กิจกรรมขบวนพาเหรดและการแปรอักษรล้อการเมืองของนิสิตนักศึกษาจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ในงานฟุตบอลประเพณีเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ สนามศุภชลาศัย
ด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกล้าของนิสิตนักศึกษาที่ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อผู้มีอำนาจ ซึ่งก็คือ คสช. และ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวได้ว่าทั้ง 2 สถาบันจัดหนักและจัดเต็ม เล่นเอากระเทือนซางไป เพราะมีทั้งนาฬิกาหรู มีทั้งจะเลือกตั้งเมื่อไร และ ป.ป.ช.ก็โดนด้วย อีกด้านหนึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา คสช.และรัฐบาลบริหารประเทศเป็นอย่างไร
อธิการบดีธรรมศาสตร์คนใหม่ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ โพสต์เฟซบุ๊กทันทีชื่นชม 2 สถาบัน ตอนหนึ่ง
“..เหนือไปจากผลการแข่งขัน ความร่วมมือร่วมใจ การมีสปิริตในการจัดงานครั้งนี้ของนิสิตนักศึกษาของทั้ง 2 สถาบัน ก็เป็นเป้าหมายที่แสดงให้เห็นถึงพลังในการขับเคลื่อนสังคมของนิสิตนักศึกษาที่เราหวังว่า จะส่งต่อไปยังการพัฒนาประเทศในอนาคตค่ะ”
ก่อนหน้านี้เมื่อเย็นวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ตำรวจได้ดำเนินคดีและตั้งข้อหากับนักศึกษาและนักกิจกรรม 7 คน ในนามกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยที่จัดกิจกรรม “นัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช.” ที่บริเวณสกายวอล์ก แยกปทุมวัน และออกหมายเรียกรวม 39 คน อีก 66 คนกำลังถูกตรวจสอบ ในวันที่ 31 มกราคม
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ นิสิตนักศึกษาหลายสถาบันก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ คสช.ถอนแจ้งความกับกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยและแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ ได้แก่ สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ รังสิต, สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา, สโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ฯลฯ
“สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอยืนหยัดในการมีส่วนร่วมของประชาชนชาวไทยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงสะท้อนถึงข้อห่วงใยต่างๆ จากหลายภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาคประชาชน ด้วยเจตนารมณ์ที่ยึดถือกันเป็นหลักเสมอมาว่าจะธำรงไว้ซึ่งเกียรติภูมิจุฬาฯ อันเป็นเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน”
ตอนหนึ่งของแถลงการณ์สภานิสิตจุฬาฯ ที่แม้จะเป็นท่าทีของความห่วงใยต่อสถานการณ์ แต่บางคำพูดที่หนักแน่น
เช่น “ขอยืนหยัดในการมีส่วนร่วมของประชาชนชาวไทย...”, “จะธำรงไว้ซี่งเกียรติภูมิจุฬาฯ อันเป็นเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน” เสมือนส่งสัญญาณว่า นิสิตนักศึกษาจะไม่อยู่นิ่งเฉยปล่อยให้เพื่อนถูกดำเนินคดีไปอย่างโดดเดี่ยว
10 กุมภาพันธ์ นักศึกษาและนักกิจกรรมนัดรวมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร?
ย้อนกลับไปในอดีต มีหลายครั้งที่นิสิตนักศึกษาเป็นจุดตั้งต้นของการเคลื่อนไหวและนำไปสู่จัดเปลี่ยนของเหตุการณ์ เช่น
การเลือกตั้งสกปรกเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 พรรคเสรีมนังคศิลาซึ่งเป็นพรรคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ชนะการเลือกตั้งด้วยกลโกงทุกรูปแบบ ทำให้นิสิตนักศึกษาประชาชนเดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้เลือกตั้งใหม่ สุดท้ายจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ก่อรัฐประหารโค่นรัฐบาลจอมพล ป. เมื่อวันที่ 16 กันยายน ปีเดียวกัน
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็เริ่มมาจากนักเรียนนิสิตนักศึกษารวมตัวกันที่ลานโพธิ์เรียกร้องให้รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ปล่อยเพื่อนนักศึกษาและประชาชน 13 คนที่ถูกจับไป เพียงไม่กี่วันคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
พลังของนักเรียนนิสิตนักศึกษา นำโดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยร่วมกับประชาชนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
พลังของนักศึกษาดับมอดไปหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งโดนฝ่ายรัฐล้อมปราบจนเตลิดเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ฯ และกลับคืนเมืองมาเรียนหนังสือ กลายเป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์
ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ (2519–2534) นักศึกษาแทบจะไม่มีบทบาทอะไรในทางการเมือง มีคนพูดว่า “นักศึกษาไทยตายแล้ว”
กระทั่งเกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 โดยนักศึกษาหวนกลับมามีบทบาทโดดเด่นอีกครั้งในนามสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) มีนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นเลขาธิการ
สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน กำลังเป็นที่จับตามองว่า พลังของนิสิตนักศึกษาจะฟื้นกลับมามีบทบาทอีกครั้งหรือไม่ ในเมื่อบ้านเมืองเข้าสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบ ไม่รู้จะเลือกตั้งเมื่อไหร่ และเพื่อนนักศึกษาด้วยกันถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีอย่างง่ายๆ ซึ่งไม่ต่างไปจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |