“กกต.” แจงเผือกร้อนบัตรเลือกตั้งยังไม่สะเด็ดน้ำ ประชุม 11 ธ.ค.จะสรุปเลือกทางไหน เสียงรุมยำตัดชื่อ-โลโก้ยังระงม อัดทำประชาชนสบสน ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ยกเทียบซื้อ “น้ำปลา-นักฟุตบอล” ยังต้องดูยี่ห้อ ส่วนข้อเสนอแก้มาตรา 48 เขตเดียวเบอร์เดียวเสียงแตก ชี้อาจทำให้ 24 ก.พ.สะดุด โพลพระปกเกล้าเผยชาวบ้านส่วนใหญ่มึนบัตร ส่วนใหญ่ยังนึกว่ากา 2 ใบ “พลังประชารัฐ” พลิกล็อตใหญ่ สั่ง 4 รัฐมนตรียึดเก้าอี้ต่อ หวังใช้เป็นโล่ปกป้อง “ลุงตู่” ที่จะถูกแรงบีบให้ไขก๊อกหากมีชื่อชิงนายกฯ
เมื่อวันจันทร์ ประเด็นการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งโดยไม่มีโลโก้และชื่อพรรคการเมืองยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง โดยนายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ว่า การจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งยังอยู่ในขั้นการทำงานของสำนักงาน โดยออกแบบไว้ 2 รูปแบบ รูปแบบแรกมีข้อมูลครบถ้วน ทั้งเบอร์ ชื่อ และโลโก้พรรค ส่วนรูปแบบที่ 2 คือบัตรที่มีเพียงหมายเลขผู้สมัคร ซึ่งรูปแบบนี้เกิดจากกรณีการขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร กรณีเกิดปัญหาบัตรพลัดหลงหรือส่งไม่ถึงมือ จึงต้องพิมพ์บัตรโหล แต่สำนักงานจะอุดช่องว่าง โดยส่งข้อมูลผู้สมัคร พรรคการเมืองของเขตผู้ลงทะเบียนให้ทราบด้วย
"ทั้งหมดยังเป็นเพียงข้อมูลที่สำนักงานจะเสนอเพื่อประกอบการตัดสินใจ กกต.ยังไม่ได้ตัดสินใจ เรากำลังประชุมเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งวันอังคารที่ 11 ธ.ค.สำนักงานจะคุยกับหน่วยงานสนับสนุนเพื่อหาข้อสรุปและเสนอ กกต. เพราะต้องทำทีโออาร์ส่งหาผู้รับจ้างแล้ว ดังนั้น คาดว่าไม่เกินต้นสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุปทั้งหมด" นายณัฏฐ์กล่าว
นายณัฏฐ์ยืนยันว่า รูปแบบบัตรเลือกตั้งไม่ผิดกฎหมาย เพราะทั้งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเลือกตั้งก็ไม่ได้เขียน ระบุเพียงลักษณะรูปแบบบัตรให้เป็นไปตามที่ กกต.กำหนด ซึ่งแม้เป็นบัตรมีหมายเลขอย่างเดียวก็ไม่ได้ขัดเจตนารมณ์กฎหมาย เพราะ กกต.พยายามนำเสนอข้อมูลผู้สมัครและพรรคการเมืองให้กับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในทุกช่องทางจนถึงหน้าหน่วยเลือกตั้งครบถ้วนอยู่แล้ว
ขณะที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงกระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้เสนอตัดโลโก้และชื่อพรรคในบัตรเลือกตั้ง ว่านายกฯ ไม่ได้ผู้เสนอ แต่มีตัวแทน 1-2 พรรคการเมืองสอบถาม กกต.ว่าควรมีชื่อและโลโก้พรรคในบัตรเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งเลขาธิการ กกต.ได้ชี้แจงแนวทางที่กำหนดไว้เบื้องต้นว่า 1.กรณีเลือกตั้งล่วงหน้าในต่างประเทศ เบอร์ผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่เหมือนกัน การจะมีทั้งชื่อและโลโก้พรรคจะสับสน และต้องส่งบัตรเลือกตั้งทั้ง 350 แบบไปตามแต่ละประเทศ และ 2.เรื่องดังกล่าวยังเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นของ กกต. ซึ่งเมื่อมีการสอบถามเรื่องนี้ในที่ประชุมวันที่ 7 ธ.ค. นายกฯ เพียงแต่ระบุว่าถ้าจะเลือกใครทุกคนก็ต้องจำให้ได้
“ยืนยันรัฐบาลและนายกฯ ไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายการทำงานของ กกต. โดย กกต.จะนำเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาอีกครั้ง” นายพุทธิพงษ์กล่าว และว่า กรณีเอื้อให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นั้น ยืนยันไม่ได้เอื้อให้พรรคใด อย่าคิดแทนและดูถูกประชาชนว่าจำรายละเอียดอะไรไม่ได้ ส่วนที่มีข้อเสนอให้แก้ไขมาตรา 48 พระราชญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้พรรคการเมืองกลับมาใช้เบอร์เดียวทุกเขตเลือกตั้งนั้น รัฐบาลไม่ก้าวก่ายการทำงาน กกต. แต่หากในอนาคตไม่สามารถดำเนินการส่วนนี้ได้ตามปกติก็เป็นเรื่องหนึ่ง ตอนนี้ปล่อยให้ กกต.ทำหน้าที่
รุมยำบัตรไร้ชื่อ-โลโก้
ด้านความคิดเห็นของซีกนักการเมืองนั้น ยังคงมีเสียงค้านอย่างมาก โดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เห็นใจ กกต.ว่าปฏิบัติยาก ซึ่งอาจเป็นเจตนาของผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้เกิดความสับสน ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างในรัฐธรรมนูญต้องแก้ไข ส่วนการจะร้องศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองคงไม่ทัน เพราะเวลาใกล้เข้ามามากแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือรีบทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนที่จะมาใช้สิทธิในการเลือกตั้งให้เข้าใจว่าต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พท.มองว่า ถือเป็นเรื่องตลก และเชื่อว่าประชาชนก็คงมองว่าเป็นเรื่องตลกเช่นกัน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทยและโลก จึงขอผู้เกี่ยวข้องอย่าทำให้ความถูกต้องกลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย กกต.อย่าอยู่ใต้อาณัติของหัวหน้า คสช. แต่ควรมีเกียรติยศและศักดิ์ศรี และจัดการเลือกตั้งให้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมให้มากที่สุด
“ไม่รู้เป็นแผนตั้งแต่ต้นหรือไม่ และระบุอยู่ในโรดเแมปหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจมาตรา 44 ที่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ก็ควรทำให้การเลือกตั้งเขตเดียวเบอร์ทั่วประเทศเดียวเพื่อเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตย” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
นายนพดล ปัทมะ สมาชิกพรรค พท. กล่าวเช่นกัน ว่า ถ้ามีการตัดโลโก้และชื่อพรรคออกจากบัตรเลือกตั้ง จะถือเป็นความพ่ายแพ้ของสามัญสำนึก และส่งผลถึงการเลือกตั้งที่เป็นธรรม เพราะขนาดซื้อน้ำปลายังต้องดูโลโก้ที่ขวดเลย และในอดีตผู้สมัครพรรคเดียวกันได้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ ในบัตรมีทั้งชื่อและโลโก้พรรค ผู้ใช้สิทธิ์จึงจำเบอร์พรรคได้สะดวก แต่การเลือกตั้งครั้งหน้านี้ ผู้สมัครจากพรรคเดียวกันในแต่ละเขตจะได้เบอร์แตกต่างกันไป จึงอาจมีความสับสน ยิ่งถ้าไปตัดโลโก้และชื่อพรรคออกด้วยยิ่งมีปัญหาเพิ่มขึ้น
“เหตุผลที่ว่าที่ต้องตัดโลโก้ เนื่องจากปัญหาการขนส่งบัตรนั้นขาดน้ำหนัก อย่าเอาเรื่องธุรการมาก่อนหลักการ เรื่องนี้วิญญูชนคิดได้ หวังว่า กกต.จะฟังความเห็นจากทุกฝ่ายแล้วไปตรึกตรองให้ดี เพราะประเด็นที่ถกเถียง สะท้อนระดับการพัฒนาการเมืองของไทยได้ดี อุปมาเหมือนโลกเขาถกเถียงกันเรื่องส่งจรวดไปสำรวจดาวอังคารกันแล้ว แต่ใครทำให้เรายังคงเถียงกันเรื่องสีของบั้งไฟ ทำอะไรคิดถึงประชาชนบ้าง” นายนพดลระบุ
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีต กกต. โพสต์ภาพบัตรเลือกตั้งของประเทศต่างๆ และข้อความบนเฟซบุ๊ก ว่าบัตรเลือกตั้งจากหลายประเทศมีสิ่งอำนวยความสะดวกและช่วยให้ประชาชนใช้สิทธิได้อย่างถูกต้อง โดยมีทั้งหมายเลขผู้สมัคร ชื่อพรรคการเมือง โลโก้พรรค บางประเทศมีรูปผู้สมัครด้วย เพื่อไม่ให้กาผิดฝาผิดตัว แต่ไทยกำลังเหลือเพียงแค่หมายเลข ด้วยเหตุผลคือหากใส่ชื่อพรรคและโลโก้ต้องจัดพิมพ์ถึง 350 แบบ
“พระราชกฤษฎีกาสามารถประกาศได้ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.2561 ไม่จำเป็นต้องรอถึง 2 ม.ค.2562 กกต.ต้องไม่ปากหนัก ไม่ต้องห่วงว่าพรรคการเมืองทำไพรมารีไม่ทัน หรือดันทุรังพิมพ์บัตรโหลที่มีเลขผู้สมัครอย่างเดียว ให้สุ่มเสี่ยงกับการถูกฟ้องว่าขัดกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มีครบ 7 คนแล้วก็คิดกันให้รอบคอบ คิดเอง ตัดสินใจเอง กฎหมายให้อำนาจท่านในการตัดสินใจ และต้องพร้อมรับผิดชอบ เพราะสำนักงานเขาแค่เสนอ ท่านเป็นคนตัดสินใจ ความถูกความผิดอยู่ที่ท่าน กกต.ชุดที่ 2 ติดคุกตอนแก่ ผมไม่เห็นมีเจ้าหน้าที่คนไหนติดคุกนะ”
เสียงแตกแก้มาตรา 48
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวเช่นกันว่า การตัดโลโก้และชื่อพรรคบนบัตรเลือกตั้งออกจะทำให้เกิดความสับสน ควรปฏิบัติตามสิ่งที่เคยดำเนินการมา ไม่เช่นนั้นอาจถูกครหาว่า เป็นเรื่องการเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งไม่เป็นผลดี และเห็นด้วยกับข้อเสนอแก้ไขมาตรา 48 เพื่อให้ทุกเขตใช้เบอร์เดียวกัน
ส่วนนายนิกร จำนง แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า ทางออกแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้แบ่งบัตรเป็น 2 ประเภทคือ 1.บัตรที่มีเฉพาะหมายเลขผู้สมัครที่ กกต.นำมาใช้ครั้งนี้ หรือบัตรโหลให้นำไปใช้เฉพาะการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และ 2.บัตรเลือกตั้งที่มีทั้งชื่อและโลโก้พรรคให้นำไปใช้กับการเลือกตั้งในประเทศ โดยให้เปลี่ยนวิธีจัดซื้อจัดจ้างให้โรงพิมพ์แต่ละจังหวัดจัดพิมพ์ แทนการให้ส่วนกลางจัดพิมพ์ เพื่อความรวดเร็วโดยจะนำข้อเสนอดังกล่าวไปเสนอต่อที่ประชุม กกต.กับพรรคการเมืองในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ ส่วนข้อเสนอให้แก้กฎหมายใช้ผู้สมัครเป็นหมายเลขเดียวกันทั่วประเทศนั้น ไม่เห็นด้วย เพราะยุ่งยาก อาจไม่ทันวันที่ 24 ก.พ.2562
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ระบุว่า เป็นเรื่องของ กกต. ซึ่งเชื่อว่าจะตัดสินใจให้เป็นที่ยอมรับที่สุด พวกเราเป็นผู้เล่น หากกรรมการตัดสินใจออกมาอย่างไรก็ต้องยอมรับ
โดยอยากให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบมากที่สุด เพื่อจะได้ตัดสินใจบนพื้นฐานความถูกต้อง
ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า พรรคเคารพในกฎกติกา เชื่อว่า กกต.คงรับฟังความเห็นทุกฝ่าย เพื่อให้การเลือกตั้งเกิดความเป็นธรรม เป็นที่รับได้ของคนไทย ซึ่งต้องปล่อยให้ กกต.ไปรับฟังความเห็นเพื่อตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องชี้แจงเหตุผลให้ชัดเจนว่า สิ่งที่ตัดสินใจนั้นเป็นเพราะอะไร แต่พรรคเราพร้อม ไม่ว่ารูปแบบจะออกมาหน้าตาอย่างไรเราก็พร้อม
“ไม่ใช่ว่าได้เปรียบหรือเสียเปรียบ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องรอดูว่าข้อสรุปส่วนนี้จะออกมาอย่างไร ผมคิดว่าคนไทยก็ติดตามเรื่องนี้อยู่ และเชื่อมั่นใน กกต.ว่าจะดำเนินการได้อย่างเป็นธรรม” นายอุตตมกล่าวตอบข้อถามว่ามีข้อสังเกตว่าบัตรเลือกตั้งไม่มีโลโก้และชื่อพรรคจะเอื้อ พปชร.
ด้านนายชื่นชอบ คงอุดม โฆษกพรรคพลังท้องถิ่นไท (พทท.) กล่าวว่า สิ่งที่ กกต.ทำอยู่ไม่เป็นสากล ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมโลก และสร้างความสับสนให้กับประชาชน แม้พรรคเล็กได้เปรียบ แต่ยืนยันว่าอยากให้ใส่โลโก้พรรคในบัตร ซึ่ง กกต.ควรกลับไปทบทวนและแก้ไข
ขณะที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) กล่าวประเด็นนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนพูด ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เกี่ยวข้องอย่างไรกับการเลือกตั้ง เพราะเป็นหน้าที่ของ กกต. ซึ่งมีระเบียบ กฎเกณฑ์ที่ต้องทำ ดันไปทำตามใคร ซึ่งไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว เล่นฟุตบอลในสนามก็ต้องใส่เสื้อสีต่างกัน ต้องมีเบอร์ เพื่อจะได้รู้ว่าใครเป็นใครเวลาทำผิดหรือทำถูก
ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ระบุว่า ถือเป็นเรื่องอ่อนไหว ขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน และขัดต่อหลักปฏิบัติสากลที่ทั่วโลกทำกัน ซึ่งขอเรียนไปถึงผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนทุกคนและสังคมโลกจับตามองอยู่ จึงขอให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม การกระทำเช่นนี้ส่อเจตนาบิดเบี้ยว บิดเบือนเจตนารมณ์ และการยึดโยงกับประชาชน
โพลชี้ ปชช.ยังมึนใบเลือกตั้ง
“อย่าลืมว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คนไทยมีสิทธิ์ลงคะแนน 40-50 ล้านคน และไม่ใช่ทุกคนที่อ่านชื่อผู้สมัครในบัตรเลือกตั้งได้ หรือรู้ว่าใครอยู่พรรคไหน เพราะวันนี้ผลสำรวจจากกรุงเทพโพลสรุปให้เห็นว่า กว่า 70% ประชาชนยังไม่รู้เกี่ยวกับกระบวนการและระบบการเลือกตั้ง จึงอยากให้คำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ดังนั้นโลโก้พรรคจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการตัดสินใจใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน ขอร้องปล่อยให้ กกต.ทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระ อย่าไปสนใจในความเห็นของคน ซึ่งไม่ได้มีส่วนหรือหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง บ้านเมืองขณะนี้เกิดปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากผู้มีอำนาจไร้จิตสำนึก มองข้ามหัวประชาชน จึงขอให้ กกต.เป็นหลักเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนสู่ประเทศและประชาชน" นายปรีชาพลกล่าว
นางลลิตา ฤกษ์สำราญ รองหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ (พ.พ.ช.) กล่าวว่า เราต้องไม่ยอมรับกติกาที่ กกต.ในฐานะที่เป็นองค์กรอิสระ แต่กลับอยู่ใต้อำนาจของ คสช. กกต.มีหน้าที่ที่ต้องทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุว่า สมาคมจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในวันอังคารที่ 11 ธ.ค. เพื่อเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองให้วินิจฉัยว่าการที่ กกต.จะกำหนดบัตรเลือกตั้งโดยไม่มีโลโก้และชื่อพรรคการเมืองนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่ และการที่ พล.อ.ประยุทธ์เสนอให้ กกต.จัดทำบัตรเลือกตั้งมีแค่หมายเลขและช่องกาบัตรเท่านั้น ถือเป็นการแทรกแซงการทำงานของ กกต.หรือองค์กรอิสระหรือไม่ด้วย
ขณะเดียวกัน สถาบันพระปกเกล้าได้เผยผลสำรวจ ครั้งที่ 1 เรื่องประชาชนพร้อมหรือยังกับการเลือกตั้ง โดยสอบถามความคิดเห็นประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 1,540 ตัวอย่าง ซึ่งเมื่อถามเกี่ยวกับ บัตรเลือกตั้งตามระบบเลือกตั้งใหม่ พบว่า 55.2% ยังเข้าใจว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ที่กำลังจะจัดขึ้นกาบัตร 2 ใบเช่นเดิมมีเพียง 44.8% เข้าใจถูกต้องว่าต้องกาบัตร 1 ใบ และเมื่อถามว่า วันที่ 24 ก.พ.2562 จะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ 90.8% ระบุว่าออกไปใช้สิทธิแน่นอน 8.6% ระบุว่ายังไม่แน่ใจ และ 1.6% ระบุว่าจะไม่ไปใช้สิทธิ
วันเดียวกัน ยังมีความเคลื่อนไหวพรรคการเมืองต่างๆ อย่างมาก โดยที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ พปชร.ได้จัดประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 โดยมีวาระสำคัญพิจารณาลงมติเลือกกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส. 11 คน โดยนายอุตตมระบุว่า กรรมการสรรหาจะเริ่มทำงานในทันที ซึ่งเมื่อได้สรุปแล้วจะนำเข้าที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคให้ความเห็นชอบ ก่อนนำรายชื่อส่งให้ กกต.ตรวจสอบในเดือน ม.ค.2562 ซึ่งไม่เกี่ยวกับการทำไพรมารีโหวต 3 ผู้บุคคลที่พรรคจะเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในบัญชีพรรค
นายอุตตมยังกล่าวถึงการลาออกจากรัฐมนตรีของ 4 รมต.ของพรรคว่า ขอให้รอดู เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมทั้ง 4 คนจะออกมาปฏิบัติหน้าที่ทางการเมืองอย่างเดียว ไม่ต้องห่วงเรื่องนี้ อยากให้ดูด้วยว่าปัจจุบันนี้เราได้ทำอะไรที่หลุดออกไปจากกรอบหรือไม่ ดังนั้นเราจึงไม่ได้เปรียบพรรคการเมืองอื่น เพราะเวลาที่ทำงานในตำแหน่ง เราไม่ได้ทำงานพรรคการเมือง เราต้องการทำงานที่รับผิดชอบไปให้ถึงฝั่ง
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้า พปชร. กล่าวว่า หลังปลดล็อกให้หาเสียงได้ พรรคจะนำนโยบายเน้น 4 คำ คือ สร้าง-เสริม-ปรับ-เปลี่ยน คือ สร้างหลักประกันสังคม เสริมความเข้มแข็งฐานราก ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และเปลี่ยนการบริหารราชการไปสู่รัฐที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มาทำความเข้าใจกับประชาชน
แผนใหม่ 4 รมต.ไม่ไขก๊อก!
มีรายงานข่าวจาก พปชร.แจ้งว่า หลังปลดล็อกทางการเมืองที่เดิมจะให้ 4 รัฐมนตรีลาออก เพื่อแสดงสปิริตทางการเมืองนั้น ล่าสุดผู้ใหญ่ใน พปชร.ได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ โดยไม่ให้ 4 รัฐมนตรีลาออก เพราะไม่มีกฎหมายบังคับ อีกทั้งหากอยู่ในตำแหน่งยังสามารถขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่จะเป็นประโยชน์ให้ พปชร.ได้ และเหตุผลสำคัญเพื่อเป็นกันชนและลดแรงเสียดทานให้ พล.อ.ประยุทธ์
“หาก 4 รัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ต้องมาเป็นแคนดิเดตบัญชีรายชื่อนายกฯ ให้ พปชร.ในเดือนมกราคม 2562 จะถูกกระแสเรียกร้องให้ลาออกอย่างหนักหน่วงแน่นอน และอาจส่งผลต่อคะแนนนิยมตัว พล.อ.ประยุทธ์ และ พปชร.ลดลง” รายงานระบุ
นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค ปชป. ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพรรคได้เรียกประชุมอดีต ส.ส.พรรค และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เพื่อชี้แจงกรอบนโยบายที่จะใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งให้สมาชิกพรรคได้รับทราบ พร้อมเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคได้ซักถามถึงข้อสงสัย และแสดงความเห็น พร้อมเสนอแนวคิดเพิ่มเติม เพื่อนำไปใช้ประกอบการร่างนโยบายของพรรคต่อไป โดยการประชุมพรรคยังได้จัดหาสตูดิโอถ่ายภาพให้อดีต ส.ส.แบบแบ่งเขต ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมในจังหวัดที่ไม่เปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้ง เพื่อใช้พิมพ์เป็นโปสเตอร์หาเสียง ส่วนการวางตัวผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อนั้น เชื่อว่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนภายในสัปดาห์นี้
ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์พร้อมคณะได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อรับสมัครสมาชิก โดยคุณหญิงสุดารัตน์ระบุว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นแม้กำลังจะน้อย เพราะกฎหมายทำให้สมาชิกในพรรคหายไปบางส่วน วันนี้จึงต้องกลับมาหาพี่น้องชาวเชียงใหม่อีกครั้ง และพรรคเพื่อไทยขอสัญญาว่าทุกความไว้วางใจที่มีให้พรรคไทยจะไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง
ขณะที่นายอนุทิน ได้เปิดแนวคิด “กรุงเทพ สะดวก สบาย” โดยระบุว่า พรรคขอเป็นตัวเลือกใหม่ แก่พี่น้องชาวกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเราเคยถอดใจจากพื้นนี้ แต่เมื่อมีโอกาสพูดคุยกับพี่น้องชาวกรุงเทพฯ รับรู้ได้ว่า พี่น้องต้องการทางเลือกใหม่ พรรคจึงอาจเป็นหนึ่งในทางเลือกนั้น ดังนั้นเราจึงไม่ปฏิเสธ ในการขอโอกาสรับใช้พี่น้องประชาชน
ที่ห้องประชุมสหกรณ์การเกษตร อ.จะนะ จ.สงขลา นายจตุพร พรหมพันธ์ ประธาน นปช. ผู้สนับสนุนพรรคพรรคเพื่อชาติ (พ.พ.ช.) และคณะได้พบประชาชน โดยยืนยันว่าพรรคจะส่งผู้สมัครทั่วประเทศ 350 เขต โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์ผูกขาดจะส่งผู้สมัครลงทุกเขต โดยนายอารี ไกรนรา จะเป็นผู้คัดเลือกตัวผู้สมัคร
ส่วนที่เดอะฮอล พรรคพลังพลเมืองไทย (พพพ.) ได้จัดประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 3 เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ เลือกตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคจากพลังพลเมืองไทยเป็นพลเมืองไทย โดยนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ หัวหน้าพรรค ได้ขอลาออก และเสนอชื่อนายเอกพร รักความสุข เลขาธิการพรรค ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทน ซึ่งที่ประชุมเห็นลงมติเห็นชอบ โดยนายเอกพรยังได้เสนอแต่งตั้งให้นายสัมพันธ์เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และการเลือกตั้งด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |