ความเป็นเลิศอันเกิดจาก ความจำเป็นและข้อจำกัด


เพิ่มเพื่อน    

    ผมตั้งวงคุยกับคนหลายกลุ่มหลายวงการในอิสราเอลเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อถามไถ่ถึงเหตุผลที่ประเทศนี้กลายเป็นศูนย์รวมแห่งนวัตกรรม
    หลายคนบอกตรงกันว่า “เพราะเราไม่มีทางเลือก”
    ความจำเป็นเป็นมารดาแห่งนวัตกรรม
    ความขาดแคลนเป็นแรงกระตุ้นให้ต้องคิดและทำในสิ่งที่คนอื่นไม่คิดไม่ทำ
    ประชากรมีเพียง 9 ล้านคน เนื้อที่มีจำกัดจำเขี่ย รอบบ้านล้วนเป็นศัตรูที่คอยจะทำลายล้าง
    “เรามีศัตรูรอบทิศ...ยกเว้นทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่เป็นเพื่อนเรา” ศาสตราจารย์รางวัลโนเบล อาจารย์ Dan Shechtman แห่งมหาวิทยาลัย Technion อันโด่งดังของอิสราเอลที่ตั้งอยู่เมืองไฮฟาทางเหนือสุดของประเทศบอกผม
    วันนี้ อิสราเอลมี startups ไม่น้อยกว่า 5,000 แห่ง และหากจะนับต่อตารางเมตรแล้วประเทศนี้มีธุรกิจสตาร์ทอัพมากที่สุดในโลก
    และหากคิดตามรายได้ต่อหัว อิสราเอลมีผู้ได้รางวัลโนเบลมากที่สุดในโลก เพราะมีประชากรแค่ 9 ล้านคน แต่มีเจ้าของรางวัลระดับโลกถึง 12 คน
    วัฒนธรรมนวัตกรรมไม่ได้เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ มันเกิดจากความจำเป็นและข้อจำกัด
    หนุ่มยิวคนหนึ่งบอกผมเชิงตลกว่า
    “เราต้องขอบคุณศัตรูทั้งหลายของเรา เพราะพวกเขาทำให้เราต้องหาทางอยู่รอด เราต้องคิดผลิตรถใช้ไฟฟ้าเป็นประเทศแรก เพราะเราไม่ต้องการพึ่งพาน้ำของประเทศอาหรับที่คอยจะทำลายเรา...”
    ศัพท์แสงคำหนึ่งที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของอิสราเอล คือ chutzpah เป็นคำฮิบรูซึ่งไม่มีคำแปลตรงตัวในภาษาไทย แต่มีความหมายในทำนองว่า “กล้าแบบทะลึ่งตึงตัง”
    พอคำนี้เอาไปเคียงคู่กับคำ entrepreneurship หรือ “ความเป็นผู้ประกอบการ” ที่พร้อมจะเสี่ยง, ไม่กลัวความล้มเหลว, และกล้าตั้งคำถามแม้กับคนที่อาวุโสกว่าหรือผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่า ก็กลายเป็น “วัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของประเทศนี้
    มันแปลว่าเขากล้าถกเถียง กล้าท้าทายคนมีอำนาจและกระโจนลงสู่สนามการทดลองอย่างไร้ขีดจำกัด เหมือนกับที่อัลเบิร์ต ไอนสไตน์ (ซึ่งก็เป็นยิวเหมือนกัน) เคยพูดไว้ว่า “ผมไม่ได้ล้มเหลว เพียงแค่เจอ 10,000 ทางที่ยังไม่สำเร็จเท่านั้น”
    (“I have not failed. I’ve just found 10,000 ways that won’t work.”)
    มันคือทัศนคติหรือกระบวนความคิดที่เรียกว่า mindset จริงๆ
    เป็นวิธีคิดที่ไม่ยอมแพ้, ไม่ยอมถอย, ไม่หาข้อแก้ตัว, ไม่โทษคนอื่น
    เพราะสำหรับคนยิวแล้วการถอยคือการตกทะเล 
    เมื่อไม่มีน้ำ และดินแห้งแล้งไม่สามารถปลูกอะไรได้ แต่ทุกคนเชื่อว่านี่เป็นดินแดนที่พระเจ้ากำหนดให้เป็นประเทศของตน (The Promised Land) คนยิวจึงหนีไปไหนไม่ได้ ต้องทำให้ผืนดินที่แออัดยัดเยียดนี้อยู่ให้ได้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับศัตรูและอุปสรรคหนักหน่วงเพียงใดก็ตาม
    เมื่อไม่มีน้ำดื่มน้ำกินก็เอาน้ำทะเลมาแปลง จึงเกิดนวัตกรรม desalination หรือการเอาเกลือออกจากน้ำทะเล หรือทำน้ำจืดจากน้ำทะเล
    ทำน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดสำหรับการบริโภคของประชากรตนเองยังไม่พอ วันนี้อิสราเอลส่งออกเทคโนโลยี desalination ไปต่างประเทศด้วย
    แปลว่าแค่อยู่รอดไม่ใช่คำตอบ จะต้องอยู่อย่างดีและอยู่อย่างมีความหมายด้วย
    เมื่อประเทศเล็ก (พื้นที่น้อยกว่า 159 ประเทศ) และกว่าครึ่งเป็นทราย ประชากรน้อย การคิดจะทำธุรกิจอะไรก็ไม่ใช่เพียงทำเพื่อขายในประเทศ 
    “วันแรกที่เราตัดสินใจเป็นผู้ประกอบการ เราก็คิดว่าจะส่งออกอย่างไรแล้ว....” หนุ่ม startup คนหนึ่งบอกผม “เพราะถ้าเราคิดทำสินค้าหรือบริการเฉพาะสำหรับคนในประเทศ เราก็เจ๊งตั้งแต่ยังไม่เริ่ม”
    นั่นย่อมหมายความว่า ความสำเร็จของอิสราเอลในแง่นี้เกิดจากการที่ทุกคนกล้าคิดใหญ่ คิดไกลและกล้าฝันที่จะทำสิ่งใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนโลกได้ด้วย มิใช่เพียงแค่ทำให้ตัวเองอยู่รอดเท่านั้น
    คำว่า entrepreneurial spirit หรือ “จิตวิญญาณแห่งผู้ประกอบการ” ไม่ใช่เป็นเพียงวาทกรรมในตำราเท่านั้น หากแต่เป็นความจริงทางด้านปฏิบัติด้วยอย่างเห็นได้ชัด
    เพราะความสำเร็จย่อมมาพร้อมกับความพร้อมที่จะแข่งขัน และความอดทนบึกบึนที่จะฝ่าข้ามขุนเขาแห่งปัญหาที่มาพร้อมกับการตัดสินใจกระโดดเข้าสู่การสร้างธุรกิจของตนเองด้วย
    บทสนทนาของผมกับคนอิสราเอลมากมายหลายวงการจะสะท้อนถึงแนวทางการสร้างชาติที่ว่านี้ และน่าจะเป็นบทเรียนสำหรับคนไทยในหลายๆ ด้านได้ไม่น้อยเลย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"