เฉ่งม.44กำลังจะทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นสมบัติส่วนตัวและเป็นมรดกตกทอดอย่างถาวร


เพิ่มเพื่อน    

13 ธ.ค.61- นายอารีย์ หาญสืบสาย อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ อดีตกรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทผู้แทนผู้บริหาร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เผยว่ารัฐบาล คสช. เข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า  ที่ตกลงใจใช้ ม.44 ปลดล็อคให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน   ทั้งที่หลักการของเรื่องฯ  คือ เป็นมาตรการป้องปรามการทุจริต แบบหนึ่งเท่านั้น ถ้ากรรมการสภา มีความตั้งใจทำงานเพื่อชาติจริง บริสุทธิ์ใจจริง ไม่เห็นต้องกลัวอะไร ไม่อยากอยู่ก็ลาออกไป มีคนเป็นจำนวนมากที่อยากจะเข้ามาทำงานแทน   ไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องมาใช้วิธีกดดันสังคมแบบนี้    แต่ที่ประหลาดใจ คือ คสช. กลับเกรงใจ ยอมคนกลุ่มนี้  ลืมไปเลยว่าเคยประกาศว่า เกลียดการทุจริต คอรัปชั่น   ยอมเสียสัตย์ง่ายๆ  ไม่รู้เป็นเพราะได้ข้อมูลด้านเดียวรึเปล่า 

กรรมการสภามหาวิทยาลัย   มี 2 ประเภท ประเภทแรกคือผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก มาจากภาครัฐ และภาคเอกชน เป็นนักธุรกิจ  นักบริหาร ที่มีชื่อเสียงประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน   อีกกลุ่มหนึ่ง(จำนวนไม่มาก) เป็นบุคลากรภายใน   นัยว่าเป็นผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนของบุคลากร ประเภทต่างๆ   ผลตอบแทนของกรรมการสภาฯ  พวกแรก(ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก)    ได้รับผลตอบแทนในรูปเบี้ยประชุม(เป็นเงินจำนวนไม่น้อย)  ไม่มีเงินเดือน ประจำ   จึงดูเหมือนว่าคนกลุ่มนี้เข้ามาช่วยงานมหาวิทยาลัย อย่างผู้เสียสละ โดยไม่ได้หวังผลตอบแทน  แต่นำประสบการณ์ ความรู้ ของตน มาเสนอในรูปให้คำแนะนำ ข้อคิดความเห็น  ให้แก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย มีส่วนช่วยทำให้เป้าหมาย ทิศทางของมหาวิทยาลัย ไปถูกทาง ชัดเจน พบแต่ความเจริญรุ่งเรือง   

ส่วนกลุ่มหลัง จะได้รับผลตอบแทนเป็นเบี้ยประชุม(ไม่มาก) แต่จะได้มีโอกาสได้รับการสนับสนุนแต่งตั้ง ให้เป็นผู้บริหารระดับต่างๆในสถาบันฯ ตามศักยภาพและโอกาส อำนวย เมื่อหมดวาระกรรมการสภาไปแล้ว     เข้าใจว่า   คสช.  คงจะมองมุมนี้มุมเดียว  เมื่อเห็นเหล่ากรรมการสภาฯ(ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก)  ขวัญเสียพากันยื่นหนังสือลาออกกันเป็นแถว   จึงเกิดความเสียดายกรรมการสภาฯ (ผู้วิเศษ) เหล่านี้จะลาออกไปกันหมด ทำให้มหาวิทยาลัยสับสนวุ่นวาย ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงแก่มหาวิทยาลัยและนิสิตนักศึกษาเป็นจำนวนมาก  จำต้องใช้ ม.44 มาช่วย

ทำไม คสช.ไม่มองให้รอบด้านเสียก่อนจะตัดสินใจ   ข้อมูลข่าวสารมีอยู่มากมาย   ดวงจันทร์ยังมีสองด้าน คนทั่วไป  เห็นแต่ด้านสว่างที่มีกระต่ายอยู่ตัวหนึ่งเพียงด้านเดียว   แต่ความจริงยังมีอีกด้านหนึ่ง เพราะดวงจันทร์มีรูปทรงกลม  ซึ่งอาจมีตัวอะไร(หรือกระต่ายอีกตัวหนึ่ง)  อยู่ก็ได้   แต่เรายังไม่มีโอกาสได้เห็นเท่านั้น   แต่สำหรับเรื่อง “กรรมการสภามหาวิทยาลัย”   มองให้ทะลุปรุโปร่ง รอบด้าน ง่ายกว่ามาก 

 สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยของรัฐ ปัจจุบันเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเกือบหมดแล้ว ทำให้สภามหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานที่ใหญ่(ทรงอำนาจ)ที่สุดในสถาบันการศึกษานั้นๆ  เพราะมีหน้าที่กำกับดูแลนโยบายของผู้บริหารฯ จัดการ ออกและแก้ไขระเบียบ, พรบ. ข้อบังคับต่างๆของมหาวิทยาลัยได้ทั้งหมด (นิติบัญญัติ)  เป็นกรรมการสรรหาอธิการบดี คณบดี    อนุมัติแผนงาน แผนเงินงบประมาณ โครงการผลประโยชน์ต่างๆของมหาวิทยาลัย ทั้งหมด (บริหาร)   รวมทั้งการตรวจสอบการดำเนินงานของผู้บริหารฯและ เรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียนต่างๆ (ตุลาการ)  โดยที่  สกอ.และกระทรวงศึกษาธิการไม่มีอำนาจเข้าไปก้าวก่ายใดๆได้เลย 

 มหาวิทยาลัย(ในกำกับของรัฐ) แต่ละแห่ง มีบุคลากรในสังกัด หลายร้อยคน บางแห่งเป็นพันคน  มีนิสิต นักศึกษาเข้ามาเรียนรวมกันทุกชั้นปี หลายพันคน บางแห่งร่วมหมื่นคน   ได้รับงบประมาณประจำปีสนับสนุนจากรัฐ  เป็นค่าจ้าง เงินเดือน  พัสดุ ครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง  และอื่นๆ รวมแล้ว เป็นพันๆล้านบาท บางแห่งมากกว่าสี่ ห้าพันล้านบาท ในแต่ละปีมหาวิทยาลัย มีรายได้จากค่าเล่าเรียน หลายร้อยล้าน บางแห่งเป็นพันล้าน  เงินเก็บเงินฝาก ผลประโยชน์จากทรัพย์สิน ที่ดิน สัมปทานต่างๆอีกเป็นร้อยล้านพันล้านบาทในแต่ละปี    ผลประโยชน์ทั้งหลายทั้งปวง  จะอยู่ภายใต้การจัดการของอธิการบดีและกลุ่มกรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งเท่านั้น   ไม่ต่างกับการยกสมบัติทรัพย์สินของราชการไปให้คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น  ให้แบบเป็นมรดกตกทอดได้ด้วย  คสช.มองไม่ออกเลยหรือไร  

จะว่าไปทุกวันนี้   สภามหาวิทยาลัย ก็ทำตัวเป็น หน่วยงานหนึ่ง ที่ทำงานขึ้นตรงต่ออธิการบดีเท่านั้น  ทำหน้าที่เป็นเหมือนตรายางให้อธิการบดี   ออกนโยบายกันเอง อนุมัติ กันเอง    ที่เห็นๆคือเวลามาประชุม ส่วนใหญ่ ก็มาแสดง ทอล์คโชว์ อวดอีโก้ โชว์โวหาร กันจน หมดเวลา รับเบี้ยประชุม แล้วก็แยกย้ายกลับบ้านไป   จะมีซักกี่คน ที่สามารถ มีเวลา หรือตั้งใจจะเข้ามาศึกษารายละเอียดงานของมหาวิทยาลัยและ ติดตามประเมินผู้บริหาร อย่างจริงจัง   เอาเข้าจริงๆ กิจการของมหาวิทยาลัยทั้งหมดทั้งมวลก็อยู่ในมือของผู้บริหารระดับสูง(อธิการบดี)กับกลุ่มกรรมการสภาอาวุโสจำนวนหนึ่งที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน เท่านั้น    ขอบอก กรรมการสภา ใช่ว่าจะได้แค่เบี้ยประชุมเท่านั้น ความจริงยังมีผลประโยชน์ทางอื่นอีก ที่เห็นๆกันอยู่ เช่น  ได้โควตาฝากลูก หลานเข้าเรียนโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย   เป็นต้น  

เมื่ออธิการบดีและผู้บริหารระดับกลาง(คณบดี ผู้อำนวยการ) หมดวาระพวกนี้ก็จะร่วมกันวางแผนวางตัวผู้บริหารคนใหม่(ที่เป็นพวกเดียวกัน)เข้ามาแทน   เมื่อกรรมการสภาหมดวาระ กลุ่มผู้บริหารก็จะร่วมมือกันสรรหากรรมการสภา(คนเดิมและอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน) กลับเข้ามา   ดังนั้นจึงเห็นกรรมการสภาหลายคนแทบจะยึดเป็นอาชีพ เสียด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะตัวนายกสภาฯ  บางแห่ง อยู่กันมานานกว่ายี่สิบปี   และเวลานี้มีการสร้างเครือข่ายในหมู่อธิการบดีและกรรมการสภาของมหาวิทยาลัยต่างๆ มีการเลียนแบบ แลกเปลี่ยนวิธีการสร้างผลประโยชน์ สัมปทาน ในกลุ่มเครือข่ายเดียวกัน 

ดังนั้น  การปลดล็อค ด้วย ม. 44  จึงเท่ากับสร้างความล่อแหลมที่จะทำให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบาย ในมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศ    มีคนบอกว่า คสช. ทำแบบนี้ เหมือนเตะหมูเข้าปากหมา (อีกแล้ว)   แต่ดูๆไป มันชักจะไม่ใช่แบบนั้นซะแล้ว คงจะมีอะไรๆมากกว่านี้แน่ๆ  ในท้ายที่สุดขอย้ำว่า    ถ้าไม่มีการแก้ไขระบบบริหารงานมหาวิทยาลัยนอกระบบ ไม่แก้ไข การให้อำนาจกรรมการสภา แบบเอาแต่ได้อย่างนี้  ต่อไปมหาวิทยาลัยของรัฐ ก็จะกลายเป็นสมบัติส่วนตัวและ เป็นมรดกตกทอดของคนกลุ่มนี้ไปอย่างถาวร.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"