'มังกร สามเสน' ผู้เสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจก่อน'ปรีดี'


เพิ่มเพื่อน    

  

“โครงการเศรษฐกิจ” “แผนเศรษฐกิจ” หรือ “นโยบายเศรษฐกิจ” สุดแท้แต่ผู้คนจะนิยมใช้คำใด แต่จุดมุ่งหมายก็เป็นไปเพื่อสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับคนในประเทศโดยรวมทั้งสิ้น แม้ว่าแนวทางที่จะนำไปสู่ความกินดีอยู่ดีนั้น จะแตกต่างกันตามสำนักเศรษฐศาสตร์ที่สมาทาน 

ซึ่งนับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎร ถือเป็นการ “ปฏิวัติ” เปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมไปในแทบทุกด้าน และด้านหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไป นั่นคือ “เศรษฐกิจ” ซึ่งถือเป็น 1 ในหลัก 6 ประการ ของคณะราษฎร 

แต่กระนั้น ผู้คนทั้งหลายมักเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ “ปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475” นั้น มาจากเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูญธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ซึ่งถือเป็นความเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง 

เนื่องจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกนั้น ถูกเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 โดย “นายมังกร สามเสน” คหบดีที่มีธุรกิจหลากหลาย อาทิเช่น ค้าข้าว ค้าไม้ ทำโรงสี และอุตสาหกรรมต่างๆ 

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรก ถือเป็นนักการเมืองคนสำคัญที่โลดแล่นอยู่บนเวทีการเมืองในช่วงแรก หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นานนัก

ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว

 นายมังกร สามเสน เกิดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2431 ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 8 ปีกุน ณ บ้านปากคลองสามเสน อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร เป็นบุตรชายคนแรกของนายเก็งซัน สามเสน และนางปอ สามเสน

เข้ารับการศึกษาภาษาไทยเบื้องต้นในโรงเรียนวัดเบญจมบพิตร จนสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการ ต่อมาได้ศึกษาภาษาอังกฤษเบื้องต้นที่โรงเรียนวัดชนะสงคราม นอกจากนี้ นายมังกร สามเสน ยังได้ศึกษาภาษาจีน โดยจ้างครูชาวจีนมาสอนที่บ้านเป็นการพิเศษ จากนั้นได้เข้าศึกษาในโรงเรียนกฎหมาย เพื่อศึกษาวิชากฎหมาย และสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2451 ขณะที่มีอายุได้ 20 ปี [3]

นายมังกร ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่  6 มกราคม พ.ศ. 2490 สิริรวมอายุได้ 59 ปี มีการตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม และมีการฌาปนกิจในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2490

หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว นายมังกร สามเสน ได้เริ่มต้นอาชีพด้วยการรับราชการเป็นพนักงานอัยการ จังหวัดนครปฐม ในปี พ.ศ. 2451 ต่อมาได้ย้ายไปเป็นพนักงานแพ่ง จังหวัดพิจิตร ในปี พ.ศ. 2453 และย้ายไปดำรงตำแหน่งยกกระบัตร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งยกกระบัตร จังหวัดกาญจนบุรี และเพชรบุรี ตามลำดับ ก่อนจะลาออกจากราชการ เพื่อประกอบอาชีพส่วนตัว โดยตำแหน่งทางราชการสุดท้ายคือ “ยกกระบัตร จังหวัดเพชรบุรี”

เมื่อลาออกจากราชการแล้ว นายมังกรได้เริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัวด้วยการเป็นทนายความ ในครั้งแรกนั้น นายมังกรร่วมกับมิสเตอร์ปรุ๊ก ทนายความชาวต่างประเทศ เปิดสำนักงานอยู่ด้วยกัน ต่อมาภายหลัง นายมังกร สามเสน ได้แยกตัวออกมาตั้งสำนักงานทนายความเป็นของตัวเอง โดยตั้งสำนักอยู่บริเวณบ้านปากคลองสามเสน และดำเนินกิจการเรื่อยมา จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2486 จึงได้ล้มเลิกกิจการไป

นายมังกรยังมีกิจการอื่นๆ อีกมาก ทำให้ชื่อของนายมังกรเป็นที่รู้จักในฐานะนักธุรกิจคนสำคัญแห่งยุคสมัย ซึ่งนายมังกรได้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมหลายชนิด ประกอบด้วย กิจการค้าไม้และทำป่าไม้ ที่อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร กิจการโรงงานอัดน้ำมันมะพร้าว ที่ปากคลองสามเสน ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2462

สำหรับตำแหน่งทางการเมืองนั้น นายมังกรเริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองด้วยการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการแต่งตั้งขึ้นภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 

โดยนายมังกร ถือเป็น 1 ใน 3 คน จาก “กลุ่มพ่อค้าไทย” ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิกทั้ง 3 คน ที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มพ่อค้าไทย” 

ประกอบด้วย นายมังกร สามเสน นายมานิต วสุวัต และนายซุ่นใช้ คูตระกูล

และเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 นายมังกรก็ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 เรื่อยมา จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2482 ก็มีเหตุให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ 

ตลอดระยะเวลาร่วม 7 ปี ที่นายมังกรดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ได้สร้างสีสันให้กับสภาผู้แทนราษฎรอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นผู้ที่มีแนวคิดใหม่ๆ อยู่เสมอ และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงคนเดียว (จากจำนวน 3 คน) ที่เหลืออยู่ของ “กลุ่มพ่อค้าไทย”

ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง

เนื่องจากนายมังกรเป็นพ่อค้าที่อยู่ในระดับกลาง ผลงานที่สำคัญทางการเมืองของท่าน จึงมักจะมีความเกี่ยวเนื่องกับประเด็นทางเศรษฐกิจ ซึ่งนายมังกรมีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลมาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 

ซึ่งในสมัยนั้น รัฐบาลมีลักษณะเป็นรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจได้รวมศูนย์อยู่ที่พระมหากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ และขุนนางผู้ใหญ่ ขณะที่นายมังกรเองก็เป็นพ่อค้าระดับรองๆ ลงมา ไม่ใช่พ่อค้าใหญ่ในประเทศแต่ประการใด โดยในปี พ.ศ. 2471 นายมังกร  ได้ทำหนังสือรายงานเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์ถึงปัญหาการแข่งขันระหว่างพ่อค้าข้าวชาวจีนกับพ่อค้าข้าวชาวตะวันตก ส่งผลให้ราคาข้าวของสยามถูกตัดราคาลง

 แต่กระนั้น ข้อเสนอของนายมังกรไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2473 นายมังกรได้เสนอให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงระบบตลาดการรับซื้อข้าว แต่ก็ไม่ได้รับการสนองอีกเช่นเคย โดยในที่ประชุมคณะอภิรัฐมนตรีได้มีความเห็นว่า 

“รัฐบาลที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้าของราษฎร ก็มีแต่รัฐบาลโซเวียตกับรัฐบาลญี่ปุ่น”

เมื่อเป็นดังนั้น ส่งผลให้นายมังกร สามเสน มีภาพลักษณ์ที่อยู่ในฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลโดยสิ้นเชิง

ภายหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แล้วนั้น นายมังกรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้เสนอ “โครงการเศรษฐกิจ พาณิชยการ กสิกรรม และอุตสาหกรรม” โดยมีการเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ถือเป็นโครงการเศรษฐกิจ/แผนเศรษฐกิจ แผนแรกภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 

โดยเนื้อหาที่นายมังกรนำเสนอนั้น ในส่วนแรกได้สะท้อนข้อมูลของประเทศในขณะนั้น อาทิเช่น จำนวนประชากร ลักษณะอาชีพ เป็นต้น ส่วนต่อมาได้นำเสนอปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา 

ซึ่งนายมังกรได้สรุปข้อตกต่ำทางเศรษฐกิจเอาไว้ 6 ประการ ประกอบด้วย (1) อาชีพของราษฎรถูกบีบจนหมดกำลัง (2) สยามขาดพ่อค้าที่เป็นคนไทย (3) สยามขาดโรงงานอุตสาหกรรม (4) สยามยังไม่มีธนาคารของประเทศ (5) สยามบกพร่องในความช่วยเหลืออุดหนุนตัวเอง และ (6) เงินสยามสูงมาก เป็นเหตุให้ราคาสินค้าตกต่ำ

โครงการเศรษฐกิจของนายมังกรยังเสนอแนวทางสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจของชาติเอาไว้ โดยเสนอไว้ 19 ประการ ประกอบด้วย 

(1) ตั้งธนาคารของชาติขึ้น (2) ขอให้ตั้งบริษัทรับซื้อของดิบ (3) ตั้งบริษัทกสิกรรมขึ้น (4) ตั้งบริษัทรับจ้างไถนาสูบน้ำ (5) ตั้งบริษัทคอกสัตว์ (6) ตั้งบริษัทโรงงานโรงสี (7) ตั้งบริษัทค้าไม้ (8) ตั้งบริษัททอกระสอบป่าน (9) ตั้งโรงงานทอผ้า 

(10) โรงงานทำถ้วยชาม (11) ตั้งบริษัทยาสูบ (12) ตั้งบริษัททำน้ำตาล (13) ตั้งบริษัทบดแป้งสาลี (14) สินค้าน้ำมันมะพร้าวและละหุ่ง (15) ตั้งโรงทำกระดาษ (16) ควรตั้งกองทุนอุดหนุนศิลปวิทยา (17) วางหลักสูตรการศึกษาของนักเรียนให้ช่วยเศรษฐกิจ (18) ควรออกกฎหมายช่วย และ (19) วางหลักทางราชการส่งเสริมเศรษฐกิจ 

จากข้อเสนอของนายมังกร จะเห็นได้ว่า มีข้อบางประการสอดคล้องกับข้อเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูญธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) หรือข้อเสนอบางประการได้นำไปสู่การเกิดขึ้นจริงในภายหลัง อาทิเช่น การตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย การตั้งโรงงานยาสูบ การตั้งบริษัทข้าวไทย เป็นต้น

แม้ว่าข้อเสนอของนายมังกรไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมาเมื่อมีการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูญธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) นายมังกรได้แสดงความคิดเห็นไว้ในลักษณะที่เห็นด้วยกับแนวทางของหลวงประดิษฐ์มนูญธรรม แต่ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด โดยนายมังกรต้องการให้รัฐบาลมีบทบาทในการจัดการเศรษฐกิจ แต่ไม่ต้องการให้รัฐบาลมีบทบาทแบบสหกรณ์ครบรูปตามแนวทางของหลวงประดิษฐ์มนูญธรรม 

นอกจากนี้ นายมังกรในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลต่างๆ ในสภาผู้แทนราษฎรอย่างดุเดือดอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
    
และนายมังกรยังได้เป็นกรรมาธิการคณะต่างๆ อาทิเช่น กรรมาธิการควบคุมนโยบายจำกัดแร่ กรรมาธิการควบคุมนโยบายจำกัดยาง กรรมาธิการสภาเศรษฐกิจ เป็นต้น ประเด็นดังกล่าวจึงทำให้นายมังกร สามเสน สามารถมีข้อมูลในการอภิปรายรัฐบาลได้อยู่สม่ำเสมอ

นายมังกรยังมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ “นายถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องร้องคดีพระปกเกล้าฯ” โดยยื่นคำฟ้องกับนายมังกร เหตุเกิดเมื่อนายถวัติ ฤทธิเดช ยื่นฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2476 โดยอ้างว่าพระปกเกล้าหมิ่นประมาทตน เพราะในบันทึก “พระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม” ที่มีการแจกจ่ายระหว่างเกิดวิกฤตการณ์เรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจเมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ. 2476 นั้น มีข้อความตอนหนึ่งพาดพิงถึงผู้นำกรรมกรรถรางว่า 

“การที่กรรมกรรถรางหยุดงานนั้น หาใช่เกิดการหยุดเพราะความเดือดร้อนจริงจังอันใดไม่ ที่เกิดเป็นดังนี้นั้นก็เพราะมีคนยุให้เกิดการหยุดงานขึ้น เพื่อจะได้เป็นโอกาสให้ตั้งสมาคมคนงาน และตนจะได้เป็นหัวหน้า และได้รับเงินเดือนกินสบายไปเท่านั้น”

แต่นายมังกรได้ส่งคำฟ้องกลับคืนมา โดยอ้างว่าขัดต่อมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2475 ที่ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” 
ต่อมา นายถวัติ ฤทธิเดช ได้ถอนฟ้องและทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ด้วยเหตุที่นายมังกรมีการอภิปรายในสภาฯ ที่ดุเดือด ดังนั้น เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองครั้งสำคัญ เหตุการณ์ในครั้งนี้รู้จักกันในชื่อ “กบฏพระยาทรงสุรเดช” หรือ “กบฏ 18 ศพ” โดยมีการจับกุมนายมังกรไปด้วย ส่งผลให้นายมังกรหมดบทบาททางการเมืองลงอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา.
-----------
ข้อมูล : สถาบันพระปกเกล้า 
ผู้เรียบเรียง : ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"