เที่ยวเทศกาล“ภูเขาไฟครั้งที่2”ตื่นตาภูมิปัญญาท้องถิ่นบุรีรัมย์


เพิ่มเพื่อน    

ใครจะไปคิดว่า จังหวัดบุรีรัมย์ที่ในอดีตได้รับฉายาว่า "บุรีรัมย์ตำน้ำกิน" อันเป็นคำเปรียบเทียบว่าเป็นเมืองที่มีภาวะการขาดแคลนน้ำ จะกลายเป็นเมืองที่ทันสมัยที่นำจุดเด่นของยุคใหม่กับยุคเก่ามาผสมผสานกัน

ยิ่งช่วงฤดูหนาวแบบนี้ ใครที่ไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสความหนาวแบบอีสานที่หนาวเย็นยะเยือก อาจจะต้องลองบรรจุโปรแกรมการเดินทางไปบุรีรัมย์ไว้ในแผน โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2561 ที่จังหวัดบุรีรัมย์จัดงาน “เทศกาลภูเขาไฟบุรีรัมย์” ครั้งที่ 2 ขึ้น พร้อมกับนำเสนอเรื่องราวสุดมหัศจรรย์และเรื่องราวว่าด้วยความลับของภูเขาไฟทั้ง 6 ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ควบคู่กับการเดินทางไปสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่างปราสาทสองยุค หรือเลือกเสพภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนต่างๆ แบบนอกกรอบ ภายใต้แนวคิด “เที่ยวไทยเท่” ที่สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวมาโดยตลอด
    

นายชัยวัฒน์ ตามไท ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานบุรีรัมย์ กล่าวว่า จังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับภาคเอกชนและ ททท.ร่วมกันจัดงาน “เทศกาลภูเขาไฟบุรีรัมย์” ครั้งที่ 2 ขึ้น ระหว่างวันที่ 28-30 ธันวาคม 2561 น. ในช่วงเวลา 17.30-22.00 น. บริเวณวนอุทยานภูเขาไฟกระโดง ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสบรรยากาศของภูเขาไฟแห่งเมืองบุรีรัมย์ภายใต้เงาจันทร์ มองเห็นหมู่ดาวบนท้องฟ้าได้ พร้อมชมแสง เสียงแบบตระการตาจากนักแสดงมากมายที่มาถ่ายทอดเรื่องราวความลับของภูเขาไฟทั้ง 6 ของเมืองบุรีรัมย์

สำหรับวนอุทยานเขากระโดงอยู่ห่างจากอำเภอเมืองบุรีรัมย์ไปเป็นระยะทาง 6 กิโลเมตร บนเส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย (ทางหลวงหมายเลข 219) ถือเป็นภูเขาไฟ 1 ใน 6 ลูกในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ที่มอดดับสนิทมาแล้วนับแสนปี ประกอบด้วย ภูเขาไฟพนมรุ้ง, ภูเขาไฟอังคาร, ภูเขาไฟคอก, ภูเขาไฟหลุบ, ภูเขาไฟไปรบัด และภูเขาไฟกระโดง ซึ่งยังคงสภาพปากปล่องที่มองเห็นชัดเจน บริเวณวนอุทยานภูเขาไฟกระโดง ยังมีสิ่งน่าสนใจคือสะพานพิสูจน์ศรัทธาสาธุชน และพระสุภัทรบพิตรพระพุทธรูปคู่เมืองบุรีรัมย์ ภายในเศียรบรรจุพระธาตุ จากจุดที่ตั้งขององค์พระ สามารถมองเห็นทัศนียภาพของตัวเมืองบุรีรัมย์ได้ ช่วงวันหยุดจะมีนักท่องเที่ยวขึ้นมาเที่ยวหลายพันคน

ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานบุรีรัมย์ กล่าวต่อว่า นอกจากเที่ยวงานเทศกาลภูเขาไฟบุรีรัมย์ครั้งที่ 2 แล้ว นักท่องเที่ยวก็ไม่ควรพลาดการไปท่องเที่ยวเพื่อพิสูจน์ที่มาของชื่อปราสาทสองยุค คือ ปราสาทยุคโบราณ อันได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง และปราสาทยุคใหม่ หรือ “สนามฟุตบอลช้างอารีนา” และ “สนามแข่งรถ Chang international Circuit” ซึ่งสร้างขึ้นด้วยฝีมือของคนในยุคปัจจุบัน

อาจเริ่มต้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ชมปราสาทหินทรายสีชมพูที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่องค์พระศิวะ ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สะท้อนภูมิปัญญาในการสร้างปราสาทหินที่สอดคล้องกับระบบสุริยะ ทำให้เกิดปรากฏการณ์แสงอาทิตย์สาดส่อง 15 ช่องประตู ในรอบ 1 ปีมีเพียง 4 ครั้ง คือ ช่วงพระอาทิตย์ตก ชมได้ในเดือนมีนาคมและเดือนตุลาคม ส่วนช่วงพระอาทิตย์ขึ้น ชมได้เดือนเมษายนและเดือนกันยายน

ใกล้เคียงกันยังมี "ปราสาทเมืองต่ำ" อยู่ที่อำเภอประโคนชัย เป็นศาสนสถานศิลปะขอมแบบบาปวน ที่มีอายุมากกว่า 1,400 ปี เป็นปราสาทหินในอารยธรรมขอมที่มีขนาดใหญ่และมีความสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคอีสาน เป็นสถานที่ถ่ายทำละครดังหลายเรื่อง
    

จากนั้นกลับมายังปราสาทยุคใหม่คือ “สนามช้างอารีนา” ซึ่งเป็นสนามฟุตบอลของทีมลูกหนังชื่อดัง "บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด" หรือทีมปราสาทสายฟ้า ด้วยการก่อสร้างและออกแบบการันตีมาตรฐานฟีฟ่าระดับสากล มีความสวยงามและทันสมัยที่สุดในเมืองไทย นอกจากมาชมการแข่งขันฟุตบอลแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทุกคนที่เดินทางมาต้องมาชมและถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก

ยังมีสนามแข่งรถ "Chang international Circuit" สนามมอเตอร์สปอร์ตมาตรฐานโลก สร้างอยู่บนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ มีระยะห่างต่อรอบยาวกว่า 4 กิโลเมตร จำนวน 12 โค้ง และเป็นสนามเดียวในประเทศไทยที่ได้การรับรองมาตรฐานระดับโลก เป็นสนามเดียวในโลกที่ผู้ชมบนแกรนด์สแตนด์สามารถเห็นภาพการแข่งขันได้ทุกโค้งสนาม นักท่องเที่ยวต่างๆ นิยมมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกอีกเช่นกัน

 ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานบุรีรัมย์ กล่าวว่า สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบวิถีชุมชน มีหมู่บ้านหลายแห่งให้ไปเยือน เริ่มที่ "ผ้าภูอัคนี” บ้านเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณภูเขาไฟเขาอังคาร ซึ่งนอกจากจะมีผืนดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุลาวาจากภูเขาไฟที่เคยปะทุออกมาในอดีต ทำให้การเพาะปลูกในบริเวณนี้งอกงามแล้ว ชาวบ้านในชุมชนยังคิดค้นวิธีการนำดินภูเขาไฟซึ่งเป็นวัตถุดิบหาได้ง่ายๆ ใกล้ๆ บ้านมาประยุกต์ใช้ในการย้อมผ้าจนเกิดเป็นผืนผ้าที่มีโทนสีของเขาพนมรุ้ง ซึ่งมีความสวยงามและมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน จนหมู่บ้านเจริญสุขได้รับรางวัลหมู่บ้าน OVC (OTOP Village Champion) ประเภทหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ด้วยการสะท้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นผ่านผืนผ้า "ภูอัคนี" กลายเป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาอันน่าภาคภูมิใจ

 ยังมี "บ้านสนวนนอก" อำเภอห้วยราช ชุมชนโบราณที่ดำรงวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ใช้ภาษาพื้นถิ่นเขมรและสืบสานการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาจนปัจจุบัน มีผ้าไหมหางกระรอก ลายดั้งเดิมที่ตกทอดกันมาแต่โบราณที่มีความสวยงามและมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ในหมู่บ้านนี้นักท่องเที่ยวจะได้ชมและร่วมกิจกรรมกับชุมชน โดยมีมัคคุเทศก์ของหมู่บ้านพาชมกระบวนการต่างๆ ด้วย

ถัดมาคือ "บ้านโคกเมือง" อยู่ที่อำเภอประโคนชัย แหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมที่สะท้อนเรื่องราววิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมผ่านงานศิลปหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ของชุมชน อาทิ ผ้าไหมทอลายผักกูด หัตถกรรมชั้นดีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ และเป็นเอกลักษณ์ของบ้านโคกเมือง, เสื่อกกยกลายที่มีลวดลายสวยงามไม่แพ้ใครจากฝีมือการทอของกลุ่มคนพิการ พร้อมกับมีบริการโฮมสเตย์ที่รับประกันว่าอบอุ่นดุจญาติมิตร

ปิดท้ายที่ ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านนาโพธิ์ "ผ้าซิ่นตีนแดง" อำเภอพุทไธสง ผ้าไหมมัดหมี่ของที่นี่ถือเป็นผลิตภัณฑ์เลื่องชื่อที่ได้รับการกล่าวขาน โดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่ตีนแดง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ผ้าซิ่นตีนแดง" หรือ "ซิ่นหมี่รวด" ถือเป็นผ้าเอกลักษณ์พื้นถิ่นของชาวนาโพธิ์ โดยหัวซิ่นและตีนซิ่นจะย้อมเป็นสีแดง ตรงกลางดำ มัดหมี่เหลือง แดง ขาว ปนสีเขียวบ้าง และการมัดหมี่ซิ่นตีนแดงนี้ถือว่ามีความซับซ้อนยุ่งยากกว่าการทำมัดหมี่ชนิดอื่น จึงไม่ค่อยมีคนทำ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานบุรีรัมย์ (สำนักงานชั่วคราว) โทร. 0-4451-4447-8 หรือ 1672 เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย


สวัสดีปีหมู ลำปาง

นายอนันต์ สีแดง ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลำปาง เปิดเผยว่า ททท.สำนักงานลำปาง ร่วมกับอำเภองาว และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดงานงานแสงสีเสียงสะพานโยงขึ้น ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2561-วันที่ 1 มกราคม 2562 บริเวณสะพานโยงทั้ง 2 ฝั่งเทศบาลเมืองเหนือและเทศบาลหลวงใต้ อำเภองาว

 สำหรับ สะพานโยงเป็นสะพานข้ามแม่น้ำงาวคู่บ้านคู่เมืองของชาวลำปาง เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2469 สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2471 สะพานโยงแห่งนี้ไม่มีชื่อเรียกเป็นทางการ แต่กรมทางหลวงแผ่นดินเรียกว่า สะพานข้ามลำน้ำงาว มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ใครชอบความคลาสสิกที่คงความเป็นไทยก็ต้องมาแวะถ่ายรูปคู่กับสะพานนี้เป็นที่ระลึก

นอกจากนี้ ททท.สำนักงานลำปาง ร่วมกับเทศบาลนครลำปาง ร่วมส่งความสุขในงานเฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นครลำปาง ตั้งแต่บัดนี้-31 ธันวาคม 2561 บริเวณห้าแยกหอนาฬิกา นักท่องเที่ยวสามารถมาแชะ ช็อป ชิม และแชร์ ในบรรยากาศสุดฟินกับต้นคริสต์มาสประดับไฟที่ยิ่งใหญ่อลังการ จำหน่ายอาหาร สินค้าราคาพิเศษ ร่วมเชียร์และเป็นกำลังใจให้นักดนตรีที่ร่วมประกวด ชมการแสดงของเยาวชน นิทรรศการการท่องเที่ยว และลุ้นรับของขวัญปีใหม่จากผู้ใหญ่ใจดี ส่วนวันที่ 1 มกราคม 2562 เวลา 06.00 น.เป็นต้นไป ร่วมทำบุญตักบาตรรับพรปีใหม่ บริเวณข่วงนคร ห้าแยกหอนาฬิกาจังหวัดลำปาง

สำหรับคนที่ชอบงานศิลป์ ระหว่างวันที่ 26-27 มกราคม 2562 ยังมีเทศกาล "สตรีทอาร์ต สตรีทเฟสติวัล" เป็นการรวมพลชวนคนอาร์ตอาร์ตมา "ปล่อยของ" ท่อง "ลำปางปลายทางฝัน" ภายใต้กิจกรรมช้าง ม้า ไก่ รถไฟลำปาง บริเวณสตรีทอาร์ตริมแม่น้ำวัง มีทั้ง Street Art, Street Parade, Street Music, Street Performance, Street Movie และ Street Food & Craft เป็นต้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"