"บิ๊กตู่" ไม่สบายใจข่าวไทยมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก ใช้ข้อมูลคลาดเคลื่อน มีคนไทยบางคนมองประเทศตัวเองย่ำแย่ ทำให้คนส่วนใหญ่เสียกำลังใจ แต่เข้าทางอุ้มคนจน 11 ล้านคน รัฐบาลแจกที่ดินแล้ว 61 จังหวัด กว่า 3 แสนไร่
เมื่อวันเสาร์ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ติดตามข่าวที่ระบุว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลกแล้วรู้สึกไม่สบายใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อมูลที่ปรากฏอาจคลาดเคลื่อนและไม่สมบูรณ์ อีกส่วนหนึ่งเพราะคนไทยบางคนมองประเทศตัวเองว่าย่ำแย่ ทำให้คนส่วนใหญ่เสียกำลังใจ
"นายกฯ ยอมรับว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่จริงเช่นเดียวกับหลายประเทศ ถือเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน คนไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรและมีรายได้น้อยเมื่อเทียบกับนักธุรกิจหรืออาชีพอิสระอื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีโอกาสเข้าถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตมากกว่า รัฐบาลจึงได้ประกาศลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นวาระเร่งด่วน และบรรจุไว้ในแผนปฏิรูประยะยาว"
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยผู้มีรายได้น้อยมากกว่า 11 ล้านคนเป็นอย่างมาก ตัวอย่างที่ได้ดำเนินการคือการจัดสรรที่ดินทำกินในพื้นที่ของรัฐให้แล้ว 61 จังหวัด เนื้อที่รวมกว่า 317,000 ไร่ และมีแผนจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้ธุรกิจรายย่อย ปฏิรูประบบภาษีและกระจายการถือครองที่ดิน และยกระดับคุณภาพชีวิตทุกด้าน ซึ่งถูกกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ที่จะค่อยๆ เห็นผลทุก 5 ปี จึงขอให้คนไทยทุกคนเข้าใจสถานะประเทศ พัฒนาตนเอง และร่วมมือกับภาครัฐผลักดันบ้านเมืองให้ก้าวไปข้างหน้า
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งด้านรายได้และความมั่งคั่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศประสบอยู่ในขณะนี้ โดยรัฐบาลไทยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ได้พยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องด้วยนโยบายต่างๆ เช่น ดูแลพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอย่างเป็นระบบ การจัดสวัสดิการประเภทใหม่ๆ เช่น สวัสดิการเด็กเล็กระหว่าง 0-3 ขวบ 600 บาท/เดือน การเพิ่มเงินเลี้ยงชีพให้ผู้สูงอายุ การจัดตั้งกองทุนลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา การช่วยเกษตรกรผ่านโครงการช่วยเหลือต่างๆ การจัดการกับเจ้าหนี้นอกระบบ รวมถึงการออกกฎหมายภาษีสำคัญ เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน กฎหมายขายฝากเป็นครั้งแรก และการพยายามขยายฐานภาษี เพื่อกระจายรายได้จากคนที่มีรายได้สูงไปให้ผู้มีรายได้น้อย
เขาอธิบายว่า ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะฟื้นตัวดีขึ้น ราคาข้าวสูงสุดในรอบหลายๆ ปี แต่ปัญหาราคาสินค้าเกษตรโลกที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อการกระจายรายได้และเกษตรกรบางกลุ่มของไทยอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้พี่น้องประชาชนที่ฐานรากบางส่วนยังลำบาก โดยเฉพาะผู้ปลูกยางพารา จากราคายางโลกและราคาน้ำมันโลกที่ลดลง และผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของอียู (EU) ที่ทำให้ราคาปาล์มน้ำมันลดลง ซึ่งมาตรการล่าสุดของรัฐบาลก็น่าจะช่วยบรรเทาไปได้บางส่วน
นายกอบศักดิ์เผยว่า การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน จะต้องทำอย่างเป็นระบบ โดยต้องช่วยสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งที่แท้จริงจากฐานราก คือการให้โอกาสที่เท่าเทียมแก่ทุกคน โดยเฉพาะด้านการศึกษา การหางาน และการเข้าถึงแหล่งเงิน ลดการใช้อำนาจของรายใหญ่เอาเปรียบรายย่อย ซึ่งถ้ารัฐบาลมีหน่วยงานกลางที่ต่อสู้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยตรง (เหมือนกรณีที่มีการตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเข้ามาแก้ปัญหาเกี่ยวกับน้ำทุกในระบบ) ก็จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำของรายได้และความมั่งคั่งในระยะยาวได้
โฆษกพรรคพลังประชารัฐกล่าวว่า ข้อมูลความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งของเครดิตสวิสที่ทุกคนพูดถึงนั้น ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง อย่าเชื่อทั้งหมด เพราะอ้างอิงจากข้อมูลความเหลื่อมล้ำเก่าเมื่อปี 2549 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการศึกษาของนายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา และคณะ ในปี 2551 ที่ได้สอบถามผู้เขียนแล้วพบว่า ใช้ข้อมูลความมั่งคั่ง เพียงแต่ในส่วนของบัญชีเงินฝากเท่านั้น ในส่วนของหุ้น ที่ดิน และสินทรัพย์อื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นตัวเงินนั้น ไม่ได้รวมอยู่ด้วย และทางเครดิตสวิสได้ประมาณการเพิ่มเติมต่อมาอีก 12 ปี ซึ่งมีโอกาสผิดพลาดได้มาก
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ รองโฆษกพรรค แถลงถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ว่า 4 ปีกว่าที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบประมาณ 11 ล้านล้านบาท โดย 4 แสนล้านบาทแบ่งมาอัดฉีดให้โครงการพลังประชารัฐต่างๆ แต่ปรากฏว่าประเทศไทยก็ยังจนกระจาย รวยกระจุก ซึ่งล่าสุดประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 1 ของโลก ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์เคยบอกว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาความยากจน แต่ทุกวันนี้ชัดเจนว่านอกจากจะไม่แก้ไขปัญหาแล้ว ยังเพิ่มปัญหาอีกด้วย
เขากล่าวว่า โครงการสวัสดิการแห่งรัฐ หลายคนตั้งข้อสังเกตเป็นการแจกเงินหาเสียงล่วงหน้าแบบเลี่ยงกฎหมายหรือไม่ รัฐบาลพูดเสมอว่าจะแจกเบ็ดไม่แจกปลา หมายความว่าจะทำให้ประชาชนหาเงินเป็น และไม่แจกเงิน แต่ทุกวันนี้กลับพบว่าเป็นการแจกแต่ปลา และปลานั้นก็คือปลาเหยื่อ เหยื่อของทุนใหญ่ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ
“วันนี้ความสงบเรียบร้อยแลกมาด้วยราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ทั้งยางพารา ปาล์ม ข้าวบางประเภท เป็นต้น ต้องแลกมากับเงินในกระเป๋าที่ลดลง แลกกับความคุ้มดีคุ้มร้ายของใครบางคน และแลกกับวินัยทางเงินการคลัง คิดว่าวันนี้ไทยยืนอยู่บนทาง 3 แพร่ง คือ 1.เผด็จการรัฐสภา 2.เผด็จการทหาร และ 3.แนวทางของประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นทางที่จะทำให้คนไทยได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” รองโฆษก ปชป.กล่าว
ด้าน น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวถึงกรณีที่นายพุทธิพงษ์ชี้แจงกรณีที่รายงานของ Global Wealth Report 2018 ระบุประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก ข้อมูลที่รายงานฉบับนี้นำมาอ้างอิงเป็นข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 2549 แล้วพยายามนำมาเชื่อมโยงกับข้อมูลบางส่วนของปีปัจจุบัน ทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนไม่สมบูรณ์และขาดความน่าเชื่อถือ ว่าถ้าโฆษกประจำสำนักนายกฯ มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง จะไม่ออกมาชี้แจงเช่นนี้
โฆษกพรรคเพื่อชาติกล่าวต่อว่า ถ้ามีการรายงานข้อมูลออกมาเช่นนี้ รวมทั้งสถานการณ์สภาพเศรษฐกิจในประเทศก็บ่งชี้ว่าเครื่องจักรการบริโภคในประเทศได้หยุดทำงานมานานพอสมควรแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลในรายงาน โฆษกประจำสำนายกรัฐมนตรีควรออกมาขอบคุณที่รายงานนี้ชี้ให้เห็นปัญหาที่ต้องระดมสมองเร่งรีบแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ แทนที่มาชี้แจงดิสเครดิตทำลายความน่าเชื่อถือของรายงานของ Global Wealth Report 2018
"ทำให้สรุปได้ว่าโฆษกประจำสำนายกรัฐมนตรีมีแนวคิดเป็นเผด็จการอย่างแท้จริง เพราะไม่สามารถยอมรับความคิดเห็นหรือรายงานการศึกษาของผู้อื่นได้เลย" โฆษกพรรคเพื่อชาติกล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเรื่องการถือครองที่ดินในประเทศไทย จะเห็นว่าคนไทยเพียงร้อยละ 10 ถือครองที่ดินกว่าร้อยละ 90 ของทั้งประเทศ นำโดย 10 ตระกูลใหญ่ ซึ่งสามารถอ่านได้ตามข่าวทั่วไป เช่น ตระกูลสิริวัฒนภักดี 6 แสนกว่าไร่ ตระกูลเจียรวนนท์ 2 แสนกว่าไร่ เหล่านี้สะท้อนว่าการถือครองที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต กลุ่มทุนใหญ่จึงต้องการถือครองที่ดินมากๆ แต่เกษตรกรที่เป็นภาคการผลิตกลับไม่มีที่ดินถือครองเลย เหมือนเป็นผู้เช่าให้แก่กลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดเสียมากกว่า
เธอบอกว่า ประเทศไทยกำลังจะร่างกฎหมายเพื่อป้องกันการผูกขาดทางการค้า แต่รายชื่อกรรมการร่าง กลับประกอบด้วยกลุ่มทุนผูกขาดของไทย แล้วเนื้อหากฎหมายกำหนดว่า เมื่อเจ้าใดเจ้าหนึ่งได้ส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้านั้นเกินกว่าร้อยละ 50 ถึงจะถือว่าเป็นการผูกขาดทางการค้าในตลาดนั้น แต่ในความเป็นจริงคือไม่ถึงร้อยละ 45 ก็ถือว่าเป็นการผูกขาดแล้ว เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้วเขาจะไม่กำหนดตัวเลขออกมาชัดเจน แต่จะดูที่พฤติกรรมและการใช้อำนาจต่างๆ ว่ามาช่วยส่งเสริมให้กลุ่มทุนนั้นผูกขาดทางการค้าหรือไม่ แน่นอนว่ากลุ่มทุนผูกขาดของไทยแทบจะนอนร่วมเตียงเดียวกับกลุ่มทหาร
น.ส.พรรณิการ์กล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับการออกกฎหมายเพื่อเก็บภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่กำลังพิจารณาอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า กฎหมายนี้กำลังรังแกคนเล็กคนน้อย รัฐบาลควรมีมาตรการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่กลับตอกย้ำความย่ำแย่ของเศรษฐกิจไทยด้วยการเก็บภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ แต่ในทางตรงกันข้าม กลับยกเว้นภาษีให้กับกลุ่มทุนข้ามชาติที่มาลงทุนในประเทศไทย เช่น การยกเว้นภาษีให้กับกลุ่มทุนอาลีบาบาของแจ็ก หม่า
โดยกลุ่มอาลีบาบายังได้ข้อมูลผู้บริโภคของประเทศไทยแบบฟรีๆ ภาษีก็ไม่ต้องจ่าย แต่สามารถใช้เทคโนโลยีล้วงข้อมูลการบริโภคในประเทศ ทำให้กลุ่มทุนข้ามชาติได้เปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรมมากขึ้น ส่วนพ่อค้าแม่ค้าคนไทยกลับต้องเสียภาษี เหล่านี้สะท้อนว่ารัฐบาล คสช.กำลังตอกย้ำวิธีทำเศรษฐกิจแบบทุนใหญ่ผูกขาด มากกว่าจะสนับสนุนกลุ่มทุนรายย่อย ทำให้เกิดช่องว่างทางรายได้มากขึ้นไปอีก.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |