"กำนันสุเทพ" ไม่ให้อภัย "ธาริต" หมิ่นประมาทเอี่ยวก่อสร้างโรงพักตำรวจ ระบุแค่ต้องการเอาตัวรอดเท่านั้น พร้อมส่งทนายร้องต่อศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาตามนัด 14 ธ.ค.นี้ ขณะที่โฆษกศาลแจงขั้นตอนอ่านฎีกา
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่ “คารวะแผ่นดิน” รับสมัครสมาชิกพรรค ที่จังหวัดอ่างทอง ถึงกรณีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอขมาที่ได้กล่าวหามีส่วนทุจริตสร้างโรงพักตำรวจว่า มีผู้ใหญ่ที่ตนเคารพได้ติดต่อมาจะให้นายธาริตนำธูปเทียนมาขอขมา ซึ่งตนได้บอกไปว่าไม่ต้องการพบนายธาริต เพราะเห็นว่าได้กระทำการผิดวิสัยของผู้ผดุงความยุติธรรมที่มีหน้าที่ดูแลกระบวนการยุติธรรม แต่กลับตั้งใจทำผิดเอง เพื่อสอพลอผู้มีอำนาจ จึงคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่จะอภัย และสังคมไม่ควรอภัย
นายสุเทพกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่ที่ติดต่อมา ตนเคยพึ่งพาท่านตอนเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ก็บอกไปว่าต้องปรึกษาทีมทนายความของตนก่อน และสรุปได้ว่าคดีความที่มีอยู่กับนายธาริตไม่ใช่กรณีนี้กรณีเดียว แต่นายธาริตได้เล่นงานภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับตนทุกฝ่ายอย่างแสนสาหัส ตั้งแต่ปี 52 ปี 53 ปี 56 และปี 57 นายธาริตเข้าไปวุ่นวายมากใช้อำนาจหน้าที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชนดังกล่าว
“รวมทั้งการที่คุณธาริตขึ้นไปเบิกความ ให้การไม่ตรงกับความเป็นจริง ให้ความเอาใจอีกฝ่ายอย่างชัดเจน ดังนั้นบรรดาทนายความที่เป็นที่ปรึกษาให้ผมยืนยันว่ากรณีนี้ผมไม่ควรยอมความให้นายธาริต เพราะไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวของผม แต่เป็นเรื่องนายธาริตกับประชาชนด้วย ซึ่งผมก็ฟัง เพราะคดีความทั้งหมดทีมทนายผมเป็นคนทำ และผมตัดสินใจว่าคงไม่ยอมความในคดีดังกล่าว ส่วนที่นายธาริตจะขอขมาเพื่อสร้างเป็นข้ออ้างต่อศาล เป็นสิทธิ์ของนายธาริตที่จะทำอะไรก็ได้เพื่อเอาตัวรอดไม่ให้ตัวเองติดคุก แต่ผมไม่สามารถคิดเฉพาะเรื่องตัวเองได้ เพราะวันนี้ทำงานให้ประชาชน ต้องคิดถึงความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ” นายสุเทพกล่าว
วันเดียวกัน นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงขั้นตอนการนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีหมายเลขดำ อ.495/2556 ที่นายสุเทพ อดีตรองนายกฯ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทและหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 ว่า คดีนี้ศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ เวลา 09.00 น. โดยเป็นการขอใช้ห้องพิจารณาคดีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่อาคารศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ
สำหรับการอ่านคำพิพากษาในคดีนี้นั้น จะเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 ว่าศาลฎีกาจะอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ศาลฎีกา หรือจะส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านก็ได้ และระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา พ.ศ.2550 ข้อ 3 (3) กำหนดให้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาได้ในคดีที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือเป็นที่สนใจของประชาชนหรือคดีอื่นใด ซึ่งประธานศาลฎีกาเห็นสมควรให้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ศาลฎีกา
คดีตามข้อ 3 (3) นี้ เมื่อสั่งออกร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว หากผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา (ผู้ช่วยใหญ่) ที่สั่งออกเห็นสมควรให้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกาที่ศาลฎีกา ให้ทำบันทึกเสนอความเห็นผ่านรองประธานศาลฎีกาที่มีอาวุโสสูงสุด หรือผู้ที่ประธานศาลฎีกามอบหมาย ไปยังประธานศาลฎีกา เพื่อมีคำสั่งก็ได้ โดยคดีที่จะมีการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกาที่ศาลฎีกา ให้เลขานุการศาลฎีกาหรือผู้ที่เลขานุการศาลฎีกามอบหมายเป็นผู้ดำเนินการทางธุรการ
นายสุริยัณห์กล่าวต่อว่า สำหรับคดีดังกล่าวนั้น เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายธาริตจำเลยในคดีได้ยื่นคำร้อง ขอถอนคำให้การเดิมและเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพตามฟ้อง พร้อมขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ออกไปก่อน 60 วัน ตามเหตุผลที่นายธาริตได้แถลงปรากฏตามสื่อมวลชน ซึ่งศาลฎีกาก็จะพิจารณาและมีคำสั่งต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่นายธาริตได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนขอถอนคำให้การเดิมและเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพตามฟ้อง พร้อมขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปก่อน 60 วันนั้น มีรายงานว่าในวันที่ 11 ธ.ค. นายสุเทพ โจทก์ ได้ส่งทนายความยื่นคำร้องมาที่ศาลฎีกาโดยคำร้องสรุปว่า ตามที่มีข่าวปรากฏตามหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ มีข้อความปรากฏสาระสรุปว่า จำเลยในคดีนี้ได้ให้ทนายความแถลงข่าวว่าได้มีการประนีประนอมกับโจทก์ และขอขมาลาโทษต่อโจทก์ พร้อมยังขอบพระคุณกับโจทก์ที่จะได้เมตตายกโทษในคดีตามที่โจทก์เห็นสมควรให้นั้น ข้อความเหล่านี้ไม่เป็นความจริง โจทก์จึงขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาตามที่นัดไว้ในวันที่ 14 ธ.ค.2561 ตามเดิม
สำหรับคดีนี้ นายสุเทพโจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 7 ก.พ.2556 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 21 ม.ค.-4 ก.พ.2556 นายธาริตขณะดำรงตำเเหน่งอธิบดีดีเอสไอ แถลงข่าวผ่านสื่อมวลชนกล่าวหาว่านายสุเทพ โจทก์ ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกฯ เป็นผู้สั่งการไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทำสัญญาก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ 396 แห่งเป็นรายภาค ตามที่ สตช.เสนอ แต่กลับให้รวมสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างเพียงรายเดียว ทำให้บริษัท พีซีซี ดิเวลล็อปเม้นท์ แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล จนเกิดปัญหาที่ไม่สามารถก่อสร้างได้เสร็จทันตามกำหนด ซึ่งล้วนเป็นเท็จ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาวันที่ 26 มี.ค.2558 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าการแถลงข่าวของจำเลยเป็นการตรวจสอบโครงการก่อสร้างโรงพัก และให้ความเห็นในทางกฎหมายในฐานะอธิบดีดีเอสไอ ไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้กระทำการทุจริต ต่อมาวันที่ 3 พ.ค.2559 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง โดยเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเพียงพอได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ต่อมานายสุเทพ โจทก์ ได้ขออนุญาตฎีกาต่อ โดยศาลฎีกานัดฟังคำสั่งในวันที่ 14 ธ.ค.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |