จากม้งภูชี้ฟ้าถึงชาวเลอันดามัน สิทธิชุมชนของคนพื้นเมือง...การต่อสู้ที่ยังไม่สิ้นสุด !!


เพิ่มเพื่อน    

(ชาวม้งประชุมแก้ไขปัญหาที่ดินที่ภูชี้ฟ้า)

          ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มากกว่า  50 กลุ่ม  รวมประชากรประมาณ 6 ล้านคน  เช่น  กะเหรี่ยง  ม้ง  เย้า  อาข่า  ขมุ  ลัวะ ฯลฯ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนดอยทางภาคเหนือ  ขณะที่ทางภาคใต้มี มานิ (ซาไก) อาศัยอยู่ในแถบป่าเขา  และชาวเลที่อาศัยอยู่ตามเกาะและชายฝั่งทะเลอันดามัน  กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้มีวิถีชีวิต  ความเป็นอยู่  และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป 

แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ  การดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของครอบครัวและเผ่าพันธุ์  ขณะที่ปัญหาสำคัญของพวกเขาคือ ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยที่กำลังถูกขับไล่  รุกราน  จากอำนาจรัฐและกลุ่มทุน..!!   

เช่น  นโยบายการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า  จ.เชียงราย  ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 200,000 ไร่  จะทำให้ชาวม้งและประชาชนที่อยู่ในแนวเขตอุทยานฯ ได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 20,000 ครอบครัว

ขณะที่ ชาวเลอันดามัน  ถูกเอกชน  นายทุน  ฟ้องร้องขับไล่ให้ออกจากที่ดินที่พวกเขาเคยอยู่อาศัยมาก่อน  รวม 27 คดี  มีชาวเลถูกฟ้องแล้ว 133 ราย...!!

(รอยประทับพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 9 ที่ดอยผาหม่น  ปัจจุบันเก็บรักษาที่ค่ายเม็งรายฯ จ.เชียงราย )

 

ตำนานการต่อสู้ของม้งภูชี้ฟ้า

            ชนชาติม้ง  มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในประเทศจีน  จากสงครามและความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์  ทำให้ชาวม้งส่วนหนึ่งอพยพข้ามมาอาศัยอยู่ในดินแดนลาวและประเทศไทยเป็นเวลานานกว่า 100 ปี   ส่วนใหญ่ปลูกข้าวไร่  ข้าวโพด  ฝิ่น  ปลูกผัก  เลี้ยงหมู  และไก่  งานประเพณีสำคัญของชาวม้ง  คือ ‘งานกินปีใหม่’ โดยถือเอาวันสิ้นสุดการเก็บเกี่ยวผลผลิตในแต่ละปีเป็นวันฉลองปีใหม่ แต่ละหมู่บ้านจะมีวันกินปีใหม่ไม่ตรงกัน เพราะการเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จสิ้นไม่พร้อมกัน  แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม   มีการไหว้ผีบรรพบุรุษ  การกินเลี้ยง  การละเล่นต่างๆ

ชาวม้งในประเทศไทยตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่บนดอยสูงในหลายจังหวัด  เช่น  เชียงราย  พะเยา  น่าน  เชียงใหม่  ตาก  พิษณุโลก  เพชรบูรณ์  เลย  ฯลฯ  ในจังหวัดเชียงรายชาวม้งส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่บริเวณดอยยาวและดอยผาหม่น  (ภูชี้ฟ้าซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังเป็นส่วนหนึ่งของดอยผาหม่น) อยู่ติดชายแดนลาว-ไทย  ด้าน อ.เชียงของ  จ.เชียงราย  ทอดยาวไปถึงดอยผาจิ  จ.พะเยา 

ประมาณปี 2506  เป็นต้นมา  พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้ส่งผู้ปฏิบัติงานมาทำงานมวลชนในพื้นที่ดอยยาวและดอยผาหม่น  ขณะเดียวกันการปกครองของอำนาจรัฐในท้องถิ่นในสมัยนั้น  มีการกดขี่ข่มเหง  และเก็บภาษีชาวม้งอย่างไม่เป็นธรรม   บันทึกของชมรมชาวม้งแห่งประเทศไทยระบุเอาไว้ตอนหนึ่งว่า...

“วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2510  มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ร่วมกับกำนัน...... กำนันตำบลยางฮอม  อำเภอเทิง  ได้จับกุมและควบคุมตัวราษฎรม้งที่บ้านห้วยชมพู  ดอยพญาพิภักดิ์  ข้อหาบุกรุกป่า  และเรียกสินบนไถ่ตัว 30  หมัน (เงิน 1 หมันประมาณ 30 บาท)  ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านรวบรวมเงินได้ทั้งหมด 300 บาท (10 หมัน)  นำไปไถ่ตัว  และกำหนดให้ชำระส่วนที่เหลือภายในวันที่ 8  พฤษภาคมเดือนเดียวกัน....

วันที่ 8  พฤษภาคม  นาย........... นายอำเภอเทิงได้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้  ตำรวจ  ตชด. ทหาร  และกำนัน  เข้ามาในพื้นที่เพื่อรับชำระเงินส่วนที่เหลือ คือ 20 หมัน  หากไม่ชำระให้ปราบปรามพื้นที่ตามนโยบาย  3 เรียบ  คือ 1.ฆ่าเรียบ  2.ทำลายเรียบ  3.เผาเรียบ  

พอเจ้าหน้าที่มาถึงได้ทำการได้ปิดล้อมหมู่บ้านห้วยชมพู   ตรวจค้นบ้านของนายจื้อ  ได้ยึดห่วงคอเงินแท้ 2 วง  และได้ลวนลามลูกสะใภ้  ลูกสะใภ้กลัวจึงวิ่งหนีเข้าไปในป่า  และมีเจ้าหน้าที่ 2 นายวิ่งไล่ตาม  เป็นสถานการณ์ที่ชาวม้ง สุดจะทนได้  ทำให้มีการโต้ตอบด้วยการยิงเจ้าหน้าที่ที่ไล่ตาม  เสียชีวิตทันที 1 นาย  เป็นเหตุของเสียงปืนแตกที่ดอยยาว-ดอยผาหม่น”

 

ข้อตกลงหลังสิ้นเสียงปืน

หลังจากเหตุการณ์ปะทะในครั้งนั้นแล้ว  ชาวม้งที่กลัวว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัยจึงอพยพครอบครัวเข้าไปอยู่อาศัยในฝั่งลาวซึ่งมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเคลื่อนไหวอยู่  และภายหลังเหตุการณ์ 14  ตุลาคม 2516  และ 6 ตุลาคม 2519  นักศึกษา  ประชาชน  ผู้นำกรรมกร  ชาวไร่  ชาวนา  ได้หลบหนีการสังหาร  จับกุม  จากฝ่ายอำนาจรัฐเข้าไปต่อสู้ร่วมกับ พคท.ที่มีการเคลื่อนไหวในเขตป่าเขาทั่วประเทศ 

ขณะที่พื้นที่ดอยยาว  ดอยผาหม่น ตลอดจนดอยผาจิ  ซึ่งอยู่ติดชายแดนลาว  ถือเป็นฐานที่มั่นที่สำคัญแห่งหนึ่งของ พคท.ในภาคเหนือ   เป็นที่ตั้งของโรงเรียนการเมืองการทหาร  มีกองกำลังติดอาวุธของ พคท.ที่ประกอบไปด้วย  ชาวม้ง  นักศึกษา  ฯลฯ  ทำการสู้รบกับฝ่ายรัฐมาอย่างต่อเนื่อง  บาดเจ็บล้มตายกันทุกฝ่าย  จนกระทั่งสถานการณ์สงครามและการเมืองในระดับสากลเปลี่ยนไป  ประเทศจีนและลาวยุติการสนับสนุน พคท. 

ในเดือนเมษายน  2523  รัฐบาลพลเอกเปรม  ติณสูลานนท์  ได้ออกคำสั่งที่ 66/2523  เพื่อยุติสงครามประชาชน  มีการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่เคยเข้าร่วมกับ พคท.ทั่วประเทศ  หลังจากนั้นในปี 2524-2525  ชาวม้งในเขตดอยยาว  ดอยผาหม่น  และผาจิ  ประมาณ 1,600 คนจึงทยอยวางอาวุธ  และกลายมาเป็น ‘ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย’ หรือ ‘ผรท.’

 

ทูลสวัสดิ์  ยอดมณีบรรพต หรือ ‘หมอแดง’  อดีตหมอชาวม้งวัย 69 ปี  ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำ พคท.ในเขตภูชี้ฟ้า  อ.เทิง  จ.เชียงราย  และได้เจรจาหยุดยิงกับฝ่ายทหารในเดือนตุลาคม  2524  บอกว่า  การเจรจาในครั้งนั้นมีพันธะสัญญาลูกผู้ชาย 6 ข้อหลักกับฝ่ายทหารซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่  คือ 

1.รัฐต้องรับรองความปลอดภัยผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยทุกคน  2.รัฐต้องพิจารณาให้สัญชาติไทยให้ทุกคน  3.รัฐต้องพัฒนาเส้นทางคมนาคมเข้าทุกพื้นที่ของทุกหมู่บ้านที่ ผรท.อาศัยอยู่  4.รัฐต้องจัดสรรที่ดินทำกินให้กับ ผรท. (ครอบครัวละ 15 ไร่) และห้ามมิให้ใช้กฎหมายอย่างเดิมมาจัดการซ้ำรอยอีก  5.รัฐต้องส่งเสริมด้านการศึกษา  เช่น  สร้างโรงเรียนให้ทุกๆ หมู่บ้าน   ให้บุตรหลานเข้าโรงเรียนและศึกษาต่อในเมืองได้   และ 6.รัฐต้องส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสถานีอนามัย  และสร้างกองทุนยาให้แก่หมู่บ้านของ ผรท.

หลังการเจรจาหยุดยิง เจ้าหน้าที่ทหาร รวมทั้งฝ่ายปกครอง ได้ปฏิบัติตามสัญญาต่างๆ เช่น  ในปลายเดือนธันวาคม มีการนำชาวม้งไปออกบัตรประจำตัวชั่วคราวที่กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า  ในเดือนมกราคม 2525  สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) เริ่มสร้างถนนเข้าสู่พื้นที่ 

และต่อมาในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ปีเดียวกัน  ผู้บังคับบัญชากองพันทหารในพื้นที่ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยดอยยาว-ดอยผาหม่น  และทหาร  ที่ดอยยาว  บ้านพญาพิภักดิ์  อ.เทิง  จ.เชียงราย

ณ ที่นี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับรอยพระบาทของพระองค์ไว้  เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความสงบสุขร่มเย็นและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย  หลังจากนั้นกองทัพภาคที่ 3 ได้ประกาศให้พื้นที่ดอยยาว  ดอยผาหม่น  เป็นพื้นที่พัฒนาเพื่อความมั่นคงตามแนวชายแดนนับแต่นั้นเป็นต้นมา...

 

‘นโยบายทวงคืนผืนป่า’ รอยร้าวที่ยอดดอย

                ปัจจุบันชาวม้งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดอยยาวและดอยผาหม่น   มีจำนวน 31 หมู่บ้าน  ประชากรประมาณ 10,000 คน  ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพปลูกข้าวโพด  ข้าวไร่  หอมดอก  ถั่วแขก  กะหล่ำปลี  กาแฟ  ยางพารา  เลี้ยงหมู  วัว  ไก่  ฯลฯ  มีที่ดินทำกินครอบครัวหนึ่งไม่เกิน 10 ไร่  นอกจากนี้ชาวม้งที่พอจะมีทุนรอนก็จะสร้างที่พักในลักษณะเป็นเกสต์เฮ้าส์หรือบ้านพักบริเวณทางขึ้นภูชี้ฟ้าเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

                ทูลสวัสดิ์ หรือ ‘หมอแดง’  เล่าว่า  หลังจากยุติการสู้รบกับฝ่ายรัฐบาลแล้ว  ชาวม้งบนดอยยาวและผาหม่นต่างก็หากินอย่างสงบสุขมานานเกือบ 20 ปี  จนถึงปี 2543  มีเหตการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้น  เพราะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้บุกจับชาวบ้านที่ทำกินอยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง ทำให้ชาวม้งต้องทวงถามสัญญาที่เคยทำไว้กับฝ่ายทหาร ต่อมาได้มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสำนักพระราชวังมาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยหาข้อยุติ  โดยมีกองทัพภาคที่ 3  กรมป่าไม้  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เจรจาร่วมกับตัวแทนชาวม้ง  ปัญหาดังกล่าวจึงยุติไป

ในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช.  ได้ออกคำสั่งที่ 64/2557  ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2557 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทําลายทรัพยากรป่าไม้ (ทั่วประเทศ) โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก  ยึดถือครอบครอง  ทำลาย  หรือกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่า  โดยมีหน่วยงานหลักที่เป็นเจ้าภาพ  คือ  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ดำเนินนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” 

ต่อมาในวันที่ 17 มิถุนายน 2557  คสช.ได้ออกคำสั่งเพิ่มเติมที่ 66/2557  โดยมีสาระสำคัญ  คือ  ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมีหน้าที่รับผิดชอบดังกล่าวเพิ่มเติม  และ  “การดําเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้  ผู้ที่มีรายได้น้อย  และผู้ไร้ที่ดินทํากิน  ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ  ก่อนคําสั่งนี้มีผลบังคับใช้   ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่...”

หมอแดง  บอกว่า  แม้ว่าพื้นที่ดอยยาว  ดอยผาหม่น  จะไม่ต้องเผชิญกับนโยบายทวงคืนผืนป่าโดยตรง  แต่สิ่งที่ชาวบ้านหวั่นวิตกก็คือ  “การเตรียมประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า” ภายในปี 2562  ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายทวงคืนผืนป่านั่นเอง  และอาจจะมีผลกระทบหนักกว่า  เพราะจากข้อมูลที่ชาวบ้านรับรู้มาก็คือ  จะมีพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตอุทยานฯ ประมาณ 200,000  ไร่   ครอบคลุมพื้นที่ดอยยาว  ดอยผาหม่น   4 อำเภอ   คือ  เชียงของ  เวียงแก่น  เทิง  และขุนตาล   ในพื้นที่ 8 ตำบล  คือ  ปอ  หล่ายงาว  ตับเต่า  บุญเรือง  ศรีดอนชัย  ต้า   ยางฮอม  และป่าตาล  ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่ทั้งบนดอยและที่ราบประมาณ  20,000 ครอบครัว  ประชากรเกือบ 100,000 คน

ชาวบ้านกลัวว่าหากมีการประกาศเขตอุทยานฯ แล้ว  จะทำให้เกิดผลกระทบหลายด้าน  ตามข้อห้ามใน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ  เช่น  การทำมาหากิน  ห้ามเก็บของป่า  หน่อไม้  เห็ด  ฟืน  นำวัวไปเลี้ยงไม่ได้  หรือห้ามปลูกสร้างบ้านเรือน  รีสอร์ทจะถูกรื้อเหมือนที่เขาค้อ  การจัดเก็บค่ารถยนต์ที่ผ่านเขตอุทยานฯ  เช่น  อุทยานฯ ภูหินร่องกล้า  จ.พิษณุโลก  เก็บรถยนต์ชาวบ้านที่ผ่านทางคันละ 20 บาท  ฯลฯ

“ตอนนี้ชาวบ้านก็แย่อยู่แล้ว  เพราะที่ดินทำกินที่รัฐจะให้หลังหยุดยิงครอบครัวละ 15   ไร่  ก็ได้ไม่ถึง  เพราะที่ดินมีไม่พอ  และยังไม่มีเอกสารสิทธิ์  ปีที่แล้วรัฐบาลก็ห้ามปลูกข้าวโพด  ไม่ให้พ่อค้ามารับซื้อข้าวโพดที่ปลูกบนดอย  คนหนุ่มคนสาวที่ไม่มีรายได้ก็ต้องเข้าไปเมือง  หรือไปทำงานรับจ้างในเชียงใหม่  เหลือแต่คนแก่เฝ้าบ้านเลี้ยงเด็ก  ครอบครัวก็ไม่มีความสุข  ต่างคนต่างดิ้นรนทำมาหากิน  ผมก็หวังว่าอย่าให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้มาขับไล่ประชาชนอีกเลย  เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก”  อดีตสหาย พคท. บอกความรู้สึกแทนชาวม้ง

ทั้งนี้ภูชี้ฟ้า ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในดอยผาหม่น  ปัจจุบันมีสถานะเป็นวนอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า  ประกาศเป็นเขตวนอุทยานฯ ในปี 2541  มีพื้นที่ประมาณ   2,500  ไร่  ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่อิงฝั่งขวาและป่าแม่งาว      ในพื้นที่ ต.ปอ   อ.เวียงแก่น  จ.เชียงราย

 

‘ยุทธศาสตร์ภูชี้ฟ้า’ ข้อเสนอจากประชาชน

การเตรียมการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้าของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 ที่ผ่านมา   โดยกระทรวงทรัพยฯ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเดินสำรวจและรังวัดพื้นที่ในตำบลต่างๆ บ้างแล้ว   แต่บางพื้นที่ถูกชาวบ้านและแกนนำคัดค้านการสำรวจ  เช่น  ที่ตำบลปอ  อ.เวียงแก่น 

ช่วงปลายเดือนเมษายน 2561 ทวีศักดิ์  ยอดมณีบรรพต กำนันตำบลปอ (ประธานชมรมชาวม้งแห่งประเทศไทย)  ปฏิเสธไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจพื้นที่  ต่อมาไม่กี่วันกำนันทวีศักดิ์ถูกลอบสังหาร (วันที่ 24 เมษายน) ภรรยาและลูกสาวเสียชีวิต  กำนันบาดเจ็บสาหัส  ชาวม้งส่วนหนึ่งตั้งข้อสงสัยว่าสาเหตุที่ถูกยิงอาจเกี่ยวข้องกับการคัดค้านการประกาศเขตอุทยานฯ

อย่างไรก็ตาม  ก่อนหน้านี้แกนนำชาวม้งในเขตดอยยาวและดอยผาหม่นได้เตรียมจัดทำข้อเสนอในการจัดการป่าไม้โดยชุมชน  เพื่อให้ชุมชนช่วยกันดูแลรักษาป่า  โดยไม่ต้องประกาศเขตอุทยานฯ  เนื่องจากชุมชนชาวม้งต่างๆ ได้มีการรวมตัวกันเป็น ‘เครือข่ายเกษตรกรดอยยาว  ดอยผาหม่น’  ตั้งแต่ปี 2548  เพื่อให้มีองค์กรนำในการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่ดินทำกิน 

 

ในปี 2551  มีการประกาศใช้ ‘พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน  พ.ศ.2551’  (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ พ.ร.บ.ฉบับนี้) เพื่อสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ ในชุมชนร่วมกันจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลขึ้นมา  มีหน้าที่ในการเป็นเวทีนำเสนอปัญหาและแนวทางการแก้ไข  เสนอต่อหน่วยงานรัฐ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  รวมทั้งเสนอผ่านที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติ  เพื่อสรุปปัญหาของประชาชนในจังหวัดต่างๆ  และเสนอแนะแนวทางการแก้ไข  เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการได้ 

ดังนั้นเครือข่ายเกษตรกรดอยยาว  ดอยผาหม่น  จึงรวบรวมกลุ่มและองค์กรต่างๆ ในพื้นที่จัดตั้ง ‘สภาองค์กรชุมชนตำบลปอ’ (อ.เวียงแก่น)  และ ‘สภาองค์กรชุมชนตำบลตับเต่า’ (อ.เทิง)  ขึ้นมาเพื่อให้มีสถานะทางกฎหมาย  มี พ.ร.บ.รองรับ  ไม่ใช่เป็นกลุ่มหรือองค์กรเถื่อนตามที่เจ้าหน้าที่มักกล่าวอ้าง

ประนอม  เชิมชัยภูมิ  ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงราย  ในฐานะที่ปรึกษาสภาองค์กรชุมชนตำบล  กล่าวว่า   จากปัญหาเรื่องที่ดินที่ไม่มีความมั่นคงในเขตดอยยาว  ดอยผาหม่น  ซึ่งถือเป็นปัญหาหลักของชาวบ้าน  สภาองค์กรชุมชนตำบลในพื้นที่ดังกล่าวจึงมียุทธศาสตร์ร่วมกัน คือ  “การผลักดันสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างยั่งยืน” 

โดยที่ผ่านมาได้มีการทำงานในระดับพื้นที่  เริ่มตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูลชุมชน  เช่น  ประวัติชุมชน  ข้อมูลครัวเรือน  การจัดทำแผนที่ชุมชน  โดยใช้ระบบ GIS หรือระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์มาจัดทำแผนที่ชุมชน  เพื่อกันพื้นที่ทำกินออกจากแนวเขตป่าให้ชัดเจน  และนำข้อมูลของชุมชนมาตรวจสอบหรือพิสูจน์กับข้อมูลของเจ้าหน้าที่ป่าไม้  ทำให้ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ  เพราะที่ผ่านมามีการจับกุมชาวบ้านหรือโค่นต้นยางที่ชาวบ้านปลูก  โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่า  แต่เมื่อชุมชนมีข้อมูลมายืนยันจึงช่วยชะลอการไล่รื้อและจับกุมชาวบ้าน

ประธานเครือข่ายฯ  กล่าวด้วยว่า  จากปัญหาการเตรียมการประกาศเขตอุทยานฯ ภูชี้ฟ้า  สภาองค์กรชุมชนตำบลในพื้นที่ดอยยาว  ดอยผาหม่น  จึงได้มีการจัดประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561   โดยเชิญหน่วยงานรัฐเข้าร่วม  เพื่อชี้แจงข้อมูลและหาทางออกร่วมกัน  เช่น  ฝ่ายทหาร  อำเภอ  เจ้าหน้าที่ป่าไม้  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ฯลฯ  โดยชุมชนมีข้อเสนอด้านการพัฒนาในพื้นที่  หรือ ‘ยุทธศาสตร์ภูชี้ฟ้า’  โดยมีเป้าหมายหลัก  คือ “วิถีชีวิตชุมชนมั่นคง  เศรษฐกิจมั่งคั่ง  ทรัพยากรป่าไม้ยั่งยืน

“ตอนนี้เรามียุทธศาสตร์ภูชี้ฟ้า 4 ด้าน  เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอด้านนโยบายต่อหน่วยงานรัฐ  คือ 1.การจัดการทรัพยากรป่าไม้โดยชุมชน เช่น  จัดทำแนวเขตป่าให้ชัดเจน  แบ่งเป็น  เขตอนุรักษ์  ป่าต้นน้ำ  ไม่ให้ใครบุกรุกเข้า  เขตที่ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกิน  เขตป่าชุมชน  มีกฎระเบียบข้อบังคับของชุมชนในการดูแลป่า  2.เศรษฐกิจชุมชนฐานราก  เช่น  ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์  ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ตลาดกลางของชนเผ่า  ท่องเที่ยวชุมชน  ส่งเสริมสถาบันการเงินชุมชนเพื่อเป็นแหล่งทุนชุมชน  3.สร้างความมั่นคงด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน   และ 4.จัดตั้งศูนย์ข้อมูลพื้นที่ดอยยาว  ดอยผาหม่น  เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์และเป็นฐานในการแก้ไขปัญหาต่างๆ”

ประนอมยกตัวอย่างยุทธศาสตร์  และบอกว่า  หากหน่วยงานรัฐ  โดยเฉพาะรัฐบาลรับฟังเสียงและยอมรับสิทธิของชุมชน  ก็เชื่อว่าชุมชนสามารถดูแลรักษาป่าเอาไว้ได้  โดยไม่ต้องประกาศเขตอุทยานฯ  และทำให้แผ่นดินที่สงบร่มเย็นแล้ว  ไม่ร้อนรุ่มขึ้นมาอีก...!!

 

ภูมิปัญญาจากสนามรบและเครื่องคั่วกาแฟหม้อดิน

          ภูชี้ฟ้าไม่ได้มีดีเฉพาะเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวและทะเลหมอกเท่านั้น  แต่ยังมีภูมิปัญญาท้องถิ่นหลายอย่างที่น่าสนใจ  เช่น

          ทูลสวัสดิ์  ยอดมณีบรรพต หรือ ‘หมอแดง’  เป็นชาวม้ง  ต้นตระกูลมาจากจีน  เกิดเมื่อปี 2492 ที่ อ.เวียงแก่น  จ.เชียงราย  ปัจจุบันอายุ  69 ปี  เข้าร่วมกับ พคท.ในปี 2510   ตอนอายุได้ 18 ปี  ซึ่งในช่วงนั้นชาวม้งดอยยาว  ดอยผาหม่นถูกเจ้าหน้าที่รัฐกดขี่  ต้องยกปืนขึ้นสู้  และถอยเข้าไปอยู่ในฝั่งลาวด้านที่ติดกับภูชี้ฟ้า  จากนั้นจึงเข้าเรียนในโรงเรียนการเมือง-การทหารของ พคท.ในเขตรอยต่อระหว่างเมืองหลวงน้ำทากับพงสาลีติดชายแดนจีน  ต่อมาได้เรียนด้านพยาบาล  เพื่อช่วยหมอผ่าตัด  ให้น้ำเกลือ  ฝังเข็ม  เรียนได้ 1 ปีจึงกลับมาทำงานในเขตดอยผาหม่น

ในปี 2516 ไปเรียนเพิ่มเติมด้านการแพทย์สนามที่เมืองคุนหมิง  มณฑลยูนนาน  จากนั้นในปี 2519 กลับมาเคลื่อนไหวในเขตงานที่ 8  ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเทิง-เวียงแก่น-เชียงของ-ขุนตาล  จ.เชียงราย  ทำหน้าที่พยาบาลและเป็นหัวหน้าหมู่  สอนด้านพยาบาลและการเมืองให้แก่นักศึกษาที่แตกเข้าป่าหลังเหตุการณ์  6 ตุลาคม 2519  มีผู้นำนักศึกษาที่รู้จักกัน  เช่น  ธิดา  ถาวรเศรษฐ,  ชำนิ  ศักดิเศรษฐ์, จาตุรนต์  ฉายแสง 

หลังเสียงปืนบนดอยยาว  ดอยผาหม่น  สงบลงตั้งแต่ปี 2525 จนถึงปัจจุบัน  หมอแดงใช้ความรู้ด้านการแพทย์ที่ติดตัวมาจากสนามรบ คือ แพทย์แผนจีน และการแพทย์ทางเลือก  เช่น  การฝังเข็ม  การใช้สมุนไพร  รักษาโรคต่างๆ  ให้แก่ชาวม้งและชาวบ้านทั่วไป  เช่น โรคตับ  ไต  อัมพฤกษ์  อัมพาต  ฯลฯ  จนชื่อเสียงของหมอแดงดังไปทั่วยอดดอยและหุบเขาทั้งฝั่งลาวและไทย

 

(เครื่องคั่วกาแฟหม้อดิน)

เครื่องคั่วกาแฟหม้อดิน  ภูชี้ฟ้าเป็นแหล่งผลิตกาแฟที่สำคัญแห่งหนึ่งของเชียงราย  เพราะมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200-1,600  เมตร  จึงปลูกกาแฟพันธุ์อะราบิก้าได้ดี  แต่เมื่อได้ผลผลิตชาวบ้านจะขายให้พ่อค้าเป็นเมล็ดกาแฟแห้ง (กาแฟกะลา)  จนเมื่อราว 3 ปีก่อน  พระอาจารย์พิเชษฐ์  สุมังคโร  ซึ่งเป็นพระนักประดิษฐ์บนดอยผาหม่น  ได้ทดลองทำเครื่องคั่วกาแฟหม้อดินขึ้นมา  ทดลองดินจากแหล่งต่างๆ ในเชียงราย  แต่ไม่ได้ผล  เพราะหม้อดินไม่สามารถทนความร้อนได้  ต่อมาจึงทดลองใช้ดินที่ผลิตเซรามิคจากลำปาง   พบว่าได้ผลดี

เครื่องคั่วกาแฟหม้อดิน  ใช้ความร้อนจากเตาแก๊สที่ควบคุมความร้อนได้  มีมอเตอร์หมุนหม้อดินที่บรรจุเมล็ดกาแฟแห้ง (กะลา) ทำให้เมล็ดกาแฟได้รับความร้อนอย่างสม่ำเสมอ  จึงไม่ไหม้หรือสุกไม่ทั่วถึงเหมือนคั่วด้วยกระทะ  เมล็ดกาแฟที่คั่วแล้วมีสีน้ำตาลสวยงามเหมือนเครื่องคั่วราคาแพง  และยังมีกลิ่นหอมจากหม้อดิน  เหมาะสำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน  หรือร้านกาแฟรายย่อยนำไปคั่วและบดขายเอง  สามารถคั่วได้ครั้งละ 2.5  กิโลกรัม ใช้เวลาคั่ว 45 นาที  ราคาเครื่องละ 28,000 บาท  (ติดต่อได้ที่กลุ่มวิสาหกิจกาแฟอินทรีย์บ้านร่มฟ้าผาหม่น 091-0751770)

 

เสียงสะท้อนจากชาวเลอันดามัน

เสียงขับขานบทเพลงพื้นบ้านของชาวเลแห่งท้องทะเลอันดามันดังก้องสอดประสานกับเสียงคลื่น  สำหรับผู้คนจากต่างถิ่นนับว่าเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจในสาระและความหมายของบทเพลงที่สื่อออกมา  เช่นเดียวกับปัญหาของชาวเลที่สะสมมายาวนานหลายสิบปี  และพวกเขาได้สะท้อนออกมาเพื่อให้สังคมได้รับรู้...แต่มันเหมือนกับเสียงคลื่นในทะเลที่พัดมาแล้วหายไป...พัดมาแล้วหายไป...!!

ในอดีตชาวเลจะแล่นเรือออกหาปลาและสัตว์น้ำต่างๆ  โดยมีเรือเป็นบ้าน  มีท้องทะเลกว้างใหญ่เป็นแหล่งทำมาหากิน  สืบทอดวิถีชีวิต  ภูมิปัญญา  ประเพณี  และวัฒนธรรมมาเนิ่นนาน     ส่วนใหญ่อยู่อาศัยและหากินในท้องทะเลก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยาน ป่าชายเลน ป่าสงวนฯ และด้วยวิถีชีวิตที่เรียบง่าย     หากินเพื่อเลี้ยงครอบครัวและแบ่งปัน  ไม่สะสม   พวกเขาถือว่าท้องทะเลและแผ่นดินเป็นของส่วนรวม  ชาวเลส่วนใหญ่จึงไม่ถือครองที่ดินเป็นสมบัติส่วนตัว  แต่มาวันหนึ่งพวกเขากลับพบว่าแผ่นดินที่อยู่อาศัยสืบทอดกันมานานนับร้อยปีแล้วนั้น  กลายเป็น...แผ่นดินที่มีเจ้าของแล้ว..!!

ทะเลมีเจ้าของ...คนเลไร้แผ่นดิน...!!

นิรันดร์  หยังปาน  ชาวเลจากหาดราไวย์  จ.ภูเก็ต  คณะกรรมการเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอันดามัน  อธิบายว่า  ชาวเลในประเทศไทยมี 3 กลุ่ม  คือ  ชาวมอแกน  มอแกลน  และอูรักลาโว้ย  รวมประมาณ  14,000 คน  อาศัยอยู่ริมชายทะเลด้านฝั่งอันดามันและเกาะต่างๆ  ใน  5 จังหวัด  คือ  ระนอง  พังงา  ภูเก็ต  กระบี่  และสตูล  รวม 44 ชุมชน   ส่วนใหญ่มีอาชีพประมงพื้นบ้าน  จับปลา  ปู  กุ้ง  หอย  และรับจ้างทั่วไป 

“สมัยก่อนชาวเลมักจะไม่ได้เรียนหนังสือ  เพราะต้องร่อนเร่ออกหาปลา  หรือเมื่อตั้งชุมชนเป็นหลักแหล่งแล้ว  แต่ไม่รู้เรื่องการแจ้งครอบครองที่ดินตามกฎหมาย  เพราะชาวเลถือว่าที่ดินและทะเลเป็นของส่วนรวม   หลังเหตุการณ์สึนามิในปี 2547 ปัญหาเรื่องที่ดินรุนแรงขึ้น  นายทุนเอาเอกสารสิทธิ์มาอ้าง  แล้วฟ้องขับไล่ชาวเลที่อยู่มาก่อน  ทำให้พวกเราได้รับความเดือดร้อน  ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน  เพราะเราหากินกับทะเล  ก็ต้องอยู่กับทะเล”  นิรันดร์ยกตัวอย่างปัญหา

ในปี 2548  เมื่อเอกชนเข้ามาอ้างสิทธิ์ครอบครองและฟ้องร้องชาวเลให้ออกไปจากพื้นที่  ชาวเลและชุมชนที่มีความเดือดร้อนจึงได้รวมตัวกันเป็น ‘เครือข่ายชุมชนผู้ประสบภัยพิบัติสึนามิ’  โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชน  และภาคีเครือข่ายต่างๆ ให้การสนับสนุน  นำปัญหาความเดือดร้อนของพวกเขาผลักดันให้รัฐบาลแก้ไข  และต่อมาในปีนั้น  รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ธรณีพิบัติ  6 จังหวัดอันดามัน  โดยมีพลเอกสุรินทร์  พิกุลทอง  เป็นประธาน  มีการตรวจสอบพื้นที่ที่เอกชนอ้างเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินที่ชาวเลอยู่อาศัยมาก่อน

  ตัวอย่างกรณีพิพาทที่ดินราไวย์  ต.ราไวย์  อ.เมือง  จ.ภูเก็ต  ที่ดินบริเวณหาดราไวย์มี 2 แปลงอยู่ติดกัน  ชาวบ้านปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยมานานนับร้อยปี ที่ดินแปลงแรกเนื้อที่ 19 ไร่ เป็นที่ตั้งชุมชนประมาณ 232 ครัวเรือน  ประชากรกว่า 2,000 คน มีสภาพแออัด บริเวณด้านหน้าชุมชนเป็นย่านขายปลา  กุ้ง  หอย  หมึก  และร้านอาหารทะเล มีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเข้ามาเลือกซื้อและนั่งกินอาหารทะเลตลอดทั้งวัน  ถือเป็นทำเลทองแห่งหนึ่ง  เอกชนที่ครอบครองที่ดินแปลงนี้มีหลายราย

ตั้งแต่ปี 2552-2559  เอกชน (หลายราย) ที่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครองที่ดินได้ฟ้องร้องต่อศาลภูเก็ตเพื่อขับไล่ชาวเลและผู้ที่อยู่อาศัยให้ออกไปจากที่ดินแปลงนี้  รวมทั้งหมด 22  คดี  มีผู้ถูกฟ้องร้องขับไล่กว่า 100 คน  ผลการพิจารณาของศาลชั้นต้น  ส่วนใหญ่ตัดสินให้โจทย์ชนะ  (ปัจจุบันคดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์และฎีกา)

ที่ดินแปลงที่สองเนื้อที่ประมาณ 33 ไร่ ด้านหน้าติดทะเล ชาวบ้านใช้พื้นที่บนบกเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนเรียกว่า “บาลัย” รวมทั้งเป็นสุสาน ใช้เป็นที่ซ่อมแห อวน ลอบ ไซ ฯลฯ และใช้พื้นที่หน้าชายหาดเป็นที่จอดเรือ ที่ดินแปลงนี้บริษัทเอกชนมีโฉนดครอบครองที่ดิน  และมีแผนที่จะสร้างบ้านพักตากอากาศ 

ในเดือนมกราคม 2559  คนงานของบริษัทเจ้าของที่ดินได้นำรถบรรทุกและรถแบ็กโฮขนแท่งปูนและก้อนหินขนาดใหญ่มาปิดกั้นทางเข้า-ออกที่ชาวเลใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมและซ่อมแซมเครื่องมือประมง  จนเกิดเหตุปะทะกัน  ชาวเลบาดเจ็บหลายราย  (ปัจจุบันที่ดินแปลงนี้อยู่ในระหว่างการฟ้องร้องของทั้งสองฝ่าย)

พระบารมีในหลวงรัชกาลที่ 9   เยี่ยมชาวราไวย์ปี 2502

แม้ว่าผู้ครอบครองที่ดินทั้ง 2 แปลงจะมีเอกสารสิทธิ์มาใช้ต่อสู้ในชั้นศาลและมักจะเป็นฝ่ายชนะ  แต่ในขณะเดียวกันคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินชาวเล  ซึ่งมีพลเอกสุรินทร์  พิกุลทอง  เป็นประธาน  ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงมาอย่างต่อเนื่อง   ในช่วงปี 2556-2558 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้พิสูจน์ DNA ของชาวเลเปรียบเทียบกับกระดูกบรรพบุรุษของชาวเลที่ขุดได้ในสุสานบริเวณชายหาดราไวย์  มีการเปรียบเทียบแผนที่ทางอากาศแสดงการใช้ประโยชน์ในที่ดินก่อนและหลังการออกเอกสารสิทธิ์  ฯลฯ

ขณะที่การเชื่อมประสานหน่วยงานทั้งภาครัฐและองค์กรพัฒนาต่างๆ ทำให้ชาวเลเกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อต่อสู้เรื่องสิทธิในที่อยู่อาศัยและสิทธิชุมชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้  เริ่มจากการแสดงความมีตัวตน  เพื่อให้สังคมได้เห็นข้อเท็จจริง  โดยการค้นหาข้อมูลและหลักฐานต่างๆ  ของชุมชน  เพื่อยืนยันว่าชาวเลหาดราไวย์อยู่อาศัยบนผืนดินนี้ต่อเนื่องกันมานานนับร้อยปีก่อนที่นายทุนจะเข้ามาอ้างเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน 

เช่น  การทำตารางสืบสกุลของชาวเล,  หลักฐานบัตรประชาชนของชาวเล  ชื่อนายชิน  (ไม่มีนามสกุล) อยู่เลขที่ 144  หมู่ที่ 2  ต.ราไวย์  ระบุว่าเกิดในปี พ.ศ.2459 (สมัยรัชกาลที่ 6) หากนายชินยังมีชีวิตถึงปัจจุบันจะมีอายุถึง 102 ปี

หลักฐานการเข้าเรียนของชาวราไวย์ในโรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ที่ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2482  ขณะที่การแจ้งการครอบครองที่ดินตาม ส.ค.1 ของเอกชนระบุว่าแจ้งในปี พ.ศ. 2498  และระบุว่า  สภาพที่ดินเป็นสวนและมีการปลูกมะพร้าวเมื่อ 10 ปีก่อนแจ้งการครอบครอง  ฯลฯ

ในเดือนมิถุนายน 2559  คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินชาวเล  ได้สรุปรายงานการตรวจสอบที่ดินหาดราไวย์ทั้ง 2 แปลงไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี  โดยระบุว่า  ได้ตรวจสอบทั้งพยานเอกสาร พยานบุคคล ภาพถ่ายทางอากาศ เป็นที่ประจักษ์ว่าชาวเลหาดราไวย์ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานนานกว่า 400 ปี และได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน โดยปลูกบ้าน ทำสวนมะพร้าว ทำข้าวไร่ มีที่ฝังศพ มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีบ่อน้ำโบราณ ฯลฯ

“ที่ดินบริเวณนี้จึงเป็นสิทธิโดยชอบของชาวเล การออกเอกสารสิทธิ์จึงเป็นการออกเอกสารโดยมิชอบ จึงควรคืนสิทธิให้ชาวเล ส่วนผู้ที่ถือโฉนดที่ดินที่มิใช่เป็นผู้แจ้งสิทธิครอบครอง ส.ค.1  สมควรได้รับการชดเชยจากรัฐตามความเหมาะสมและความเป็นธรรม เพราะเป็นการออกเอกสารโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ”

วันที่  31  มกราคม  2560  ศาลชั้นต้นจังหวัดภูเก็ตได้อ่านคำพิพากษาคดีแพ่ง  กรณีนายทุนฟ้องขับไล่ชาวเลหาดราไวย์  (ที่ดินแปลงแรก จำนวน 4 คดี)  โดยศาลจังหวัดภูเก็ตพิจารณาเห็นว่าชาวเลราไวย์เป็นผู้อยู่ในพื้นที่พิพาทก่อนที่มีการยื่นคำขอออกโฉนด  โดยมีพยานหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศในอดีตยืนยันว่าชาวเลราไวย์อาศัยอยู่ในพื้นที่พิพาทมาก่อนการแจ้ง ส.ค.1 และการออกโฉนดที่ดิน

หลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งที่คณะผู้พิพากษาศาลจังหวัดภูเก็ตให้น้ำหนักก็คือ  ภาพถ่ายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชุมชนชาวเลราไวย์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2502   ซึ่งในขณะนั้นมีชุมชนชาวเลอาศัยอยู่ประมาณ 40   ครัวเรือน  และมีภาพต้นมะพร้าวที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 30-40 ปีขึ้นอยู่ทั่วไปในชุมชน  ซึ่งขัดแย้งกับหลักฐานการครอบครองที่ดินของเอกชนที่ระบุว่า  แจ้งการครอบครอง ส.ค.1 ในปี 2498 และปลูกมะพร้าวก่อนหน้านั้น 10 ปี  ซึ่งหากเป็นไปตามการแจ้ง  ต้นมะพร้าวที่ปรากฏในภาพจะต้องมีอายุและขนาดน้อยกว่านั้น

 “อีกทั้งทะเบียนนักเรียนโรงเรียนวัดสว่างอารมณ์  เป็นหลักฐานยืนยันว่ามีชาวเลเข้ามาศึกษาในโรงเรียนดังกล่าวประมาณ  30 คนก่อนปี พ.ศ. 2498  หรือปีที่มีการแจ้ง ส.ค. แสดงให้เห็นว่ามีชาวเลราไวย์ไม่น้อยกว่า 90 คนอยู่ในพื้นที่พิพาท  คือ  เด็กนักเรียน 30 คน  รวมทั้งพ่อและแม่ของเด็กนักเรียนดังกล่าว  ประกอบกับพยานหลักฐานต่างๆ ยืนยันได้ว่าชาวเลราไวย์คือผู้ที่อยู่อาศัยและมีสิทธิในที่ดินมาก่อนนาย........ ดังนั้นการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินจึงเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย  จึงพิพากษายกฟ้อง....”  คำพิพากษาตอนหนึ่งระบุเอาไว้

นอกจากนี้  การตัดสินของศาลในครั้งนี้ยังมีนัยสำคัญต่างไปจากการตัดสินคดีความเกี่ยวกับที่ดินที่ผ่านมา เพราะศาลมักจะเชื่อถือเอกสารหลักฐานที่ออกโดยราชการ  เช่น  โฉนด  หรือ นส. 3 ก.  จึงทำให้ชาวเลหาดราไวย์แพ้คดีไปก่อนหน้านี้ (รวมทั้งคดีเกี่ยวกับที่ดินอื่นๆ ทั่วประเทศ)  แต่ครั้งนี้ศาลได้รับฟังหลักฐานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำประโยชน์โดยการปลูกมะพร้าว  แผนที่ทางอากาศ  ผลการตรวจ DNA   ตลอดจนการทำตารางสืบสกุลของชาวเล  ฯลฯ

 การนำข้อมูลต่างๆ มาประกอบการพิจารณาคดีของศาลในครั้งนี้ตรงกับผลงานวิจัยของ รศ.ดร.มรว.อคิน  รพีพัฒน์ (พ.ศ. 2556-2557) ที่เสนอว่า  “คดีความเกี่ยวกับที่ดินควรเป็นกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง  ไม่ใช่เป็นการกล่าวหา  เพื่อนำไปสู่การค้นหาหลักฐานต่างๆ อย่างรอบด้าน  เพื่อให้การตัดสินคดีความที่เกี่ยวกับที่ดินมีความยุติธรรมมากขึ้น”

นอกจากปัญหาที่ดินและข้อพิพาทที่หาดราไวย์  จ.ภูเก็ตที่ยังไม่จบสิ้นแล้ว  ยังมีคดีที่ดินที่ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ  จ.สตูล  โดนนายทุนฟ้องขับไล่อีก 4 คดี  รวมคดีที่ชาวเลราไวย์และเกาะหลีเป๊ะโดนฟ้องขับไล่ทั้งหมด 27 คดี  รวมผู้ถูกฟ้อง  133   คน...!!

 ชาวเลทวงมติ ครม.ปี 2553 เสนอจัดตั้ง ‘เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรม’

ทุกๆ ปีในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน-ต้นเดือนธันวาคม  ชาวเลอันดามันใน 5 จังหวัด  ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘รวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล’ ขึ้นมา  เพื่อพบปะกันปีละ 1 ครั้ง  เริ่มจัดงานครั้งแรกในปี 2553  ในงานนี้จะมีการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมต่างๆ  ที่สำคัญคือ  การติดตามการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของชาวเล  โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุยเพื่อรับฟังปัญหา  และร่วมกันเสนอทางออก 

ในปีนี้งานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 9  ระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคมที่ผ่านมา  ที่อนุสรณ์สถานสึนามิ  บ้านน้ำเค็ม  อ.ตะกั่วป่า  จ.พังงา  โดยมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมจัด  เช่น มูลนิธิชุมชนไท  สถาบันวิจัยสังคม  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  เครือข่ายสิทธิชุมชนคนจนภูเก็ต  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  ฯลฯ  สาระสำคัญของงานในปีนี้ก็คือ การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีปี 2553 และนำเสนอปัญหาต่างๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข  เสนอไปยังรัฐบาลเพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายต่อไป

ทวงมติ ค.ร.ม.9 ปี แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้

จากกรณีข้อพิพาทเรื่องที่ดิน  ชาวเลที่อยู่อาศัยมาก่อน  โดนนายทุนฟ้องร้องขับไล่  จนนำไปสู่การรวมตัวของชาวเลเพื่อแก้ไขปัญหา  ต่อมาในปี 2553 ภาคีเครือข่ายที่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาของชาวเล  ได้เสนอแนวคิดการจัดตั้ง “เขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล”  เพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาชาวเล  และต่อมาศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)  ได้เสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี    

วันที่ 2 มิถุนายน  2553  รัฐบาลในขณะนั้น    มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ  เรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล  โดยระบุเรื่องมาตรการฟื้นฟูระยะสั้น  ดำเนินการในเวลา 6 ถึง 12 เดือน  รวม 9 เรื่อง  เช่น

1.การสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยด้วยการจัดทำโฉนดชุมชนเพื่อเป็นเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาวเล  โดยให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินเพื่อพิสูจน์สิทธิที่อยู่อาศัยชุมชนชาวเลเป็นการเฉพาะ

2.ให้ชาวเลสามารถประกอบอาชีพประมงตามเกาะต่างๆ และเข้าไปหากินในเขตอุทยานฯ เขตอนุรักษ์ทางทะเล  โดยใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้านได้  รวมทั้งกันเขตพื้นที่จอดเรือ  พื้นที่เข้า-ออก  เพราะที่ผ่านมาทับซ้อนกับพื้นที่ท่องเที่ยว  ทำให้เกิดความขัดแย้ง 

3.การช่วยเหลือด้านสาธารณสุขเพื่อฟื้นฟูชาวเลที่ได้รับผลกระทบจากการประมง  การดำน้ำหาปลา  4.การแก้ปัญหาสัญชาติในกลุ่มชาวเลที่ยังไม่มีบัตรประชาชน  ฯลฯ 

มาตรการฟื้นฟูระยะยาว  ดำเนินการในเวลา 1 ถึง 3 ปี   คือ  การกำหนดเขตวัฒนธรรมพิเศษที่เอื้อต่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีลักษณะสังคมวัฒนธรรมจำเพาะ (ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง)

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่ามติ ครม.จะเห็นชอบเรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล  แต่จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 9 ปีแล้ว  แต่มติ ครม.ดังกล่าว  ส่วนใหญ่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ (ยกเว้นกรณีการตรวจสอบที่ดินที่เอกชนครอบครองโดยมิชอบ  แต่ยังไม่สามารถเพิกถอนโฉนดได้  เช่น  ที่ดินหาดราไวย์)  เนื่องจากมติ ครม.ไม่ถือเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ หน่วยงานต่างๆ จึงอาจละเลยไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. ดังเช่นกรณีของชาวเล ดังนั้นจึงต้องมีการยกระดับมติ ครม.ให้เป็นกฎหมาย  โดยการเสนอเป็น พ.ร.บ.เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์  เพื่อให้มีสถานะเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้

เสียงของคนเล

ฉลวย  หาญทะเล  หญิงชาวเลอูรักลาโว้ย  เกาะหลีเป๊ะ  จ.สตูล  บอกว่า  ชาวอูรักลาโว้ยหวังว่าเมื่อมีมติ ครม. ปี 2553 แล้ว  ชีวิตของพวกเราจะดีขึ้น   แต่ชาวเลยังถูกอุทยานฯ จับกุมเมื่อเข้าไปหาปลา  และโดนนายทุนฟ้องขับไล่ให้ออกจากที่ดินที่พวกเราอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรษ  บางพื้นที่ถูกกรมเจ้าท่าขับไล่  และชาวเลอีกหลายร้อยคนยังไม่มีบัตรประชาชน  ทำให้ไปหาหมอที่โรงพยาบาลของรัฐไม่ได้ 

“ตอนนี้ชาวเลที่เกาะหลีเป๊ะนับพันคน  กว่า 300 หลังคาเรือน  มีปัญหาเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัย  และที่ดินสุสานบรรพบุรุษ  เพราะถูกเอกชนฟ้องร้องขับไล่ออกจากที่ดิน 4  คดี  เพื่อเอาที่ดินไปขายทำเรื่องท่องเที่ยว   และยังถูกอุทยานฯ ประกาศเขตทับที่ดินทำกิน  ถูกจำกัดเขตหากินทางทะเล  ทั้งๆ ที่พวกเราชาวเลเป็นผู้บุกเบิกที่อยู่อาศัยริมทะเล  ไม่ใช่เป็นผู้บุกรุก  เพราะพวกเราอยู่กันมานานก่อนที่จะมีการประกาศเขตอุทยานฯ”  ฉลวยบอกเล่าปัญหาของชาวเลเกาะหลีเป๊ะ

นิรันดร์  หาญทะเล  ตัวแทนชาวเลจากเกาะลันตา  จ.กระบี่  กล่าวว่า  สิ่งที่ชาวเลอยากจะได้  คือกฎหมายหรือร่าง พ.ร.บ.เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรม  เพราะชาวเลอาศัยอยู่มานานก่อนที่จะมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ  แต่เดี๋ยวนี้ปรากฏว่าอุทยานฯ  อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวได้  แต่ไม่ให้ชาวเลเข้าไปหาปลา  ทั้งที่ชาวเลทำประมงแบบพื้นบ้านเพื่อหากินเลี้ยงครอบครัว  และไม่ได้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ  นอกจากนี้ก็อยากจะแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน  เพื่อให้ชาวเลมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง

เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวเล

การจัดงาน “รวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 9”  นี้  ชาวเลได้รวบรวมปัญหาต่างๆ พบว่า  ยังมีข้อติดขัดทั้งนโยบายและการปฏิบัติ  เช่น 1.ชาวเลจำนวน 28 แห่งที่อาศัยอยู่ในที่ดินรัฐ  ยังไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกินรวมทั้งถูกเอกชนออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อน 4 ชุมชน  กว่า 200 ครอบครัว ถูกฟ้องร้องขับไล่ที่  2.พื้นที่ทางจิตวิญญาณที่ชาวเลใช้เป็นสุสานฝังศพและพื้นที่พิธีกรรม จำนวน 23 แห่ง  ถูกเบียดขับบุกรุกโดยกลุ่มทุน (รวมชาวเลถูกฟ้อง 27 คดี, ราไวย์  จ.ภูเก็ต 23 คดี, เกาะหลีเป๊ะ  จ.สตูล 4 คดี  รวมผู้ถูกฟ้อง 133 คน)  3.ชาวเล 441 คน ไม่มีบัตรประชาชน  ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิพื้นฐานจากรัฐและเป็นช่องทางการเอารัดเอาเปรียบจากสังคม

 4.ชาวเลบางแห่งไม่สามารถทำการประมงซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมได้  เนื่องจากขัดกับกฎหมายของอุทยานฯ ทำให้ชาวเลถูกจับกุม  ทั้งที่ได้มีการหารือจนนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกับอุทยานฯ 8 แห่งแล้วก็ตาม  5.วัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวเลถูกทำลาย  6.ชาวเลยังไม่ได้รับบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึง  ขาดการส่งเสริมการศึกษาของเด็กและเยาวชน   ฯลฯ

ส่วนข้อเสนอถึงรัฐบาลมี  3  ข้อ  คือ  1.เพื่อทำให้ประเด็นปัญหาของชาวเลตามมติ ครม. วันที่ 2 มิถุนายน 2553 ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ  มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน  จึงควรให้มีคณะทำงานแก้ไขปัญหาชาติพันธุ์ชาวเลใน 5 จังหวัด  โดยมีองค์ประกอบจากภาคประชาสังคมและชุมชนมากกว่ากึ่งหนึ่ง ให้มีหน้าที่ในการร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหา รวมทั้งติดตาม  สรุปบทเรียน  และประมวลปัญหาที่ติดขัดคั่งค้างเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงโครงสร้างและนโยบายต่อคณะกรรมการระดับชาติ

2.ในการติดตามผลการแก้ไขปัญหาชาวเลในภาพรวม  ควรจัดตั้งกลไกคณะกรรมการระดับชาติเพื่อติดตามและหนุนเสริมการแก้ไขปัญหาชาติพันธุ์ชาวเล  และพิจารณาขับเคลื่อนการดำเนินงานในภาพรวม โดยเฉพาะปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งต้องการประสานงานระหว่างหน่วยงานในระดับกระทรวง และปัญหาที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างกฎหมายและนโยบาย

3.เพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อชุมชนชาวเลในทุก ๆ ด้าน  รัฐควรมีนโยบาย ‘เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์ชาวเล’  โดยเริ่มพื้นที่นำร่องที่มีการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ  ชุมชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ  เพื่อที่จะถอดบทเรียนและขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ โดยมีงบประมาณและทรัพยากรสนับสนุน  เพราะเมื่อชุมชนมีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยและการทำมาหากินแล้ว รัฐก็จะประหยัดงบประมาณในการจัดหาความช่วยเหลือและสวัสดิการเพื่อคนกลุ่มนี้

ส่วนการร่าง “พ.ร.บ.เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์” นั้น  ขณะนี้อยู่ในระหว่างการร่าง พ.ร.บ. โดยคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยรังสิต  สาระสำคัญ  คือ  เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมจะครอบคลุมพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยของชุมชน  พื้นที่ทำมาหากิน  รวมทั้งพื้นที่ทางจิตวิญญาณ  เช่น  สถานที่ประกอบพิธีกรรม  สุสาน  ฯลฯ  และหากพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ที่มีการโต้แย้งเรื่องสิทธิ์ที่ดิน  ควรจะมีการตรวจสอบ  พิสูจน์    และคุ้มครองสิทธิ์  โดยคำนึงถึงวัฒนธรรมชุมชน  และเอกสารสิทธิ์ไม่ควรจะเป็นหลักฐานเดียวที่ใช้ในการพิจารณาเรื่องสิทธิ์ในที่ดิน  ฯลฯ

ทั้งนี้การร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว  ตามแผนงานของเครือข่ายชาวเลและหน่วยงานภาคีจะแล้วเสร็จภายในปี 2562  หลังจากนั้นจะนำร่าง พ.ร.บ.เสนอต่อกระทรวงที่เกี่ยวข้อง  เช่น  กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  กระทรวงวัฒนธรรม  และกระทรวงท่องเที่ยวฯ  รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  เพื่อให้ช่วยผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว

ทั้งหมดนี้คือกระบวนการขับเคลื่อน  เพื่อนำไปสู่เป้าหมายหลักของชาวเล  คือ  ‘คืนสิทธิ์ที่ดิน  คืนถิ่นหาปลา  ร่วมพัฒนา  สู่เขตคุ้มครองวัฒนธรรม’              


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"