เสวนา 'ทางรอดของสื่อ'


เพิ่มเพื่อน    

       สัปดาห์ที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ร่วมเสวนาหัวข้อที่อยู่ในความสนใจของคนทั้งหลายว่าอนาคตของสื่อสารมวลชนในภาวะถูก “ป่วน” โดยเทคโนโลยีจะเป็นอย่างไร

       หรือตั้งเป็นคำถามง่ายๆ ตรงๆ ก็คือ

       "สื่อจะอยู่รอดได้อย่างไร?”

       องค์กรที่เชิญให้ไปร่วมแสดงความเห็นหัวข้อนี้คือหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูงด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 8

       ผู้ร่วมเสวนาคือคุณเขมทัต พลเดช ผู้อำนวยการใหญ่ของ อสมท. และคุณสมชาย รังษีธนานนท์ เจ้าของและซีอีโอของ Bright TV

       ผู้เข้ารับการอบรมประมาณ 50 คน เป็นผู้บริหารระดับกลางจากหลายสาขาวิชาชีพที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอนาคตของสื่อ และต้องการจะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงอันหนักหน่วงรุนแรงของ disruption ที่เกิดจากนวัตกรรมต่อสื่อทุกแขนง

       เป็นความท้าทายที่น่าตื่นตาตื่นใจ ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ของสื่อที่มีผลกระทบอย่างกว้างไกลเช่นว่านี้

       ที่สำคัญคือไม่มีใครมี “สูตรสำเร็จ” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า silver bullet ที่จะตอบโจทย์ทุกข้อได้

แต่ละองค์กรแต่ละอาชีพก็ต้องหาทางปรับตัวให้สอดคล้องกับคลื่นของความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

       และยังไม่มีทีท่าว่าพายุร้ายนี้จะสงบลงในเร็วๆ วัน

       เพราะสึนามิแห่งนวัตกรรมที่มีผลต่อทุกวงการในสังคมนั้นอาจจะไม่มีวันหยุดกระหน่ำเข้าหาสังคมโลกเลยก็ได้

       ฟังคุณเขมทัตเล่าถึงวิธีการปรับตัวของ อสมท. ก็เป็นอย่างหนึ่ง เป็นลักษณะขององค์กรใหญ่ที่มีโครงสร้างการบริหารงานลักษณะกึ่งรัฐวิสาหกิจกึ่งธุรกิจ (ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์) ที่มีทั้งทีวี, วิทยุ, ออนไลน์และโครงข่ายสำหรับดิจิทัลทีวี

       ฟังคุณสมชายก็เป็นไปอีกลักษณะหนึ่งในฐานะเป็นหน่วยงานเล็กกว่า คิดและทำแบบ “กองโจร” ได้สะดวกและปราดเปรียวกว่า ระบบการบริหารสั่งการทำตรงจากระดับสูงสุดตรงถึงถึงระดับชั้นได้สะดวกกว่า

       ส่วนองค์กรสื่ออื่นๆ ก็ต้องวิเคราะห์ทางออกของตัวเองตามสภาพแวดล้อมและภูมิต้านทานรวมไปถึงปรัชญาการทำงานของตนที่แตกต่างกันไป

       ที่เหมือนกันก็คงจะเป็นการควบคุมค่าใช้จ่าย สร้างรายได้ในรูปแบบใหม่ๆ ขณะที่ดำรงไว้ซึ่งจริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งวิชาชีพ

       ทุกคนยอมรับว่าไม่มีอะไรง่าย และทุกคนต้องเหนื่อย ต้องปรับวิธีคิดและวิธีการทำงานอย่างสิ้นเชิง

ลงท้ายหัวใจของความอยู่รอดก็อยู่ที่การเปลี่ยนกระบวนการคิดและทัศนคติต่อความเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า mindset

       คนที่ฟังผมพูดท่านหนึ่งได้สรุปสั้นๆ ที่ผมเสนอแนะไว้อย่างนี้

       "ในภาวะที่ความแน่นอนสูงและความเปลี่ยนแปลงยังเกิดต่อเนื่องเช่นนี้ สื่อต้องปรับตัวตลอดเวลา เหมือนเราขี่อยู่บนยอดคลื่น ต้องรักษาความปราดเปรียวของตัวเอง สำหรับคนที่รักความท้าทายจะสนุก ในวิกฤติมีโอกาส  ยิ่งวิกฤติมากก็ยิ่งมีโอกาสมาก......ถ้าสื่อบ้านเรายังอยู่ใน comfort zone ก็จะไม่รอด.....ต้องปราดเปรียว ตื่นตัวตลอดเวลา กล้าเสี่ยง กล้าทดลอง กล้าผิดพลาด และปรับตัว...สร้าง content เฉพาะของตัวเองที่คนอื่นไม่มี......Mindset ต้องไม่เหมือนเดิม  เราจะทำแบบเดิมไม่ได้ ค้นหาทักษะของเราที่มีอยู่ว่า เป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่ ถามตัวเองว่า สิ่งที่เราทำ ใครยังต้องการอยู่บ้าง"

       ผมคิดว่านั่นคือหัวใจของ “สูตร” สำหรับคนที่ต้องการจะหาคำตอบว่า “ทางรอดของสื่อ” คืออะไร

       ผมเล่าถึงคนข่าวหลายๆ กลุ่มที่ตัดสินใจกระโดดจากเรือ “เอี๊ยมจุ้น” ที่กำลังรั่วและมีผู้โดยสารมากและกำลังเผชิญกับพายุทุกทิศทางในลักษณะ Perfect Storm เพื่อลง “เรือชูชีพ” ลำเล็กๆ ที่สามารถแล่นฝ่าพายุออกไป ทำให้โอกาสรอดของตัวเองมีสูงกว่าการยึดอยู่กับของเก่าและเสี่ยงกับการ “ตายหมู่”

       สื่อมิใช่วงการเดียวที่ถูกกระทบโดยนวัตกรรมและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

       ความจริงไม่มีวงการไหนที่รอดจากความ “ป่วน” หรือ disruption นี้ได้เลย จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องหาทางออกด้วยการถามตัวเองก่อนว่า

       “สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ยังมีใครเขาต้องการหรือไม่?”

       ถ้ายังตอบไม่ได้หรือไม่อยากตอบหรือหลีกเลี่ยงการตั้งคำถามนี้ก็เตรียมรับกับการล่มสลายของวิชาชีพของตัวเองได้!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"