ลุ้นได้ตัวผู้ว่าฯรฟม.เสียที


เพิ่มเพื่อน    


    เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาดูเหมือนจะเป็นประเด็นขึ้นมาอีกระลอก หลังจากที่เมื่อวันอังคารที่ 30 มกราคม 2561 กลุ่มธรรมาภิบาล ได้เข้ายื่นหนังสือให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ระงับการเสนอชื่อ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการฝ่ายวิศวกรรมก่อสร้าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ทำหน้าที่ผู้ว่าการ รฟม.คนใหม่
    ซึ่งประเด็นปัญหาเนื่องจากมองว่า ว่าที่ผู้ว่าฯ รฟม.คนใหม่ไม่มีความเหมาะสม และอยู่ระหว่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบว่ามีพฤติการณ์ที่น่าเชื่อถือ ว่าได้กระทำทุจริตหรือมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินแผ่นดิน ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 หรือไม่
    โดยเบื้องต้นนั้นพบว่าได้มีผู้ร้องเรียนไปยัง สตง. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า นายภคพงศ์ในฐานะรองผู้อำนวยการโครงการ และผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานก่อสร้าง (ในขณะนั้น) ได้มีการเปลี่ยนแปลงงานให้กับผู้รับเหมาสัญญาที่ 2 โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงสนามไชย-ท่าพระ (บมจ.ช.การช่าง เป็นผู้รับก่อสร้าง) ทำให้ รฟม.ต้องเสียเงินเพิ่มอีก 290 ล้านบาท
    ซึ่งที่ผ่านมา รฟม.ได้มีการแต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่มี นายสราวุธ เบญจกุล เป็นประธาน และเห็นว่ามีความผิดจริง และได้มีการตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงนายภคพงศ์ แต่ต่อมาคณะกรรมการ รฟม.ชุดที่มี พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ เป็นประธาน ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดใหม่ที่มีนายไกร ตั้งสง่า เป็นประธาน พบว่ามีคณะกรรมการบางท่านไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ พร้อมกับได้ทำความเห็นแย้งไว้
    จากกรณีนี้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดเดิม มีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ว่า เนื่องจาก รฟม.เปลี่ยนแปลงงานโดยการออก Variation Order No.12 (V.O.12) ตามสัญญาข้อ 64 โดยนำสัญญาข้อ 17 เป็นเงื่อนไขการออก V.O.12 ดังกล่าว ทำให้มูลค่างานเพิ่มขึ้น 290 ล้านบาท และมีการขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไป 90 วัน ทั้งๆ ที่สัญญาข้อ 13 กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่าผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องสำรวจพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมด และผู้รับจ้างต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงเอง
    ดังนั้น เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา บอร์ด รฟม.จึงได้มีมติเห็นชอบ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ นั่งผู้ว่าฯ รฟม. ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาค่าตอบแทน ต่อคณะกรรมการเจรจาค่าตอบแทน ประกอบไปด้วยผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้น รฟม.อยู่ระหว่างเตรียมรายงานผลส่งไปยังกระทรวงคมนาคมประมาณ 1 เดือนหลังจากนั้น คมนาคมเสนอต่อไปยังคณะรัฐมตรี (ครม.) เพื่อทราบต่อไป ซึ่งจะมีผลต่อตำแหน่งผู้ว่าฯ
    อย่างไรก็ตาม คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จ และผู้ว่าฯ รฟม.จะเริ่มปฏิบัติงานในเดือน มี.ค.61 นี้ ก็ต้องลุ้นกันต่อไปหลังจากนี้ว่ากระบวนการจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี หรือจะมีอุปสรรคหรือไม่ 
    ต้องคำนึงว่าขณะนี้รัฐบาลพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไป การที่องค์กรที่มีหน้าที่สำคัญขาดผู้นำการเดินหน้าโครงการเหล่านี้ให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ก็คงยากเช่นกัน.

กัลยา  ยืนยง 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"