โดยศึกษาจากจุฬาฯ เป็นต้นแบบเพื่อให้หน่วยงานอื่นๆ เห็นไปในทิศทางเดียวกัน
"นอกเหนือจากความสำเร็จในการตื่นตัวของกลุ่มนิสิต บุคลากรและประชาชนทั่วไปที่หันมาให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีแล้ว ยังเกิดกระบวนถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่หน่วยงานอื่นๆ ที่พร้อมจะมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในแนวทางการเดินหน้าโครงการดังกล่าว"
ใช้แก้วไบโอคัพแล้วมากกว่า 95%
นายปราโมช รังสรรค์วิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สัดส่วนของการใช้แก้วไบโอคัพไปในโรงอาหารในปัจจุบัน เกิดขึ้นแล้วมากกว่า 95% หลังจากเริ่มดำเนินการโครงการในเดือนสิงหาคม โดยจัดเก็บจากสถิติการจำหน่ายแก้ว และจากถังคัดแยกขยะ นับได้ว่า โครงการนี้นิสิตเป็นกลไกสำคัญในการเป็นผู้ริเริ่มและขยายโครงการเพื่อลดการใช้
ผลจากการดำเนินการใช้แก้วไบโอคัพตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561-ตุลาคม 2561 มียอดใช้แก้วไบโอคัพทั้งสิ้น 7 แสนใบ หรือเฉลี่ยประมาณ 1.5-1.8 แสนใบต่อเดือน ทำให้แก้วไบโอคัพสามารถทดแทนแก้วพลาสติกให้ลดลงไปได้ถึง 5.7 ตัน ส่วนที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ถึง 100% เนื่องจากจุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยเปิดให้บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาติดต่อ ทำให้มีการนำภาชนะพลาสติกจากภายนอกเข้ามาทิ้งในมหาวิทยาลัย จึงเป็นเรื่องที่นอกเหนือจากควบคุม
การบริหารจัดการที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน ต้องผ่านกลไกที่ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ ส่วนที่ 1 ใช้กลไกหลักทางด้านเศรษฐศาสตร์ คือการนำเรื่องของมิติทางราคามาจับ เพื่อให้คนที่ใช้แก้วพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ได้ตระหนักว่าการใช้แก้วพลาสติกส่งผลต่อขยะ ถ้าจะใช้ต้องช่วยจ่ายเงินในการบริหารจัดการ ส่วนที่ 2 เป็นเรื่องของเทคโนโลยี ถ้าไม่ใช้แก้วพลาสติกครั้งเดียวทิ้ง จะมีทางเลือกอะไรให้กับผู้บริโภคบ้าง ไม่ว่าจะเป็นแก้วกระดาษ ไบโอคัพ หรือว่าซีโร่-เวสต์ คัพ (Zero-Waste Cup) ที่ในจุฬาฯ ใช้ ส่วนที่ 3 คือใช้แก้วเสร็จแล้วไม่สามารถทิ้งได้เฉยๆ ต้องมีกระบวนการจัดการที่ครบวงจร โดยการนำมาคัดแยกขยะ การย่อยขยะเป็นชิ้นเล็กๆ และการนำไปทำลายโดยวิธีการหมักกับเศษวัสดุอื่นๆ เพื่อนำไปเป็นสารปรับปรุงดิน
“การบริหารจัดการเรื่องขยะพลาสติกในมหาวิทยาลัย จะต้องมีการนำระบบบริหารจัดการอย่างครบวงจร เพราะการนำแก้วไบโอคัพไปใช้เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ และที่สำคัญต้องมีการนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมของแต่ละสถาบันด้วย ซึ่งในจุฬาฯ เองก็ใช้มาตรการบริหารจัดการ ทั้งการออกประกาศทางมหาวิทยาลัย ขบวนการบริหารขยะ และการรณรงค์ให้รู้จักเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความร่วมรับผิดชอบต่อสังคมอย่างจริงจัง”
นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังสามารถต่อยอดในการนำวัสดุที่ใช้แล้วไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ของการตื่นตัว ทั้งภาคจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาที่ร่วมมือกันผลักดันให้เกิดแผนปฏิบัติการที่เป็นประโยชน์กับสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |