เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป คสป.
เป็นอีกครั้งที่เครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป คสป.จัดเวทีพูดคุยถึงการขับเคลื่อนงานด้านศิลปวัฒนธรรมภายใต้รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ผ่านงานเสวนา "ศิลปวัฒนธรรมภายใต้รัฐธรรมนูญ 4.0 " ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความตื่นตัวให้คนไทยเห็นคุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรม ช่วยกันรักษารากเหง้าของวัฒนธรรมไทย เพราะทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ เกิดความไม่สมดุลของวัฒนธรรมมากขึ้นในสังคม
เวทีนี้จัดโดยเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป คสป. มูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน และหอศิลปกรุงเทพฯ บรรยากาศคึกคักโดยมีศิลปินแห่งชาติ ศิลปินกลุ่มต่างๆ นักคิดนักเขียน กวี ศิลปินหมอลำ คนในแวดวงดนตรีคลาสสิค ตลอดจนประชาชน ซึ่งห่วงใยวัฒนธรรมร่วมกิจกรรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้
อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป คสป. อดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรม และการศาสนา กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม ไม่ต้องรอให้สถานการณ์นิ่ง เพราะความเคลื่อนไหวเป็นเรื่องของชีวิต ก่อนหน้าจะมีคณะกรรมาธิการปฏิรูปวัฒนธรรม ก็ทำงานผ่านสมัชชาศิลปวัฒนธรรมเพื่อให้ทิศทางการปฏิรูปงานวัฒนธรรมมีประสิทธิภาพกว่าที่ผ่านมา ซึ่งงานด้านศิลปวัฒนธรรมจะสมบูรณ์แบบ และทั่วถึงจะต้องเกิดจากความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ คือหน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะผู้กำหนดนโนยาย และภาคประชาชนซึ่งเป็นคนปฏิบัติและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี
" ภายใต้รัฐธรรมนูญและแนวคิด Thailand 4.0 ที่รัฐบาลใช้เป็นกรอบขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม เครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป เสนอว่าให้มีการเปิดพื้นที่ต้นแบบทางวัฒนธรรม ทั้งทางกายภาพ เช่น ถนนคนเดินตามจังหวัดต่างๆ และพื้นที่ทางความคิด รวมถึงสื่อออนไลน์ เพราะศิลปวัฒนธรรมไทยมีความมั่งคั่ง ต้องส่งเสริมให้เจริญงอกงาม ไม่ใช่ของเก่าก็หาย ของใหม่ก็ไม่ปรากฏ ต้องสำรวจความมั่งคั่ง ทำให้ปรากฎให้ได้ แล้วก็ไม่เอาอย่างฉาบฉวย " ประธาน คสป. กล่าว
นอกจากนี้ อาจารย์เนาวรัตน์ กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนจะมีพลังต้องเป็นรูปแบบไตรภาคีศิลปวัฒนธรรมอย่างสมดุล ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เป็นสิ่งที่เราตั้งเป้าหมายแต่ต้น ซึ่งยังไม่ทั่วถึง ไม่สมดุล ต้องเร่งสานพลังให้เป็นหนึ่งเดียว อีกประการสำคัญการจัดเวทีเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย สร้างความเข้าใจกับเครือข่ายส่วนภูมิภาค และหนุนเสริมการจัดตั้งคณะกรรมการศิลปวัฒนธรรมจังหวัด นอกจากที่หน่วยงานรัฐมีสภาวัฒนธรรมจังหวัดอยู่แล้ว ให้ทำงานร่วมกันกำหนดทิศทางศิลปวัฒนธรรมมากขึ้น และที่ขาดไม่ได้การสื่อสารสาธารณะกับสังคมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง
"ขณะนี้มีเป้าหมาย ศิลปินทุกแขนงทั่วประเทศพร้อมสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ต้นแบบวัฒนธรรมขึ้น อยากชวนให้คนไทยมีส่วนร่วม ทำให้เป็นจริงภายใต้รัฐธรรมนูญ 4.0 ที่เปิดทางแล้ว ในส่วนหน้าที่ของรัฐที่ต้องทำ ถ้าไม่ทำหรือทำโครงการแล้วส่งผลกระทบ ประชาชนมีสิทธิกระตุ้นเตือนและเรียกร้องความเสียหายได้ตามกฎหมาย " อาจารย์เนาวรัตน์ ย้ำในเวที
ศ.พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม
ด้าน ศ.พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ กล่าวว่า ศิลปะเป็นรูปแบบและความสวยงามเชิงอารมณ์ความรู้สึก ขณะที่วัฒนธรรมเป็นบริบทของสังคม ที่กังวล คือ ใช้ศิลปะสื่อสารในเรื่องแปลก หยาบโลน ไม่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ศิลปะในสมัยโบราณจะงดงามและยกระดับจิตใจ ต้องรักษารากส่วนนี้ไว้ ส่วนการพัฒนาประเทศไทยยุค 4.0 ฝากให้ภาครัฐและภาคประชาชนระมัดระวังการขายวัฒนธรรมเพื่อรองรับการท่องเที่ยว
" ตนสนับสนุนการเปิดพื้นที่วัฒนธรรม ปัจจุบันมีการจัดเทศกาล แสดงงานทั่วประเทศ พื้นที่เหล่านี้จะเสริมสร้างศิลปวัฒนธรรมของชาติให้มั่นคงถ้าผลงานสร้างจากกลุ่มศิลปินที่มีศักยภาพ ก็กลับไปที่ศิลปินทุกแขนงจะต้องพัฒนาความคิดและความเชี่ยวชาญของตนเอง สร้างงานที่มีคุณค่า " อาจารย์ศรีศักร ฝากถึงศิลปิน
ในมุมมองนักกฎหมาย อาจารย์พงษ์สวัสดิ์ อักษรสวาสดิ์ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิศาสตราจารย์คนึง ฤาไชย กล่าวว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่เปิดทางให้ชุมชนมีส่วนร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่นใน 2 ช่องทาง คือ สิทธิส่วนตัวและการรวมตัวเป็นชุนชม ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ มีชุมชนที่จดทะเบียนกับ กทม. แล้ว สามารถเข้าถึงงบประมาณเพื่อเสริมสร้างศิลปวัฒนธรรมผ่านกองทุนทางวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ การปฏิรูปทางวัฒนธรรมอยากให้รัฐเห็นความสำคัญของสิทธิท้องถิ่น หากจะมีการเปลี่ยนแปลง ก็ให้ท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงเอง ไม่ใช่รัฐสั่งการ
" วัฒนธรรมประเพณีที่ยังมีความหมายต่อการดำรงชีวิต อย่าละเมิด แต่รัฐต้องช่วยรักษา ส่งเสริม ฟื้นฟู " อาจารย์พงษ์สวัสดิ์ กล่าว
ขณะที่ ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที เลขานุการมูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.หอศิลปกรุงเทพฯ กล่าวว่า ศิลปวัฒนธรรมเป็นเสาหลักหนึ่งพัฒนาสังคม แต่กลับขาดหายไปตลอด มูลนิธิฯ เรียกร้องใช้ศิลปะขับเคลื่อนสังคม กระตุ้นการสร้างผลงานลดความเหลื่อมล้ำ โดยหอศิลปกรุงเทพฯ ถือเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนทางความคิด โดยเฉพาะศิลปะร่วมสมัยช่วยสร้างบทสนทนา นอกจากศิลปะแล้ว ที่นี่ยังเปิดความคิดเรื่องประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และชุมชน การขับเคลื่อนต่อไปจะหารือกับกทม.เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟู 20 ชุมชนประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ และเสริมบทบาทภาคประชาชนมากขึ้น ไม่อยากให้วัฒนธรรมนี้สูญหายไป ส่วนโมเดลหอศิลปกรุงเทพฯ ซึ่งออกแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วม วันนี้กลายเป็นที่ชุมนุมของคนหลากหลาย สามารถเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นนำไปปฏิบัติได้
แม่ครูราตรี ศรีวิไล ดอกเตอร์หมอลำ ลำกลอนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 4.0
นอกจากงานเสวนาแล้ว ยังมีพิธีรับมอบภาพวาด"แสงสุวรรณภูมิ" ซึ่ง ศ.ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ วาดภาพหาเงินบริจาคให้มูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน ซึ่งพรรณี จารุสมบัติ มอบเงินให้หนึ่งล้านบาทและรับภาพทรงคุณค่านี้จาก ศ.ปรีชา และอ.เนาวรัตน์ สองศิลปินแห่งชาติผู้ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านศิลปวัฒนธรรมตลอดมา
ภาพวาด"แสงสุวรรณภูมิ" ฝีมือ ศ.ปรีชา เถาทอง หาเงินบริจาคได้หนึ่งล้านบาท
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |