"การเริ่มต้นที่ดี คือส่วนหนึ่งของความสำเร็จ" จากคติดังกล่าวทำให้ช่วงวันปีใหม่หลายๆ คนมักเดินทางไปสักการะสถานที่อันเป็นมงคล เพื่อไหว้พระขอพรรับปีใหม่ และที่ยึดถือปฏิบัติกันมานานก็คือ การไหว้พระ 9 วัด ซึ่งเป็นคติเดิมแบบไทยๆ อีกทั้งคำว่า "เก้า "ไปพ้องกับคำว่า ก้าว หมายถึงก้าวหน้า ดังนั้น การไหว้พระเก้าวัด ก็คือมงคลชีวิตจะได้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า
ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งมีวัดจำนวนมาก แต่มี 9 วัดที่เป็นวัดสำคัญและชื่อก็เป็นมงคล เหมาะกับการเสริมสิริมงคลกับผู้เดินทางไปกราบไหว้สักการะและทำบุญอย่างยิ่ง มีวัดอะไรบ้าง มาดูกัน
1.วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว เป็นส่วนหนึ่งของพระบรมมหาราชวัง วัดสำคัญคู่บ้านคู่เมือง สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ตั้งอยู่บริเวณสนามหลวง ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร เป็นพระอารามที่อยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ.2326 เพื่อความสะดวกเวลาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลตามราชประเพณี และเพื่อเป็นที่บรรจุพระอัฐิอายุของพระเจ้าแผ่นดิน เจ้านายในราชสกุล ภายในวัดพระแก้วมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิ พระอุโบสถอันเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร" (พระแก้วมรกต) ที่พระระเบียงมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ที่วิจิตรสวยงามและยาวที่สุดในโลก มีปราสาทพระเทพบิดร ซึ่งเป็นปราสาทยอดปรางค์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 1-8
ภายในมีพระศรีรัตนเจดีย์ประดับกระเบื้องสีทองทั้งองค์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ มีหอพระราชพงศานุสรณ์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีหอระฆังซึ่งตีเสียงดังกังวานดี มีพระบรมราชานุสาวรีย์ประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ และยังมีรูปยักษ์ 6 คู่ เป็นรูปยักษ์ตัวสำคัญจากเรื่องรามเกียรติ์ เป็นปูนปั้นทาสี ประดับกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ สูงประมาณ 6 เมตร ตั้งประจำที่ช่องประตูพระระเบียง
ที่สำคัญภายในประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง อีกทั้งสถาปัตยกรรมของวัดมีความวิจิตรงดงามตระการตา ความเชื่อถ้าได้มาวัดพระแก้วจะทำให้จิตใจสะอาดดุจรัตนตรัย
2.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
ถัดจากวัดพระแก้วไม่ไกลนัก คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือที่รู้จักกันในนาม "วัดโพธิ์" ตั้งอยู่ด้านหลังพระบรมมหาราชวัง ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เดิมชื่อ "วัดโพธาราม" รัชกาลที่ 1 ทรงบูรณะและโปรดเกล้าฯ ให้สร้างประเจดีย์เพื่อบรรจุพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งอัญเชิญมาจากกรุงศรีอยุธยา ต่อมาใน พ.ศ.2377 รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระเจดีย์ แล้วพระราชทานนามว่า "พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ" และทรงสร้าง "พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิธาน" เพื่ออุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 และมีพระราชประสงค์ให้วัดโพธิ์เป็น "มหาวิทยาลัยสำหรับประชาชน" จึงโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมสรรพวิชาความรู้มาจารึกบนแผ่นศิลาติดไว้บริเวณพระอุโบสถ เพื่อให้ประชาชนมาศึกษาหาความรู้
ภายในวัดโพธิ์มี "พระพุทธเทวปฏิมากร" ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ ใต้ฐานชุกชี บรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 1 มีพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ที่สวยงามที่สุด และองค์ใหญ่เป็นอันดับ 4 ในประเทศไทย เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน พื้นพระบาทประดับมุก เป็นภาพมงคล 108 ประการ นอกจากนั้น วัดโพธิ์ยังมีเจดีย์ทั้งสิ้น 99 องค์ ถือว่าเป็นวัดที่มีเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย และมีพระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล คือ รัชกาลที่ 1-4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
วัดแห่งนี้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 อีกเช่นกัน ทั้งยังเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย องค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากเป็นศูนย์รวมสรรพวิชาหลากหลายแขนง ทั้งการนวดแผนไทย นวดเพื่อบำบัดอาการเจ็บป่วยต่างๆ เชื่อกันว่ามาสักการะวัดโพธิ์จะทำให้ร่มเย็นเป็นสุข
3.วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ตั้งอยู่แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศที่ดิน ซึ่งบริเวณดังกล่าวเดิมเรียกว่า "หมู่บ้านกุฎีจีน" วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2368 ในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้ถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามว่า "วัดกัลยาณมิตร" พร้อมกับทรงสร้างพระวิหารหลวงเพื่อเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธไตรรัตนนายก" (หลวงพ่อโต) ซึ่งเป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 4 หรือเรียกตามแบบจีนว่า ชำปอฮุดกง หรือชำปอกง
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีองค์พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ซึ่งจำลองมาจากวัดพนัญเชิง จังหวัดอยุธยา โดยประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ นอกจากนี้ยังมีหอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกและพระคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2408
รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อวัด คำว่า “กัลยาณมิตร” มาจากความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ที่ทรงมีต่อเจ้าพระยานิกรบดินทร (โต) ผู้ซึ่งบริจาคที่ดินบ้านของท่านก่อสร้างพระอารามวัดแห่งนี้ การได้มากราบไหว้สักการะที่วัดนี้ เชื่อว่าจะทำให้เกิดมิตรมากกว่าศัตรู เดินทางไปไหนก็ปลอดภัย เจอมิตรที่ดี
4.วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
ไม่ไกลจากวัดกัลยาณมิตร ก็คือ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดที่มีเอกลักษณ์คือพระปรางค์ ตั้งอยู่ข้างกองทัพเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ "วัดมะกอก" เมื่อ พ.ศ.2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พระเจ้ากรุงธนบุรี) เสด็จทางชลมารคจากกรุงศรีอยุธยามารุ่งเช้าที่หน้าวัดมะกอก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "วัดแจ้ง" ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ทรงปฏิสังขรณ์และพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดอรุณราชวรารามฯ"
ในสมัยกรุงธนบุรี วัดอรุณราชวรารามฯเคยเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต ก่อนที่จะอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระแก้ว นอกจากนั้นยังมียักษ์ปูนปั้นขนาดใหญ่ 2 ตน ตั้งอยู่หน้าประตูซุ้มยอดพระมงกุฎ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม "ยักษ์วัดแจ้ง"
ส่วนองค์พระปรางค์ที่เป็นเอกลักษณ์ของวัด เพราะมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกสูง 33 วาเศษ ประดับด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ ยอดพระปรางค์เป็นนภศูล ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีปรางค์ทิศทั้ง 4 ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ เทศน์พระธัมมจักร ตรัสรู้ นิพพาน การเดินเวียนทักษิณาวัดรอบพระปรางค์ 3 รอบ โดยเดินเวียนขวา (ตามเข็มนาฬิกา) เพื่อความเป็นสิริมงคล มีพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" ซึ่งรัชกาลที่ 2 ทรงปั้นหุ่นและพระพักตร์ด้วยฝีพระหัตถ์พระองค์เอง และยังมีพระวิหารที่มีพระบรมสารีริกธาติที่เกศพระพุทธชมภูนุชฯ มีพระอรุณหรือพระแจ้ง ที่รัชกาลที่ 4 ทรงอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ การได้มาสักการะกราบไหว้พระและพระปรางค์วัดอรุณฯ จะทำให้ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกวันคืน
5.วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
อีกวัดดังของฝั่งธนฯ ที่หลายคนไม่ควรพลาด คือวัดระฆังโฆสิตารามฯ หรือที่รู้จักกันในนาม "วัดระฆัง" ตั้งอยู่บนถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เดิมชื่อว่า "วัดบางว้าใหญ่" เป็นวัดโบราณมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 ได้มีการขุดพบระฆังโบราณในเขตวัด ทำให้ประชาชนพากันเรียกว่า วัดระฆัง สำหรับตัวระฆังที่ขุดพบนั้น รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระแก้ว และทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างชดเชยให้วัดระฆังใหม่ 5 ลูก และพระราชทานชื่อให้กับวัดใหม่ว่า “วัดระฆังโฆสิตารามฯ”
ภายในพระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 มีลายหน้าบันเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถนี้เป็นที่ประดิษฐานของพระประธานซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงเรียกว่า "พระประธานยิ้มรับฟ้า" นอกจากนี้ยังมีหอไตรเป็นรูปเรือนสามหลังแฝด ภายในมีภาพจิตรกรรมที่สำคัญหลายแห่ง ทั้งบานประตูและฝาผนัง รวมทั้งตู้พระไตรปิฎกสมัยกรุงศรีอยุธยา
วัดระฆังฯ เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สมเด็จพระราชาคณะในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระเถระผู้ทรงเกียรติคุณ วิทยาคุณโด่งดังมากแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน การไปสักการะสมเด็จพุฒาจารย์ เพื่อขอพรโดยการสวดคาถาชินบัญชรเมื่อสวดจบแล้ว ปักธูปที่กระถางและปิดทองที่รูปปั้น แล้วอย่าลืมพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนั้นยังมีความเชื่อว่าเมื่อได้มาสักการะจะเป็นมงคล มีชื่อเสียงโด่งดังเหมือนระฆังที่ตี
6.วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร
วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร อยู่ทางฝั่งพระนคร หรือย่านบางลำพู ถนนข้าวสารเรานี่เอง ตั้งอยู่บนถนนจักรพงษ์ แขวงบางลำพู เขตพระนคร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท สร้างสมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสถาปนาวัดขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงมีชัยชนะต่อพม่าในการรบทั้ง 3 ครั้ง เนื่องจากช่วงนั้นไทยยังทำสงครามกับพม่า และรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายราชสามัญ และทรงพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดชนะสงครามฯ"
วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร มีพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย เป็นพระประธาน มีพระนามว่า "พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ มเหทธิศักดิ์ปูชนียะชยันตะโคดมบรมศาสดา อนาวรญาณ" ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ การได้มาสักการะวัดแห่งนี้มีความเชื่อกันว่าถ้าเราต้องการชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง และเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้สามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตได้
7.วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร
เป็นวัดสำคัญของทริปไหว้พระ 9 วัดที่ขาดไม่ได้ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร หรือวัดบวรนิเวศวิหาร แต่คนทั่วไปมักเรียกย่อๆ ว่า "วัดบวรฯ" ตั้งอยู่ริมถนนบวรนิเวศและถนนพระสุเมรุ แขวงนิเวศ เขตพระนคร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้นใหม่ระหว่าง พ.ศ.2367-2375 เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดใหม่ ได้รับพระราชทานชื่อใหม่ เมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงอาราธนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎ เสด็จมาประทับเมื่อปี พ.ศ.2375
วัดบวรฯ ที่เป็นวัดสำคัญ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเคยผนวชและประทับที่วัดนี้ เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงเคยผนวชและประทับที่วัดบวรฯ รวมถึงยังเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์ และยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมกุฏราชวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นวัดที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารของในหลวงรัชกาลที่ 9 ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธชินสีห์ ประดิษฐานเป็นพระประธาน ควรค่าแก่การสักการบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล
8.วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดเก่าแก่ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ.2350 เสร็จสมบูรณ์ใน พ.ศ.2390 ซึ่งใช้ชื่อเดิมว่า วัดสุทธาวาส ต่อมารัชกาลที่ 3 พระราชทานชื่อใหม่ว่า วัดสุทัศนเทพวราราม ตั้งอยู่บริเวณเสาชิงช้า ตรงข้ามศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ใกล้กับเสาชิงช้า เขตพระนคร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8
ภายในพระวิหารมี "พระศรีศากยมุนี" เป็นพระประธานซึ่งอัญเชิญมาจากสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยสำริด ถอดแบบมาจากพระวิหารพระมงคลบพิตร กรุงศรีอยุธยา บานประตูใหญ่ของพระวิหารสลักไม้สวยงามรอบพระวิหารมีถะ หรือเจดีย์ศิลาแบบจีน ตั้งอยู่บนฐานทักษิณ เป็นถะ 6 ชั้น จำนวน 28 องค์ มีพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธตรีโลกเชฏฐ์ เป็นพระประธานปางมารวิชัย ใหญ่กว่าพระที่หล่อในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์องค์อื่นๆ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเป็นฝีมือช่างชั้นครูในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่งดงามมาก พระอุโบสถนี้นับว่ายาวที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีศาลาการเปรียญที่มีพระพุทธเสรฏฐมุนี เป็นพระประธานที่หล่อด้วยกลักฝิ่นเมื่อ พ.ศ.2382 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่นกัน การมากราบไหว้ขอพรที่คนไทยยึดถือกันก็คือ เพื่อการมีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีเสน่ห์แก่คนทั่วไป
9.วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หรือภูเขาทอง สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่บริเวณปากคลองมหานาค แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เป็นวัดสำคัญคู่มากับการสร้ากรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก รัชกาลที่ 1 ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ โปรดฯ ให้ขุดคลองรอบพระอารามและพระราชทานนามว่า วัดสระเกศฯ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอารามและสร้างสิ่งต่างๆ เพิ่มเติม เช่น พระบรมบรรพต หรือภูเขาทอง
สิ่งสำคัญภายในวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ได้แก่ พระบรมบรรพต หรือภูเขาทอง ซึ่งสร้างเป็นพระปรางค์ในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่เกิดทรุดพังลง รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้ซ่อมแซม โดยแปลงเป็นภูเขาและก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากนี้ ภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนจิตรกรรมฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3 และหอไตร ศิลปะสมัยอยุธยา บานหน้าต่างเป็นลายรดน้ำ เชื่อกันว่าการได้มาไหว้พระที่วัดสระเกศฯ จะเป็นการเสริมสร้างความคิดอันเป็นสิริมงคล.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |