ผมไปตระเวนประเทศอิสราเอลมาครับ
ไปเมืองหลวงเยรูซาเลม (เมืองศักดิ์สิทธิ์ของโลกสำหรับคริสต์, มุสลิมและยิว)
ไปท่องเทล อาวิฟ ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการพาณิชย์ และปักหลักหลายวันที่เมืองไฮฟา เมืองทางเหนือสุดของประเทศริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ประกาศตนเป็น “ฮับแห่งนวัตกรรม” ของประเทศ และมีความประสงค์จะกลายเป็นศูนย์กลางแห่งความคิดสร้างสรรค์ของโลกด้วย
การเดินทางครั้งนี้ผมได้รับเชิญโดยท่านเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ท่าน Meir Shlomo ให้ไปร่วมคณะกับผู้ประกอบการสตาร์ทอัฟจาก 10 ประเทศเพื่อไปเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนและองค์กรของอิสราเอลที่มีส่วนทำให้ประเทศนี้กลายเป็นประเทศที่มีจำนวน startups มากที่สุดในโลก...หากวัดต่อตารางเมตรหรือรายได้ต่อหัว
อีกทั้งยังเป็นประเทศที่มีผู้ได้รางวัลโนเบลสูงสุดของโลก...หากวัดรายได้ต่อหัว
ทั้งประเทศ อิสราเอลมีผู้ชนะรางวัลโนเบล 12 คน เฉพาะที่ไฮฟาที่มีประชากรประมาณ 300,000 คนแห่งเดียวมีถึง 3 คน
พอได้นั่งตั้งวงกับศาสตราจารย์, นักวิจัย, นักศึกษาและนักนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย Technion หรือชื่อเต็ม Israel Institute of Technology และ University of Haifa ที่นั่น จึงเริ่มจะเข้าใจว่าทำไมอิสราเอลจึงมีความโดดเด่นทางด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรมระดับสากลอย่างนี้
งานที่ผมได้รับเชิญมีชื่อ Start Haifa 2-6.12.18 อันเป็นการระดมให้ผู้ทำ startups ในประเทศต่างๆ ที่รัฐบาลอิสราเอลจัดให้มีการประกวด คนที่ได้รางวัลชนะเลิศได้รับเชิญมาร่วมงานนี้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน
อีกทั้งจะได้ร่วมพบปะเรียนรู้จากส่วนต่างๆ ของไฮฟาที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ecosystem หรือระบบและสิ่งแวดล้อมทุกๆ ด้านที่เอื้อต่อการสร้างคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะกระโจนลงมาก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เปลี่ยนโลกได้
เขาเชิญสื่อของบางประเทศไปร่วมเพื่อจะได้ตั้งคำถามและขับเคลื่อนความคิดอ่านไปข้างหน้าด้วยกัน
ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้มาจากหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส, อุรุกวัย, เบลเยียม, อินเดีย, กรีซ, ฟิลิปปินส์, อาร์เจนตินา, ยูเครน, อุซเบกิสถาน และเมียนมา
สำหรับผม นี่คือโอกาสที่ผมจะได้ถามไถ่หาคำตอบว่าอิสราเอลสร้างชาติมาด้วยนวัตกรรมได้อย่างไร
ระบบการศึกษาของเขาเป็นเช่นไร
ทำไมสถาบันทหารของเขากลายเป็นที่สร้างนวัตกรรมและส่งเสริมให้คนกล้าตั้งคำถาม
ทำไมประเทศที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ, มีพื้นที่จำกัด, มีภัยรอบด้าน, ศัตรูรอบตัว, เพิ่งประกาศตั้งเป็นรัฐเมื่อ 70 ปีก่อนจึงสามารถสร้างประเทศให้อยู่แนวหน้าด้านเศรษฐกิจ, วิทยาศาสตร์และการทหารได้
ผมได้อ่านหนังสือ Startup Nation : The Story of Israel’s Economic Miracle และ Technion Nation : Technion’s Contribution to Israel and the World ย่อมจะต้องการลงพื้นที่เพื่อเจาะลึกลงไปถึง “เคล็ดลับ” และจุดแข็งจุดอ่อนของประเทศนี้เพื่อประกอบความเข้าใจต่อโลก
ลึกๆ แล้วผมหวังว่าบทเรียนที่ได้จากการเสวนากับคนในวงการต่างๆ ของอิสราเอลจะช่วยเตือนสติคนไทยว่าเราต้องทำอะไรเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและสร้างคนให้ได้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากลเช่นนี้ได้บ้าง
แน่นอนว่าไม่มีสองประเทศใดมีความเหมือนและต่างไปในแนวทางเดียวกันได้ แต่หากประเทศที่มีประชากรเพียง 9 ล้านคน มีประวัติศาสตร์หลายพันปี แต่เพิ่งตั้งเป็นรัฐของตัวเองได้เมื่อ 70 ปีที่ผ่านมาท่ามกลางภัยคุกคามที่วี่วันสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเองได้ถึงชั้นนี้ ก็น่าจะทำคนไทยได้เรียนรู้จากเขาไม่น้อยเลย
ข้อแรกที่ผมได้รับทราบเกือบจะทันทีที่ก้าวลงสู่สนามบินเทล อาวิฟ ก็คือว่าคนอิสราเอลรู้จักประเทศไทยอย่างดียิ่ง
บางคนที่นี่บอกผมว่า “คนอิสราเอลกว่าครึ่งประเทศไทยไปเมืองไทยแล้ว”
อีกคนหนึ่งบอกผมทีเล่นทีจริงว่า “คุณจะไม่เจอคนอิสราเอลที่ไม่เคยไปประเทศไทย”
เพื่อชาวยิวอีกคนหนึ่งแจ้งกับผมว่า
“หนุ่มสาวอิสราเอลส่วนใหญ่ เมื่อออกจากการเป็นทหารสองปีก็จะคิดไปประเทศไทยเพื่อพักผ่อนก่อนจะกลับบ้านมาทำงานทำการอย่างเป็นเรื่องเป็นราว”
ความรู้สึกผูกพันระหว่างคนอิสราเอลต่อประเทศไทยจึงค่อนข้างเหนียวแน่น
สิ่งที่ผมจะเขียนในคอลัมน์นี้ต่อไปจึงเป็นบางส่วนบางบทที่ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเทศนี้ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยในหลายๆ มิติด้วยกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |