“ธาริต” เจ้าของฉายานกหวีดปรี๊ดแตกหมดสภาพ ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 1 ปี เหตุแถลงการณ์ข่าวชี้นำสังคมให้เข้าใจผิดว่า “สุเทพ” มีส่วนกระทำผิด เจ้าตัวดิ้นสุดฤทธิ์ ทั้งขอกลับคำให้การรับสารภาพ วอนไต่สวน “คณิต ณ นคร” ที่เป็นคนกลางเจรจาไกล่เกลี่ย รวมทั้งขอให้ลงโทษแค่รอลงอาญา ทนายกำนันเผยยังมีคดีในชั้นอุทธรณ์รออีก “ชูชาติ” เตือนคนที่กล่าวหากำนันไว้พึงสังวร
เมื่อวันศุกร์ที่ 14 ธ.ค. ที่ห้องพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำ อ.495/2556 ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328
โดยนายสุเทพยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 7 ก.พ.2556 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 21 ม.ค.-4 ก.พ.2556 นายธาริตขณะดำรงเป็นอธิบดีดีเอสไอ แถลงข่าวกล่าวหาว่านายสุเทพขณะดำรงตำแหน่งรองนายกฯ เป็นผู้สั่งการไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทำสัญญาก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ 396 แห่งเป็นรายภาคตามที่ สตช.เสนอ แต่กลับให้รวมสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างเพียงรายเดียว ทำให้บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล จนเกิดปัญหาที่ไม่สามารถก่อสร้างได้เสร็จทันตามกำหนด ซึ่งล้วนเป็นเท็จ ทำให้ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง
ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาวันที่ 26 มี.ค.2558 ให้ยกฟ้อง โดยระบุว่า เป็นการตรวจสอบโครงการก่อสร้างโรงพัก และให้ความเห็นในทางกฎหมายในฐานะอธิบดีดีเอสไอ ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่านายสุเทพได้กระทำการทุจริต การแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์เป็นการสรุปความคืบหน้าของคดีตามพยานหลักฐาน ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่ได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ และเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
จากนั้นวันที่ 3 พ.ค.2559 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้องเช่นกัน โดยระบุว่า พยานหลักฐานนายสุเทพยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเพียงพอได้ว่าการกระทำเป็นความผิดตามฟ้อง ต่อมานายสุเทพได้ฎีกาต่อ
ศาลได้นัดอ่านฎีกาครั้งแรกในวันที่ 24 ต.ค.2561 ที่ศาลอาญา ซึ่งวันดังกล่าวนายธาริตไม่ได้เดินทางมา เนื่องจากป่วยติดเชื้อในลำไส้ พร้อมแสดงใบรับรองแพทย์ต่อศาล ทั้งยังได้มอบหมายทนายความยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อประธานศาลฎีกาขอให้ส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ศาลวินิจฉัย ซึ่งศาลอาญาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าเอกสารถ้อยคำที่ยื่นเพิ่มเติมเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังการพิจารณาของศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ เชื่อว่าศาลฎีกายังไม่ได้พิจารณาเอกสารดังกล่าว เอกสารทั้ง 3 ชุดที่ยื่นมานั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างโรงพักทั้ง 396 แห่ง ซึ่งเป็นมูลเหตุในการฟ้องหมิ่นประมาทในคดีนี้ จึงเห็นควรมีคำสั่งให้ส่งคำร้องของนายธาริต รวมถึงถ้อยคำในเอกสารส่งขึ้นให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อไป และเมื่อมีคำสั่งส่งคำร้องแล้วก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยป่วยจนไม่สามารถเดินทางมาศาลได้หรือไม่ จึงมีคำสั่งให้เลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปเป็นวันที่ 14 ธ.ค.นี้
ธาริตดิ้นเฮือกสุดท้าย
โดยก่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. นายธาริตยังได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอถอนคำให้การเดิม และเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพตามฟ้อง พร้อมขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ออกไปก่อน 60 วัน โดยอ้างเหตุว่าได้ขอขมาต่อนายสุเทพ ที่มีนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) รับเป็นคนกลางในการเจรจา โดยทำหนังสือแสดงความสำนึกผิดขอขมาลาโทษ ยื่นขอให้การใหม่เป็นให้การรับสารภาพตามฟ้อง เพื่อให้สอดคล้องหนังสือสำนึกผิดและขอขมาลาโทษต่อนายสุเทพไปแล้ว พร้อมทั้งส่งบันทึกรับรองข้อเท็จจริงผลการเจรจาประนีประนอมที่นายคณิตได้รับรองยื่นต่อศาล แต่หากศาลฎีกาไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ก็ขอความกรุณาต่อศาลฎีกาลงโทษสถานเบาโดยรอการลงอาญา ทั้งนี้ ต่อมานายธาริตยังได้ส่งทนายความยื่นคำร้องพร้อมวางเงิน 1 แสนบาทต่อศาลเพื่อเยียวยาบรรเทาผลร้ายต่อนายสุเทพ
จากนั้นในวันที่ 11 ธ.ค. นายสุเทพยื่นคำร้องมาที่ศาลฎีกา สรุปเนื้อหาตามที่มีข่าวปรากฏสรุปว่า นายธาริตได้ให้ทนายความแถลงว่ามีการประนีประนอมพร้อมขอขมาลาโทษ และขอบพระคุณโจทก์ที่ได้เมตตายกโทษในคดีตามที่โจทก์เห็นสมควรให้นั้น ไม่เป็นความจริง ขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาตามที่นัดไว้ในวันที่ 14 ธ.ค.ตามเดิม
ทั้งนี้ เมื่อเวลา 07.30 น. นายธาริตได้เดินทางมาศาล โดยขึ้นแถลงต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งไต่สวนนายคณิตในประเด็นที่เป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยกับนายสุเทพ จนนายสุเทพได้ตกลงให้ทำหนังสือขอขมาลาโทษ โดยพนักงานอัยการที่ทำหน้าที่แก้ต่างให้นายธาริตก็ลุกขึ้นแถลงต่อศาลในข้อกฎหมายว่า กรณีดังกล่าวมีการเจรจาตกลงกันว่าจะยอมความ โดยนายธาริตได้ปฏิบัติตามข้อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อย จึงเป็นเหตุให้สิทธิการดำเนินคดีอันเป็นข้อยุติลงทำให้ศาลอ่านคำพิพากษาไม่ได้
องค์คณะศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า ขณะเกิดเหตุนายสุเทพเป็นรองนายกฯ มีหน้าที่กำกับดูแลโครงการสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างโรงพัก 396 แห่ง ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงสัญญาจากรายภาคเป็นการรวมสัญญาเป็นเจ้าเดียว โดยมีนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ร้องต่อนายธาริต ในฐานะอธิบดีดีเอสไอ เพื่อให้ตรวจสอบการกรณีบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ที่ได้รับการชนะประมูลการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทนทั่วประเทศ จำนวน 396 แห่งของ สตช. ที่เข้าข่ายน่าจะมีการทุจริตและการฮั้วประมูล
โดยนายธาริตในฐานะอธิบดีดีเอสไอได้แถลงข่าวสรุปว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ที่เกิดความเสียหายที่นายสุเทพได้สั่งการให้มีการเปลี่ยนสัญญารายภาค ซึ่งอาจจะส่อว่าให้ประโยชน์กับบริษัท พีซีซีฯ และเป็นเหตุให้ไม่สามารถก่อสร้างโรงพักได้แล้วเสร็จ ซึ่งเป็นรากเหง้าเกิดความเสียหายใหญ่หลวง เพราะการเปลี่ยนแปลงสัญญาดังกล่าวอาจเข้าข่ายการกระทำผิดฐานเอื้อประโยชน์ฮั้วประมูล แต่เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบต่อไป
ปัญหาที่เกิดจากฝ่ายการเมือง นายธาริตยังแถลงครั้งต่อไปอีกว่า การประมูล บริษัท พีพีซีฯ มีการเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางที่เจ้าอื่นเข้าร่วมประกวดราคาหลายเจ้า เป็นเงินหลายร้อยล้านบาท โดยบริษัท พีซีซีฯ มีความมุ่งหวังเมื่อชนะการประมูลจะได้ทำการเบิกเงินได้ โดยไม่ได้คิดว่าจะสร้างโรงพักเสร็จหรือไม่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะเข้าข่ายการกระทำผิดมี 2 ฝ่าย คือ ข้าราชการประจำ เช่น ผบ.ตร.ในขณะนั้น และข้าราชการการเมืองโดยมีนายสุเทพเกี่ยวข้อง
เผยให้สัมภาษณ์ชี้นำ
ศาลเห็นว่า นายธาริตในฐานะพนักงานสืบสวนมีหน้าที่ที่จะต้องทำการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงนำไปสู่การวินิจฉัยของศาล หาใช่อำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะแถลงข่าวถึงข้อเท็จจริงในสำนวนเพื่อชี้นำสังคม อีกทั้งคดีนี้เป็นคดีความผิดต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดังนั้นเมื่อสืบสวนได้ว่านายสุเทพมีการกระทำเข้าข่ายความผิด ก็มีหน้าที่ที่จะรวบรวมพยานหลักฐานส่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยเร็ว ไม่ควรให้สัมภาษณ์ถึงนายสุเทพ จะเป็นการทำให้นายสุเทพถูกมองได้ว่าเป็นผู้มีส่วนกระทำผิด เปลี่ยนแปลงสัญญาให้เกิดความเสียหาย อันเป็นการหมิ่นประมาทให้นายสุเทพได้รับความเสียหายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ที่ศาลล่างสองศาลพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับ ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี
ส่วนที่นายธาริตยื่นคำร้อง 4 ฉบับ มีเนื้อหาสรุปว่า ขอถอนคำให้การเดิมและยื่นคำให้การใหม่เป็นรับสารภาพ โดยมีการเจรจาทำการขอขมานายสุเทพตามข้อตกลง พร้อมวางเงินเยียวยาบรรเทาผลร้าย 1 แสนบาท เพื่อขอให้ศาลลงโทษสถานเบานั้น ศาลเห็นว่าที่นายธาริตอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การก่อนศาลพิพากษา ไม่อาจทำได้ในชั้นฎีกา ส่วนที่นายสุเทพร้องว่าได้มีการไกล่เกลี่ยประนีประนอมจนสำเร็จอันเป็นเหตุให้สิทธิดำเนินคดีอาญาระงับไปนั้น เห็นว่าจากคำร้องที่ยื่นมายังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา ซึ่งการเจรจาไกล่เกลี่ยจะต้องคำนึงถึงคู่ความ เมื่อนายสุเทพไม่ประสงค์ไกล่เกลี่ย คดีอาญาการจึงไม่อาจระงับไปตามที่นายธาริตร้องมา ให้ยกคำร้อง และนายธาริตนำเงินที่วางไว้ 1 แสนบาทคืนได้
ภายหลังฟังคำพิพากษา นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของนายสุเทพ กล่าวว่า การแถลงของนายธาริตว่าฝ่ายการเมืองแทรกแซงและสั่งการให้มีการเปลี่ยนแปลงจากรายภาครวมเป็นสัญญาเดียว เป็นกรณีหมิ่นประมาทใส่ความให้เสียหาย ซึ่งช่วงที่นายธาริตดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ได้แถลงข่าวถึงการลงไปตรวจสอบโครงการก่อสร้างโรงพัก 396 แห่งหลายครั้ง ซึ่งบางกรณีศาลเห็นว่าไม่ผิด เพราะเป็นการแถลงถึงการดำเนินงาน แต่ที่ศาลลงโทษเป็นกรณีแถลงข่าวว่าฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงให้เปลี่ยนรูปแบบการทำสัญญาจากรายภาครวมเป็นเจ้าเดียว
“คดีหมิ่นประมาทเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง ยังมีอีก 1 สำนวนอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โดยเป็นกรณีนายธาริตให้สัมภาษณ์ว่านายสุเทพฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขณะที่ความคืบหน้าในการพิจารณาสำนวนการเปลี่ยนสัญญาก่อสร้างโรงพัก 396 แห่งที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช.ได้เข้าไปให้ถ้อยคำเพิ่มเติมกับ ป.ป.ช.ชุดใหญ่แล้วว่านายสุเทพไม่ได้กระทำผิดมติ ครม.ขณะนั้น เพราะ ครม.อนุมัติเพียงหลักการ แต่การจัดซื้อจัดจ้างเป็นเรื่องของหน่วยงาน ซึ่ง ป.ป.ช.ยังไม่ได้ชี้มูลสำนวนนี้” นายสวัสดิ์กล่าว
นายสวัสดิ์ยังแจงถึงการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างนายสุเทพกับนายธาริตว่า ก่อนหน้าที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 24 ต.ค. นายธาริตพยายามติดต่อมาขอไกล่เกลี่ยหลายครั้ง โดยนายธาริตมีการประสานผ่านผู้ใหญ่เพื่อเข้ามาเจรจาหลายคน รวมถึงนายคณิต แต่นายสุเทพไม่ตอบรับการไกล่เกลี่ย แม้ตอนแรกทีมทนายเห็นว่าจะไกล่เกลี่ย แต่ต่อมาทราบว่านายธาริตได้ยื่นร้องเรียนไปยังประธานศาลฎีกา พร้อมแนบหนังสือในประเด็นที่ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ จึงแจ้งเรื่องนี้ให้นายสุเทพทราบ ทำให้นายสุเทพตัดสินใจปฏิเสธการไกล่เกลี่ย โดยที่นายธาริตมอบหมายให้ทนายความแถลงข่าวก็เป็นเรื่องนายธาริตคนเดียว
ต่อมาเวลา 12.00 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวนายธาริตในชุดเสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงขายาวสีดำ ขึ้นรถตู้สีขาวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาต่อไป โดยนายธาริตมีสีหน้าเรียบเฉย
ไม่หนักใจคุมขังนายเก่า
พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงการคุมขังนายธาริตว่า แม้ผู้ต้องขังเคยเป็นอดีตข้าราชการระดับสูง แต่จะไม่ได้รับสิทธิพิเศษใดๆ ทั้งสิ้น โดยการควบคุมตัวจะเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ ผู้ต้องขังทุกรายมีสิทธิเท่าเทียมกัน และเมื่อนายธาริตถูกส่งตัวเข้ามาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตามขั้นตอนจะต้องถ่ายภาพ พิมพ์ลายนิ้วมือ ทำประวัติผู้ต้องขังใหม่ และตรวจร่างกายว่ามีโรคประจำตัวที่เป็นอันตรายร้ายแรงหรือไม่ เพราะนักโทษที่มีเกณฑ์อายุตั้งแต่ 60 ขึ้นไปมักจะมีโรคประจำตัว โดยผู้ต้องขังสามารถนำใบรับรองแพทย์มาแสดงเพื่อนำยาที่แพทย์จัดให้เข้ามารักษาอาการป่วยตัวเองได้ และหากมีอาการเจ็บป่วยภายในเรือนจำ ก็สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลได้ตามปกติ ในกรณีที่อาการเจ็บป่วยไม่ร้ายแรง ก็สามารถรักษาภายในแดนพยาบาลได้ ยกเว้นกรณีเจ็บป่วยหนักต้องถูกส่งตัวไปทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
“เมื่อเสร็จสิ้นการรับตัวผู้ต้องขังใหม่ ผู้คุมเรือนจำจะนำตัวผู้ต้องขังเข้าไปควบคุมไว้ภายแดนแรกรับเพื่ออบรมระเบียบวินัยและชี้แจงกฎ ซึ่งถือเป็นปกติที่ผู้ต้องขังใหม่ต้องใช้เวลาปรับตัวทำใจรับสภาพความเป็นอยู่ภายในเรือนจำและเพื่อนผู้ต้องขัง โดยเบื้องต้นจะอยู่ในแดนแรกรับประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงจำแนกให้ไปแดนคุมขังตามความเหมาะสมต่อไป ซึ่งผมไม่หนักใจ เพราะถือเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ตามคำสั่งศาล แม้นายธาริตเป็นเคยเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาก็ตาม” พ.ต.อ.ณรัชต์กล่าว
ด้านนายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์เฟซบุ๊กในเรื่องนี้ว่า คนบางกลุ่มที่ชอบพูดกล่าวหาว่านายสุเทพทุจริตเกี่ยวกับก่อสร้างสถานีตำรวจนั้น ขอให้สังวรไว้ด้วย เพราะการที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาลงโทษนายธาริต ย่อมหมายความว่าศาลฎีกาฟังว่านายสุเทพไม่ได้ทุจริตในการก่อสร้างสถานีตำรวจ การพูดดังกล่าวจึงเป็นการหมิ่นประมาทนายสุเทพเช่นเดียวกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |