แบ่งปันประสบการณ์ คนข่าวในภาวะโลกป่วน!


เพิ่มเพื่อน    

    วันก่อนผมไปแจกหนังสือเล่มใหม่ของผมให้ผู้มาเข้าคอร์สพิเศษ "หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูงด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.)" เพราะเขาตั้งหัวข้อเสวนาว่า "ทางรอดของสื่อ"
    ผู้จัดงานขอให้ผู้ร่วมเสวนาส่งเอกสารหรือข้อมูลมาให้ก่อน เพื่อจะได้ให้ผู้มาเข้ารับการอบรมนำไปประกอบการทำรายงาน
    บังเอิญผมเพิ่งตีพิมพ์หนังสือใหม่ชื่อ "คนบ้าข่าว...นับ 1 ขึ้น 73" ออกมาจากโรงพิมพ์ร้อนๆ จึงได้เอาไปแจกให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมวันหน้าโดยทั่วหน้ากัน
    เพราะเป็นการรวบรวมบทสัมภาษณ์ที่สื่ออื่นมาตั้งคำถามกับผม ว่าด้วยเรื่องสื่อกับความท้าทายของคนทำข่าวในยุคแห่งความ "ป่วน" หรือ disruption ที่หนักหน่วงรุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
    ผมบอกกล่าวกับผู้เข้าร่วมเสวนาวันนั้นว่า หนังสือเล่มนี้ไม่มีวางขายตามร้าน
    ผมไม่ได้ตั้งราคาเอาไว้ที่หน้าปก
    "หนังสือเล่มนี้ไม่มีราคา แต่มีค่า"
    ที่พิมพ์หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ต้องการจำหน่าย แต่จะจ่ายแจกด้วยจำนวนที่จำกัด โดยมุ่งส่งมอบให้แก่ผู้สนใจที่อยากจะหาคำตอบว่า ประสบการณ์ของผมในฐานะคนข่าวตลอดเกือบ 50 ปีที่ผ่านมาเจอะเจอกับอะไร และมองสื่อในวันข้างหน้าอย่างไร
    ผมบอกว่าอยากให้ทุกคนที่ได้รับหนังสือนี้อ่าน เพราะมีคำตอบให้คำถามที่วงการนี้กำลังถามไถ่อยู่บ้างไม่มากก็น้อย
    ผมบอกว่าอ่านแล้วไม่ต้องเห็นด้วยกับผม 
    ความจริงผมอยากให้คิดย้อนแย้งกับผมด้วยซ้ำ เพื่อจะได้ช่วยกันหาคำตอบซึ่งอาจจะมีหลากหลาย  ไม่มีสูตรสำเร็จแต่เพียงสูตรเดียว
    หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมบทสัมภาษณ์ในคอลัมน์ "GM Dialog" ของนิตยสาร GM ฉบับเดือนเมษายน 2561 โดยผู้สัมภาษณ์คือผู้ก่อตั้งเอง คุณปกรณ์ พงศ์วราภา
    บวกกับบทสัมภาษณ์กับอาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ ผู้ก่อตั้ง the 101 World 
    ตามมาด้วยบทสนทนากับคุณนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ แห่งเว็บไซต์ The Standard 
    และคุณนวัตกร สุขชาญ แห่ง Thairath Talk ในเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์
    ทั้งหมดเป็นความในใจของผมที่ได้ทำงานเกี่ยวกับสื่อมาตั้งแต่เป็นหนังสือพิมพ์อย่างเดียว จนก้าวเข้าไปเรียนรู้การทำวิทยุและโทรทัศน์โดยที่ไม่ได้วางแผนเอาไว้ล่วงหน้า หากแต่เป็นเพราะสถานการณ์บ้านเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ทำให้คนข่าวสื่อสิ่งพิมพ์อย่างผมกระโดดเข้าไปทดลองใช้ความเป็นคนข่าวที่พยายามจะทำหน้าที่ผ่าน platforms ใหม่ๆ ที่ทำให้เราสามารถสื่อสารกับสาธารณะได้ในรูปแบบใหม่ๆ ตลอดเวลา
    ยิ่งพอเกิด social media ขึ้น ก็ยิ่งทำให้เราสามารถทำหน้าที่คนข่าวได้คล่องแคล่วปราดเปรียว และ  "ทุกที่ทุกเวลา" ได้อย่างน่ามหัศจรรย์
    ในภาวะที่ทุกคนทุกวงการกำลังหาทางฝ่าฟันกับผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบนั้น ผมเชื่อว่าการเล่าเรื่องและมองย้อนกลับไปสู่ประสบการณ์ของแต่ละคนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมีความสำคัญ
    โดยเฉพาะเมื่อตำราทั้งหลายที่ใช้สอนในมหาวิทยาลัยไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังกระทบและกระแทกระบบเดิมๆ วิธีคิดเดิมๆ อย่างหนักหน่วง
    เราจึงต้องเรียนรู้จากของจริง ลองผิดลองถูก สั่งสมประสบการณ์ ไม่กลัวความล้มเหลว สรุปบทเรียนให้เร็วและปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่กระหน่ำใส่ผู้คนทุกแวดวงอย่างไม่ปรานีปราศรัย
    แต่สำหรับ "คนบ้าข่าว" นั้นจะต้องปักหลักฟันฝ่าเรียนรู้และบุกตะลุยต่อไปในวงการ เพราะสังคมคาดหวังว่าคนที่อาสามาทำหน้าที่เป็น "สื่อกลางมืออาชีพ" นั้นจะต้องหาคำตอบให้คำถามที่ทั้งสังคมตั้งว่า
    "ในภาวะที่มีข่าวลือข่าวลวงข่าวปล่อยเต็มบ้านเมืองเช่นนี้ คนทำข่าวมืออาชีพจะยังทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริตต่อประชาชนอย่างไร?".


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"