ฉาว!น้ำเมาในรพ. ปลัดสธ.สั่งแจ้งจับ


เพิ่มเพื่อน    

    สธ.เสียหน้า โรงพยาบาลลำพูนจัดงานสังสรรค์ มีผู้นำน้ำเมาเข้าไปดื่มทั้งที่ผิดกฎหมาย ปลัดสาธารณสุขสั่งสอบ ส่งตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดี มีโทษทั้งจำและปรับ ชี้เป็นบทเรียนที่ทุกจังหวัดต้องเข้มงวดในฐานะผู้ถือกฎหมายไม่ทำผิดเสียเอง ศูนย์วิจัยปัญหาสุราจี้รัฐบาลเอาผิดธุรกิจน้ำเมา รวมทั้งผู้ขายให้ร่วมรับผิดชอบเมาขับก่อเหตุเจ็บตายช่วงเทศกาลปีใหม่ 
    นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเมื่อวันที่ 23 ธันวาคมนี้ ว่า กรณีพบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานเลี้ยง รพ.ลำพูน ตนได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพและกรมควบคุมโรคลงพื้นที่สอบข้อเท็จจริง เบื้องต้นได้รับรายงานว่าเป็นการลักลอบนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาในงานหลังงานเลี้ยงเลิก เวลาประมาณ 22.30 น. และได้แจ้งความไว้ที่ สภ.เมืองลำพูน เพื่อให้มีการดำเนินคดี เป็นไปตาม พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ การฝ่าฝืนกฎหมายนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาในสถานที่ราชการ มีโทษปรับ 10,000 บาท จำคุก 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ทาง รพ.ลำพูนได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงด้วย
    ปลัด สธ.กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นกรณีศึกษา และเป็นบทเรียนให้กับทุกจังหวัดให้เข้มงวดระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้นอีก ซึ่งตนได้ให้ผู้ตรวจราชการทุกเขตสุขภาพ กำชับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผอ.รพ.ทั่วประเทศ ตระหนักว่าการจัดงานเลี้ยงงานรื่นเริงในสถานที่ราชการต้องปลอดสุรา เพราะกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ถือกฎหมาย แต่เกิดเหตุการณ์ในหน่วยงานของเราเอง ถือเป็นกรณีตัวอย่าง เราต้องเป็นหน่วยงานตัวอย่างที่ดีปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด           
    เหตุการณ์ดังกล่าวสืบเนื่องจาก รพ.ลำพูนได้จัดโครงการสร้างเสริมสุขภาพและกิจกรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. มีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 300 คน โดยการจัดงานเลี้ยงด้วย และได้ประกาศห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาในงาน แต่ก็มีผู้ฝ่าฝืน
    นพ.ดร.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า อีกไม่กี่วันจะเริ่มนับถอยหลังสู่ช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ นอกจากเป็นเทศกาลที่คนไทยใช้วันหยุดร่วมกันในครอบครัวแล้ว ยังเป็นเทศกาลที่คร่าชีวิตหลายร้อยคน เกิดความสูญเสีย พิการอีกหลายพันคนในรอบแค่เพียง 7 วัน และเกือบทั้งหมดของความเสียหาย มีสาเหตุจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งมีแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขความรุนแรงไม่เคยลดลง
    "ในแคมเปญโฆษณาของผู้ผลิตแอลกอฮอล์ มักใช้คำว่าดื่มอย่างรับผิดชอบ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายตรงตัวคือ ผู้ดื่มเท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบ ในขณะที่ผู้ขาย ผู้ผลิต หรือเจ้าภาพ จะอยู่นอกเหนือจากความรับผิดชอบ ถือเป็นเรื่องเห็นแก่ตัวของผู้ผลิตและผู้ขายที่กอบโกยกำไรจากการขายสินค้า"
    นพ.ดรมูฮัมมัดฟาห์มี กล่าวว่า แม้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเหล้า-เบียร์จะจ่ายภาษีให้รัฐบาล แต่ก็ปล่อยให้ผู้ดื่มและรัฐบาลต้องมารับผิดชอบผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ ยกตัวอย่างเช่น หากมีอุบัติเหตุเมาแล้วขับ ผู้ที่รับผิดชอบคือผู้ดื่ม ต้องจ่ายชดเชยความเสียหายทั้งทางร่างกายและทรัพย์สินของคู่กรณี หรือรัฐบาลกลายเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ ผ่านการใช้บริการสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนคนผลิต คนขาย ร่ำรวยมหาศาลจากสินค้าอันตราย แต่ไม่เคยต้องมารับผิดชอบใดๆ เลย เมื่อเทียบกับต่างประเทศของทวีปยุโรป หรืออเมริกา 38 รัฐ เขาจัดทำกฎหมายที่เรียกว่า Dram shop liability หรือ Social liability ขึ้นมา เพื่อให้มีคนรับผิดชอบความเสียหายจากแอลกอฮอล์มากกว่าผู้ดื่มเพียงคนเดียว 
    ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดว่า หากผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ได้สร้างความเสียหาย หรือมีแนวโน้มจะสร้างความเสียหาย หรือมีอาการเมาขาดสติ ผู้บังคับใช้กฎหมายจะดำเนินการตามหาร้านค้าที่ขายแอลกอฮอล์ให้กับผู้ดื่มรายนั้นทันที เพื่อให้มาร่วมรับผิดชอบความเสียหาย หรือเรียกมาปรับกรณีเมาขาดสติแล้วยังขายแอลกอฮอล์ให้ลูกค้าอยู่ นอกจากนี้ยังครอบคลุมไปถึงการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ งานสังคม ที่เลี้ยงแอลกอฮอล์ หากงานไหนมีคนเมาขาดสติทำให้เกิดความเสียหาย เจ้าภาพต้องร่วมรับผิดชอบ
    “ไทยมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 40 ห้ามขายให้คนเมาที่ครองสติไม่ได้ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่น่าเหลือเชื่อมากว่าตลอด 10 ปีที่ประกาศใช้ กลับไม่เคยลงโทษ หรือแจ้งโทษในมาตรานี้เลย ดังนั้นช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะถึงนี้จึงไม่อยากเห็นความเสียหายของสุราเกิดขึ้น สังคมต้องตระหนักช่วยกันเป็นหูเป็นตาใช้กฎหมายมาตรานี้ เน้นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับใช้จริงจัง รวมถึงเข้มงวดกวดขันเรื่องเมาไม่ขับ และหวังว่าอนาคตจะพัฒนาให้โทษปรับของร้านค้านั้นครอบคลุมถึงการร่วมรับผิดชอบทางแพ่งต่อความสูญเสียด้วย ให้ได้มาตรฐานเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว อย่างที่หลายรัฐในสหรัฐอเมริกาบังคับใช้ ทั้งนี้ การรณรงค์ต้องเน้นย้ำให้ผู้บังคับใช้กฎหมายทั้งหลายเริ่มเอาจริงเอาจัง ทั้งคนดื่ม คนไม่ดื่ม คนผลิต คนขาย ผู้บังคับใช้กฎหมาย” นพ.ดร.มูฮัมมัดฟาห์มี กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"