การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาโลกร้อนกรุงปารีสครั้งที่ 24 ที่โปแลนด์ปิดฉากเมื่อวันอาทิตย์ โดยเกือบ 200 ประเทศสามารถเอาชนะความเห็นต่างการเมือง และผลักดันกฎกติกาที่ต่อลมหายใจความตกลงโลกร้อนปารีสได้สำเร็จ แต่ยังโดนวิจารณ์ว่าไม่ทะเยอทะยานมากพอเพื่อป้องกันผลกระทบที่อันตรายจากภาวะโลกร้อน
มิชาล คูร์ไทกา ประธานค็อป 24 กระโดดลงจากโต๊ะแถลงข่าวด้วยความดีใจ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2561 / AFP
การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 24 หรือค็อป 24 ที่เมืองคาโตวีตเซของโปแลนด์ ยาวนาน 2 สัปดาห์ ปิดฉากลงได้เมื่อผู้แทนจาก 196 ประเทศสามารถหาฉันทมติกันได้ในนาทีสุดท้าย เกี่ยวกับกฎกติการ่วมกันเพื่อให้ปฏิบัติได้ตามเป้าหมายของความตกลงลดภาวะโลกร้อนกรุงปารีส ซึ่งก็คือการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม
มิชาล คูร์ไทกา ประธานค็อป 24 กล่าวกับผู้แทนในที่ประชุมว่า การบรรลุข้อตกลงที่มีความจำเพาะเจาะจงและเป็นเรื่องทางเทคนิคให้ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย กฎกติกาที่ผ่านออกมาได้ในครั้งนี้จะเป็นก้าวเล็กๆ นับพันก้าวที่แต่ละประเทศจะเดินหน้าไปด้วยกัน "มันเป็นเส้นทางที่ยาวไกล แต่พวกเราพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อไม่ให้ใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง" เขากล่าว
ความตกลงซึ่งกำหนดแนวทางกฎกติการ่วมกันสำหรับทุกประเทศ ผ่านการเจรจาแบบมาราธอนมาได้ เมื่อรัฐมนตรีสามารถฝ่าด่านความขัดแย้งระหว่างบราซิลกับอีกหลายประเทศ เกี่ยวกับกฎกติกาสำหรับการเฝ้าตรวจคาร์บอนเครดิต ด้วยการยืดการถกเถียงหารือไปปีหน้า แต่ขณะเดียวกัน ความตกลงนี้ก็ไม่ได้ส่งสัญญาณถึงภาคธุรกิจให้เร่งดำเนินการ
กฎกติกาความยาว 156 หน้าฉบับนี้กำหนดวิธีการที่แต่ละประเทศจะรายงานและสังเกตการณ์การปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาของประเทศตน ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปรับแผนของตนให้เข้ากับปัจจุบัน แต่รัฐมนตรีหลายคนยอมรับว่า ไม่ใช่ทุกประเทศที่พอใจกับผลลัพธ์ทั้งหมด
จากซ้าย หัวหน้าคณะทำงานด้านโลกร้อนของยูเอ็น, ผู้แทนอิหร่าน, จีน, สหภาพยุโรป และประธานค็อป 24 ภายหลังที่ประชุมบรรลุความตกลงว่าด้วยกฎกติกาการปฏิบัติตามความตกลงปารีส / AFP
รายงานบีบีซีกล่าวว่า ประเทศที่ยากจนต้องการกฎกติกาที่มี "ความยืดหยุ่น" บ้าง เพื่อไม่ให้ประเทศเหล่านี้ถูกผูกมัดด้วยกฎกติกาเสียจนไม่มีขีดความสามารถที่จะปฏิบัติได้จริง
บางประเทศและองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมวิจารณ์ความตกลงฉบับนี้ว่าไม่ได้กำหนดเป้าหมายที่ทะเยอทะยานมากขึ้นสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้เพียงพอต่อการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ประเทศยากจนที่เสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ต้องการความชัดเจนมากขึ้นเช่นกันว่า เงินกองทุนภาวะโลกร้อน 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2563 ตามที่ตกลงไว้แล้วนั้น จะจัดสรรแก่พวกเขาอย่างไร
อันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ซึ่งออกจากการประชุมไปเมื่อวันพฤหัสบดี ย้ำถึงความจำเป็นที่ทุกประเทศต้องทุ่มเทมากขึ้น โดยเขากล่าววา มีแต่ความทะเยอทะยานอย่างเดียวเท่านั้น ที่จะนำทางรัฐภาคีทั้งหลาย ซึ่งกำลังเตรียมแผนลดการปล่อยก๊าซของตนภายในปี 2563 เพื่อทวนกระแสการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่วิ่งเร็วแซงหน้าพวกเรา
รายงานของจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ที่มียูเอ็นเป็นผู้อุปถัมภ์ กล่าวเตือนไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ทุกภาคส่วนของสังคมจำเป็นต้อง "เปลี่ยนแปลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน" หากต้องการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่รัฐบาลหลายประเทศไม่ยินดีรับฟังคำเตือนนี้ ไม่ว่าจะเป็นซาอุดีอาระเบีย, รัสเซีย, คูเวต รวมถึงสหรัฐ ซึ่งรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะถอนตัวจากความตกลงปารีสนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |