เราเกิดมาเพื่ออะไร


เพิ่มเพื่อน    

    เมื่ออายุมาถึงวันใกล้เกษียณ อดไม่ได้ที่จะมองย้อนไปดูอดีตอันยาวนานที่ผ่านมา เหมือนดูหนังชีวิตที่มีทั้งความสุข สนุกสนานในแต่ละช่วงวัย มีความรู้สึกดีๆ กับคนรอบข้าง มีความเศร้าบ้างบนเส้นทางชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน กว่าจะค้นพบความสุขในบั้นปลายชีวิตในการได้ทำงานที่ชอบแบบไร้ข้อจำกัด ได้มีอิสระไม่ผูกมัดกับอะไร แม้จะไม่มีรายได้เลยจากสิ่งที่ทำ แต่ก็ได้มิตรภาพและได้ใช้ชีวิตกับเครือข่ายต่างๆ เป็นเพียงเพียงจุดเล็กๆ ที่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมที่หลากหลายให้เกิดประโยชน์กับแผ่นดินนี้
    เกิดคำถามขึ้นในใจว่า เราเกิดมาเพื่ออะไร เพื่อใช้ชีวิตในวัยเด็กแค่ 3 ปีก่อนถูกส่งเข้าอนุบาลและเรียนหนังสืออีก 20-25 ปีกว่าจะจบปริญญาตรีถึงปริญญาโท หลังจากนั้นก็ก้มหน้าก้มตาทำงาน มีครอบครัว และต้องเกษียณตอนอายุ 60 บางคนได้ทำงานต่อ บางคนมีเงินเก็บ บางคนมีธุรกิจรองรับ บางคนเป็นข้าราชการไม่ต้องดิ้นรนมากยังคงมีเงินบำนาญใช้ บางคนโชคดีมีลูกหลานเลี้ยงดู แต่หลายคนไม่โชคดีแบบนั้นต้องอยู่แบบโดดเดี่ยว ไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีรายได้ บางคนโชคร้ายมีโรคภัยรุมเร้ากลายเป็นภาระให้ลูกหลาน ทำให้สังคมไทยต้องเตรียมรับมือกับสังคมผู้สูงวัยอย่างจริงจัง
    ด้วยสภาพสังคมที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เต็มไปด้วยการแข่งขันในทุกช่วงของอายุ เริ่มตั้งแต่ฝากท้อง หา รร.อนุบาล วนเวียนกับการสอบและติวในแต่ละระดับชั้น จนกระทั่งการวิ่งเต้นหางานทำ การไต่เต้าให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง การเลื่อนขั้น ในแต่ละช่วงเมื่อมีผู้สมหวังย่อมมีคนผิดหวัง และแน่นอนจำนวนคนที่ผิดหวังย่อมมีมากกว่าผู้สมหวัง คนอ่อนแอก็แพ้ไป จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมสังคมเรามีผู้เป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นทุกวัน ในประเทศไทยพบวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูงร้อยละ 44 หรือประมาณกว่า 3 ล้านคน จากจำนวนวัยรุ่นทั้งหมดประมาณ 8 ล้านคน อัตราป่วยร้อยละ 18 ซึ่งคาดว่าป่วยแล้วกว่า 1 ล้านคน นับเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว และโรคนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นฆ่าตัวตายสูงขึ้นอีกด้วย
    ในความเป็นจริง เส้นทางชีวิตของคนเราก็เป็นไปไม่ได้ที่จะพบความสุขไปได้ตลอด ต่อให้เศรษฐี ชาวบ้านหรือยาจกก็ย่อมมีความทุกข์อุปสรรค หรือความผิดหวังในรูปแบบของตนเอง คำถามที่ว่า “เราเกิดมาเพื่ออะไร” บางคนอาจบอกว่าเกิดมาเพื่อชดใช้กรรมแล้วก้มหน้าก้มตายอมรับไป บางคนอาจเพียบพร้อมก็เกิดมาเพื่อเสวยสุข อาจเป็นผลมาจากทำบุญมาดีในชาติก่อน บางคนค้นพบความสุขในแบบของตัวเองเพื่อหลุดพ้นในทางธรรม บางคนค้นพบความสุขนอกกรอบ ดำเนินชีวิตด้วยความพอเพียง เมื่อควบคุมรายรับกับรายจ่ายให้สมดุล ตัดความอยากได้อยากมี ก็พอหาความสุขแบบไม่เป็นหนี้ได้
    ไม่ว่าเราจะเกิดมามีชีวิตแบบไหน เชื่อได้ว่าตลอดช่วงการใช้ชีวิตไม่มีใครหรอกที่จะสุขหรือทุกข์ 100% จะต้องมีช่วงที่มีความสุขก็ให้เก็บความรู้สึกนั้นไว้ เมื่อเวลามีความทุกข์ให้เอาความรู้สึกนั้นมาเยียวยาและพร้อมที่จะต่อสู้และเดินหน้าต่อไป ที่สำคัญคนในครอบครัวต้องหมั่นสังเกตและพูดคุยเพื่อสร้างบรรยากาศดีๆ ให้เกิดพลังในการต่อสู้และเป็นกำลังใจให้กันและกัน แต่สังคมก้มหน้าในปัจจุบันที่ทุกคนไหล่ห่อคอยื่นอยู่หน้าจอ ทำให้สมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมงานขาดการปฏิสัมพันธ์กันอย่างเห็นได้ชัด คำถามคือ เราจะใช้ชีวิตอยู่หน้าจอและให้มือถือมีอิทธิพลกับชีวิตของเรามากกว่าคนเป็นๆ เช่นนี้หรือ.

                    จิตติมา กุลประเสริฐรัตน์
                  ([email protected])


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"