Council of State คือ ที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน ที่จัดตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๑๗ เพื่อเป็นองค์กรถวายคำปรึกษาแก่พระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดิน การร่างกฎหมาย และการพิจารณาเรื่องที่ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ซึ่งอำนาจหน้าที่ดังกล่าวคล้ายคลึงกับ Conseil d’Etat หรือ Council of State ของกลุ่มประเทศภาคพื้นยุโรป จากนั้นได้มีการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่เรื่อยมา จนในปีพุทธศักราช ๒๔๗๖ ได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาขึ้น เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม เพื่อจัดตั้ง “คณะกรรมการกฤษฎีกา” ทำหน้าที่ในการร่างกฎหมาย ปรึกษา และให้ความเห็นทางกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการ สำนักงานฯ จึงถือเอาวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๗๖ เป็นวันสถาปนาสำนักงานฯ
ปัจจุบันประชาชนทั่วไปมักรู้จักสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะ “ผู้ตีความกฎหมาย” เนื่องจากเมื่อหน่วยงานของรัฐ คณะรัฐมนตรี หรือรัฐบาล มีปัญหาหรือไม่แน่ใจในการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย ก็จะส่งเรื่องหารือมายังสำนักงานฯ แต่ความจริงแล้วสำนักงานฯ มีภารกิจในด้านอื่น ๆ ทางกฎหมายอีกหลายประการที่สำคัญก็คือ การจัดทำร่างกฎหมายให้กับคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่ผ่านมาสำนักงานฯ ได้รับเรื่องจากคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐมาดำเนินการแล้วเสร็จเป็นจำนวน ๑,๙๖๕ เรื่อง เป็นงานจัดทำร่างกฎหมาย จำนวน ๕๒๘ เรื่อง งานให้คำปรึกษาทางกฎหมาย จำนวน ๑,๑๔๒ เรื่อง และงานจัดทำคำแปลกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนได้ใช้ประโยชน์ จำนวน ๒๙๕ เรื่อง นอกจากนี้ สำนักงานฯ ยังมีภารกิจสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ การพัฒนาหลักกฎหมายปกครองการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ ประสานงานและเสริมสร้างความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ และหน่วยงานด้านกฎหมายของต่างประเทศ และการวิจัยและพัฒนากฎหมาย โดยตรวจสอบสภาพปัญหาของประเทศและของสังคมแล้วทำการศึกษาวิจัยเพื่อเสนอร่างกฎหมายใหม่หรือแก้ไขกฎหมายเดิม รวมทั้งตรวจสอบหรือจัดให้มีการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย และการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในการร่างกฎหมาย ตลอดจนดำเนินการเกี่ยวกับการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายด้วย
และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนทั่วไป ในการค้นคว้าข้อมูลทางกฎหมาย สำนักงานฯ ได้รวบรวมและปรับปรุงข้อมูลกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ให้เป็นปัจจุบัน ตลอดถึงจัดทำคำแปลภาษาอังกฤษของรัฐธรรมนูญและกฎหมายฉบับสำคัญเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานฯ www.krisdika.go.th และ www.lawreform.go.th จัดทำฐานข้อมูลกฎหมายของประชาคมอาเซียนและประเทศสมาชิกอาเซียนผ่านทางเว็บไซต์ www.lawforasean.com อีกด้วย
นอกจากนี้ ผู้สนใจข้อมูลด้านกฎหมายสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวทางด้านกฎหมายที่เป็นประโยชน์ได้จากเว็บเพจ (facebook) ได้แก่ (๑) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (๒) โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (๓) คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (๔) Thai Law Reform Commission และ (๕) Foreign Law Division, Office of the Council of State of Thailand
ตลอด ๘๕ ปีที่ผ่านมาและปีต่อ ๆ ไปของสำนักงานฯ จะยังคงเป็นองค์กรกลางทางกฎหมายของประเทศที่จะ “มุ่งมั่น สร้างสรรค์ กฎหมายไทยให้มีคุณภาพ” ตลอดไป
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |