กนง.ขึ้นดบ.0.25%ในรอบ7ปี


เพิ่มเพื่อน    

     กนง.เสียงแตก 5 ต่อ 2 ขึ้นดอกเบี้ยในรอบ 7 ปี! ขยับ 0.25% เป็น 1.75% ลดความเสี่ยงเสถียรภาพระบบการเงิน ประเมิน ศก.ไทยยังฉลุย แต่หดจีดีพีปี 61เหลือ 4.2% กรุงไทยคาดครึ่งปีหลัง 62 ปรับอีกรอบอยู่ที่ 2%
    เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม นายทิตนันท์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กนง.ว่า ที่ประชุม กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ปรับขึ้นอัตราเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ปี จาก 1.50% เป็น 1.75% โดยให้มีผลทันที ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2554 เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามแรงส่งขออุปสงค์ในประเทศ แม้อุปสงค์ต่างประเทศจะชะลอตัวลง จะเห็นจากตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจสูงกว่า 4% ติดต่อกัน 3 ปี (2560-2562) จึงไม่มีความจำเป็นในการพึ่งพาการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างที่ผ่านมา
    “ที่ถามว่าไทยอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นหรือไม่ ตอนนี้ กนง.ก็ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ส่วนจะมีการขึ้นอีกหรือไม่ต้องติดตามเป็นครั้งต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับข้อมูล (Data Independent) ในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งอาจจะมีการคงดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยก็ได้ ไม่ได้หมายความว่าครั้งต่อไปจะต้องขึ้นอีก โดยดอกเบี้ย 1.75% ไม่กระทบกับแรงส่งการขยายตัวในประเทศ” นายทิตนันท์ระบุ
    ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ แม้อุปสงค์ต่างประเทศชะลอลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในอนาคต กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นว่าควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งเพื่อสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินสำหรับอนาคต
    ขณะที่กรรมการ 2 คนเห็นว่าปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากต่างประเทศปรับสูงขึ้น และอาจส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป จึงควรรอประเมินความชัดเจนของผลกระทบจากปัจจัยภายนอกและความยั่งยืนของแรงส่งจากปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศไปอีกระยะหนึ่ง ประกอบกับมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ดำเนินการไปได้ดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในบางจุดไปบ้างแล้ว
    โดยเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพ แม้การส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง และมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่วนการท่องเที่ยวชะลอลง โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีน แต่เริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้นตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่อง โดย กนง.ได้ปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2561 มาอยู่ที่ 4.2% จาก 4.4% และปี 2562 ที่ 4.0% จาก 4.2% ส่วนส่งออกในปี 2561 มาอยู่ที่ 7.0% จาก 9.0% และปี 2562 มาอยู่ที่ 3.8% จาก 4.3%
    อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ จะติดตามความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่อาจจะกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปียังมีแนวโน้มทรงตัว แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำจากความผันผวนของราคาพลังงานและราคาอาหารสด อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
    นายทิตนันท์กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ประเมินว่าแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้น 0.25% ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับเงินสกุลภูมิภาค ในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป สำหรับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะยังมีความเหมาะสมในระยะข้างหน้า โดยจะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับตั้งแต่ปี 2554 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในช่วงขาลงมาโดยตลอด จากอัตรา 3.25% ได้มีการปรับลดอย่างต่อเนื่อง กระทั่งคงไว้ในอัตรา 1.50% ตั้งแต่เดือนเม.ย.2558 ถึงปัจจุบัน
    ด้านนายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย คาดการณ์ว่า กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้ง เป็น 2% ในช่วงครึ่งหลังปี 2562 ซึ่งจะทิ้งช่วงนานจากการปรับขึ้นครั้งนี้ เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 เติบโต 4.1% ลดลงเล็กน้อยจากปีนี้ที่คาดว่าจะโต 4.3% ไม่ได้เป็นการเติบโตร้อนแรง ประกอบกับมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มเห็นการชะลอตัวแล้วตั้งแต่ปลายปีนี้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน และมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงเพิ่มอีกในช่วงต้นปี 2562 จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่อาจทวีความเข้มข้นขึ้น
    ขณะที่นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  กล่าวว่า กระทรวงการคลังไม่มีนโยบายในการแทรกแซงการตัดสินใจของ กนง. เชื่อว่า กนง.คงนำปัจจัยทางเศรษฐกิจในปัจจุบันมาพิจารณา ซึ่งสะท้อนว่าหลังจากนี้ไป กนง.จะมองเรื่องเสถียรภาพ หรือความมั่นคงเป็นหลัก ขณะที่นโยบายการคลังจะต้องมาพิจารณาใหม่เช่นเดียวกัน 
    “การมีกระสุนไว้ใช้ในมุมของ ธปท.เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องดูหลายมิติ แม้ว่านโยบายการเงินกับนโยบายการคลังต้องไปด้วยกัน แต่การขึ้นดอกเบี้ยอาจทำให้ ธปท.มีกระสุนในการทำนโยบายการเงินมากขึ้น ขณะที่ด้านการคลังกระสุนอาจจะน้อยลงก็ได้” นายลวรณระบุ
    นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสากิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า แม้ว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% แต่เอสเอ็มอีแบงก์จะยังตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการไว้เท่าเดิมจนถึงสิ้นเดือน ก.พ.2562 เพื่อให้เวลาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปรับตัว 
    นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธนาคารจะตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไปตามนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการแบ่งเบาภาระผู้กู้ โดยจะพิจารณาทิศทางตลาดในเดือนม.ค.62 อีกครั้งก่อน
    นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยังไม่อยากให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ เนื่องจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมาจากการส่งออกที่มีสัดส่วนเกือบ 70% ของจีดีพี ซึ่งการปรับขึ้นไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจภายในประเทศและความเชื่อมั่น ต้องส่งผลกระทบแน่นอน เพราะธุรกิจต้องกู้เงินทั้งนั้น หากดูแล้วมีแต่ส่งออกที่ดี แต่รายย่อยยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ อยากให้ดูว่าที่ว่าดีนั้นดีจริงแค่ไหน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"