ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่น่าจับตาอีกคน สำหรับ “เกศกานดา อินช่วย” หรือเกศ อดีตสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) คลองสามวา และผู้ช่วยสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตคลองสามวา สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ปัจจุบันย้ายค่ายมาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะผู้เสนอตัวลงสมัครเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ กทม.เขต 16 คลองสามวา ด้วยพื้นเพเป็นคนคลองสามวาอย่างแท้จริง มีประสบการณ์ทำงานคลุกคลีในพื้นที่มาตลอด ถึงแม้วันนี้จะย้ายพรรค แต่เกศกานดายืนยัน อุดมการณ์การทำงานเพื่อประชาชนยังเหมือนเดิม
อะไรคือจุดเปลี่ยนสู่พรรคพลังประชารัฐ
เราเป็นผู้ช่วยสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 4 ปี เป็นสมาชิกสภาเขต 4 ปี ทำงานอยู่ในเขตคลองสามวามาตลอด มีประสบการณ์ทางการเมืองเพราะคุณพ่อ “วิรัช อินช่วย” อดีตกำนัน 23 ปี และคุณพ่อเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตคลองสามวา 3 สมัย หรือ 12 ปี เราจึงได้เข้ามาทำงานด้านนี้ และได้เข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐในฐานะผู้เสนอตัวลงสมัครเลือกตั้งเขตคลองสามวา
ที่ย้ายมาอยู่พรรคใหม่ เพราะเล็งเห็นถึงโอกาสในด้านต่างๆ ดูนโยบายหรือการวางแผนของพรรค ก็รู้สึกว่าพรรคนี้จะทำให้เราดูแลพื้นที่ได้ดีมากกว่าเดิม เราก็ตัดสินใจไม่นาน ในเมื่อเรามีโอกาส และเขาให้โอกาส เราก็อยากจะรับมันและทำให้ดีที่สุดมากกว่า
เราและคุณพ่อเป็นคนพื้นที่คลองสามวามาตั้งแต่เกิด เรียนและเติบโตจากที่นี่ เป็นคนคลองสามวาร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงถือว่าผู้ใหญ่ให้โอกาสคนพื้นที่อย่างเรา เมื่อมีการมาทาบทามเราก็ตัดสินใจด้วยตัวเอง ทางพรรคให้ความสำคัญกับเรา พร้อมรับฟังความเห็นเรา เราอยากทำอะไรหรือมีความคิดเห็นอย่างไร อยากจะพัฒนาพื้นที่แบบไหน เขารับฟังเรามาก ทีมงานของเราจึงเต็มใจย้ายมาช่วยงานพรรคพลังประชารัฐแบบยกทีม
เมื่อย้ายพรรคเสียงตอบรับชาวบ้านเป็นอย่างไร จะกระทบเรื่องฐานเสียงหรือไม่
ด้วยความที่เป็นคนพื้นที่ มีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อคนในชุมชน ประชาชนเขาเชื่อในตัวบุคคลมากกว่า พอเรารู้ว่าจะต้องมาลงในจุดนี้ เราก็อธิบายว่าเหตุและผลให้ชาวบ้านฟัง เพราะอะไรเราถึงย้ายและมาอยู่ที่นี่ เขาก็เข้าใจดี อีกทั้งผลงานที่ผ่านมาเราดูแลพื้นที่ได้ดี เมื่อย้ายพรรคแล้ว งานที่เราทำไว้ในพื้นที่ก็ยังสามารถทำได้เหมือนเดิม
ในช่วงที่รัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามา เว้นวรรคการทำงาน ทุกคนไม่มีตำแหน่ง ไม่มีเงินเดือน แต่เรายังดูแลคลองสามวาได้ ยังรับฟังความเดือดร้อนของชาวบ้านได้เหมือนเดิม อาจจะไม่ดีเท่าเดิม เพราะไม่มีตำแหน่งในมือ ไม่ได้มีหัวโขน การประสานงานกับหน่วยงานราชการ กับชาวบ้าน บางทีอาจมีติดขัดบ้าง แต่ด้วยความที่เราคุ้นเคยกับพื้นที่ ก็ยังสามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้ และเวลาลงพื้นที่ในชุมชน ชาวบ้านมีปัญหาอะไร เราก็จะเขียนบันทึกรวบรวมปัญหาไว้ ทำให้เราเข้าใจปัญหาของชาวบ้านได้อย่างตรงจุดด้วย
เมื่อมาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐแล้ว วางแผนจะผลักดันเรื่องใด
จะพัฒนาคลองสามวาให้มีความเจริญใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ ชั้นในมากที่สุด ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา แต่จะทำให้ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการขนส่งมวลชน เพราะพื้นที่คลองสามวามีหมู่บ้านขนาดใหญ่เยอะ มีโซนที่เป็นอาคารพาณิชย์ ขณะเดียวกันก็มีโซนที่ยังทำไร่ ทำนา เป็นเขตที่รวมทุกรูปแบบของการใช้ชีวิต เป็นเขตที่มีพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ มีถึง 5 แขวง ดังนั้นเราจะเน้นเรื่องของการคมนาคมเป็นหลัก
นอกจากนี้ จะส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการโปรโมตให้คนรู้จักคลองสามวามากขึ้น เรามีจุดหนึ่งในใจ เนื่องจากคลองสามวาเป็นเขตที่แยกมาจากเขตมีนบุรี น้อยคนนักที่จะรู้จัก เวลาไปไหน ส่วนมากคนจะถามกลับมาว่า คลองสามวาอยู่ตรงไหน เราต้องบอกว่าซาฟารีเวิลด์ คนก็จะนึกได้ ดังนั้นเราจะพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้คนรู้จัก เพราะมีสถานที่สวยงามอีกมาก เช่น วัด มัสยิด มีตลาดน้ำวัดพระยาสุเรนทร์ มีขนบธรรมเนียม มีชุมชนชาวมอญ
และอีกส่วนหนึ่งที่อยากผลักดันคือเรื่องการศึกษา เพราะในพื้นที่คลองสามวามีโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครถึง 18 โรงเรียน ยังไม่รวมโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และโรงเรียนที่เป็นสุเหร่า ประชากรของเขตนี้มีเกือบ 2 แสนคน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้เขตคลองสามวาก็จะเป็นเขตหนึ่งที่ไม่รวมกับใคร ซึ่งขณะนี้ก็มีการวางแพลน และดูคิวงานให้เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐและผู้บริหารพรรคลงพื้นที่ในโซนนี้ด้วย
มองในสนามการเมืองที่มีคนรุ่นใหม่เข้ามาจากหลากหลายพรรค จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างไร
ประเทศน่าจะมีความทันสมัยมากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่เข้ามา ก็จะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ เราก็เป็นคนพื้นที่ที่เป็นคนรุ่นใหม่ด้วย และความรุ่นใหม่ของเราก็ยังใช้วิธีการทำงานของคนรุ่นก่อนมาผสมผสาน ต้องไม่ลืมว่าถึงคนรุ่นใหม่จะเข้ามา ก็คงไม่ได้ใช้ไอเดียของคนรุ่นใหม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังต้องใช้ประสบการณ์ ใช้ความเก๋าเกมของผู้ใหญ่ในพรรคด้วย ที่จะเดินหน้าควบคู่กันไป ส่วนความเปลี่ยนแปลงของประเทศก็ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ก็ต้องอยู่บนหลักของความถูกต้อง และความไม่ขัดแย้ง
"นั่นก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งเช่นกัน ที่เราตัดสินใจมาอยู่พรรคนี้ เราจะไม่พูดว่าลดความขัดแย้งได้หมด เพราะมันมีอยู่ตลอด และก็มีเรื่องใหม่ๆ เข้ามาเป็นประเด็นได้ตลอด แต่เรามั่นใจในพรรคของเรา ว่าจะช่วยลดความขัดแย้งลงได้ และทำให้ประเทศสงบสุข"
มองการทำงานในสนามการเมืองครั้งนี้จะยากขึ้นหรือไม่
การทำงานโดยส่วนตัวคงไม่ยากขึ้นเท่าไหร่ แต่อาจจะต้องใช้การปรับตัวมากกว่า และต้องใช้การเรียนรู้ เพราะเราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ในพื้นที่เรามั่นใจพอสมควรอยู่แล้ว แต่เมื่อการเมืองสนามใหญ่ขึ้น เราก็ต้องศึกษาระบบให้ดี ต้องปรับตัวให้ได้ ต้องเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้ใหญ่ให้มาก ซึ่งก็คิดว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ยากลำบากอะไร เพราะว่าเราก็พร้อมที่จะลงมาอยู่แล้วผู้ใหญ่ในพรรคก็ให้คำแนะนำตลอด ขอยืนยันว่าถึงจะเปลี่ยนพรรค แต่อุดมการณ์การทำงานในพื้นที่ยังเหมือนเดิม และหนักแน่นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะเราโตขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น มองภาพได้มากขึ้น
แบบอย่างการทำงานทางการเมือง
แบบอย่างการทำงานของเราคือคุณพ่อ คุณพ่อเป็นคนชอบลุย เป็นแบบลูกทุ่งๆ เราจะคอยสังเกต คอยมอง คอยฟังจากคุณพ่อ เวลาไปประชุมหรือลงพื้นที่ว่ามีวิธีการทํางานอย่างไร จะครูพักลักจำมากกว่า หากสงสัยตรงไหนก็จะถาม คุณพ่อก็พร้อมที่จะอธิบายให้ฟัง คุณพ่อเป็นมายไอดอล เรียนรู้จากคุณพ่อตั้งแต่ท่านเป็น ส.ก.สมัยแรก ซึ่งตอนนั้นเรายังเป็นเด็กเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ ก็ช่วยเดินแจกใบปลิวตามหลังพ่อ เหมือนเด็กรับจ้างแจกใบปลิวคนหนึ่ง
เราเริ่มซึมซับมาตั้งแต่เด็ก คอยตามอยู่ข้างหลังท่านตลอด หรือขึ้นรถหาเสียงกับท่าน เมื่อเห็นคุณพ่อเป็นที่รักของชาวบ้าน เดินไปไหนก็มีแต่คนรัก มีคนทักทาย เรียกกำนันๆ ทั้งที่พ่อไม่ได้เป็นกำนันแล้วก็ตาม แต่เขาก็ยังเรียกกำนันอยู่ มันดูมีความสนิท ใกล้ชิดและผูกพันกับชาวบ้าน นั่นคือจุดที่เราซึมซับมาปรับใช้จนถึงปัจจุบัน.
เกศกานดา อินช่วย หรือ เกศ อายุ 36 ปี
การศึกษา
- โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา 2 เขตคลองสามวา
- ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สาขาโฆษณา ประชาสัมพันธ์
- ปริญญาโท มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สาขาบริหารและโฆษณาประชาสัมพันธ์
การทำงาน
- คณะกรรมการสโมสรกีฬาเขตคลองสามวา
- ประธานสภาเขตคลองสามวา
- สมาชิกสภาเขตคลองสามวา
- ผู้ช่วยสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตคลองสามวา
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |