ได้ฤกษ์ “สนธิรัตน์” เตรียมดึง “ยา-เวชภัณฑ์-ค่าบริการ” ในโรงพยาบาลเข้าบัญชีสินค้าควบคุม ดันเข้าที่ประชุม กกร. 9 ม.ค.2562 กำหนดเพดานกำไร พ่วงเคสป่วยฉุกเฉิน 72 ชม. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคหวังกำหนดเป็นราคากลางทุกโรงพยาบาล
เมื่อวันพุธ ได้มีการประชุมร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และบริษัทประกันภัย เพื่อหาแนวทางกำกับดูแลค่ารักษาพยาบาล โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานประชุมว่า ได้ข้อสรุปที่จะนำยาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์เข้ามาอยู่ในบัญชีสินค้าและบริการควบคุม เพื่อให้สามารถใช้มาตรการทางกฎหมายในการดูแลประชาชน หลังจากก่อนหน้านี้ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับค่ายา ค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนมีราคาแพง รวมทั้งให้หารือถึงการดูแลค่ารักษาพยาบาลเจ็บป่วยฉุกเฉินที่จะต้องคิดในราคาที่เป็นธรรมด้วย
“ที่ประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้นแบบนี้ และจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ช่วงต้นเดือน ม.ค.2562 พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นมาตรการเร่งด่วนระยะสั้นที่จะเร่งดำเนินการ ส่วนระยะยาวจะหารือในแนวทางของการดูแลค่าบริการทางวิชาชีพต่อไป” นายสนธิรัตน์กล่าว
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันที่จะเสนอให้นำรายการยาและเวชภัณฑ์ และค่าบริการของโรงพยาบาล เช่น ค่าห้องพักฟื้น ค่าอาหาร ค่าเอกซเรย์ ค่าดูแลผู้ป่วย เข้ามาอยู่ในบัญชีสินค้าและบริการควบคุม โดยจะนำเสนอที่ประชุม กกร. ในวันที่ 9 ม.ค.2562 ส่วนมาตรการที่จะนำมาใช้ดูแล เช่น การให้แจ้งต้นทุน การกำหนดส่วนต่างค่ายาและเวชภัณฑ์ รวมถึงค่าบริการ เป็นต้น ซึ่งต้องหารือกันอีกครั้งภายใต้คณะอนุกรรมการที่จะเสนอให้จัดตั้งขึ้น
“เดิมทียาเป็นสินค้าควบคุมอยู่แล้ว แต่ไม่รวมเวชภัณฑ์และค่าบริการ จึงต้องเสนอให้เป็นสินค้าและบริการควบคุม เพื่อได้มีมาตรการดูแลได้ แต่คงไปสั่งคุมราคายาไม่ได้ เพราะราคายามีกลไกเฉพาะ และต้นทุนของแต่ละโรงพยาบาลแตกต่างกัน แต่สามารถกำหนดเพดานได้ว่าจะบวกเพิ่มได้กี่เท่า ส่วนค่าบริการ ก็เช่นเดียวกัน ต้องดูราคาให้เหมาะสม โดยคาดว่าหลังดึงเป็นสินค้าและบริการควบคุม และมีคณะอนุกรรมการฯ เข้ามาดูแล จะแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้จบภายใน 2-3 เดือน” นายวิชัยกล่าว
นายวิชัยยังกล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้ข้อสรุปที่จะเข้าไปดูแลค่ารักษาพยาบาลเจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่ปัจจุบันแม้ผู้ป่วยจะได้รับสิทธิพิเศษภายใน 72 ชั่วโมง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่หลังจากผ่าน 72 ชม. หรือหลังจาก 3 วันไปแล้ว โรงพยาบาลจะมีการคิดค่าบริการ จึงต้องกำหนดอัตราการคิดค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสมว่าจะดูแลอย่างไรไม่ให้เป็นภาระกับประชาชนเพิ่มขึ้น ส่วนค่าบริการทางการแพทย์ หรือที่เรียกว่าค่าหมอ ต้องไปดูว่ากฎหมายสภาวิชาชีพกำหนดไว้ว่ายังไง ถ้ามีการกำหนดระเบียบเอาไว้ ก็ให้เป็นหน้าที่ของสภาวิชาชีพที่จะเข้ามาดูแล แต่ถ้าไม่มีกำหนดไว้ ก็ต้องนำมาพิจารณาให้เหมาะสม
ส่วน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขานุการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มาตรการกำหนดราคาเพดานกำไรที่จะใช้บวกจากต้นทุนราคายาและเวชภัณฑ์ ทางมูลนิธิเห็นด้วย เพราะเป็นข้อเสนอแนะที่ได้ให้ไว้ แต่ควรขยายไปยังเวชภัณฑ์รายการอื่นๆ ด้วย เช่น ข้อเข่าเทียม สายสวนหัวใจ เป็นต้น ส่วนจะกำหนดเท่าไร อยากให้นำแนวทางของประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียที่มีการกำหนดราคายาและเวชภัณฑ์ออกมาเป็นรูปธรรมมาร่วมใช้ด้วย
“การกำกับดูแลค่ารักษาพยาบาลเจ็บป่วยฉุกเฉินหลังผ่านพ้น 72 ชั่วโมงไปแล้ว ต้องการให้โรงพยาบาลเอกชนกำหนดเป็นราคาเดียว เป็นราคากลาง ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินเคสสีเขียว สีเหลือง หรือสีแดง จนกว่าจะออกจากโรงพยาบาล ซึ่งจุดนี้โรงพยาบาลเอกชนรับทราบต้นทุนของการรักษาแบบฉุกเฉินที่มีประมาณ 1,000 รายการอยู่แล้ว และโรงพยาบาลเอกชนก็แบกรับต้นทุนได้” น.ส.สารีกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |