ผลตอบแทนทางการเงิน (Internal Rate of Return--IRR)


เพิ่มเพื่อน    

 หลายวันที่ผ่านมา บางคนอาจจะได้เห็นว่ามีการนำข้อมูลในห้องประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบินมาออกสื่อ ซึ่งถือว่าเป็นการเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย ถึงแม้ว่าจะบอกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อการตรวจสอบ แต่หากการเปิดเผยข้อมูลใดๆนั้น หากเป็นข้อมูลที่มีผลต่อการแพ้หรือชนะในการประมูล ก็ถือว่าการเปิดเผยดังกล่าวนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีความเสี่ยงอย่างมากสำหรับคนที่นำเอาข้อมูลดังกล่าวออกมาเผยแพร่สู่สาธารณะ ทั้งนี้ วลีที่ตกเป็นข่าวคือเรื่องตัวเลข Internal Rate of Return--IRR 6% ที่ทางสื่อฉบับหนึ่งได้ยกพูดให้สังคมในวงกว้างรู้ว่า ผู้ร่วมประมูลรายหนึ่ง ได้ขอให้รัฐรับรองกำไร 6% ซึ่งทำให้สังคมสับสนและเข้าใจผิดในสาระ หากสังคมมีความเข้าใจผิดและเคลือบแคลงความโปร่งใสของการประมูล ก็จะส่งกระทบโดยตรงไปยังโครงการที่สำคัญของประเทศ

การทำโครงการขนาดใหญ่ระดับประเทศ ปรกติแล้วผู้ลงทุนจะใช้เงินตัวเองส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งจะกู้เงินมาลงทุนพร้อมจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งการยอมจ่ายดอกเบี้ยนั้น ถือว่าเป็นต้นทุนทางการเงิน ที่จะถูกหรือแพง ขึ้นอยู่กับดอกเบี้ยธนาคารในช่วงเวลาของการดำเนินงาน ทั้งนี้หากดูดอกเบี้ย MLR (Minimum Loan Rate--อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี) ของธนาคารส่วนใหญ่ในช่วงเวลานี้ก็อยู่ที่ 6-7% ดังนั้น เวลาจะนำเงินที่กู้มา นำไปลงทุนต่อนั้น ผู้กู้จะต้องมั่นใจได้ว่า โครงการดังกล่าวต้องได้เงินกำไรมากกว่าดอกเบี้ยที่กู้มา มิเช่นนั้น อยู่เฉยๆ คงดีกว่า แทนที่จะไปสร้างหนี้ด้วยการลงทุนทำโครงการใหญ่ที่เป็นผลประโยชน์สำหรับประเทศชาติโดยส่วนรวม 
ตัวเลขหนึ่งที่ใช้บอกผลตอบแทนโครงการคือ IRR ซึ่งโครงการขนาดใหญ่มักมีความเสี่ยงสูง ปกติแล้ว IRR จะอยู่ที่ 14-18% จึงจะมีโอกาสทำกำไรและดึงดูดนักลงทุนเพียงพอ การกำหนด IRR ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เคยทำมาแล้วสำหรับโครงการใหญ่ๆ ระดับประเทศ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีการคำนวณ IRR อยู่ที่ 9.75% หากกู้เงินในอัตรา MLR6% ก็เท่ากับว่า กำไรจะอยู่ที่ 3.75% และในทางกลับกัน หากกู้เงินที่มีดอกเบี้ย MLR 6% มา ลงทุนกับโครงการที่มีผลตอบแทนโครงการ IRR น้อยกว่า 6% เท่ากับโครงการนี้ไม่น่าลงทุน เพราะผลตอบแทนน้อยกว่า อัตราดอกเบี้ยที่ต้องเสียหรือเรียกได้ว่า ขาดทุนนั่นเอง หากไม่มีการรับประกัน IRR สำหรับการลงทุนที่รัฐบาลต้องการให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ จึงต้องมีการรับประกับ IRR เพราะถ้าหากไม่มีการรับประกันดังกล่าว ก็จะไม่มีเอกชนสนใจที่จะมาลงทุน โครงการใหญ่ที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติก็จะไม่เกิดขึ้น
การนำเอาตัวเลข 6% มาสร้างกระแสกันอยู่นั้น ดูแล้วไม่สมเหตุสมผล และเป็นการสร้างความสับสนให้สังคม เพราะการทำโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ ต้องสร้างความเชื่อมั่น และให้ผลตอบแทนมากกว่า อัตราดอกเบี้ยปรกติที่ผู้ลงทุนจะต้องจ่ายอยู่แล้ว มิเช่นนั้น นักลงทุนที่ไหนคงไม่อยากเข้ามาเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนที่เป็นคนไทยหรือคนต่างชาติ ที่สำคัญก็คือการพูดถึงตัวเลข IRR 6% นั้น คนที่นำเอามาพูด ไม่ได้ชี้ให้สังคมได้เห็นว่าเป็นการกระทำที่เคยเป็นมาก่อนในโครงการใหญ่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนจำนวนมากของประเทศ แต่พยายามจะเขียนว่าเป็นความเห็นแก่ตัวของผู้ที่ชนะการประมูลที่ได้ลงทุนทำโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน การจงใจให้ข้อมูลแต่เพียงบางส่วนเพื่อให้ร้ายกับผู้ประมูลลงทุนนั้น ต้องตั้งคำถามว่า ทำไปเพื่ออะไร ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจของการทำหน้าที่สื่อที่ต้องการตรวจสอบความโปร่งใส และรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ หรือทำไปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ชนะการประมูลเพื่อผลประโยชน์อะไรของใคร การทำหน้าที่ของสื่อต้องทำตามหลักของจริยธรรม จึงจะเรียกได้ว่าเป็นสื่อที่มีจรรยาบรรณ
ตามหลักการประชาสัมพันธ์นั้น จริยธรรมอย่างหนึ่งของคนที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ก็คือ ไม่ควรมีการขอให้สื่อรายใดจงใจทำร้ายคนอื่น (Don’t ask to kill) ไม่ว่าคนที่ขอร้องให้ทำนั้นจะเป็นนายทุนของสื่อ หรือจะเป็นผู้ที่เป็นสปอนเซอร์ซื้อโฆษณาจากสื่อ ผู้ทำการประชาสัมพันธ์ก็ต้องมีจริยธรรม สื่อที่จะเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดๆ สู่สาธารณะ ก็จะต้องมีจรรยาบรรณ หาไม่แล้ว เราจะอยู่กันอย่างสังคมที่มีระบบระเบียบของความถูกต้องได้อย่างไร ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทำให้เราเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปฏิรูปสื่อสารมวลชน ที่จะต้องมีการปฏิรูปกันทั้ง 3 ฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมีหลักปรัชญาที่ว่า 
ภาครัฐจะต้องกำกับดูแลการทำงานของสื่อโดยคำนึงถึงการดำรงเสรีภาพของสื่อ
สื่อมวลชนจะต้องใช้เสรีภาพในการสื่อสารด้วยสำนึกของความรับชอบและมีจรรยาบรรณ
ประชาชนผู้รับสื่อจะต้องมีสิทธิในการรับรู้อย่างคนที่รู้เท่าทันสื่อ
หากสื่อมวลชนไม่ต้องการให้ภาครัฐออกกฎหมายมาควบคุมการทำงานของสื่อจนไร้อิสรภาพ สื่อก็จะต้องทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและใช้เสรีภาพในการทำงานด้วยความรับผิดชอบ ให้ข้อมูลต่างๆ อย่างครบถ้วน ไม่สร้างข่าวลวง ไม่กระพือข่าวลือ ไม่ให้ข่าวผิด และไม่จงใจบิดเบือนข่าว หากสื่อมวลชนทำหน้าที่ด้วยสำนึกของความรับผิดชอบ ภาครัฐก็ไม่มีความจำเป็นต้องออกกฎหมายมาควบคุมการทำงานของสื่อ ที่จะกลายเป็นการลิดรอนเสรีภาพของสื่อ แต่หากสื่อไม่ตรวจสอบข้อมูลก่อนเผยแพร่ หรือจงใจบิดเบือนข้อมูลจนสร้างความเสียหายต่อบุคคล องค์กร หรือสังคม ก็จะทำให้ภาครัฐต้องออกกฎหมายมาควบคุมสื่อ ซึ่งจะเป็นภาพที่ไม่งามสำหรับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย ถ้าหากสื่อมวลชนไม่ต้องการให้มีการควบคุมจากภาครัฐ ก็ต้องควบคุมตนเองด้วยหลักธรรมาภิบาล และจรรยาบรรณของวิชาชีพ ทำให้ภาครัฐและภาคประชาชนมีความมั่นใจว่าข่าวสารที่ได้รับจากสื่อนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
สำหรับภาครัฐนั้นก็คงต้องการภาพของการเป็นรัฐบาลและหน่วยงานที่มีความเป็นประชาธิปไตย คงไม่ต้องการที่จะออกกฎหมายมาควบคุมการทำงานของสื่อ ให้ถูกประณามว่าเป็นเผด็จการ ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ลิดรอนเสรีภาพของสื่อ การออกกฎหมายควบคุมสื่อนั้น จะไม่มีความจำเป็นเลย ถ้าหากสื่อต่างๆทำงานตามหลักธรรมาภิบาลและมีจริยธรรม การจงใจบิดเบือนข่าว หรือให้ข้อมูลไม่ครบ เพื่อสร้างความสับสน เพื่อสร้างความชิงชัง เพื่อสร้างความเข้าใจผิดนั้น เป็นสิ่งที่สื่อทั้งหลายไม่ควรทำ เพราะถ้าหากทำกันบ่อยๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนก็จะเกิดความเคลือบแคลงว่าจะมีการออกกฎหมายให้สื่อควบคุมกันเองด้วยจริยธรรมของสื่อได้จริงหรือ ในที่สุดภาพรัฐก็อดไม่ได้ที่จะต้องออกกฎหมายมาควบคุมสื่อ แทนที่จะเป็นเพียงการกำกับสื่อ และยอมรับการควบคุมกันเองขององค์กรวิชาชีพสื่อ หากต้องเป็นเช่นนั้น การปฏิรูปสื่อสารมวลชนที่กำลังทำกันอยู่ก็จะล้มเหลว
ประชาชนเองก็จะต้องมีความรู้เท่าทันสื่อ เวลาที่ได้ข้อมูลข่าวสารใดๆ จากสื่อ จะต้องเช็กให้ชัวร์ก่อนที่จะเชื่อ เพราะว่าสื่อที่มีอยู่นั้น ก็มีทั้งที่มีจรรยาบรรณและไม่มีจรรยาบรรณ มีทั้งที่มีเสรีภาพในการทำหน้าที่ และมีทั้งที่ถูกควบคุมโดยนายทุนที่เป็นเจ้าของสื่อและนักธุรกิจที่เป็นสปอนเซอร์ซื้อโฆษณา ดังนั้นเมื่อได้รับข้อมูลข่าวสารใดๆ ควรจะต้องตั้งคำถามบางคำถามก่อนที่จะเชื่อ
สื่อที่ให้ข่าวนั้นเป็นสื่อของใคร มีใครเป็นผู้ถือหุ้น
สื่อนั้นมีใครเป็นสปอนเซอร์โฆษณารายใหญ่
สื่อนั้นมีจุดยืนเรื่องดังกล่าวอย่างไร
ประเด็นที่สื่อนั้นพูด มีสื่อรายอื่นพูดหรือไม่
ถ้าหากสื่อนั้นพูดอยู่รายเดียวหรือเพียงไม่กี่ราย จุดประสงค์เขาคืออะไร
หาข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ทั้งเรื่องเดียวกัน และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ใช้ตรรกะธรรมชาติที่ตนเองมีวิเคราะห์ความสมเหตุสมผลของเนื้อหาก่อนที่จะเชื่อ
การตรวจสอบดังที่ยกตัวอย่างมีข้างต้นคือการเช็กให้ชัวร์ก่อนที่จะเชื่อ ถือได้ว่าเราเป็นผู้บริโภคสื่อที่รู้เท่าทันสื่อ ไม่ใช่งับทุกเรื่องที่พบเจอในสื่อ ยิ่งถ้าหากเป็นสื่อสังคมออนไลน์ (social media) ด้วยแล้ว จะต้องเช็กให้ชัวร์ ก่อนที่จะเชื่อแล้วแชร์ เพราะถ้าหากข้อมูลที่เราได้รับนั้นเป็นข่าวลวง เป็นข่าวผิด และเป็นข่าวจงใจบิดเบือนแล้วเราแชร์ไป จะทำให้เรามีส่วนร่วมในเรื่องดังกล่าวด้วย ดังนั้นเรื่อง IRR ที่ปรากฏในสื่อที่ผ่านมา ควรให้ข้อมูลให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนที่จะเชื่อนะคะ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"