“พรรคพลังประชารัฐ” (พปชร.) เป็นอีกพรรคการเมืองหนึ่งที่กำลังเร่งเฟ้น-เคาะชื่อผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเพื่อส่งลงเลือกตั้ง โดยในพรรคมีอีกหนึ่งนักการเมือง ”นิวเวฟ-คนรุ่นใหม่ทางการเมือง” ของ พปชร. "ดร.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์" หรือ "ดร.ส้ม" ปริญญาเอก อาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรมและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เป็นคนรุ่นใหม่ มากด้วยคุณภาพด้านการศึกษาและประสบการณ์การทำงานของพรรคพลังประชารัฐ
“ดร.พัชรินทร์” บอกเล่าเส้นทางความสนใจทางการเมืองก่อนตบเท้าสมัครเป็นสมาชิกพรรค พปชร.ว่า เริ่มสนใจการเมืองจริงๆ น่าจะอายุประมาณ 20 ต้นๆ โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนที่รักการเรียนรู้ และมีกิจกรรมมาก โดยเฉพาะกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ เมื่อมีโอกาสเรียนหลักสูตรต่างๆ เช่น หลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย (ปนป.) ของสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรผู้นำการเปลี่ยนแปลง ของมูลนิธิสัมมาชีพ หลักสูตรเยาวชนภิวัฒน์ ของ บ.ย.ส.16 ทำให้ได้รู้จักกับผู้ใหญ่หลายคน โดยแต่ละท่านที่รู้จักได้เห็นถึงความตั้งใจทำงานของเรา ว่าทำอะไรแล้วเราเป็นคนทำจริงจัง จึงชวนไปร่วมทำงานด้วย ทำให้เราได้เห็นงานการเมืองในหลายๆ ด้าน จึงเกิดการซึมซับในเรื่องของการเมืองมาพอสมควร ทำให้เราตระหนักได้ว่าการเมืองคือหัวใจของการพัฒนาประเทศ ประเทศที่เจริญส่วนใหญ่จะเริ่มจากการเมืองที่เข้มแข็ง เป็นจุดทำให้ต้องการทำงานการเมือง
..เห็นว่าการเมืองไทยก็ยังคงอยู่ในวังวนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อโอกาสเป็นของคนรุ่นใหม่ที่จะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำความรู้ความสามารถมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เราจึงสมควรเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนการเมืองให้เข้มแข็ง
การเข้ามาอยู่กับ พปชร.ครั้งนี้ “ดร.พัชรินทร์” เปิดเผยว่า เพราะได้มีโอกาสรู้จัก สนทนา ร่วมงาน และเกิดความประทับใจในผู้ใหญ่หลายๆ ท่านก่อนที่จะตั้งพรรค ซึ่งแต่ละท่านก็มีทัศนคติที่เปิดกว้าง มองเห็นถึงศักยภาพ และความตั้งใจของเรา เมื่อมีการตั้งพรรคจึงได้ชักชวนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในพรรค และเปิดโอกาสให้เราได้แสดงออกทางความคิดอย่างเต็มที่
..สิ่งที่ประทับใจที่สุดหลังจากที่ได้เข้ามาสัมผัสในพรรคนี้คือ พรรคมีแนวทางที่จะเดินไปข้างหน้า มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ ไม่มีใครเป็นเจ้าของพรรค ทุกคนมีอิสระในการแสดงออกทางความคิด และมีอุดมการณ์ร่วมกัน คือ เดินหน้าประเทศไทย โดยทางพรรคให้เราได้แสดงออกทางความคิดอย่างเต็มที่ สิ่งใดที่ดูแล้วเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง สามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม พรรคจะนำแนวคิดและวิธีการที่พวกเราเสนอไปวิเคราะห์ และวางนโยบายต่อไป
เมื่อถามว่าบทบาทของคนรุ่นใหม่ใน พปชร.จะมีมากน้อยแค่ไหน หลังมีอดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส.มาอยู่กับพรรคจำนวนมาก ข้อสงสัยดังกล่าว "ยังบลัด พปชร.-ดร.พัชรินทร์" ยืนยันว่าคนรุ่นใหม่ของพรรค พปชร.ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่ตนเองถนัด แต่ทั้งนี้ก็คือหน้าใหม่ทางการเมือง หลายๆ คนอาจยังไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง ดังนั้น การที่มีทั้งอดีต รมต.-อดีตส.ส.เข้ามาอยู่ในพรรค ทำให้เราได้โอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์ของนักการเมืองรุ่นเก่า นำมาตกผลึกแล้วผนวกกับความรู้ ความสามารถ ไฟในตัวของคนรุ่นใหม่ ก็ยิ่งทำให้เราได้มุมมองที่กว้างขึ้น คิดรอบด้านมากขึ้น จึงมองว่าเป็นโอกาสที่ดี ขณะเดียวกัน พรรคก็ยังคงให้ความสำคัญและส่งเสริมคนรุ่นใหม่อย่างเสมอต้นเสมอปลาย
“ดร.พัชรินทร์” ย้ำว่า เธอมีแนวคิดทางการเมือง โดยยึดหลักการ 3 ข้อ ข้อแรก คือ “ทำงานการเมืองด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและโปร่งใส” สอง คือ “ประโยชน์สุขของประชาชนต้องมาก่อนประโยชน์สุขส่วนตัว” และสุดท้าย คือ “ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน” ซึ่งจากที่ได้คุยถึงแนวคิดของผู้ใหญ่ในพรรคแล้ว สามารถตอบโจทย์ของเราได้ทั้ง 3 ข้อ จึงตัดสินใจทำงานร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ
ทั้งนี้ แม้จะเพิ่งเข้าการเมืองอย่างเป็นทางการครั้งแรก แต่ก่อนหน้านี้ “ดร.พัชรินทร์-ส้ม” ก็เคยมีประสบการณ์เดินเข้า-ออกอาคารรัฐสภามาพอสมควร เช่น การเป็นที่ปรึกษา ปธ.คณะ กมธ.ศึกษา วุฒิสภา, ที่ปรึกษา ปธ.คณะ กมธ.การเงินการคลัง สภาผู้แทนราษฎร ส่วนประเด็นการแก้ปัญหาประเทศ การปฏิรูปด้านต่างๆ เรื่องหนึ่งที่ให้ความสนใจ และเห็นว่าสำคัญก็คือ “การเกษตร-การบริหารงานยุติธรรม” โดยเธอให้มุมมอง-ทัศนะ ว่า เราควรเปลี่ยนแปลงระบบการเกษตรของไทยโดยวิธี “ปฏิรูปเกษตร สู่การพัฒนาชาติ” เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศทำการเกษตร เราจึงควรพัฒนาการเกษตรให้ก้าวหน้า เพิ่มผลผลิต คุณภาพ และมูลค่า โดยอาศัย “สหกรณ์” ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องส่งเสริมสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง รวมพลังเกษตรกรให้มีอำนาจต่อรอง พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน การพัฒนาการเกษตรของไทยจะประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องอาศัย “สหกรณ์” และต้องเป็น “สหกรณ์เข้มแข็ง” อย่ามองภาพสหกรณ์ว่าเป็นเพียงร้านค้าราคาถูก หรือเป็นแค่การรับฝากเงินจากสมาชิกแล้วปล่อยกู้แค่นั้น สหกรณ์มีความหมายที่กว้างกว่านั้นมาก สหกรณ์ควรเป็นการรวมตัวของกลุ่มอาชีพ เช่น สหกรณ์การเกษตร ก็เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้มีพลังในการต่อรองเพื่อประโยชน์ของสหกรณ์ และสมาชิก ซึ่งสหกรณ์เข้มแข็งนั้น จะเพิ่มพลังอำนาจการต่อรองในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านการซื้อและการขาย
..ส่วนกระบวนการยุติธรรม ปัญหาหลักเกิดจากการหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ผู้กระทำความผิดไม่เคารพกฎหมาย หากมีการกวดขันการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด จะลดปัญหาต่างๆ ลงได้ ที่ผ่านมามักจะมองกันที่ตัวกฎหมาย มีการเพิ่มโทษ มีกฎหมายออกมามากมาย แต่สุดท้ายแล้วถ้าการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นไปตามนั้น ก็ไม่มีประโยชน์ การบังคับใช้กฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ควรทำการสังคายนากฎหมายครั้งใหญ่ให้เหลือเท่าที่จำเป็น ซึ่งเรื่องนี้ก็เห็นมีการดำเนินการอยู่แล้ว
“ดร.พัชรินทร์” ยังให้มุมมองปิดท้ายหลังเราถามถึงกรณีบางฝ่าย พยายามสร้างกระแสการเมือง พรรคการเมืองให้แบ่งออกเป็นสองขั้ว เช่น ขั้วเอา-ไม่เอา คสช. ขั้วฝ่ายประชาธิปไตยกับขั้วสนับสนุน คสช. มองประเด็นนี้อย่างไร ซึ่งเธอให้ทัศนะว่า “สิ่งเหล่านี้เป็นวาทกรรมทางการเมือง ถ้าเรายังแบ่งฝัก แบ่งฝ่าย แบ่งขั้ว ยังคงวนเวียนอยู่กับการเมืองเก่าๆ ถึงตอนนี้ส้มคิดว่าเราควรมาช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ดีกว่า มาแข่งขันกันทางความคิด นำเสนอนโยบายที่ทำให้ประชาชนและประเทศได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงดีกว่า นี่แหละคือการเมืองของคนรุ่นใหม่ เพราะหากเรายังมัวแต่แบ่งขั้ว แบ่งฝ่าย สุดท้ายก็จะทำให้การเมืองอ่อนแอ แล้วเมื่อการเมืองอ่อนแอ ก็อาจเข้าไปสู่วงจรเดิมๆ สุดท้ายสิ่งที่บอบช้ำที่สุดก็คือประเทศ และคนไทยทั้งชาติ เรามาช่วยกันสร้างการเมืองให้มีความเข้มแข็ง ทำงานการเมืองด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ประชาชนมีความเป็นดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน” ดร.พัชรินทร์ รุ่นใหม่ พปชร.ให้ทัศนะปิดท้าย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |