ญี่ปุ่นถอนตัวจากไอดับเบิลยูซี ฟื้นล่าวาฬพาณิชย์ปีหน้า


เพิ่มเพื่อน    

ญี่ปุ่นเตรียมจะกลับไปล่าวาฬเชิงพาณิชย์อีกครั้งกลางปีหน้า หลังจากประกาศจะแจ้งถอนตัวจากคณะกรรมการล่าวาฬระหว่างประเทศ ที่ญี่ปุ่นเคยอาศัยช่องโหว่ล่าวาฬเพื่อ "วิทยาศาสตร์" ฆ่าวาฬเป็นอาหารปีละหลายร้อยตัว รัฐบาลยันจะจับวาฬแค่ในน่านน้ำอาณาเขตของญี่ปุ่นเท่านั้น ออสเตรเลียระบุผิดหวังอย่างยิ่ง

แฟ้มภาพจากกลุ่มต่อต้านการล่าวาฬ ซีเชพเพิร์ด เผยให้เห็นซากวาฬมิงค์บนเรือล่าวาฬของญี่ปุ่น

    รายงานของเอเอฟพีกล่าวว่า คำประกาศของรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อวันพุธที่ 26 ธันวาคม 2561 เกิดขึ้นภายหลังญี่ปุ่นพยายามชักจูงให้คณะกรรมการล่าวาฬระหว่างประเทศ (ไอดับเบิลยูซี) ยินยอมให้ญี่ปุ่นรื้อฟื้นการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ ระหว่างการประชุมขององค์กรนี้เมื่อเดือนกันยายน แต่ล้มเหลว

    โยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น กล่าวว่า ญี่ปุ่นจะแจ้งต่อไอดับเบิลยูซีถึงการตัดสินใจถอนตัวภายในวันสิ้นปีนี้ ซึ่งจะทำให้มีผลภายในวันที่ 30 มิถุนายน

    ไอดับเบิลยูซีก่อตั้งในปี 2489 มีวัตถุประสงค์อนุรักษ์และจัดการประชากรวาฬและสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม และได้ออกกฎระงับการล่าวาฬเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 2529 การถอนตัวจากองค์กรนี้จะทำให้ญี่ปุ่นสามารถกลับมาล่าวาฬมิงค์และวาฬชนิดอื่นที่ได้รับการคุ้มครองโดยไอดับเบิลยูซี แต่ญี่ปุ่นก็จะไม่สามารถใช้ข้ออ้างการล่าวาฬเพื่อวิทยาศาสตร์ออกล่าวาฬในมหาสมุทรแอนตาร์ติกและที่อื่นๆ เหมือนที่ญี่ปุ่นเคยอาศัยช่องโหว่นี้ในอดีต

    ซูกะกล่าวว่า การล่าวาฬเพื่อการพาณิชย์ของญี่ปุ่นจะจำกัดขอบเขตภายในน่านน้ำอาณาเขตของญี่ปุ่นเท่านั้น จะไม่มีการไปล่าถึงแอนตาร์กติกหรือในซีกโลกทางใต้

    ก่อนหน้านี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเคยขู่ว่าจะถอนตัวจากไอดับเบิลยูซี ซึ่งญี่ปุ่นเป็นผู้ให้ทุนรายใหญ่ที่สุดมาแล้วหลายครั้ง ญี่ปุ่นกับไอซ์แลนด์และนอร์เวย์ยังท้าทายกฎห้ามล่าวาฬเชิงพาณิชย์อย่างเปิดเผยด้วยการอาศัยข้ออ้างการล่าวาฬเพื่อ "การค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์" ฆ่าวาฬปีละหลายร้อยตัว และไม่เคยเก็บเป็นความลับว่าเนื้อวาฬที่ล่าได้นั้นจบลงบนโต๊ะอาหาร

    เจ้าหน้าที่กล่าวกันว่า ยังไม่แจ้งชัดว่าเมื่อญี่ปุ่นรื้อฟื้นการล่าวาฬเชิงพาณิชย์แล้ว จะมีวาฬถูกจับปีละมากเท่าใด ฤดูการล่าวาฬครั้งที่แล้วญี่ปุ่นจับวาฬในแอนตาร์กติกและมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือเกือบ 600 ตัว

แฟ้มภาพ วันที่ 1 ธันวาคม 2558 เรือล่าวาฬของญี่ป่นออกจากท่าเรือชิโมโนเซกิ ในจังหวัดยามางูจิ / AFP

    ด้านรัฐบาลออสเตรเลียซึ่งคัดค้านการล่าวาฬ กล่าวว่า ออสเตรเลีย "ผิดหวังอย่างที่สุด" และขอให้ญี่ปุ่นทบทวนการตัดสินใจ มาริส เพย์น รัฐมนตรีต่างประเทศ และเมลิสซา ไพรซ์ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม กล่าวในแถลงการณ์ว่า ออสเตรเลียยังคงแน่วแน่คัดค้านการล่าวาฬทุกรูปแบบทั้งในเชิงพาณิชย์ และที่เรียกกันว่าการล่าวาฬเพื่อวิทยาศาสตร์

    วินสตัน ปีเตอร์ส รัฐมนตรีต่างประเทศของนิวซีแลนด์ ก็เรียกร้องเช่นกันให้ญี่ปุ่นเป็นสมาชิกไอดับเบิลยูซีต่อไป โดยกล่าวว่า การล่าวาฬนั้นล้าสมัยแล้ว และเป็นวิธีปฏิบัติที่ไม่จำเป็น

    ญี่ปุ่นล่าวาฬเป็นอาหารมานานหลายร้อยปี เนื้อวาฬยังเป็นแหล่งโปรตีนหลักของญี่ปุ่นในช่วงปีแรกๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามและฐานะยากจน กระนั้นช่วงหลายสิบปีมานี้ ความนิยมในการบริโภคเนื้อวาฬลดลงอย่างมาก คนญี่ปุ่นจำนวนมากกล่าวว่าพวกเขาแทบจะไม่ได้กินหรือไม่เคยกินเนื้อวาฬ

    การล่าวาฬเป็นนโยบายต่างประเทศหนึ่งในไม่กี่ประเด็นที่ทำให้ญี่ปุ่นถูกวิจารณ์ในประชาคมระหว่างประเทศ แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมในญี่ปุ่นยังคงยึดมั่นต่อประเพณีนี้ โดยอ้างว่าการล่าวาฬเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมประเพณีของประเทศ ซูกะกล่าวว่า การถอนตัวจากไอดับเบิลยูซีจะเปิดโอกาสให้ชาวประมงญี่ปุ่นสามารถส่งผ่านวัฒนธรรมการล่าวาฬสู่คนรุ่นต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"