นายกฯ เทเรซา เมย์ ของอังกฤษคัดค้านการจัดประชามติเบร็กซิตครั้งที่ 2 ตามเสียงเรียกร้องที่กำลังดังระงมทั่วเกาะอังกฤษ เตือน ส.ส.จะเป็นการทำลายศรัทธาของประชาชน และสร้างความเสียหายต่อความซื่อสัตย์ของการเมืองโดยไม่อาจกอบกู้ได้
แฟ้มภาพ นายกฯ เทเรซา เมย์ เดินออกจากสถานที่แถลงข่าวที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 วันที่ 2 ของการประชุมสุดยอดผู้นำอียูเพื่อหารือข้อตกลงเบร็กซิต / AFP
รายงานของเอเอฟพีและบีบีซีเมื่อวันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2561 อ้างร่างสุนทรพจน์ของนายกฯ เทเรซา เมย์ ที่จะกล่าวต่อสมาชิกสภาสามัญชนหรือสภาล่างของอังกฤษ ซึ่งสำนักงานนายกรัฐมนตรีอังกฤษบนถนนดาวนิงเผยแพร่ล่วงหน้า ว่าผู้นำหญิงของอังกฤษจะกล่าวเตือน ส.ส. เกี่ยวกับการสนับสนุนให้มีการจัดลงประชามติว่าด้วยการถอนอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (อียู) เป็นครั้งที่ 2
"ขอพวกเราจงอย่าได้ทำลายศรัทธาของชาวอังกฤษด้วยการพยายามจัดให้มีการลงประชามติอีกครั้ง" ถ้อยคำบางตอนในร่างสุนทรพจน์นี้กล่าวไว้ "การลงมติอีกครั้งจะสร้างความเสียหายต่อความซื่อสัตย์ของการเมืองของเราอย่างไม่อาจแก้ไขได้"
ตามกำหนดการนั้น อังกฤษจะต้องถอนตัวจากอียูในวันที่ 29 มีนาคม 2562 ตามผลลัพธ์ของประชามติเมื่อปี 2559 ที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก ร่างข้อตกลงเบร็กซิตซึ่งผ่านการเจรจาต่อรองมานานเกือบ 2 ปีผ่านความเห็นชอบของผู้นำอียูแล้วเมื่อเดือนก่อน และเมย์ต้องนำร่างนี้เข้าที่ประชุมสภาล่างเพื่อลงมติ แต่นางตัดสินใจยกเลิกกะทันหันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากรู้ตัวว่าร่างที่ถูกคัดค้านอย่างหนักนี้จะไม่ผ่านมติข้างมากของสภา
ร่างข้อตกลงนี้กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ของการถอนตัว รวมถึงคำประกาศว่าด้วยแนวทางความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียู เมย์ยังมีเวลาเกลี้ยกล่อม ส.ส.ที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะลูกพรรคของนาง จนถึงการลงมติครั้งใหม่ที่เลื่อนเป็นเดือนมกราคมปีหน้า ขณะที่พวกผู้นำอียูยืนกรานว่าจะไม่เจรจาต่อรองใหม่อีกแล้ว
ความเป็นไปได้ที่ร่างนี้จะไม่ผ่านมติของสภาล่างส่งผลให้มีกระแสเรียกร้องการลงมติทางเลือก อันรวมถึงการขอให้จัดประชามติเบร็กซิตอีกครั้ง โดยมีอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างจอห์น เมเจอร์ และโทนี แบลร์ เป็นตัวตั้งตัวตี
บอริส จอห์นสัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศซึ่งเป็นหัวขบวนของการรณรงค์ให้ถอนตัวจากอียู กล่าวคัดค้านเช่นกันว่า ใครก็ตามที่เรียกร้องประชามติครั้งที่ 2 นั้นเป็นพวกบ้าสติแตก
แฟ้มภาพ ฝ่ายร่วมชุมนุมชูป้ายคำขวัญ "ออกก็คิอออก" ขณะร่วมการชุมนุมทางการเมืองที่จัดโดยกลุ่มสนับสนุนการถอนตัวจากอียู ที่กรุงลอนดอนเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 / AFP
สัปดาห์ที่แล้ว สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมของเมย์ซึ่งไม่พอใจกลยุทธ์เบร็กซิตได้ขอให้พรรคจัดการลงมติไม่ไว้วางใจเมย์ ถึงแม้เมย์จะรอดพ้นมติปลดออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคมาได้ แต่ก็มี ส.ส.ของพรรคถึง 1 ใน 3 ลงมติไม่ไว้วางใจนาง ซึ่งทำให้โอกาสที่ร่างข้อตกลงจะผ่านสภายิ่งยากเย็นขึ้น
การเรียกร้องให้จัดประชามติอีกครั้งยังทำให้นายกฯ หญิงผู้นี้และอดีตนายกฯ แบลร์กล่าวตอบโต้กันไปมาในที่สาธารณะอย่างไม่ธรรมดา โดยเมย์โจมตีแบลร์ ซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายที่เรียกร้องให้อังกฤษอยู่ร่วมในอียูต่อไป ว่าเขาดูถูกประชาชนที่ลงคะแนนเสียง และกล่าวหาแบลร์ว่า พยายามบั่นทอนรัฐบาลของนางด้วยการจัดประชุมกับพวกเจ้าหน้าที่ที่กรุงบรัสเซลส์ ส่วนแบลร์ ซึ่งเป็นนายกฯ ระหว่างปี 2540-2550 ก็ตำหนิเมย์ว่า "ไม่รับผิดชอบ"
ฝ่ายต่อต้านเบร็กซิตชูป้ายข้อความและโบกธงยูเนียนและธงอียู ด้านนอกรัฐสภาอังกฤษ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 / AFP
หากสภาล่างไม่อนุมัติร่างข้อตกลงเบร็กซิต ก็มีแนวโน้มที่อังกฤษจะต้องออกจากอียูโดยปราศจากข้อตกลงกำหนดเงื่อนไขใดๆ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าจะกระทบต่อการค้าอย่างร้ายแรงและจะจุดชนวนวิกฤติการเงิน
มี ส.ส.หลายสิบคนจากทุกฝั่งสนับสนุนให้จัดประชามติรอบ 2 แต่ก็มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่กำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะให้ประชาชนได้ลงคะแนน และอีกข้อเสนอก็คือ ให้ ส.ส.ลงมติทางเลือกที่แตกต่างออกไป คือ ให้เลือกระหว่างไม่ต้องมีข้อตกลงเลย, ประชามติรอบ 2 และทางเลือกแบบนอร์เวย์ ที่คงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับอียูไว้ต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |