จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช พระบิดาแห่งกองทัพบกไทย


เพิ่มเพื่อน    


    วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๖  คือวันสิ้นพระชนม์จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ขณะมีพระชนมายุเพียง ๓๗ พรรษา เท่านั้น  ทรงเป็นต้นราชสกุล จิรประวัติ ณ อยุธยา
    พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๑๗ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทับทิม(ธิดาพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ))เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๙ ในพระบรมมหาราชวัง 
    ทรงสำเร็จการศึกษาชั้นต้นที่พระตำหนักสวนกุหลาบ และ เป็นพระราชโอรสกลุ่มแรก ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงไปศึกษาต่อในทวีปยุโรป เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ พร้อมกัน ๔ พระองค์ คือ
กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์) กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์)
กรมหลวงปราจิณกิติบดี (พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม)     กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช (พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช)
    ด้วยสายพระเนตรยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษาในประเทศต่างๆเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับราชสำนักในยุโรป และความสัมพันธ์ใกล้ชิดดุจพระญาติเช่นนี้ ก่อให้เกิดคุณอย่างอเนกอนันต์ต่อประเทศของเรา
     พระราชโอรสแต่ละพระองค์ล้วนเป็นกำลังสำคัญของพระราชบิดาในการพัฒนาประเทศทุกๆด้าน ต่างล้วนทรงงานหนักในการบุกเบิกกิจการต่างๆของประเทศสยาม ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงพัฒนาประเทศเพื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากการล่าอาณานิคม 
    พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ทรงศึกษาวิชาทหาร ที่ประเทศเดนมาร์ก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ – ๒๔๓๗ ได้รับพระราชทานพระยศเป็นนายร้อยตรีแห่งกองทัพบกประเทศเดนมาร์ก จากนั้นทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนชั้นสูงสำหรับนายทหารทั่วไป เมื่อทรงสอบวิชาทหารปืนใหญ่ได้แล้ว ใน พ.ศ. ๒๔๓๙ จึงออกไปฝึกราชการอยู่ในกรมทหารปืนใหญ่สนามของประเทศเดนมาร์ก
     เสด็จกลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ เข้ารับราชการในกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ, ปลัดกองทัพบก, เสนาธิการทหารบก และเสนาบดีกระทรวงกลาโหม 
ขณะดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมได้ทรงปรึกษากับ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เสนาธิการทหารบก ถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีเครื่องบินไว้ใช้ป้องกันประเทศ เหมือนอย่างอารยประเทศ และริเริ่มจัดตั้งกองบินทหารบก ซึ่งในเวลาต่อมาได้พัฒนาเป็น กองทัพอากาศไทย
     หลังจากที่เสด็จกลับจากการศึกษาวิชาการทหารที่ประเทศเดนมาร์ก ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯให้สร้างวังริมคลองมหานาค บริเวณสะพานกษัตริย์ศึก พระราชทานเพื่อใช้เป็นที่ประทับ โดยทรงเรียกวังที่ประทับนี้อย่างง่ายๆ ว่า วังมหานาค ตามชื่อคลองที่ไหลผ่านหน้าวังแห่งนี้ 
    ครั้นถึงช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา วังนี้ก็ถูกตัดแบ่งขายจนเหลือเพียงตำหนักของ พระธิดาทางปีกซ้ายเท่านั้น วังมหานาคนี้ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของตลาดมหานาค และ โรมแรมปริ๊นซ์พาเลช ริมคลองมหานาค โดยตัวโรงแรมในปัจจุบัน และอาคารโบ๊เบ้ทาวเวอร์คือ อดีตของตำหนักใหญ่ ในอดีตบริเวณวังประกอบไปด้วย ตำหนักใหญ่ ตำหนักพระโอรส ตำหนักพระธิดา โรงม้า ปัจจุบัน คงเหลือเพียงตำหนักพระธิดา ซึ่งอยู่ทางปีกซ้ายของวังซ่อนตัวอยู่ในบริเวณ ตลาดมหานาค โดยเป็นที่พำนักของทายาทในราชสกุลจิรประวัติ เช่น ม.ล.จิราธร จิรประวัติ เป็นต้น
    สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงยกย่องไว้ว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช เป็นผู้ที่รักและอุปการะพระมารดาและครอบครัวเป็นอย่างดี จนถึงกับทรงกล่าวว่าหาได้ยากมากที่จะมีครอบครัวกลมเกลียวเช่นนี้ และผู้ที่เคยทำงานกับพระองค์ก็ล้วนแต่รักและยกย่องพระปรีชาสามารถของพระองค์กันทั้งนั้น 
     สมเด็จกรมพระยาดำรงฯยังได้ทรงพระนิพนธ์ถึงพระราชอัธยาศัยบางประการของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ในฐานะนายทหารไว้ว่า
    “ข้าพเจ้าเคยได้ยินนายทหารเล่าให้ฟังว่า เมื่อแรกกรมหลวงนครไชยศรีฯพาทหารออกไปฝึกหัดสนามที่เมืองราชบุรี ถึงเวลาค่ำลง นายทหารพากันปรารภว่าจะนอนอย่างไรกรมหลวงนครไชยศรีฯได้ยิน รับสั่งว่าไม่ยากอันใด จึงรับสั่งเรียกให้หากระดานมาได้แผ่น ๑ เอากระดานวางลงบนแผ่นดิน แล้วขึ้นบรรทมบนแผ่นกระดานนั้นจนหลับไปตั้งแต่นั้นมา นายทหารก็เข้าใจได้ว่าหาที่นอนในสนามไม่ยากจริง”
    หม่อมหลวงรจนาธร ณ สงขลา (จิรประวัติ) พระปนัดดาของพระองค์ได้เล่าเรื่องในหนังสือ ๑๐๑ จุลจักรี ๑๐๑ ปี จุลจอมเกล้า  บางตอนของหนังสือระบุเอาไว้ดังนี้
    “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เป็นพระราชโอรสพระองค์หนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวส่งไปประเทศอังกฤษตั้งแต่ยังพระเยาว์ ทรงศึกษาได้ไม่นานนัก สมเด็จพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ แห่งประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นพระสหาย ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ไปอุปการะ โดยให้ศึกษาหลักสูตรทหาร ซึ่งสมเด็จพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ ทรงรักพระโอรสบุญธรรมพระองค์นี้มาก สมัยนั้นคนไทยไม่ต้องขอวีซ่าเข้าเดนมาร์ค เพราะถือว่าหนึ่งในพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ นั้นเป็นคนไทย
    พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ทรงรักและเคารพพระบิดามาก พระองค์ทรงงานสนองพระราชดำริด้านการทหาร ซึ่งเป็นหน้าที่อันสำคัญในขณะนั้น โดยงานในตำแหน่งผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ เป็นงานที่หนักมาก พระองค์ได้ทรงงานโดยไม่คำนึงถึงพระวรกาย แม้จะทรงประชวรก็ไม่ยอมละทิ้งหน้าที่ จนพระบิดาต้องทรงตักเตือน เพราะทรงห่วงใยในเรื่องพระพลานามัย
    ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ได้รับพระราชทานยศทางทหารขั้นสูงสุดเป็นจอมพลพระองค์แรกของทหารบก ทรงมีผลงานจากการวางรากฐานเรื่องการศึกษาของทหาร และร่างพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหาร
    พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ทรงรักและโปรดการสะสมงานศิลปะทุกชนิด ของทุกอย่างที่วังมหานาค ทั้งงานเพนท์ งานปั้น แม้กระทั่งจานข้าว ก็มีลายเซ็นพระนาม และมีการออกแบบอย่างสวยงาม”
     จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ทรงมีวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่งในการที่จะช่วยพระราชบิดา และ พระเชษฐา สร้างกองทัพบกที่ทันสมัย ถึงแม้พระสุขภาพจะไม่ดีท่านก็ไม่ยอมหยุดทรงงาน จนสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๖  เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๖ สิริพระชนมายุได้ ๓๗ พรรษา ทรงได้รับการยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งกองทัพบกไทย” 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"