ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้องคดีแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมคัดค้านรัฐบาล "มาร์ค" หน้าทำเนียบฯ ปมเขาพระวิหาร ชี้ประกาศพื้นที่กระทบความมั่นคงไม่มีผลบังคับใช้ เหตุลงราชกิจจานุเบกษาภายหลัง "ทนาย" เผยต้องห้ามฎีกา เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาศาลฎีกา
ที่ศาลแขวงดุสิต ถ.นครไชยศรี วันที่ 18 ธันวาคม ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.607/2548 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายประพันธ์ คูณมี, นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, นายรัก รักพงษ์ หรือสมณะโพธิรักษ์, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายเทิดภูมิ ใจดี, นายพิภพ ธงไชย, นายรัชต์ยุตม์ หรืออมร ศิรโยธินภักดี, นายทศพล แก้วทิมา อดีตแกนนำและแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ และเครือข่ายประชาชนปกป้องแผ่นดิน เป็นจำเลยที่ 1-10 ในความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนประกาศ และข้อกำหนดห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่หรือสถานที่ที่กำหนด ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551
อัยการยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2558 สืบเนื่องกรณีเมื่อวันที่ 9-19 ก.พ.2554 ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลาที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ออกประกาศนายกรัฐมนตรี เรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 8 ก.พ.2554 และข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ออกตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มาตรา 18 มีผลบังคับใช้ จำเลยทั้งสิบกับพวกร่วมกันเข้าไป และไม่ออกจากบริเวณเส้นทาง ถ.พิษณุโลก ระหว่างแยกพาณิชยการพระนคร (ด้าน ถ.พระราม 5) ถึงแยกสวนมิสกวัน และเส้นทาง ถ.ราชดำเนินนอก ระหว่างแยกสวนมิสกวันถึงแยกมัฆวาน เขตดุสิต กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปรากฏเหตุการณ์กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แล้วจำเลยทั้งสิบกับพวกปิดการจราจรบริเวณถนนและแยกดังกล่าวทำให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรไปมาได้ปกติ
นอกจากนี้ ยังสร้างเวทีปราศรัยถาวรบน ถ.พิษณุโลก บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ลึกเข้าไปในผิวจราจร โดยใช้ชื่อ “เครือข่ายประชาชนคนไทยหัวใจรักชาติ” กับตั้งเวทีปราศรัยถาวรบน ถ.ราชดำเนินนอก บริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ซึ่งจำเลยทั้งสิบเป็นแกนนำผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีการบริหารประเทศของรัฐบาล กรณีความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชา โดยจำเลยทั้งสิบกับพวกไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เหตุเกิดที่แขวง-เขตดุสิต กทม. ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดี
โดยระหว่างการพิจารณาจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวไป และวันนี้ทุกคนก็เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนนายสนธิ อดีตแกนนำ พธม. ที่ปัจจุบันถูกคุมขังในเรือนจำคลองเปรม คดีความผิด พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ถูกเบิกตัวมาฟังคำพิพากษาด้วย โดยมีสีหน้าสดใส แต่ร่างกายค่อนข้างผอมกว่าเดิม ขณะที่กลุ่มแกนนำเมื่อเจอหน้ากันก็พูดคุยทักทายกันด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม โดยมีกลุ่มผู้สนับสนุนจำนวนหนึ่งมาร่วมให้กำลังใจประมาณ 20-30 คน
คดีนี้ศาลแขวงดุสิต ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2560 ให้ยกฟ้องทั้งหมด เนื่องจากการออกประกาศพื้นที่ห้ามบุคคลเข้า-ออก บริเวณถนนราชดำเนิน ดุสิต และพื้นที่ใกล้เคียงรอบทำเนียบฯ ไม่มีสภาพใช้เป็นกฎหมาย เพราะได้ลงประกาศในราชกิจจาฯ และมีผลบังคับใช้ภายหลังจากการชุมนุม ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้วต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสิบกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าการออกประกาศเรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงฯ เป็นการออกตามมติ ครม.และตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ มาตรา 15 วรรคหนึ่ง จึงถือได้ว่าประกาศนั้นมีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย ส่วนข้อกำหนดของนายกฯ ในฐานะ ผอ.รมน. ได้ออก ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ มาตรา 18 นั้น ก็มีสภาพบังคับเป็นกฎหมายเช่นกัน
ส่วนคำสั่ง กอ.รมน.ที่ 45/2554 เรื่องการจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ออกโดยนายกฯ ในฐานะ ผอ.รมน.นั้น แม้จะมีสภาพบังคับเป็นกฎหมายแต่ก็จะมีผลบังคับเมื่อได้ลงประกาศในราชกิจจาฯ แล้ว ซึ่งทางนำสืบของโจทก์รับฟังได้ว่า คำสั่ง กอ.รมน.ที่ 45/2554 ได้ลงประกาศราชกิจจาฯ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2554 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 18 ก.พ.2554
ดังนั้น คำสั่ง กอ.รมน. ที่เกิดก่อนในวันดังกล่าว จึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย รวมทั้งการกระทำของ ผบ.ตร.ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งได้ออกประกาศศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ 1/2554 เรื่องห้ามบุคคลเข้าหรือออกจากบริเวณพื้นที่อาคารหรือสถานที่กำหนด เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2554 อันเป็นการประกาศเพื่อให้ประชาชนและกลุ่มผู้ชุมนุมทราบถึงพื้นที่ควบคุมในเขตพื้นที่ต่างๆ ก็ไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย เพราะได้กระทำก่อนที่คำสั่ง กอ.รมน.ที่ 45/2554 จะมีผลบังคับใช้ และเป็นการประกาศที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้ง 10 จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้นเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ภายหลังนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความอดีตแกนนำ พธม. เปิดเผยว่า อัยการจะฎีกาหรือไม่นั้น ตามกฎหมายใหม่ ถ้าคดีใดที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาตรงกันต้องห้ามฎีกา เว้นแต่ได้รับรองอนุญาตให้ฎีกาจากผู้พิพากษาศาลฎีกา จึงเชื่อว่าอัยการคงไม่ยื่นฎีกา แต่หากยื่นมาทุกคนพร้อมสู้คดีอยู่แล้ว
ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตแกนนำ พธม. กล่าวว่า เป็นเทคนิคข้อกฎหมาย เพราะว่าคดีนี้แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่โดยหลักการข้อกฎหมายมีอยู่ว่า การประกาศใช้กฎหมายใดแล้วจะเอาผิดย้อนหลังนั้นไม่สามารถทำได้ ซึ่งเราก็ต่อสู้ประเด็นนี้มาตลอดตั้งแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ดังนั้นจึงชัดเจนว่าการชุมนุมเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติไม่เป็นความผิด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |