เมื่อเสื้อกั๊กเหลืองเห็นว่าฝรั่งเศสต้องปฏิวัติอีกครั้ง


เพิ่มเพื่อน    

 

 
    หลังการชุมนุมเกือบครบเดือน ความเสียหายเกิดขึ้นมากมาย ผู้ชุมนุมประท้วงนับพันถูกจับกุม บาดเจ็บหลายร้อย รัฐบาลมาครงเสนอมาตรการช่วยเหลือคนจนหลายข้อ เช่น เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอีกคนละ 100 ยูโร (113.5) ดอลลาร์ ไม่เก็บภาษีค่าล่วงเวลากับโบนัสปลายปี หลายคนบอกว่าพอใจและเห็นว่าควรยุติการชุมนุมได้แล้ว ในขณะที่บางคนเห็นว่าเป็นหลักฐานบ่งบอกว่ารัฐบาลไม่ได้คิดแก้ปัญหาจริงแค่ทำให้เห็นว่าได้ทำ เหมือนการแสดงหนังให้ชม บางคนเห็นว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกเล็กน้อยเหมือนเอาเงินภาษีของคนจนมาจ่ายคนจน
ต้องการลดความเหลื่อมล้ำหรือแค่มาตรการช่วยเหลือ :
    ประเด็นที่ควรตระหนักคืออะไรเป็นวัตถุประสงค์หลักของผู้ชุมนุม พวกเขาเพียงต้องการให้รัฐบาลระงับขึ้นภาษีน้ำมันหรือ แน่นอนว่าไม่ใช่ ผู้ชุมนุมบางคนกล่าวว่ามาครงเป็นผู้นำของคนรวย กำลังสื่อว่าต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาอภิสิทธิ์ชน ลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจซึ่งกำลังขยายตัวไม่เพียงฝรั่งเศสแต่ทั่วโลก สภาพสังคมปัจจุบันคือการกดขี่ขูดรีดคนจน นโยบายรัฐบาลหลายข้อมีเพื่อประโยชน์ของพวกคนรวย เช่นนี้หรือเรียกว่าประชาธิปไตย
    แต่รัฐบาลมาครงเพียงให้สัญญาว่าจะระงับการขึ้นภาษีน้ำมัน พร้อมกับเพิ่มมาตรการช่วยเหลือคนจน ไม่ได้เอ่ยเรื่องแก้ปัญหาอภิสิทธิ์ชน เรื่องไม่เก็บภาษีคนรวย 
    ผู้ประท้วงบางคนเห็นว่ามาครงเป็นนักขายฝัน ให้คำมั่นสัญญาจะทำโน่นทำนี่เพื่อประชาชน สุดท้ายประชาชนถูกหลอก 18 เดือนที่บริหารประเทศมากพอพิสูจน์ธาตุแท้ของรัฐบาลนี้
    ถ้ามองย้อนหลังไกลๆ รัฐบาลบอกว่าจะปฏิรูปโน่นนี่นั่นแต่ยิ่งทำคนจนยิ่งจนลง คนรวยยิ่งรวยขึ้น เช่นนี้หมายความว่าอย่างไรกันแน่ ที่พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือ ส.ส. ส.ว. ผู้นำประเทศ ไม่ได้ตั้งใจทำงานเพื่อพลเมืองส่วนใหญ่ แม้ได้ขึ้นชื่อว่าคือผู้แทนราษฎร เป็นผู้ปกป้องคนทั้งชาติ
    นี่คือเหตุผลสำคัญของการชุมนุมประท้วง เป็นที่มาของวลี “ประธานาธิบดีของคนรวย”
ความเหลื่อมล้ำ อภิสิทธิ์ชนที่มาของรัฐเสรี :
    การปฏิวัติฝรั่งเศสคือการสร้างรัฐเสรี (liberal state) คำว่ารัฐเสรีไม่เพียงที่ทุกคนมีเสรีภาพ แท้จริงแล้วยังมีหลักการอื่นๆ  ที่อยู่ภายใต้หลักรัฐเสรี หนึ่งในนั้นคือความเสมอภาค ความเท่าเทียม
    การเข้าใจรัฐเสรีต้องเริ่มต้นด้วยการเข้าใจว่าหมายถึงไม่อยู่ใต้อำนาจระบอบเก่าที่การปกครองอยู่ในมือของกษัตริย์ ขุนนาง บาทหลวง คนกลุ่มเหล่านี้เรียกรวมๆ กันว่าอภิสิทธิ์ชน 
    ดังที่ทราบกันว่าอภิสิทธิ์ชนมีฐานันดรศักดิ์ สามัญชนต้องให้ความเคารพ สมัยก่อนปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ต้องเสียภาษีด้วยกฎหมายที่พวกเขาตราขึ้นเอง นับวันอภิสิทธิ์ชนจึงร่ำรวยขึ้น สะสมที่ดินมหาศาล ในขณะที่สามัญชนพวกหาเช้ากินค่ำคือผู้เสียภาษีหลักแก่รัฐ มีคำถามอยู่เสมอว่าทำไมพวกอภิสิทธิ์ชนที่ร่ำรวยมหาศาลไม่ต้องจ่ายภาษี แต่เป็นภาระของคนยากคนจน อีกทั้งอภิสิทธิ์ชนใช้ภาษีรัฐเพื่อบำรุงบำเรอตนเอง
    จะเห็นว่าภายใต้ระบอบนี้นับวันคนรวย (อภิสิทธิ์ชน) จะรวยขึ้น คนจนก็จนต่อไป อภิสิทธิ์ชนนับวันจะกระชับอำนาจการเมืองทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น ส่วนสามัญชนคือผู้ใต้ปกครองเรื่อยไป
    เป็นภาพความเหลื่อมล้ำในสังคม เหลื่อมล้ำทั้งเศรษฐกิจและอำนาจการปกครอง เป็นอีกสาเหตุหลักนำสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นการปฏิวัติสู่ประชาธิปไตยแบบตัวแทนสมัยใหม่ (modern representative democracy) ที่แรกของยุโรป
    พวกเสื้อกั๊กเหลือง (Yellow Vest) บางส่วนที่เรียกร้องการปฏิวัติประชาชน (citizen revolution) คือต้องการให้รัฐบาลจะกระจายความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียม วางระบบการกระจายรายได้แบบใหม่ (redistribution of wealth) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เหล่านี้สอดคล้องกับการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งศตวรรษที่ 18 นั่นเอง
    ระบอบการเมืองการปกครองคือเรื่องสำคัญที่ต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อนำสู่นโยบาย การบริหารประเทศที่ดูแลทุกกลุ่มคน กระจายความมั่งคั่งให้เท่าเทียมกว่านี้ ความเหลื่อมล้ำมีเสมอแต่ไม่ใช่ระบบการปกครองที่สนับสนุนความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนรวยไม่กี่คนรวยขึ้น แต่คนจนที่มีอยู่มหาศาลตกทุกข์ได้ยาก
    การช่วยเหลือจากรัฐเป็นเรื่องจำเป็น การมีองค์กรศาสนา องค์กรเอกชนให้ความช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากเป็นเรื่องดีงาม แต่การปกครองที่ดีคือพลเมืองสามารถช่วยเหลือดูแลตัวเอง หน้าที่สำคัญของรัฐคือเอื้ออำนวยไม่ให้ใครกีดกันพลเมืองที่จะดูแลตนเอง ทำให้คนส่วนใหญ่เหมือนคนง่อยเปลี้ยเสียขา
    พ่อแม่หวังให้ลูกเติบใหญ่และดูแลตัวเองได้ ไม่ใช่ร้องขออาหารจากพ่อแม่เรื่อยไป
มหันตภัยที่รอคอย :
    ในโลกยุคปัจจุบันทุกคนหนีไม่พ้นอยู่ใต้ระบอบการปกครองอย่างใดอย่างหนึ่ง ในที่ไหนที่หนึ่ง เวลาพูดถึงประชาธิปไตยเราหมายถึงระบอบการปกครองที่พลเมืองเป็นใหญ่ เป็นผู้ปกครอง
    จะมีประโยชน์อันใดหากภายใต้ระบอบนี้ประชาชนจำนวนมากอยู่อย่างถูกกดขี่ แค่พยายามหาเช้ากินค่ำก็ลำบากมากแล้ว ไม่ต้องคิดถึงความศิวิไลซ์อื่นๆ หากสตรีจำนวนมากต้องทนอยู่อย่างผู้ถูกกดขี่ เป็นเหมือนพลเมืองชั้น 2 หากคนรุ่นนี้โยนปัญหาโยนภาระให้ลูกหลานแบกรับ คนในสังคมต่างต่อสู้ฟาดฟันอีกคน ทำร้ายทำลายอีกฝ่าย หากสังคมไม่พัฒนาสู่ความยั่งยืน แต่เป็นอายธรรมที่กำลังทำลายตัวเอง
    เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของคำถามที่คนในสังคมต้องอภิปรายถกเถียงว่าต้องการอะไรจากระบอบประชาธิปไตย แต่ละคนจะทำบทบาทหน้าที่ของตนอย่างไร หาไม่แล้วเป็นไปได้ว่าอำนาจนิยมที่ไม่ชอบธรรมจะเพิ่มสูงขึ้นๆ นั่นหมายความว่ารวยกระจุกจนกระจาย คนส่วนใหญ่นับวันจะอยู่ยากขึ้นทุกที
    การชุมนุมประท้วงที่ฝรั่งเศสในขณะนี้คืออีกปรากฏการณ์ที่กำลังประกาศว่าหลายคนกำลังลำบากภายใต้ประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ ระบอบที่บอกว่าประชาชนคือเจ้าของประเทศ
    มีผู้อธิบายว่าการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยส่งเสริมพวกนายทุน เอื้อให้พวกนายทุนครอบงำอำนาจทางการเมืองด้วยธนกิจการเมือง (Money Politics) การเมืองที่เงินสามารถซื้อเสียงซื้ออำนาจ ขู่บังคับครอบงำให้ชาวบ้าน 
    การเลือกตั้งจึงนำสู่การเป็นอำนาจนิยมแบบนายทุนผูกขาด การปกครองประเทศไม่ว่าจะด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม จึงไม่ได้มีเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ แต่เพื่อผลประโยชน์ของนายทุนกับชนชั้นปกครองบางกลุ่ม และพลพรรคของตนเป็นหลัก
    แน่นอนว่าพรรคพวกของนายทุนพลอยได้ประโยชน์เมื่อนายทุนผูกขาดอำนาจประเทศ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการบางส่วน ประชาชนบางส่วนที่ได้ประโยชน์จากนโยบายประชานิยม แต่ในระยะยาวสังคมประเทศชาติจะถดถอยในทุกด้าน เช่น ค่าครองชีพสูง รายได้ไม่พอใช้ ผู้คนคิดถึงแต่เรื่องทำมาหากินเป็นหลัก ชาวบ้านเกษตรกรส่วนใหญ่สูญเสียที่ดินทำกิน กลายเป็นลูกจ้างทำไร่ทำนาของนายทุน ต้องเปลี่ยนอาชีพหรือกลายเป็นคนตกงาน คนรากหญ้าจะร้องขอพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาลมากขึ้น ร้องขอนโยบายประชานิยมมากขึ้น ชนชั้นกลางจะค่อยๆ ลดน้อยลง กลายเป็นคนหาเช้ากินค่ำ เยาวชนหางานทำยาก ตกงานจำนวนมาก รู้สึกสิ้นหวังไร้อนาคต
    เหล่านี้เป็นเพียงสัญญาณก่อนหายนะครั้งใหญ่
    หายนะครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลไม่มีงบประมาณ ไม่สามารถหาเงินหาทรัพยากรเพื่อนโยบายประชานิยมอีกต่อไป หรืองบประมาณช่วยเหลือลดลงเรื่อยๆ เมื่อนั้นหลายคนจะเห็นชอบกับการแก้ไขปัญหาสังคมการเมืองด้วยความรุนแรง ในขณะที่รัฐบาลจะเป็นอำนาจนิยมมากขึ้นไปอีก
    ถ้าไม่แก้ไขจริงจังยิ่งปล่อยนานยิ่งเป็นปัญหา
    อันที่จริงแล้วการชุมนุมมีทั้งประโยชน์และโทษ ขึ้นกับว่าอยู่ฝ่ายไหน ยึดมุมมองใด รถยนต์ของหลายคนถูกเผา ร้านถูกปล้น หลายคนบาดเจ็บสาหัส ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่อาจปฏิเสธโอกาสสูญเสีย อันที่จริงแล้วประวัติศาสตร์บันทึกความสูญเสียมากมาย 
    ถ้ามองจากฝ่ายต้องการปฏิรูปประชาธิปไตย ไม่ว่ารอบนี้จะสำเร็จหรือไม่ สังคมได้ถกเถียงอภิปรายว่าปัญหาคืออะไร ควรแก้ปัญหาอย่างไร ควรเดินไปข้างหน้าอย่างไร แม้ยังไร้คำตอบที่คิดเห็นตรงกันก็ใช่ว่าไร้ประโยชน์ ความคิดปฏิรูปเดินหน้าต่อไป.
----------------
ภาพ : ภาพการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"