เกิดคลื่นยักษ์ถล่มพื้นที่ชายฝั่งของช่องแคบซุนดาภายหลังภูเขาไฟอานักกรากาตัวปะทุในทะเล ยอดเสียชีวิตอย่างน้อย 222 คนแล้ว บาดเจ็บ 843 คน และสูญหายอีก 28 วิดีโอคลิปงานคอนเสิร์ตชายหาดจับภาพคลื่นซัดเวทีกลืนวงดนตรีทั้งวง สถานทูตไทยยืนยันไม่มีคนไทยได้รับผลกระทบ
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ซูโตโป เปอร์โว นูโกรโฮ โฆษกสำนักงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติของอินโดนีเซีย แถลงเมื่อช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2561 ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิถล่มครั้งนี้เพิ่มเป็น 222 คนแล้ว บาดเจ็บ 843 คน และยังสูญหายอีก 28 คน
สึนามิครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังการปะทุของภูเขาไฟอานักกรากาตัว หรือบุตรของกรากาตัว สำนักอุตุนิยมวิทยาอินโดนีเซียกล่าวว่า ภูเขาไฟลูกนี้เริ่มแสดงพลังพ่นเถ้าถ่านสูงหลายพันเมตรเมื่อหลายวันก่อน แต่ช่วงก่อน 16.00 น.ของวันเสาร์ ภูเขาไฟลูกนี้ปะทุพ่นเถ้าถ่านนาน 13 นาที จนกระทั่งปะทุอีกครั้งในช่วงเวลา 3 ทุ่มกว่าของวันเดียวกัน
โฆษกสำนักงานบรรเทาภัยพิบัติกล่าวว่า คลื่นยักษ์ได้เข้าถล่มทำลายอาคารบ้านเรือนหลายร้อยหลังริมชายฝั่งทางใต้ของเกาะสุมาตรา และฝั่งตะวันตกของเกาะชวาเมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งตรงกับเวลาไทย
เดิมนั้นเจ้าหน้าที่เชื่อกันว่า สึนามิครั้งนี้เกิดจากคลื่นสูงผิดปกติที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้นในวันพระจันทร์เต็มดวง และขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก แต่ต่อมานูโกรโฮแถลงขอโทษที่ข้อมูลผิดพลาด เพราะเห็นว่าไม่มีรายงานเกิดแผ่นดินไหวก่อนหน้านั้น โดยเขากล่าวว่าสาเหตุอาจเกิดจากดินถล่มใต้ทะเลภายหลังการปะทุของอานักกรากาตัว บวกกับคลื่นทะเลหนุนสูง แต่สำนักอุตุนิยมวิทยากำลังตรวจสอบสาเหตุที่แน่ชัด
หน่วยค้นหาและกู้ภัยกำลังปฏิบัติการในพื้นที่ประสบภัยทั้ง 3 เขต โดยเขตที่ได้รับความเสียหายหนักสุดคืออำเภอปันเดกลังตอนปลายเกาะชวาฝั่งตะวันตก รายงานเบื้องต้นกล่าวว่ามีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 33 คน บาดเจ็บเกือบ 500 คน และยังมีรายงานผู้เสียชีวิตที่เมืองเซรังที่อยู่เหนือขึ้นไป กับที่เมืองเซาท์ลัมปุงบนเกาะสุมาตรา
วิดีโอที่มีคนถ่ายไว้ได้ก่อนคลื่นยักษ์ถล่มถูกเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียเมื่อวันอาทิตย์ โดยคลิปหนึ่งถ่ายกลางงานคอนเสิร์ตริมหาดของวงป๊อป "เซเวนทีน" ขณะที่วงทำการแสดงและผู้ชมกำลังสนุกสนาน แล้วทันใดคลื่นก็ซัดเวทีพังถล่ม กวาดกลืนทั้งผู้คนและสิ่งของโต๊ะเก้าอี้เครื่องดนตรี
เวลาต่อมา รีฟีอัน ฟาจาร์สยาห์ หัวหน้าวงเซเวนทีน ได้โพสต์ลงอินสตาแกรมของเขาทั้งน้ำตาว่า มือเบสและผู้จัดการทัวร์ของวงเสียชีวิต แต่มือกลอง, มือกีตาร์, ทีมงาน 1 คน และภรรยาของเขา ยังสูญหาย
ยังมีภาพวิดีโออีกหลายชิ้น ซึ่งรวมถึงคลิปที่นูโกรโฮเผยแพร่ทางทวิตเตอร์ของเขา ซึ่งเผยให้เห็นสภาพความแตกตื่นหลังคลื่นยักษ์ถล่ม และภาพซากความเสียหายท่ามกลางแสงไฟจากไฟฉาย
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย แถลงผ่านเฟซบุ๊กเมื่อช่วงบ่ายวันอาทิตย์ว่า จากการตรวจสอบกับเครือข่ายนักศึกษาไทยในเขต Lampung ซึ่งมีประมาณ 30 คน พบว่าปลอดภัยดี นอกจากนี้ ทางการอินโดนีเซียได้ประกาศแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงชายฝั่งในพื้นที่ช่องแคบซุนดา และติดตามข้อมูลทางการจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยา ภูมิอากาศ และธรณีฟิสิกส์อินโดนีเซีย (BMKG) และหน่วยงานบริหารจัดการภัยพิบัติแห่งชาติอินโดนีเซีย (BNPB)
อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้ง ที่ตั้งของประเทศอยู่ในแนววงแหวนอัคคีที่แผ่นเปลือกโลกบรรจบกัน และเกิดแผ่นดินไหวและภูเขาปะทุเป็นประจำ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มเมืองปาลูบนเกาะสุลาเวสี คร่าชีวิตผู้คนกว่า 2,000 คน
ภัยพิบัติครั้งร้ายแรงที่สุดที่ยังอยู่ในความทรงจำของคนรุ่นนี้คือแผ่นดินไหวใต้ทะเลเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 แรงสั่นสะเทือนขนาด 9.3 ก่อคลื่นยักษ์เข้าถล่มชายฝั่งของเกาะสุมาตราในภาคตะวันตกของอินโดนีเซียและอีกหลายประเทศรอบชายฝั่งของมหาสมุทรอินเดีย กวาดกลืนชีวิตคนถึง 220,000 คน ซึ่งรวมถึงในอินโดนีเซียถึง 168,000 คน
ภูเขาไฟอานักกรากาตัวนี้เป็นหนึ่งในภูเขาไฟ 127 ลูกของอินโดนีเซียที่ยังมีพลัง เกาะภูเขาไฟลูกเล็กๆ ลูกนี้เกิดขึ้นภายหลังภูเขาไฟกรากาตัวระเบิดใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2426 คร่าชีวิตคนมากกว่า 36,000 คน โดยมีที่ตั้งอยู่กลางช่องแคบซุนดาระหว่างเกาะชวากับเกาะสุมาตรา.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |