ศาลอุทธรณ์ของเกาหลีใต้ยกเลิกคำตัดสินคดีติดสินบนของ "อี แจยอง" ทายาทซัมซุงเกือบทั้งหมด พร้อมลดโทษจำคุกเหลือเพียงรอลงอาญา และสั่งให้ปล่อยตัวโดยทันทีเมื่อวันจันทร์ ในคดีครึกโครมไปทั่วโลกที่ทำให้ "ปัก กึนฮเย" กระเด็นจากเก้าอี้ประธานาธิบดี
อี แจยอง เดินอมยิ้มออกจากห้องพิจารณาคดีภายหลังศาลอุทธรณ์สั่งปล่อยตัว ภาพ AFP
เอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ว่าคณะผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ของเกาหลีใต้ลงความเห็นว่า อี แจยอง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองประธานซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและชิปหน่วยความจำรายใหญ่ที่สุดในโลก ถูกบังคับให้ต้องเสนอสินบนต่อปัก กึนฮเย ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้น และเพื่อนหญิงคนสนิทของเธอ
อี วัย 49 ปี ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิดหลายกระทง ทั้งการติดสินบน, ยักยอกทรัพย์, ฟอกเงิน และให้การเท็จต่อรัฐสภา เกี่ยวโยงกับการคอร์รัปชันฉาวโฉ่ที่ทำให้ปักโดนถอดถอนออกจากตำแหน่ง
ศูนย์กลางของคดีติดสินบนนี้คือกรณีที่ซัมซุงจ่ายเงินให้แก่ชเว ซุนซิล เพื่อนคู่ใจลับๆ ของปัก อัยการกล่าวโทษว่า พวกผู้บริหารของแชโบลหรือเครือข่ายธุรกิจครอบครัวแห่งนี้ติดสินบนเพราะต้องการประโยชน์ตอบแทนจากรัฐบาล
อีถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 5 ปี ทำให้เขาเป็นหัวหน้าผู้บริหารของซัมซุงรายแรกที่ติดคุก ถึงแม้ว่าพ่อก็เคยถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีอาญา 2 ครั้ง และปู่ของเขาก็เคยพัวพันเรื่องอื้อฉาวเช่นกัน แต่ทั้งคู่ยังไม่เคยติดคุก อย่างไรก็ดี ในการพิพากษาของศาลสูงเมื่อวันจันทร์ ผู้พิพากษาได้ยกฟ้องคำพิพากษาเก่าเกือบทั้งหมด และลดโทษจำคุกเหลือเพียง 2 ปีครึ่ง แต่ให้รอลงอาญา
ศาลอุทธรณ์กล่าวว่า อีโดน "บังคับ" ให้ต้องติดสินบน และ "ไม่มีหลักฐาน" ว่าเขาต้องการการเอื้อประโยชน์เชิงนโยบายเป็นการตอบแทนอย่างโจ่งแจ้ง
"ปัก กึนฮเย และชเว ซุนซิล ควรถูกมองว่าเป็นผู้มีบทบาทหลักในเรื่องอื้อฉาวนี้" ผู้พิพากษาท่านหนึ่งทำหน้าที่อ่านคำพิพากษา
ภาพข่าวทางโทรทัศน์ภายหลังคำตัดสิน เห็นอีเดินยิ้มออกจากห้องพิจารณาคดีและโบกมือ 2 ข้างที่ปราศจากกุญแจมือเหมือนที่เขาเคยใส่ทุกครั้งที่มายังศาลแห่งนี้นับแต่ถูกควบคุมตัวไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ป้ายแสดงหมายเลขประจำตัวนักโทษที่เคยติดไว้ที่เสื้อคลุมของเขาก็ไม่มีแล้วเช่นกัน ส่วนรูปร่างของเขาดูเหมือนจะน้ำหนักลดลง
บริษัทซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วประกาศผลกำไรสูงเป็นประวัติการณ์ ถือเป็นธุรกิจย่อยที่เป็นเรือธงของซัมซุงกรุ๊ป ที่เป็นแชโบลขนาดใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ และมีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศนี้ รายได้ของซัมซุงกรุ๊ปเทียบเท่ากับ 1 ใน 5 ของจีดีพีเกาหลีใต้
ซัมซุงกรุ๊ปวิ่งเต้นล็อบบี้อย่างหนักเพื่อช่วยเหลืออีและผู้บริหารอาวุโสอีก 4 คน ชิม จองเทียก ซึ่งเขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับซัมซุง กล่าวว่า คดีนี้แสดงให้เห็นว่า ในเกาหลีใต้ นักการเมืองมาแล้วก็ไป แต่อำนาจของซัมซุงไม่เคยเสื่อมคลาย
เรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นทำให้ชาวเกาหลีใต้ชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ยาวนานหลายเดือนเมื่อปีที่แล้ว เพื่อเรียกร้องให้ถอดถอนปักและลงโทษพวกนักธุรกิจร่ำรวยทรงอิทธิพลที่ช่วยให้ชเวร่ำรวยขึ้น ซัมซุงเป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดแก่มูลนิธิ 2 แห่งของชเวที่เธอใช้ตักตวงเงินเข้ากระเป๋าตนเอง แต่ทนายความของอีโต้แย้งว่า ซัมซุงโดนบีบบังคับให้ต้องจ่ายเงิน
แม้จะมีตำแหน่งเป็นรองประธาน แต่อีเป็นผู้บริหารสูงสุดของซัมซุงกรุ๊ปตัวจริง หลังจากพ่อของเขาหัวใจล้มเหลวเป็นคนป่วยนอนติดเตียงมาตั้งแต่ปี 2557
ผู้บริหารซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์อีก 4 คนก็ได้ลดโทษด้วย โดย 2 รายที่เคยโดนโทษจำคุกก็ได้รับการลดโทษเหลือรอลงอาญา.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |