การสร้าง "ครอบครัวเป็นสุข" ถือเป็นต้นทุนสำคัญที่จะส่งให้บุคคลในสถาบันพื้นฐานที่ประกอบด้วยพ่อแม่ลูก ออกไปดำเนินชีวิต อย่างเช่น การเรียน การทำงาน ได้อย่างประสบความสำเร็จ และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาให้เห็นจากงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีการเสวนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม "ชุมชนและรัฐร่วมสร้างครอบครัวสุขภาวะได้อย่างไร" และภายในงานได้มีการเปิดเผยดัชนีความสุขของผู้คนในประเทศ
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการเสวนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม “ชุมชนและรัฐร่วมสร้างครอบครัวสุขภาวะได้อย่างไร” ว่า ครอบครัวไทยต้องเผชิญปัญหาที่หลากหลายในภาวะครอบครัวเปราะบางและเข้าสู่ยุคเด็กเกิดน้อยและสังคมสูงวัย โดย สสส. ภายใต้แผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว มุ่งเน้นสร้างภูมิคุ้มกันและความเข้มแข็งให้เด็ก เยาวชน และครอบครัว ตามเป้าหมายของ สสส.ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนครอบครัวอบอุ่นให้สูงขึ้นกว่าเดิมหลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ดัชนีครอบครัวอบอุ่นของสังคมไทยมีแนวโน้มลดลง ซึ่งช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา สสส.สนับสนุนโครงการด้านครอบครัวอบอุ่นภายใต้ตัวชี้วัดครอบครัวอบอุ่น ซึ่งมี 3 องค์ประกอบ คือ สัมพันธภาพของคนในครอบครัว บทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว และการพึ่งตนเอง
ที่ผ่านมา สสส.จึงสนับสนุนการดำเนินงาน 3 โมเดล ได้แก่ โมเดลที่ 1 การส่งเสริมครอบครัวอบอุ่นในชุมชน โดยดำเนินการนำร่องใน 11 จังหวัด และปี 2562 จะยกระดับเป็นจังหวัดส่งเสริมครอบครัวอบอุ่นต้นแบบ 7 จังหวัด ประกอบด้วย ลำปาง พะเยา เลย กาฬสินธุ์ สุรินทร์ อุบลราชธานี และตรัง โมเดลที่ 2 สนับสนุนการสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นในองค์กรและหน่วยงานต่างๆ และโมเดลที่ 3 การขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ เพื่อขยายผลพื้นที่ต้นแบบให้กว้างขึ้น
ด้าน ศ.ดร.รุจา ภู่ไพบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการดำเนินการโครงการศึกษาครอบครัวไทยแบบบูรณาการตามวงจรชีวิตครอบครัว เรื่อง ครอบครัวไทยยุค 4.0 อยู่ดีมีสุขจริงหรือ? โดยเก็บข้อมูลระหว่างเดือน พ.ย.2560-มี.ค.2561 ด้วยการสำรวจครอบครัวไทย 6,000 ครอบครัว ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก นครสวรรค์ หนองคาย อุดรธานี ยโสธร สุรินทร์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ชลบุรี ยะลา สุราษฎร์ธานี สงขลา พัทลุง และ กทม. โดยวัดคะแนนครอบครัวอยู่ดีมีสุขด้วยองค์ประกอบ 9 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านความร่วมใจและปลอดภัยในชุมชน 2.ด้านสัมพันธภาพ 3.ด้านบทบาทหน้าที่ 4.ด้านเศรษฐกิจ 5.ด้านการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง 6.ด้านความมั่นคง และพึ่งพา 7.ด้านการศึกษา 8.ด้านการดูแลสุขภาพ และ 9.ด้านการพัฒนาจิตวิญญาณ มีคะแนนเต็ม 8 คะแนน
ผลการศึกษาพบว่า ครอบครัวอยู่ดีมีสุขโดยรวม 7.72 คะแนน โดยภาคใต้ครอบครัวอยู่ดีมีสุขสูงสุด 7.89 คะแนน รองลงมา เป็นภาคเหนือ และภาคกลาง 7.73 คะแนน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7.71 คะแนน และต่ำที่สุด คือ กทม. 7.55 คะแนน เมื่อพิจารณารายองค์ประกอบพบว่า คะแนนครอบครัวอยู่ดีมีสุขในด้านเศรษฐกิจต่ำที่สุด และด้านการดูแลสุขภาพสูงที่สุด
นอกจากนี้ เมื่อแบ่งครอบครัวเป็น 8 ช่วง/ระยะ เพื่อพิจารณาคะแนนความสุขในแต่ช่วง พบว่า ก่อนแต่งงาน/ไม่มีคู่ 3.6 คะแนน เมื่อเริ่มต้นชีวิตคู่ ไม่มีบุตร 3.8 คะแนน เลี้ยงดูบุตรเล็ก 3.6 คะแนน เลี้ยงดูบุตรวัยเรียน 3.7 คะแนน เลี้ยงดูบุตรวัยรุ่น 3.7 คะแนน เลี้ยงดูบุตรวัยทำงาน 3.7 คะแนน วัยชรา 3.7 คะแนน และวัยชราที่เจ็บป่วย 3.6 คะแนน รวมถึงเมื่อพิจารณาจากจำนวนบุตรที่ทำให้มีความสุข พบว่า มีบุตร 4 คน ได้คะแนนสูงสุด 3.81 คะแนน
ข้อมูลจากการเสวนาดังกล่าวนี้นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก หากมีการไปใช้จัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อผลักดันและพัฒนาความสุขของคนไทยให้เกิดขึ้นต่อไป.
“สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา”
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) และมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ตั้งเป้าขยายผลโครงการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ให้ครอบคลุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 7,800 แห่งทั่วประเทศ
โดยนายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธาน คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมเด็กปฐมวัย ให้มีความรู้ทางกาย ทางใจ อีกทั้งทำให้เกิดสติปัญญา สามารถเรียนรู้ต่อยอด สามารถใช้ชีวิตอย่างเข้มแข็ง ถือเป็นการเตรียมบุคลากรที่สำคัญของชาติ ให้สมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เพราะในสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาจะฟูมฟักความคิดและหล่อหลอม ความเป็นมนุษย์ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ และที่สำคัญเด็กได้มีความสุขในการมาเล่นมาเรียน
ขณะที่นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดี สถ. กล่าวว่า สถ.มีหน้าที่ดูแลเด็กปฐมวัยในท้องถิ่นต่างๆ เกือบ 1 ล้านคน ผ่านทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเกือบ 2 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ซึ่งสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาจึงมีความจำเป็น เพื่อสร้างพัฒนาการที่ดีให้กับเด็กวัย 2-5 ขวบ สถ.จึงได้คัดเลือก อปท. จำนวน 12 แห่ง ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา โดยทั้งหมดจะต้องเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติของภาคีเครือข่าย ทั้ง 76 จังหวัด
ทั้งนี้ ในปี 2562 ได้จัดสรรงบประมาณให้ อปท. จำนวน 500 แห่ง แห่งละ 1 แสนบาท เพื่อจัดสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในพื้นที่ของตนเอง และในปีต่อๆ ไป สถ.ตั้งเป้าที่จะให้มีครบทุก อปท.ทั้ง 7,800 แห่ง ซึ่งสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน โดยเฉพาะเด็กๆ และสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน โดยจะเห็นได้จากพื้นที่ที่มีการก่อสร้างไปแล้ว เด็กและคนในชุมชนมีรอยยิ้มและความสุขกันทุกคน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |