เรียกเสียงฮือฮาให้กับคนในแวดวงโทรคมนาคม ไม่ใช่น้อย สำหรับคำพูดของ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ โฆษกพรรคภูมิใจไทย ที่ระบุว่าจะแก้ไขกฎหมายการจัดสรรคลื่นความถี่ 5G อย่างเร่งด่วนให้สำเร็จก่อนปี พ.ศ.2562 เพราะเล็งเห็นแล้วว่า หากยังมีการประมูลคลื่นในรูปแบบเดิมที่จะทำให้ราคาคลื่น 5G สูงมากแบบไร้เหตุผลในการทำธุรกิจ และจะทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้าร่วมประมูล 5G เลย
และเรื่องนี้จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในทันที เปรียบเทียบให้เห็นภาพ ในตอนที่เราติดขัด ไม่มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำให้ไม่มีผู้มาทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ จนทำให้ประเทศไทยเกือบจะเป็นประเทศท้ายๆ ของโลกที่มี 3G ใช้ ซึ่งต้องยอมรับว่าตอนนั้นไทยเสียโอกาสอย่างมากในเชิงการพัฒนาเศรษฐกิจยุคดิจิทัล
และดูเหมือนว่าลูปเดิมๆ จะกลับวนมาอีก ในยุคของโทรศัพท์มือถือ 5จี แต่คราวนี้ปัญหาไม่ได้เกิดจากคนจัดประมูล และเป็นเรื่องวิธีการประมูลคลื่น ซึ่งปัจจุบันไปเน้นการกำหนดราคาเริ่มต้นที่สูงเกินจริง รวมถึงการซอยคลื่นยิบย่อย แบ่งเป็นหลายใบอนุญาต เพื่อหารายได้ให้เยอะๆ ซึ่งในยุคที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ไม่ค่อยมีคลื่นให้บริการ วิธีการนี้มันเวิร์ก เพราะดีมานด์มาก ซัพพลายน้อย ตามหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน แต่มาในยุคหลังๆ โดยเฉพาะในปี 2561 นี้ ซึ่งโอเปอเรเตอร์มีคลื่นที่อยู่ในมือเกินระดับ 100MHz ก็มักจะไม่ค่อยสนใจในการประมูลแล้ว เพราะราคาที่มันแพงมาก และความต้องการใช้มันลดลง สุดท้ายคลื่นที่เตรียมไว้ประมูลก็เหลือ สูญเสียโอกาส
แน่นอนคนในวงการโทรคมนาคม ก็เริ่มตระหนักกันแล้วว่าจะให้ตั้งราคาประมูลเริ่มต้นแบบหฤโหด ใครที่ไหนจะยอมเอาเงินไปถมกับใบอนุญาต ซึ่งเอาจริงๆ ตอนนี้แต่ละค่ายก็แบบค่าใบอนุญาตกันไปแตะ 100,000 ล้านกันทั้งนั้น ถ้า 5G มาในราคาแพงอีก ไม่มีโอเปอเรเตอร์เจ้าไหน กล้าที่จะทุ่มอีก
ขณะเดียวกัน เนื่องจากเทคโนโลยี 5G มันไม่ได้ถูกออกแบบสำหรับการใช้งานด้านเสียง หรืออินเทอร์เน็ตอย่างเดียว แต่มันถูกพัฒนาเพื่อใช้กับการเชื่อมต่อของอุปกรณ์อัจฉริยะทุกชนิด หรือที่เรียกกันว่าเป็นอุปกรณ์ IOT ที่มันจะเกี่ยวข้องไปกับทุกอุตสาหกรรม และการบริหารงานต่างๆ ของมนุษย์
ดังนั้น คลื่นที่ให้บริการจะต้องมีช่วงคลื่นที่ใหญ่มาก ขณะเดียวกัน โอเปอเรเตอร์เองก็จะต้องลงทุนในการสร้างโครงข่ายที่ละเอียดและถี่ขึ้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่มหาศาลมาก หากราคาคลื่นมีราคาแพง ก็จะไปกระทบกับการลงทุนขยายโครงข่าย และบางทีมันอาจเลวร้าย ถึงขนาดที่ทำให้ 5G อาจไม่เกิดขึ้นในไทยก็ได้
อย่างที่ 'พ.อ.เศรษฐพงค์' ได้ย้ำชัด และค่อนข้างเห็นด้วย ก็คือประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขกฎหมายการจัดสรรคลื่นความถี่ 5G อย่างเร่งด่วนให้สำเร็จก่อนปี พ.ศ.2562 ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้มีการเริ่มขยายโครงข่ายระบบ 5G กันแล้ว ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศไทยตกขบวน และไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ เนื่องจากหากยังมีการประมูลคลื่นในรูปแบบเดิมที่จะทำให้ราคาคลื่น 5G สูงมากแบบไร้เหตุผลในการทำธุรกิจ และจะทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้าร่วมประมูล 5G เลย
ซึ่งต้องยอมรับว่า ไทยคงหนีโลกาภิวัฒน์ไม่พ้น และก็คงไม่หลีกเลี่ยงการพัฒนาทางด้านดิจิทัลได้ ดังนั้นหากที่จะรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การพัฒนาทางด้านดิจิทัลก็จะต้องมีความก้าวหน้า และเรื่องของคลื่นโทรคมนาคม ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญมากของประเทศ หากรากฐานสะดุด การพัฒนาก็สะดุดไปด้วย
อันที่จริงจากที่ติดตามทุกพรรคการเมือง ก็มีนโยบายในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลกันทุกพรรค ซึ่งคนทำงานและวางนโยบายต้องลงมาดูการแก้ไขในส่วนนี้ เพราะหากปล่อยไว้ เชื่อว่ามันจะเกิดปัญหาซ้ำรอยในอดีต ที่ทำให้เราหยุดการพัฒนาทางด้านดิจิทัลไป จนสุดท้ายก็เสียโอกาส และไล่ตามประเทศอื่นๆ เขาไม่ทัน อย่างเรื่อง 5G หลายประเทศในโลกก็มีการเตรียมการจะพัฒนานำร่องกันไปแล้ว และไทยเราก็ไม่ควรจะเสียโอกาสในครั้งนี้อีก.
ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |