ทางการอินโดนีเซียเผยจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุคลื่นยักษ์ที่เกิดจากภูเขาไฟอานักกรากาตาปะทุเมื่อคืนวันเสาร์ เพิ่มเป็นอย่างน้อย 373 คนแล้วในวันจันทร์ กู้ภัยเร่งค้นหาผู้ที่อาจรอดชีวิตใต้ซากปรักหักพัง เจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญเตือนให้เฝ้าระวังมีโอกาสเกิดสึนามิซ้ำ
ภาพถ่ายทางอากาศ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2561 โดยบิสนิสอินโดนีเซีย เผยภาพการปะทุของภูเขาไฟอานักกรากาตัว ในช่องแคบซุนดา / AFP
คำแถลงของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาอินโดนีเซียยืนยันแล้วว่า สาเหตุของสึนามิครั้งนี้เกิดจากดินบางส่วนของเกาะภูเขาไฟอานักกรากาตัวถล่ม และส่งผลให้คลื่นยักษ์สูง 2-3 เมตร ซัดเข้าพื้นที่ชายฝั่งของช่องแคบซุนดาระหว่างเกาะสุมาตราและเกาะชวา เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม 2561 จำนวนผู้เสียชีวิตในวันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม เพิ่มเป็น 373 คน บาดเจ็บมากกว่า 1,400 คน สูญหาย 128 คน และชาวบ้านริมชายฝั่งเกือบ 12,000 คนต้องอพยพทิ้งบ้านเรือน โดยทางการอินโดนีเซียเตือนภัยเสี่ยงจากคลื่นสูงซัดชายฝั่งไปถึงวันพุธนี้
เจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า ภูเขาไฟลูกนี้เริ่มพ่นเถ้าถ่านและลาวามานานหลายเดือน จนกระทั่งการปะทุเมื่อเวลาราว 3 ทุ่มเศษของวันเสาร์ ได้ทำให้ดินฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของภูเขาไฟลูกนี้ ซึ่งมีพื้นที่ราว 0.64 ตารางกิโลเมตร ถล่มลงสู่ทะเล จากนั้น 24 นาทีต่อมา คลื่นยักษ์ได้ถาโถมเข้าสู่ชายฝั่ง
สภาพความเสียหายที่หมู่บ้านซูเมอร์บนเกาะชวา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 สองวันหลังจากสึนามิถล่ม / AFP
ที่เมืองปันเดกลัง ซึ่งประสบภัยหนักที่สุด อยู่ริมชายฝั่งตะวันตกของเกาะชวา การบรรเทาทุกข์กำลังถูกส่งเข้าพื้นที่ ทหารและอาสาสมัครหลายร้อยคนค้นหาร่างผู้เสียชีวิตตามซากปรักหักพังตลอดแนวชายฝั่งยาว 100 กิโลเมตร
สึนามิครั้งนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีวี่แววหรือสัญญาณเตือนล่วงหน้า นอกจากผู้คนต้องสังเวยชีวิตแล้ว อาคารบ้านเรือน ร้านค้า ไปจนถึงโรงแรม รวมมากกว่า 700 หลัง โดนคลื่นยักษ์ทำลาย ซูโตโป เปอร์โว นูโกรโฮ โฆษกสำนักงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า อินโดนีเซียไม่มีระบบเตือนภัยสำหรับแผ่นดินไหวและดินถล่มใต้ทะเล
ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด กล่าวระหว่างลงตรวจพื้นที่เมื่อวันจันทร์ว่า ระบบเตือนภัยเป็นสิ่งจำเป็น และเขาได้สั่งการสำนักงานอุตุนิยมวิทยา, ภูมิอากาศวิทยา และธรณีฟิสิกส์ จัดซื้ออุปกรณ์หรือระบบตรวจจับที่จะช่วยเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อรักษาชีวิตชาวบ้าน
เหตุการณ์นี้เป็นภัยพิบัติใหญ่ครั้งที่ 3 ของอินโดนีเซียในปีนี้ ครั้งแรกนั้นเป็นแผ่นดินไหวหลายระลอกที่เกาะลอมบอกเมื่อเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม คร่าชีวิตคนรวมกันมากกว่า 500 คน และต่อมาในเดือนกันยายนก็เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิที่เกาะสุลาเวสี มีคนสังเวยชีวิตมากกว่า 2,000 คน
สึนามิเมื่อวันเสาร์ ซึ่งเป็นช่วงใกล้เทศกาลคริสต์มาส ยังย้อนให้นึกถึงแผ่นดินไหวและสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 กวาดกลืนชีวิตผู้คน 226,000 คน ใน 14 ประเทศ ที่อินโดนีเซียมีคนเสียชีวิตมากกว่า 120,000 คน
ภูเขาไฟอานักกรากาตัว หรือบุตรของกรากาตัว เกิดขึ้นบนปล่องเดิมของภูเขาไฟกรากาตัวที่ระเบิดใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2426 ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์คร่าชีวิตคนมากกว่า 36,000 คน ภูเขาไฟลูกนี้เริ่มโผล่เป็นเกาะที่อยู่กึ่งกลางช่องแคบซุนดาเมื่อปี 2470 และขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยมา
ริชาร์ด ทีอิว ผู้เชี่ยวชาญด้านการลดความเสี่ยงจากหายนภัย ประจำมหาวิทยาพอร์ตสมัธในอังกฤษ กล่าวว่า สึนามิระดับทำลายล้างที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟนั้นเกิดไม่บ่อยนัก ภูเขากรากาตัวเป็นตัวอย่างที่โด่งดังที่สุด ภายหลังสึนามิเมื่อวันเสาร์ ยังมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดสึนามิในช่องแคบซุนดาอีก เนื่องจากอานักกรากาตัวยังอยู่ในช่วงของการปลดปล่อยพลัง ที่อาจก่อให้เกิดดินถล่มใต้น้ำขึ้นอีก
รัฐบาลอังกฤษ, ออสเตรเลีย และแคนาดา ได้ออกคำแนะนำพลเมืองของตนให้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนสถานทูตสหรัฐกล่าวว่า สหรัฐพร้อมให้ความช่วยเหลืออินโดนีเซีย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |